เปิดคำสั่งเสียของรัชกาลที่ 4 กล่าวกันว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้ทรงอำนาจยังร้องไห้

พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 ฉายร่วมกับพระโอรสและพระธิดา

…เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระชนมายุมากถึง 47 พระชันษาแล้ว ทัศนคติของพระองค์โดยมากที่พบจึงเต็มไปด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ ที่ปรากฏมาในพงศาวดาร ใครได้อ่านพระราชนิพนธ์ของพระองค์ เช่น พระบรมราชาธิบาย และพระบรมราชวินิจฉัย จะเห็นได้ว่าทรงรู้ลึกซึ้งและรอบคอบอย่างมาก

พระราชดำริในกิจการใดย่อมอาศัยหลักธรรม และคิดถึงใจผู้อื่นเสมอ ผู้ที่ได้รับพระกรุณาโดยตรง คือ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริภารผู้จงรักภักดี ทรงสนพระทัยและทรงให้เวลากับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในสารทุกข์สุกดิบของบุคคลใกล้ชิด แม้การตักเตือนพระราชโอรสธิดาก็ทรงไว้นานล่วงหน้าตั้งแต่หน่อพุทธางกูรยังไม่รู้เดียงสา แต่วันหนึ่งทุกพระองค์ จะได้รับทราบความเอื้ออาทรของพระบรมราชชนก ซึ่งมีอยู่เปี่ยมล้นพระราชหฤทัย

การที่ทรงผนวชอยู่เป็นเวลานานถึง 27 ปี ทำให้ทรงดำเนินพระชนมชีพตลอดไปอย่าง “ผู้ไม่ประมาท” ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ถึงแม้จะทรงสามารถปรับวิถีทางในการใช้ชีวิตเป็นคฤหัสถ์ได้ทันทีเมื่อเสวยราชย์จริงๆ แล้วก็ตาม พระราชวินิจฉัยของพระองค์ล้วนมีหลักการที่ใช้เป็นแบบฉบับได้

“คำสั่งเสีย” ครั้งแรกที่สุดในรัชกาล พบได้เมื่อพระราชโอรสธิดาประสูติใหม่ ก็จะพระราชทานพระนามให้แล้วถือเป็นประเพณีที่จะพระราชทานทรัพย์สินเป็นเงินขวัญถุง พร้อมด้วยพระราชนิพนธ์สั่งเสียเกี่ยวกับเงินมรดกก้อนแรกนั้น เป็นคติธรรมและแนวทางในการดำรงชีวิตตั้งแต่ต้นให้ทุกพระองค์ไว้ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยดังนี้…

“พ่อขอสั่งแก่ตัวเจ้าไว้ ทรัพย์ที่หางว่าวจำนวนผูกติดกับหนังสือนี้ มีตราพ่อปิดไว้เป็นสำคัญ พ่อให้แก่เจ้าคนเดียว จงคิดอ่านเอาเป็นทุนทำมาหาเลี้ยงตัวต่อไปและใช้สอยตามสมควรเถิด แต่พ่อขอเสียเป็นอันขาด คิดถึงคำพูดสั่งสอนให้มากหนักหนา อย่าสูบฝิ่นและอย่าเล่นผู้หญิงที่ชั่ว อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้จงรักษาทุนของพ่อให้ไว้นี้เป็นเกียรติยศชั่วลูกชั่วหลาน…

เจ้าเกิดเมื่อพ่อสูงอายุแล้ว พ่อไม่ประมาท จึงจัดแจงไว้ให้แต่เดิม ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่ อันตรายมีแก่เจ้าก่อนถ้าอายุถึง 16 ปีแล้วสั่งให้ใครพ่อจะให้ผู้นั้น ถ้ายังไม่ถึงกำหนดหรือไม่ได้ส่งพ่อจะเอาคืนมาทำบุญให้ทาน ถ้าพ่อมีชีวิตและอำนาจไปนาน ทำมาหาได้ก็จะเพิ่มให้อีก”

