ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2523 |
---|---|
ผู้เขียน | ทองเบิ้ม บ้านด่าน |
เผยแพร่ |
การเล่นลิเก นอกจากเล่นเร่ตามวัดในงานต่าง ๆ และที่ตั้งเป็นโรงแสดงประจำอย่างวิกพระยาเพชรปาณี และวิกขุนวิจารณ์แล้ว สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ลิเกมีช่องทางเล่นทำมาหากินเป็นประจำ คือการแสดงตามโรงบ่อน ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ 5
โรงบ่อนเหล่านี้ปิดกิจการหมดสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 ในรัชกาลที่ 6 การแสดงลิเกประจำตามวิกในบ่อนนั้นน่าจะเกิดก่อนมีวิกลิเกเป็นเอกเทศเสียด้วยซ้ำไป
มูลเหตุที่มีโรงมหรสพในโรงบ่อนกำหนดเวลาที่แสดงและชนิดของมหรสพ ตลอดจนคุณภาพในการแสดงนั้น พระยาอนุมานราชธนอธิบายไว้อย่างสมบูรณ์ดังนี้
“เหตุที่โรงบ่อนมีมหรสพให้คนดู ก็เพราะต้องการให้คนไปเที่ยวโรงบ่อนกันมากๆ โรงบ่อนจะได้ติดคึกคัก มีคนไปเล่นเบี้ยมาก ลางคนเมื่อมาเที่ยวดูงิ้วดูละครแล้ว อาจเข้าไปแทงถ่วโปที่ในโรงบ่อนด้วยก็ได้ นายบ่อนรู้นิสัยคนชั้นสามัญว่า การพักผ่อนหย่อนใจของคนเหล่านั้น ถ้ามีโอกาสก็ต้องเล่นการพนันกัน ไม่ผิดแปลกอะไรกับการเล่นพนันเล่นไพ่ ซึ่งในสมัยนั้นก็มีอยู่ดกดื่น โดยเฉพาะในหมู่พวกผู้หญิง
มหรสพที่แสดงตามโรงบ่อนนั้น แสดงเป็นสองระยะ เริ่มต้นตอนบ่ายโมงเศษ จนถึงราวบ่ายสี่โมงระยะหนึ่ง หยุดพักตอนเย็นแล้วเริ่มแสดงใหม่ราว 19 นาฬิกา ไปเลิกเอาราวเที่ยงคืน การแสดงโดยปกติเป็นงิ้วส่วนมาก ถ้าบ่อนใดอยู่ในทำเลมีคนจีนมาก เช่น โรงบ่อนบางรักก็มีงิ้วให้ดู ถ้าตั้งอยู่ในย่านมีคนไทยมาก เช่น โรงบ่อนบ้านทวาย ก็มักมีละครรำบ้าง แอ่วลาวบ้าง เพลงปรบไก่บ้าง ให้คนดู
ภายหลังเมื่อเกิดมีลิเกแล้ว ก็มีลิเกบ้าง คนที่เป็นเจ้าของละคร เจ้าของลิเกก็ได้อาศัยงานเหมาจากโรงบ่อนซึ่งเล่นเป็นประจำคราวละ 10 วัน 15 วัน หรือตั้งเดือนก็เคยมี เป็นลำไพ่สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายเพื่มเติม ด้วยตนเลี้ยงคนเป็นตัวละครเป็นจำนวนมากและการแสดงก็ไม่ต้องพิถีพิถันอะไรกันนัก สักแต่ว่าเล่นได้ก็พอ” (ฟื้นความหลัง ของพระยาอนุมานราชธน หน้า 168-169)
ก็เห็นจะเหมือนลิเกเปิดตลาดสดในยุคปัจจุบันนี้นั่นเอง
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ลิเกก็มีเค้ามาจากอิหร่าน (เปอร์เซีย)” เขียนโดย ทองเบิ้ม บ้านด่าน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2523
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2560