แนวทางดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กรณีของรัชกาลที่ 4 สู่การเตรียมเรื่องส่วนพระองค์-แผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้เป็นเลิศทั้งทางโลกและทางธรรม จะเห็นได้จากพระอัจฉริยภาพทางด้านดาราศาสตร์ ได้แก่การคำนวณตำแหน่งการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และทางธรรมในฐานะผู้ให้กำเนิดธรรมยุติกนิกาย ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นวชิรญาณภิกขุ

การศึกษาพระราชประวัติของพระองค์ โดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายของพระชนมชีพ นอกจากจะเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐแล้ว ยังได้ความรู้เกี่ยวกับทัศนคติและการเตรียมตัวเผชิญความตายของคนไทยในอดีต เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายในปัจจุบัน

Advertisement

ตามหลักการของ Palliative Care ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความไว้ หมายถึง การจัดการให้คนไข้ที่กำลังเผชิญปัญหาจากความเจ็บป่วย ที่คุกคามถึงชีวิตรวมทั้งครอบครัว ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยการป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมานต่างๆ ด้วยการวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ การประเมินอย่างแม่นยำ และการรักษาความปวดรวมทั้งปัญหาอื่นๆ ให้ครบถ้วนทั้งด้านร่างกาย จิตสังคมและจิตวิญญาณ[6]

ทรงพระประชวรหนัก

พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวค่อนข้างหนัก ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีพระอาการจนเสด็จสวรรคตเพียง 1 เดือนเศษเท่านั้น นับจากวันพุธ ขึ้น 9 ค่ำ เดือนสิบ หลังเสด็จฯ กลับจากการทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ตำบลหว้ากอมาถึงกรุงเทพมหานครได้ 5 วัน จนกระทั่งสวรรคตในวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ปีมะโรง พ.ศ. 2411[1]

สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเป็นจากพระพลานามัยของพระองค์ไม่แข็งแรง ตั้งแต่ก่อนเสด็จออกไปที่ตำบลหว้ากอแล้ว ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกในจดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต[1] ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“…พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรากตรำทำการคำนวณสุริยอุปราคามาตั้งแต่ก่อนเสด็จไปจากกรุงเทพฯ ชั้นหนึ่งแล้ว ด้วยทรงเกรงว่าถ้าไม่เป็นจริงดังทรงพยากรณ์จะถูกพวกโหรหมิ่น

ครั้นเมื่อเสด็จไปประทับอยู่ที่พลับพลาหว้ากอก็ยังทรงตรากตรำด้วยการรับแขกเมือง กับทั้งทรงคำนวณสุริยอุปราคา คือพยากรณ์เวลาที่จะเริ่มจับ เวลาที่จะหมดดวง และเวลาที่ดวงพระอาทิตย์จะเป็นโมกขบริสุทธิเป็นต้น

บรรดาผู้ซึ่งไปโดยเสด็จและอยู่ใกล้ชิดพระองค์ ได้สังเกตเห็นพระสิริรูปซูบลงและพระฉวีก็มัวคล้ำไม่ผ่องใส ตั้งแต่เสด็จไปจากกรุงเทพฯ แล้ว เวลาเสด็จประทับอยู่ที่หว้ากอก็ยังเป็นเช่นนั้น และมีอาการทรงพระกรรสะเพิ่มขึ้นด้วยอิกอย่างหนึ่ง แต่บางทีจะเป็นเพราะพระปิติปราโมทด้วยสุริยอุปราคาเมื่อวันอังคารเดือน 10 ขึ้นค่ำ 1 นั้น หมดดวงดังทรงพยากรณ์ และตรงเวลาดังได้ทรงคำนวณมิได้เคลื่อนคราศ เป็นเหตุให้ทรงเป็นปกติอยู่ตลอดเวลาเสด็จประทับอยู่หว้ากอ 9 วัน