ทรงปรารถนาที่จะทำบุญสุนทานต่อผู้อื่นตั้งแต่ยังมีพระชนม์อยู่เพื่อจะได้มีความสุขพระทัย หากเก็บสมบัติไว้มากจนเมื่อเสด็จสวรรคตก็จะมีการแย่งชิงทรัพย์มรดกนั้นจนถึงแย่งราชบัลลังก์กัน การเตรียมการอย่างรัดกุมล่วงหน้าของพระจอมเกล้าฯ ไม่มีให้พบเห็นในพระเจ้าแผ่นดินอื่นใดในพงศาวดารไทย และอาจจะไม่เคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์โลกมาก่อน

ตลอดรัชกาลของพระองค์นั้น ทรงมีความคิดระแวงอยู่ว่า ขุนนางข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ที่ใกล้ชิด ได้แบ่งออกเป็นสองจำพวก

พวกแรก คือ บุคคลที่มีอายุสูงแล้ว พระองค์ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ มีความนับถือ และทรงปรึกษาหารือข้อราชการอยู่ด้วยเสมอ บุคคลเหล่านี้มีความคิดดีต่อพระองค์ มีความปรารถนาจะให้พระองค์มีสุขภาพที่แข็งแรง มีพระชนมายุยืนนาน

พวกที่สอง เป็นข้าราชการขุนนาง หรือพระประยูรญาติที่อ่อนเยาว์ มีอายุน้อยกว่า พวกนี้เมื่อลับหลังมักจะครหานินทา ปล่อยข่าวกันว่า พระพลานามัยของพระเจ้าแผ่นดินอ่อนแอเต็มที คงจะไม่มีพระชนม์ยืนอยู่นานได้ และคนเหล่านี้มักจะไปส่งเสริมให้ความจงรักภักดีต่อเจ้านายอื่นๆ โดยหวังว่าในอนาคตเจ้านายเหล่านี้ อาจจะได้ขึ้นครองแผ่นดินแทนพระองค์ และตนเองก็จะได้รับตำแหน่งใหญ่โตตามไปด้วย

ระยะเวลา 17 ปี ที่ทรงครองศิริราชสมบัติ ถึงจะมีทรัพย์สินเงินทองเพิ่มพูนนับได้หลายพันชั่ง ทั้งยังมีเพชรนิลจินดา เครื่องทอง เครื่องเงินที่ขุนนางข้าราชการนำมาถวาย ก็มิได้ทรงยึดติดกับบุญวาสนาทั้งหลายนั้น นับวันนานขึ้น เมื่อทรงสดับตรับฟังว่ามีคำตำหนิติเตียนเรื่องการจับจ่ายใช้สอยทรัพย์สินของพระองค์จนเป็นที่รำคาญพระราชหฤทัย

ผนวกกับความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำพระทัยกับคำบริภาษว่าร้ายอื่นๆ ยิ่งทำให้ทรงปลงตกในกองกิเลศทางโลกทั้งมวลว่าเป็นของไม่เที่ยง มีผู้รักใคร่นับถือพระองค์อยู่มาก แต่ก็มีคนที่เกลียดชังอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ทรงอรรถาธิบายแบบกินพระทัยให้เป็นที่รู้ทั่วกันทั้งแผ่นดิน ในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้ระหว่าง ปี พ.ศ. 2405-2408 ตอนหนึ่งมีใจความว่า…

“ตัวข้าพเจ้านี้ มีคนเป็นอันมากทั้งพระทั้งคฤหัส ย่อมคิดเห็นว่าข้าพเจ้ามีกำลังน้อย ทั้งกำลังกาย กำลังปัญญา คือเห็นว่าซูบผมไม่มีเรี่ยวแรงแข็งกล้า โรคภัยมาก เจ็บไข้บ่อยๆ ว่าข้าพเจ้าคิดๆ พูดๆ อะไร ผิดๆ ถูกๆ ไม่เหมือนท่านทั้งปวงคิด ท่านทั้งปวงพูด แม้นถึงมิใช่ชังตัวข้าพเจ้า ก็คิดเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นคนนอกเศษนอกเลย ไม่ควรจะคิดจะหมายให้ได้ลาภขายดี โดยผู้ที่มีความเมตตากรุณาแก่ข้าพเจ้าจริงๆ ก็มี แต่ปรารถนาอธิษฐานให้ข้าพเจ้าได้ที่พึ่งที่อาศัย อย่าให้ผู้ใหญ่ในแผ่นดินรังเกียจชิงชัง ก็ปรารถนาสุขประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าเพียงเท่านี้ ไม่มีใครได้คิดจะให้เป็นใหญ่เป็นโต เพราะเห็นว่า ข้าพเจ้าเป็นคนแก่ เป็นคนโรค เป็นคนจน แลบางท่านเห็นแก่บิดามารดาข้าพเจ้าจริงๆ แล้วมาชุบย้อมยกยอข้าพเจ้าให้เป็นโตเป็นใหญ่ แล้วยังคิดอ่านให้ข้าพเจ้าได้เมียสาวๆ ซึ่งหลักแหลมที่ผู้อื่นหมายว่าควรแก่ท่านผู้อื่นนั้น ได้เจ้านายเช่นนั้นได้เป็นของข้าพเจ้า เป็นเกียรติยศแก่ข้าพเจ้าหนักหนา ข้าพเจ้าขอบคุณท่านผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งปวงยิ่งนัก ไม่ลืมเลย”

ทรงกล่าวต่อไปว่า…

“แต่มาเสียใจหนักหนา ด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมาแต่หลังหลายครั้งซ้ำซากมาจนครั้งนี้ เป็นเหตุให้คนทั้งปวงลักว่าข้าพเจ้าลับหลังหยาบๆ เหมือนอย่างที่คำตลาดว่ากันว่า สมน้ำหน้าที่เจ๋อเจ๊อ มาเอาของที่ไม่ควรแก่ตัวนั้นไป เพราะข้าพเจ้าถูกลูกเสียเมียตายเป็นหลายหนหลายครั้ง ลูกคนใดมีตาคือบิดาของมารดาลูกคนนั้นเป็นผู้มียศศักดิ์ชื่อเสียง ลูกเช่นคนนั้นก็วิบัติไปหลายคน เมียที่ควรเป็นเกียรติยศออกหน้าออกชื่อได้ก็เสียไปหลายซ้ำดังนี้ เป็นที่คนเป็นอันมากจะยิ้มเย้ยได้…

แต่ครั้งนี้ถูกเสียใจด้วยความเป็นที่เสียใจ ดังว่ามาแล้วนั้น ในเจ้านายผู้ชายที่เป็นเจ้าวังหลวง ก็ไม่มีใครแก่ข้าพเจ้าแล้ว ก็ร้อนไปด้วยเห็นว่าคนทั้งปวงจะรำพึงว่าข้าพเจ้าเป็นคนเคราะห์ร้าย ถูกลูกเสียเมียตายหลายซ้ำหลายซากเข้า ก็พากันกระหยิ่มยิ้มไปด้วยทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้า ก็ทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ารู้อยู่เป็นแน่ว่า จะไม่ได้อยู่เป็นของข้าพเจ้าคราวหนึ่งมื้อหนึ่งเป็นแท้ แต่ไม่รู้เป็นแน่ว่าเร็วหรือช้า ก็เมื่อใดจะไม่ได้อยู่เป็นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะต้องวางจะต้องละทรัพย์เหล่านั้นแล้ว

ถ้าจะมีผู้โปรดให้ตามใจข้าพเจ้า ไม่ข่มเหง ข้าพเจ้าก็จะแจกญาติพี่น้อง บุตร หลาน เหลน ที่นับโดยองค์ใกล้บิดามารดา แลตัวข้าพเจ้า แลท่านทั้งหลายที่มีคุณอุปการะ แลหลานของท่าน พวกนั้นบ้าง บุตรภรรยาของข้าพเจ้าที่ควรนับถือบ้าง ถ้าได้ดังนี้ข้าพเจ้ามีความยินดี ก็ถ้าจะนิ่งไว้ต่อถึงเวลาที่จะไม่ได้อยู่กับทรัพย์แล้ว จึงจะให้แจกเมื่อมีกำลังน้อย วาสนาน้อย แล้วกลัวจะไม่ได้ดังใจ ก็จะเป็นที่เกิดความโกรธความเสียใจในปลายมือ หรือจะให้ไว้ใจแก่ผู้อื่นให้แจก ก็ไม่มีที่ไว้ใจ ครั้งนี้จึงหักใจแจกเสียเอง”