ครั้นณวันพุธ เดือน 10 ขึ้น 2 ค่ำ เสด็จลงเรือพระที่นั่งกลับคืนมายังพระนคร เสด็จถึงกรุงเทพฯ เมื่อณวันศุกร เดือน 10 ขึ้น 4 ค่ำ ต่อมาอิก 5 วัน ถึงวันพุธ เดือน 10 ขึ้น 9 ค่ำ ก็เริ่มมีพระอาการประชวรไข้จับ ตั้งแต่จับประชวรได้ไม่ช้า พระองค์ก็ทรงทราบโดยพระอาการว่า ประชวรครั้งนั้นเห็นจะเป็นที่สุดพระชนมายุสังขาร…”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระอาการสำคัญๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อการดูแลรักษาของคณะแพทย์หลวง สรุปคือ ไข้ จับสั่น เหงื่อออก กระหายน้ำ และเบื่ออาหาร ดังที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง มหาดเล็กที่ถวายการดูแลข้างที่ ได้บันทึกในจดหมายเหตุเรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร[3] ตามลำดับดังนี้

“…สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรตั้งแต่ ณ วันพุธ เดือนสิบ ขึ้นเก้าค่ำ จุลศักราช พันสองร้อยสามสิบ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ทรงพระประชวรเป็นไข้ พระองค์สะบัดร้อนสะท้านหนาวเป็นคราวๆ พระเสโทซึมซาบออกมากกว่าที่เคยทรงพระประชวรไข้แต่ก่อนๆ เสวยพระโอสถข้างที่ตามเคย พระอาการก็หาถอยไม่ ไม่ได้เสด็จออกว่าราชการ ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือนสิบ ขึ้นสิบสามค่ำ เวลาทุ่มเศษ ทรงจับสั่นไปจนถึงเวลาสองยามเศษ ครั้นสร่างจับแล้วรับสั่งให้หาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ กับพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเข้าไปเฝ้าในที่ทรงพระประชวร จึงรับสั่งให้ประชุมหมอหลวงที่มีชื่อประกอบพระโอสถถวาย กรมขุนวรจักรธรานุภาพก็รับพระบรมราชโองการออกมา สั่งให้หลวงทิพจักษุ์ประกอบพระโอสถเข้าไปตั้งถวาย…

…ณ วันอังคาร เดือนสิบ แรมสิบสี่ค่ำ เวลาเช้าสี่โมงเศษ พระอาการมากขึ้น ให้ทรงเชื่อมกระหายน้ำ พระกระยาเสวยก็ถอยลง พระอาการแปรไปทางอุจจาระธาตุ พระบรมวงศานุวงศ์ ท่านเสนาบดีปรึกษาพร้อมกันว่า หลวงทิพจักษุ์ถวายพระโอสถมาก็หลายวันแล้ว พระอาการหาคลายไม่ จึงให้ประชุมหมอหลวงว่าผู้ใดจะรับฉลองพระเดชพระคุณได้ หมอทั้งปวงก็นิ่งอยู่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท จึงรับเข้าถวายพระโอสถฉลองพระเดชพระคุณ ตั้งพระโอสถถวายหลายเวลา พระอาการก็ยังไม่ถอย…

…ครั้น ณ วันจันทร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นห้าค่ำ เวลาย่ำเที่ยงแล้ว ไปพระบังคนตกเป็นพระโลหิตลิ่มเหลวบ้าง พระอาการกำเริบมากขึ้น จึงรับสั่งให้หาพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ พระประเสริฐศาสตร์ดำรง เข้าไปเฝ้าในที่ จึงรับสั่งว่า พระโรคมากอยู่แล้ว ถ้าเห็นอาการเหลือมือ เหลือกำลังปัญญาแพทย์ ก็ให้กราบบังคมทูลแต่โดยจริง อย่าให้ปิดบังไว้ ก็จะได้ทรงทอดพระธุระเสียว่ารักษาไม่หายแล้ว แล้วรับสั่งแก่พระประเสริฐศาสตร์ดำรงว่าจะรักษาได้หรือไม่ได้ พระประเสริฐศาสตร์ดำรงกราบทูลพระกรุณาว่า จะรับฉลองพระเดชพระคุณสักสี่ห้าเวลา จึงโปรดให้พระประเสริฐศาสตร์ดำรงเข้าถวายพระโอสถต่อไป ครั้นเวลาค่ำประมาณทุ่มเศษ ไปพระบังคนครั้งไรก็มีพระโลหิตเจืออยู่ทุกๆ ครั้ง ก็รับสั่งว่าพระโรคครั้งนี้เห็นจะไม่หาย…

..ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้ว มีพระบรมราชโองการให้หาพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเข้าไปเฝ้า จึงรับสั่งว่า ทรงพระประชวรครั้งนี้เห็นจะเหลือมือหมอหลวงแล้ว ถ้าเพลี่ยงพล้ำลง ท่านผู้มีความสวามิภักดิ์และข้าหลวงเดิมก็จะเสียใจว่ารักษาพยาบาลไม่เต็มมือ จึงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสอนุญาตให้ว่า ผู้ใดมีหมอมียาก็ให้ถวายเถิด

ขณะนั้นพระราไชศวรรยาธิบดี เจ้ากรมพระคลังในซ้าย ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิม รับฉลองพระเดชพระคุณประกอบพระโอสถไพลกับเกลือเจือด้วยเวทมนต์ถวาย ครั้งเสวยแล้วพระอาการก็เสมอคงอยู่มิได้ลดน้อยถอยลงไป ก็ทอดพระอาลัยในพระสรีรร่างกาย แล้วก็ทรงพระอุตสาหะแกล้งขืนพระทัยเสวยพระกระยาหารต่างๆ จะเสวยได้มากน้อยเท่าใด ก็รับสั่งให้ออกมาบอกกับขุนนาง จะได้ดีใจว่าเสวยพระกระยาหารได้…”

การเสด็จพระราชดำเนินไปตำบลหว้ากอ และมีพระอาการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น จึงสันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรด้วยไข้จับสั่นหรือโรคมาลาเรีย และอาการสำคัญอย่างหนึ่งที่บ่งบอกความรุนแรงของโรคมาลาเรีย คือ ปัสสาวะสีคล้ำดำ ซึ่งเกิดจากเม็ดโลหิตเแดงถูกทำลายในกระแสเลือด สำหรับพระอาการของพระองค์ตามบันทึกในจดหมายเหตุนั้น กล่าวถึง พระบังคนเป็นพระโลหิต ซึ่งอาจเข้าได้กับโรคมาลาเรียขั้นรุนแรงดังกล่าว หรือมีพระอาการแทรกซ้อนจากโรคอื่นตั้งแต่ก่อนเสด็จฯ ไปตำบลหว้ากอ ต่างก็บ่งบอกถึงพระอาการประชวรที่ร้ายแรงทั้งสิ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะนั้น การแพทย์ตะวันตกในการรักษาโรคมาลาเรียด้วยยาควินินได้เผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว ดังจะเห็นได้จากโฆษณาการดูแลรักษาอาการไข้จากโรคนี้ ในจดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2388[2] ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าการสวรรคตกว่า 20 ปี

การ(ไม่)ปกปิดพระอาการและการพยากรณ์โรค

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่ต้องการให้ปกปิดการพยากรณ์โรคของพระองค์ ดังจะเห็นได้จากรับสั่งที่ว่า

“…พระโรคมากอยู่แล้ว ถ้าเห็นอาการเหลือมือ เหลือกำลังปัญญาแพทย์ ก็ให้กราบบังคมทูลแต่โดยจริง อย่าให้ปิดบังไว้ ก็จะได้ทรงทอดพระธุระเสียว่ารักษาไม่หายแล้ว…”[3]

ในขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงเป็นห่วงและไม่ต้องการให้ปกปิดพระอาการแก่พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมขุนพินิตประชานาถ หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประชวรอยู่เช่นกัน แต่พระราชประสงค์ข้อนี้กลับมิได้รับการตอบสนอง เพราะความเป็นห่วงของพระประยูรญาติและข้าราชการผู้ใหญ่ในขณะนั้น ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกในจดหมายเหตุฯ[1] ไว้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“…ในระหว่างนั้น เห็นจะเป็นด้วยพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปริวิตกถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ ยิ่งขึ้น ด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ ประชวรพระอาการมากอยู่นั้น ไม่ได้กราบบังคมทูลฯ ให้ทรงทราบ เพราะเกรงกันว่า ถ้าพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็จะทรงพระปริวิตกวุ่นวาย พระอาการจะซุดหนักไปจึงปิดความเสีย ครั้น ณ วันพุธเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ จึงโปรดฯ ให้ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีถวายปฏิญาณก่อนแล้ว จึงดำรัสถามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งรับสั่งเรียกว่า ‘พ่อใหญ่’ นั้นสิ้นพระชนม์เสียแล้วหรือยังมีพระชนม์อยู่ ขอให้กราบทูลแต่โดยสัตย์จริง