ทรงมีพระดำริตริตรองว่าทรงได้ราชสมบัติมาก็เมื่อพระชนม์มากแล้ว วันหนึ่งทรงสวรรคตไป ก็เหมือนทิ้งกองมรดกไว้ให้แย่งชิงกันภายหลัง จึงตัดสินพระทัยที่จะแจกจ่ายพระราชสมบัติส่วนพระองค์ ให้แก่ญาติพี่น้อง คือพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย รวมทั้งพระราชทานแก่ข้าราชการขุนนางที่ใกล้ชิดสนิทสนมจนเกือบหมดท้องพระคลัง เหลืออยู่เป็นส่วนน้อยสำหรับจับจ่ายในพระราชสำนักเท่านั้น

เหตุการณ์สำคัญทำนองนี้ เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเป็นหนสุดท้าย ทรงมีกระแสพระราชดำรัสสั่งเสียเกี่ยวกับเรื่อง “พระราชทานทรัพย์มรดก” ในวาระที่สุดของพระชนมชีพ รวมถึงเรื่องรัชทายาทและการสืบสันตติวงศ์ เกิดขึ้นหลังการประชวรหนัก เมื่อเสด็จฯไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปี พ.ศ. 2411

เมื่อเสด็จนิวัติพระนครนั้นพระจอมเกล้าฯ ก็เริ่มประชวรด้วยอาการไข้ ได้เสวยพระโอสถเพื่อแก้ไข้ แต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น มีอาการจับสั่นไปทั้งพระวรกายในเวลากลางคืน หลังจากนั้นพระอาการก็แปรไปทางอุจจาระธาตุ พระบังคนตกเป็นพระโลหิตลิ่มเหลว แพทย์หลวงพยายามรักษาเท่าใดพระอาการก็ทรุดลงทุกที ในที่สุดทรงทราบว่าการประชวรครั้งนี้เห็นจะเป็นที่สุดพระชนมายุสังขาร จึงทรงพยายามจัดการธุระต่างๆ ให้เรียบร้อย ก่อนที่จะสิ้นสวรรคต

ทรงเริ่มพระราชทานสิ่งของบางอย่าง ให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ใกล้ชิด เช่น ทรงให้ตลับทองคำลงยาใส่ทองคำบางตะพานหนัก 5 ตำลึง กับนาฬิกาใหญ่เที่ยงอย่างดีซุ้มหนึ่ง กับพระปทุมทำด้วยศิลาองค์หนึ่ง แก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ และพระราชทานนาฬิกาใหญ่มีแก้วเลี่ยมครอบ มีปรอดดูร้อนดูหนาว ให้แก่กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ส่วนพระเจ้าลูกเธอที่ยังไม่มีวังนั้น พระราชทานเงินองค์ละ 30 ชั่งทุกพระองค์เพื่อสร้างวัง

ส่วน ฯพณฯ หัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม ได้รับพระราชทานพระหีบงาครอบทองคำ มีเครื่องสำหรับเขียนหนังสือ ทำด้วยทองคำประดับเพ็ชรทับทิมมรกต ราคามากกว่า 100 ชั่ง แล้วพระราชทานเงินอีก 1,000 ชั่ง

เกี่ยวกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์นี้ นับว่าเป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่มีอำนาจอยู่ในแผ่นดินเวลานั้น พระจอมเกล้าฯ ทรงเกรงใจมาก ถึงแม้จะมีข่าวลือหลายครั้งว่าพระยากลาโหมท่านนี้เคยซ่องสุมผู้คนและศาสตราวุธหมายจะชิงราชบัลลังก์ แต่พระจอมเกล้าฯ ก็ไม่ทรงปักใจเชื่อ

ทรงนับถือท่านเสมือนขุนพลแก้วผู้ปกป้องดูแลพระราชวงศ์จักรีมาด้วยกัน ถึงแม้จะมีผู้กราบทูลแสดงความรังเกียจก็ไม่ทรงนำพา กลับปรึกษาหารือกับท่านตามตรง ให้ช่วยคิดอ่านรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้จากการคุกคามของพวกจักรวรรดินิยมมาจนตลอดรัชกาล จึงเหมือนคนที่รู้ใจกันอยู่ เพื่อเป็นการแสดงน้ำพระทัยในตัวเสนาบดีผู้ใหญ่ที่พระองค์ทรงหวังพึ่งพาในยามคับขันนี้ จึงพระราชทาน “พระธำรงค์ และพระประคำเครื่อง” ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ให้อีกด้วย

อันว่าของพระราชทานชุดนี้ถือกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผู้ครองแผ่นดินเท่านั้นจะเก็บไว้ได้ การที่ทรงมอบให้เสนาบดีผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินเช่นนั้นดูแล สันนิษฐานได้เป็นสองทาง ทางแรก เพื่อแสดงความเชื่อพระทัยในความจงรักภักดีของขุนนางผู้ยิ่งใหญ่นี้ ทางที่สอง เพื่อลองใจเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าจะแสดงท่าทีอย่างไรต่อของสำคัญนั้น

แต่แล้วจิตรใต้สำนึกของท่านเจ้าพระยาก็แสดงออกมาให้เห็น แทนที่จะเก็บรักษาของศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนั้นไว้เสียเอง ท่านกลับนำไปถวายแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทันที นอกจากนั้นยังทูลเตือนพระจอมเกล้าฯ ให้ทราบว่า แม้ประมุขผู้เป็นใหญ่ในสากลโลกยังถวายการยอมรับในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นอยู่ในตำแหน่งองค์รัชทายาทโดยชอบธรรม จากการที่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 พระราชทานพระแสงกระบี่องค์ใหญ่เข้ามาถวายจารึกอักษรว่า “ของเอมเปอเรอฝรั่งเศสถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม” และพระแสงกระบี่องค์น้อยจารึกว่า “ของพระยุพราชกุมารฝรั่งเศสถวายพระราชกุมารสยาม” คือเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์นั่นเอง

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้พระจอมเกล้าฯ ทรงเบาพระทัยไปได้มาก คือ การที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ได้ผูกสมัครรักใคร่ถึงขั้นเกี่ยวดองกับครอบครัวของท่านสมุหพระกลาโหมอย่างเป็นทางการ โดยทำให้สมบูรณ์ขึ้นเมื่อพระจอมเกล้าฯ ทรงสู่ขอหลานสาวแท้ๆ ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ชื่อ “แพ” มาเป็นสะใภ้หลวงคนแรกในรัชกาลที่ 4 จนกำเนิดพยานรักเป็นพระองค์เจ้าให้สมเด็จพระบรมราชชนกได้ชื่นชมก่อนหน้านั้นแล้ว 1 พระองค์ (พระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์) ดังคำสั่งเสียที่ตรัสว่า “บัดนี้ลูกของข้าก็ได้เป็นเขยของท่านแล้ว ข้าขอฝากลูกข้าด้วย”

ไม่แต่เพียงองค์รัชทายาทเท่านั้นที่ทรงฝากฝัง เมื่อทรงตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีมาแต่ก่อน ทรงมอบภารกิจทั้งหมดเรื่องครอบครัวของพระองค์ไว้กับท่านเจ้าคุณตลอดไป “ข้าให้เรียนคุณศรีสุริยวงศ์ ข้าเป็นคนลูกมากรากดก แล้วลูกก็ยังเล็กเด็กอยู่ ไหนๆ คุณศรีสุริยวงศ์ก็ได้อุปถัมภ์บำรุงข้ามา ถ้าข้าไม่มีตัวแล้วขอให้คุณศรีสุริยวงศ์อุปถัมภ์บำรุงลูกข้าเหมือนตัวข้าด้วย”

พระจอมเกล้าฯ ทรง “มิได้แต่งตั้ง” องค์รัชทายาทให้สืบทอดราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการในทันทีทันใดแต่ทรง “ออกอุบาย” ให้ขุนนางผู้มีอำนาจที่สุด มีภาระหน้าที่ช่วยพิทักษ์รักษาและทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงพระราชโอรสสายตรงของพระองค์จนกว่าจะถึงวัย และเวลาอันสมควร ให้ขึ้นครองราชบัลลังก์สยามสืบต่อไป เป็นการ “ประกันสันติภาพ” ให้เกิดขึ้นและสกัดกั้นความทะเยอทะยานใดๆ ในภายภาคหน้า

เมื่อพระอาการหนักขึ้น ทรงมีรับสั่งให้พระราชโกษา กรมพระภูษามาลาไปเฝ้า เพื่อสั่งเสียเรื่องการแต่งพระบรมศพ และแจกจ่ายส่วนสำคัญของพระกายาต่อพระโอรสธิดาโดยทั่วถึง ตรัสว่า