ถ้าสิ้นพระชนม์เสียแล้วก็จะได้หมดห่วง พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีกราบบังคมทูลฯ ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น เดิมประชวรไข้ ครั้นไข้ค่อยคลายเกิดพระยอดมีพิษขึ้นที่พระสอพระอาการมากอยู่คราวหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ค่อยคลายขึ้นแล้ว เป็นความสัตย์จริงดังนี้ มีพระราชดำรัสว่า ถ้าเช่นนั้นให้ไปทูลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ว่าถ้าพระอาการค่อยคลายพอจะมาเฝ้าได้ ให้เสด็จมาเสียก่อนวันขึ้น 15 ค่ำ ถ้ารอไปจนถึงวันแรมค่ำ 1 ก็จะได้แต่สรงพระบรมศพไม่ทันสั่งเสียอันใด พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเชิญพระกระแสออกมาทูลกรมหลวงวงศา ฯ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ท่านทั้งสองปรึกษากันเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระกำลังยังอ่อนนัก ถ้าเชิญเสด็จเข้าไปเฝ้าในเวลานั้น คงจะทรงพระโศกาดูรแรงกล้าน่ากลัว พระโรคจะกลับกำเริบขึ้น

เห็นควรจะระวังรักษาอย่าให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ มีภัยอันตรายจะดีกว่า จึงพร้อมกันห้ามเสียไม่ให้ไปทูลให้ทราบพระราชประสงค์ และให้กราบทูลพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ พระอาการค่อยคลายแล้ว แต่พระกำลังยังน้อยนัก เสนาบดีปรึกษากันเห็นว่ายังจะเชิญเสด็จมาเฝ้าไม่ได้…”

การปกปิดคนไข้ไม่ให้ทราบว่าตนเองเป็นโรคร้าย เช่น โรคมะเร็ง หรือกำลังจะเสียชีวิต และในทางกลับกัน การปกปิดไม่ให้ผู้ใกล้ชิดสำคัญรับทราบอาการของคนไข้ ด้วยความเป็นห่วงของญาติ ผู้ใกล้ชิดอื่นๆ รวมถึงบุคลากรสุขภาพ เพราะกลัวว่า เมื่อคนไข้หรือบุคคลนั้นรับทราบแล้ว จะทำให้อาการทรุดหนักจากผลกระทบด้านจิตใจ เป็นความเชื่อที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน

แต่จากการศึกษาในคนไข้โรคมะเร็งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พบตรงกันว่า คนไข้ส่วนใหญ่ต้องการทราบความจริงข้อนี้[5] การปกปิดความจริงเกิดจากความเป็นห่วงของผู้เกี่ยวข้องเองมากกว่า โดยไม่ให้ความสำคัญกับความต้องการที่แท้จริงของผู้กำลังจะเสียชีวิต

ความวิตกสงสัยว่าตนเองเป็นโรคร้ายหรือกำลังจะเสียชีวิตโดยไม่สามารถพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ใดได้ เป็นความทุกข์ไม่ต่างจากการรับรู้ว่าตนเองกำลังเผชิญกับสิ่งนั้น การรับรู้ดังกล่าวจะช่วยให้คนไข้และครอบครัวได้มีโอกาสตระเตรียม จัดการกิจธุระต่างๆ ตามความประสงค์ รวมทั้งการเปิดใจเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ดูแลสภาพจิตใจซึ่งกันและกันอย่างเปิดเผย ดังเช่นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีคนไข้และผู้ใกล้ชิดจำนวนหนึ่งที่มีประวัติในอดีตว่าสภาพร่างกายจิตใจทรุดหนักลงจริงๆ เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์วิกฤติในชีวิต เช่น การสูญเสียบุคคลที่รัก ความเจ็บป่วยหนัก การเปิดเผยความจริงให้บุคคลที่มีประวัติในอดีตชัดเจนเช่นนั้น จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง

ทรงตระเตรียมเรื่องส่วนพระองค์อย่างรอบคอบ

ในช่วงเช้าวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงแสดงพระราชประสงค์เกี่ยวกับการจัดการพระสรีระอย่างละเอียด ตามที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงได้บันทึกในจดหมายเหตุฯ[3] ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“…ครั้นเวลาสามโมงเศษ จึงรับสั่งให้หาพระราชโกษากรมพระภูษามาลาเข้าไปเฝ้า แล้วรับสั่งว่า เมื่อข้าไม่มีตัวแล้ว เจ้าจะทำในสรีรร่างกายของข้า สิ่งไรไม่เป็นที่ชอบใจอยู่แต่ก่อนขออย่าได้ทำ เป็นต้นว่า แหวนที่จะใส่ปากผี เอาเชือกผูกแหวนแขวนห้อยไว้ริมปาก กลัวผีจะกลืนแหวนเข้าไป อย่างนี้จงอย่าได้ทำแก่ข้าเลย แต่อย่าให้เสียธรรมเนียม แหวนที่จะใส่ปากนั้นให้เอาเชือกผูกแหวนแขวนที่เข็มกลัดคอเสื้อเพ็ชรที่ข้าได้ว่าขอไว้นานแล้ว

เมื่อจะตายจะเอากลัดไปด้วย ราคาก็ไม่มากนัก เพียงห้าสิบชั่งเศษ แล้วจะได้ทำพระฉลองพระองค์ด้วย เข็มขัดที่จะคาดนั้น อย่าให้เอาของแผ่นดิน ให้เอาของเดิมของข้าที่สมเด็จพระศรีสุริเยนทรซื้อกรมหลวงพิทักษ์มนตรีนั้น แหวนที่จะใส่นั้นได้จัดมอบไว้แล้ว ให้ไปถามพ่อกลางดูเถิด สังวาลเครื่องต้นเอาสายที่ข้าทำใหม่ อย่าให้เอาสายสำหรับแผ่นดิน ให้เอาของที่ข้าทำใหม่

การอื่นๆ นอกนั้น ก็ให้ไปปรึกษาพ่อกลางดูเถิด แต่อย่าให้เกี่ยวข้องเป็นของแผ่นดิน ของแผ่นดินนั้นเจ้าแผ่นดินใหม่ท่านจะได้ใส่เลียบพระนคร เมื่อเอาโกศลงเปลื้องเครื่องให้ค้นดูในปาก ฟันมีก็ให้เอาไว้ให้หมด จะได้แจกลูกที่ยังไม่ได้ให้พอกัน ถ้าฟันไม่พอกันให้ถอดเอาเล็บมือ ถ้าเล็บมือไม่พอให้ถอดเอาเล็บตีนแบ่งปันกันไปกว่าจะพอ เงินก้อนจีนของข้าหาสะสมไว้ว่าจะทำลองในโกศขึ้นไว้อีกสักองค์หนึ่งก็ทำหาทันไม่ เงินก้อนนั้นวางอยู่ที่หน้าต่างข้างโน้นหรืออย่างไรไม่รู้ได้เลย ให้กับกรมหลวงเทเวศร์สานเสื่อปูพระรัตนสถานเสียเถิด

ทองก็ได้หาสะสมไว้ว่าจะทำโกศลงยาขึ้นไว้อีกสักองค์หนึ่ง ทำก็ไม่ทัน ทองนั้นระคนปนกันอยู่กับทองอื่นๆ ก็ให้เอาไปใช้ในการเบ็ญจา หรือจะเอาไปใช้ในพระฉลองพระองค์ก็ตาม แต่พระเบ็ญจานั้นอย่าทำให้ใหญ่โตไปเลย ให้ป่วยการผู้คนช่างเชียว ให้เอาอย่างเบ็ญจาที่ข้าทำให้วังหน้าน้องข้า มีตัวอย่างอยู่แล้ว ถึงจะใช้โครงอันนั้นก็ได้…”