“เมื่อข้าไม่มีตัวแล้ว เจ้าจะทำในสรีรร่างกายของข้า สิ่งใดไม่เป็นที่ชอบใจอยู่แต่ก่อน ขออย่าได้ทำ เป็นต้นว่า แหวนที่จะใส่ปากผี เอาเชือกผูกแหวนแขวนห้อยไว้ที่ริมปาก กลัวผีจะกลืนแหวนเข้าไป อย่างนี้จงอย่าได้ทำแก่ข้าเลย แต่อย่าให้เสียธรรมเนียม แหวนที่จะใส่ปากนั้น ให้เอาเชือกผูกแขวนที่เข็มกลัดคอเสื้อ เพชรที่ข้าได้ขอไว้นานแล้ว เมื่อจะตายจะเอากลัดไปด้วย เข็มขัดที่จะคาดนั้นอย่าให้เอาของแผ่นดิน ให้เอาของเดิมของข้า ที่สมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ซื้อกรมหลวงพิทักษ์มนตรีนั้น แหวนที่จะใส่นั้นได้จัดมอบไว้แล้ว ให้ไปถามพ่อกลางดูเถิด สังวาลเครื่องต้นเอาสายที่ข้าทำใหม่ อย่าให้เอาสายสำหรับแผ่นดิน

การอื่นๆ นอกนั้นก็ให้ไปปรึกษาพ่อกลางดูเถิด ของแผ่นดินนั้นเจ้าแผ่นดินใหม่ท่านจะได้ใส่เลียบพระนคร เมื่อเอาโกศลงเปลื้องเครื่องให้ค้นดูในปาก ฟันมีก็ให้เอาไว้ให้หมด จะได้แจกลูกที่ยังไม่ได้ให้พอกัน ถ้าฟันไม่พอให้ถอดเอาเล็บมือ ถ้าเล็บมือไม่พอให้ถอดเอาเล็บตีน แบ่งปันกันไปกว่าจะพอ”

เมื่อทรงตระหนักว่าใกล้จะสิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รับสั่งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหกลาโหม เจ้าพระยาภูธราภัย สมุหนายก และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เข้าเฝ้าเพื่อรับสั่งราชการเป็นครั้งสุดท้าย…

“วันนี้พระจันทร์เต็มดวง เป็นวันเพ็ญ อายุของฉันจะดับในวันนี้แล้ว ฉันขอลาท่านทั้งหลาย…ผู้ที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไปภายหน้าให้พร้อมกันเลือกหาเอาเถิด จะเป็นพี่ก็ตาม จะเป็นน้องก็ตาม จะเป็นลูกก็ตาม จะเป็นหลานก็ตาม สุดแต่จะเห็นพร้อมกัน…ฉันจะขอลาท่านทั้งหลายไปจากภพนี้ ในวันนี้แล้ว ฉันขอฝากลูกของฉันด้วย อย่าให้ภัยอันตรายเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอให้ท่านเป็นที่พึ่งแก่ลูกของฉันต่อไปด้วยเถิด”

ท่านก็พากันโศกเศร้าสะอึกสะอื้นร้องไห้ทั้งสามคน จึงรับสั่งห้ามว่า “อย่าร้องไห้เลยจ๊ะ ความตายไม่เป็นของอัศจรรย์อะไรดอก…บัดนี้กาลมาถึงตัวฉันเข้าแล้ว ฉันจึงได้อำลาท่าน”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์รับหน้าที่ผู้อภิบาลพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่อไป

คลิกอ่านเพิ่มเติม : แนวทางดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กรณีของรัชกาลที่ 4 สู่การเตรียมเรื่องส่วนพระองค์-แผ่นดิน

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ถอดนัย “คาถาขอขมาลาพระสงฆ์” ร.4 ทรงพระราชนิพนธ์ก่อนเสด็จสวรรคต สะท้อนอะไร?

เอกสารอ้างอิง

[1] หนังสือประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ระหว่างปี พ.ศ. 2405-2408
[2] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ. ความทรงจำ.
[3] ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์.
[4] ประยุทธ สิทธิพันธ์. สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม.


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความที่เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2547 ใช้ชื่อ “คำสั่งเสีย ของพระจอมเกล้าฯ แม้แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยังร้องไห้” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2564 ปรับปรุงเนื้อหา จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