ทรงตระเตรียมการแผ่นดินทั้งหลายให้เป็นที่เรียบร้อย

ในช่วงสาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสเกี่ยวกับงานแผ่นดิน ที่ทรงเป็นห่วงให้เป็นที่เรียบร้อย ตามที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงได้บันทึกในจดหมายเหตุฯ[3] ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“ครั้นเช้าห้าโมงเศษมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าสั่งพระยาบุรุษฯ ให้ไปเชิญเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม ท่านเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายกให้เข้ามาเฝ้า เมื่อจะเข้ามาให้คอยเวลาทุกขเวทนาน้อยจึงให้เข้ามา พระยาบุรุษฯ ก็ไปกราบทูล กราบเรียนตามพระกระแสพระราชโองการ

ครั้นเวลาเกือบจะใกล้เที่ยง พระวาโยถอยพระอาการค่อยคลายสบายขึ้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านเจ้าพระยาภูธราภัย เข้าไปเฝ้า รับสั่งเรียกพระนามและชื่อเรียงกันไป แล้วรับสั่งให้เข้าไปเฝ้าใกล้พระแท่น ให้ยื่นมือเข้าไปถวาย เอาพระหัตถ์มาทรงจับมือท่านทั้งสามแล้วรับสั่งลาว่า วันนี้พระจันทร์เต็มดวง เป็นวันเพ็ญ อายุของฉันจะหมดจะดับในวันนี้แล้ว ท่านทั้งหลายกับดิฉันได้ช่วยทำนุบำรุงประคับประคองกันมา

บัดนี้กาลมาถึงฉันแล้ว ฉันจะขอลาท่านทั้งหลาย ด้วยฉันออกอุทานวาจาไว้เมื่อบวชอยู่นั้นว่า วันไรเป็นวันเกิดอยากจะตายในวันนั้น วันฉันเกิดเป็นวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด วันมหาปวารณา เมื่อป่วยไข้จะตายจะให้สัทธิงวิหาริกอันเตวาสิกยกลงไป จะขอตายในท่ามกลางสงฆ์ เมื่อเวลาที่พระสงฆ์กระทำวินัยกรรมมหาปวารณา ก็บัดนี้เห็นจะไม่ได้พร้อมตามความที่ปรารถนาไว้ เพราะเป็นคฤหัสถ์เสียแล้ว

ฉันจะขอลาท่านทั้งหลายไปจากภพนี้ในวันนี้แล้ว ฉันขอฝากลูกของฉันด้วย อย่าให้มีภัยอันตรายเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอให้ท่านเป็นที่พึ่งแก่ลูกของฉันต่อไปด้วยเถิด ท่านก็พากันโศกเศร้าพากันร้องไห้ทั้งสาม จึงรับสั่งห้ามว่าอย่าร้องไห้เลยจ้ะ ความตายไม่เป็นของอัศจรรย์อะไรดอก ทรงว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตา ย่อมเหมือนกันทุกรูปทุกนาม แต่ผิดกันที่ตายก่อนตายหลัง แต่ก็ต้องตายเหมือนกันทั้งสิ้น…

…แล้วรับสั่งว่า ฉันจะขอพูดด้วยการแผ่นดิน ยังหาได้สมาทานศีล 5 ประการไม่ ฉันเป็นคนป่วยไข้ จะขอสมาทานศีล 5 ประการเสียก่อนแล้วจึงจะพูดด้วยการแผ่นดิน จึงทรงตั้งนโมขึ้นสามหน ทรงสมาทานศีล 5 ประการจบแล้ว เลยตรัสภาษาอังกฤษต่อไปอีกยืดยาวหลายองค์

แล้วรับสั่งว่า สมาทานศีลแล้วทำไมจึงพูดภาษาอังกฤษต่อไปอีกเล่า เพื่อจะสำแดงให้ท่านทั้งหลายเห็นว่าสติยังดีอยู่ ไม่ใช่ภาษาของตัวก็ยังทรงจำได้แม่นยำอยู่ สติสตังยังดีอยู่ จะพูดด้วยการแผ่นดิน ท่านทั้งหลายจะได้สำคัญว่าไม่ฟั่นเฟือนเลอะเทอะ สติยังดีอยู่ ตัวท่านกับฉันได้ช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินมา ได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมาจนสิ้นตัวฉัน ถ้าสิ้นตัวฉันแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงช่วยกันทำนุบำรุงการแผ่นดินต่อไปให้เรียบร้อย…”

เราสามารถช่วยเหลือผู้กำลังจะเสียชีวิตให้ประกอบกิจสุดท้าย หรือกิจที่ยังคั่งค้างสำคัญๆ (unfinished business) เพื่อให้หมดห่วง รวมถึงการเปิดโอกาสให้ได้แสดงเจตจำนงที่จะรับหรือไม่รับการดูแลรักษาต่างๆ (advance directives) ซึ่งในปัจจุบันมีกฎหมายรองรับตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 เกี่ยวกับสิทธิการแสดงเจตจำนงไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน[4]

ทั้งนี้บุคคลดังกล่าวจะต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงเสียก่อน

ทรงลาพระและขอสมาสงฆ์เป็นคาถาภาษาบาลี เผดียงไปที่วัดราชประดิษฐฯ

ในช่วงเย็นวันสุดท้ายของพระชนมชีพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดการพระราชกรณียกิจทุกประการด้วยพระองค์เอง โดยทรงแสดงพระสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ก่อนทรงดำเนินการเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน รวมทั้งได้ทรงขอขมาและลาคณะสงฆ์เป็นภาษาบาลี ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาไทยภายหลัง ดังนี้

“อาพาธของดีฉันก็เจริญกล้า ดีฉันกลัวอยู่ว่าจะทำกาลเสียณเวลาวันนี้ ดีฉันขอลาพระสงฆ์ อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธ แม้ปรินิพพานแล้วนาน นมัสการพระธรรม นอบน้อมพระอริยสงฆ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดีฉันได้ถึงพระรัตนตรัยไรเล่าว่าเป็นสรณที่พึ่ง โทษล่วงเกินได้เป็นไปล่วงดีฉันผู้พาลอย่างไร ผู้หลงอย่างไร ผู้ไม่ฉลาดอย่างไร ดีฉันผู้ใดได้ประมาทไปแล้วด้วยประการนั้นๆ ทำอกุสลกรรมไว้แล้วณอัตตภาพนี้ พระสงฆ์จงรับโทษที่เป็นไปล่วงโดยความเป็นโทษเป็นไปล่วงจริงของดีฉันผู้นั้น เพื่อสำรวมระวังต่อไป…”[1]

เราสามารถช่วยเหลือผู้กำลังจะเสียชีวิตให้ได้แสดงความรู้สึก ความต้องการ เช่น การกล่าวคำขอบคุณ ขอขมา กล่าวลาหรือสั่งเสียต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ทั้งต่อผู้กำลังจะจากไปและผู้ใกล้ชิดที่เกี่ยวข้อง

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ถอดนัยของ “คาถาขอขมาลาพระสงฆ์” ร.4 ทรงพระราชนิพนธ์ก่อนเสด็จสวรรคต สะท้อนอะไร?

ทรงภาวนาครองสติ ด้วยพระองค์เอง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องการภาวนาเจริญพระสติด้วยพระองค์เอง ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ในช่วงเช้าตรู่ของวันเสด็จสวรรคต ได้รับสั่งกับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ว่า

“…วันนี้เป็นวันสำคัญอย่าไปข้างไหนเลย ให้คอยดูใจพ่อ ข้ารู้เวลาตายของข้าแล้ว ถ้าข้าจะเป็นอย่างไรลง ก็อย่าได้วุ่นวายบอกหนทางว่าอรหังพุทโธเลย ให้นิ่งดูแต่ในใจเถิด เป็นธุระของข้าเอง…”[3]

ในช่วงพลบค่ำ พระองค์ทรงภาวนาเจริญพระสติด้วยพระองค์เองตลอดเวลา จนกระทั่งเสด็จสวรรคตอย่างสงบ ทั้งๆ ที่มีพระอาการประชวรอย่างหนัก ดังที่ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงได้บันทึกไว้ ดังนี้

“…รับสั่งบอกว่าจะตายเดี๋ยวนี้แล้ว แล้วพลิกพระองค์หันพระพักตร์สู่เบื้องตะวันตก ก็รับสั่งบอกอีกว่าจะตายเดี๋ยวนี้แล้ว

แล้วก็ทรงภาวนาว่า อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ทรงอัดนิ่งไปแล้วผ่อนอัสสาสปัสสาสเป็นคราวๆ ยาวแล้วผ่อนสั้นเข้าทีละน้อยๆ หางพระสุรเสียงมีสำเนียงดังโธๆ ทุกครั้ง สั้นเข้าโธก็เบาลงทุกที ตลอดไปจนยามหนึ่งก็ดังครอกเบาๆ พอระฆังยามหอภูวดลทัศไนย์ย่ำก่างๆ นกตุ๊ดก็ร้องขึ้นตุ๊ดหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่สวรรคต เวลาเต็มปฐมยาม ท่าบรรทมเมื่อสวรรคตเหมือนกับท่าพระไสยาสน์ในวัดบวรนิเวศฯ พระสรีรร่างกายและพระหัตถ์พระบาทจะได้กระดิกกระเดี้ยเหมือนสามัญชนทั้งหลายนั้นหาบมิได้…”[3]

เราสามารถช่วยพูดโน้มนำให้ผู้กำลังเสียชีวิตมีสติ คิดถึงสิ่งดีๆ สิ่งที่เคารพสักการะ คุณงามความดีของตนเอง ในขณะจิตสุดท้ายตามความเชื่อของแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ต้องอาศัยความรู้จักเข้าใจและปรับเปลี่ยนตามแต่ละบุคคล มากกว่าการให้ความช่วยเหลือแบบเหมารวม เช่น เป็นชาวพุทธก็อ่านหนังสือธรรมะให้ฟังทุกคน โดยไม่สนใจลักษณะนิสัยหรือภูมิหลังของบุคคลนั้นเลย

บทสรุป

พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงสุดท้ายของพระชนมชีพ สามารถใช้เป็นต้นแบบและเป็นอุทาหรณ์ในการช่วยเหลือบริบาลคนไข้ระยะสุดท้ายหรือผู้กำลังจะเสียชีวิตให้เผชิญกับความตายอันเป็นธรรมชาติที่สุดของทุกชีวิตได้อย่างรอบด้าน

ช่วยให้ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขานี้ในระดับสากล สามารถบูรณาการกับภูมิปัญญาทางศาสนา สังคม และวัฒนธรรมของประเทศที่สืบทอดมาอย่างยาวนานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในบริบทของประเทศไทย

 

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2553 ชื่อบทความ “เรียนรู้การดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย จากเหตุการณ์สวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เขียนโดย นายแพทย์เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564


เอกสารอ้างอิง

[1] ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 52 จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต. พิมพ์ครั้งแรก. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472.

[2] นนทพร อยู่มั่งมี. “พัฒนาการของการใช้ยาฝรั่งในกรุงสยาม,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 30 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2552), น. 116-137.

[3] มหินทรศักดิ์ธำรง, เจ้าพระยา. จดหมายเหตุเรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร. พิมพ์ครั้งแรก. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2490.

[4] สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ. พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550. 2007 [cited 2010 April 15]; Available from: http://www.nationalhealth.or.th/mis3_1.html

[5] Phungrassami T, Sriplung H, Roka A, Mintrasak E, Peerawong T, Aegem U. “Disclosure of a cancer diagnosis in Thai patients treated with radiotherapy,” in Social science & medicine (1982). 2003 Nov; 57 (9) : 1675-1682.

[6] Sepulveda C, Marlin A, Yoshida T, Ullrich A. “Palliative Care : the World Health Organization’s global perspective,” in Journal of pain and symptom management. 2002 Aug; 24 (2) : 91-96.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564