ข้อจำกัดและสิทธิเสรีภาพของผัว-เมีย ในสังคมกรีกโบราณ

(ซ้าย) Odysseus และ (ขวา) Penelope-เมียในอุดมคติของโฮเมอร์   

ในหนังสือ “อยู่ชายขอบ มองลอดความรู้ รวมบทความเนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ฉลาด รมิตานนท์” (มติชน, 2549) โดยมี อานันท์ กาญจนาพันธุ์ เป็นบรรณาธิการ มีบทความหนึ่งเรื่อง “ความเป็นมาของ ‘เมีย’ หรือพัฒนาการของการมีตัวตนของ ‘ผู้หญิง’” โดย กนกศักดิ์ แก้วเทพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของผู้หญิงไว้อย่างน่าสนใจ ในที่นี้จึงขอเนื้อบางส่วนมานำเสนอดังนี้  (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

เรื่องราวต่างๆ ของ “เมีย” ในยุคกรีกโบราณมีมากมาย เพราะมีนักคิดนักเขียน (นักปรัชญา) เขียนถึงเรื่องเหล่านี้ แต่ว่าล้วนเป็นผลงานของผู้ชายทั้งสิ้น ดังนั้นทัศนะต่างๆ ที่บันทึกไว้จึงเป็นความเห็นของผู้ชายต่อผู้หญิง หรือเป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่ออกจากปากของผู้ชาย นอกจากนี้ข้อเขียนต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องราวของ “เมีย” ด้านสังคมและกฎหมาย ไม่มีสิ่งที่อาจใช้บ่งบอก “ความมีตัวตน” ของผู้หญิง เช่น ความคาดหวัง ความกลัว หรือ ความผิดหวัง ฯลฯ เป็นต้น

ในสมัยของโฮเมอร์ (Homeric era) (800 ปีก่อนคริสตกาล) “เมีย” ใน อุดมคติก็คือ Penelope ในเรื่องโอดิสซี (Odyssey) ซึ่งเป็นผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่ฉลาดเฉลียว และซื่อสัตย์ต่อ Odysseus วีรบุรุษแห่งสงครามโทรจัน ส่วนภาพลักษณ์ของ “เมีย” ที่ไม่ดีคือ Helen แห่งเมืองทรอย (หรือ Helen of Argive)

ช่วง 300 ปีแรกหรือยุคคลาสสิคของเอเธนส์ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับ “เมีย” มีมากขึ้น สิ่งที่น่าสังเกตในช่วงนี้ก็คือ มีเรื่องราวเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นมากมายภายในครอบครัว เช่น Clytemnestra ฆ่าผัวที่ชื่อ Agamennon ซึ่งอยู่ในช่วงเดินทางกลับจากไปรบในสงครามโทรจัน ด้วยความช่วยเหลือของชู้รัก หรือ Medea ฆ่าลูก 2 คนที่เกิดจาก Jason เพื่อเป็นการแก้แค้นที่ Jason ให้ความสำคัญกับเมียคนใหม่มากกว่าเธอ หรือแม้กระทั่งเรื่องของ Oedipus ฆ่าพ่อตัวเองที่ชื่อ Laius และแต่งงานกับแม่ของตัวเองคือ Jocasta (ซึ่งเป็นที่มาของเรื่อง Oedipus Complex ในทฤษฎีของฟรอยด์-ผู้เรียบเรียง)

ด้านมืดของเรื่องราวในวรรณกรรมเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตของ “เมีย” ซึ่งดูจะมีความคิดติดตรึงอยู่กับการฆาตกรรมผัวที่เอาหญิงอื่นมาแทนที่ตนหรือทำร้ายลูกของตนเอง

ชีวิตประจำวันโดยทั่วไปของชาวเอเธนส์ทั้งหญิง-ชายนั้นถูกกำหนดโดยขนบประเพณี ที่น่าสนใจเห็นจะเป็นการแต่งงาน ซึ่งว่าไปแล้วดูจะเป็นเรื่องของการจัดการทรัพย์สมบัติ หรือเรื่องของเงินๆ ทองๆ มากกว่าอารมณ์รักของคู่บ่าวสาว กล่าวคือ ครอบครัวที่มีลูกชายโตพอที่จะแต่งงานได้ก็จะสืบเสาะหาลูกสะใภ้ในอนาคตที่มีสินสอดทองหมั้นพอเพียงสำหรับการมีชีวิตอยู่ของคู่แต่งงาน พฤติกรรมเช่นนี้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลางเท่านั้น หากรวมถึงชนชั้นล่างด้วย เช่น เจ้าของร้านค้า ชาวประมง ฯลฯ

อีกเรื่องหนึ่งของการแต่งงานซึ่งสำคัญด้วยเช่นกันที่จะต้องคำนึงถึงก็คือ สิทธิการเป็นราษฎร (citizenship) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่สืบทอดกันในตระกูลแต่ก็จำกัดเฉพาะพ่อแม่ที่เป็นชาวเอเธนส์ และผู้ที่เป็นชนชั้นราษฎรอยู่แล้วเท่านั้น มิฉะนั้นลูกที่เกิดก็จะไม่ได้รับสถานภาพแห่งอภิสิทธิ์อันนี้

อนึ่งเนื่องจากผู้หญิงไม่มีตัวตนความรู้สึกอย่างหนึ่งนี้มักจะเกิดขึ้นตลอดเวลาก็คือ “ถูกผลักไสไล่ส่ง” ดังคำพูดที่ว่า “Everyone is driving me away everyone is telling me to leave”

เพราะในตอนที่อยู่กับพ่อแม่ เมื่ออายุถึงคราวก็จะถูกผลักดันให้ “ออกเรือน” ทั้งนี้การแต่งงานก็คือการย้ายออกจากบ้านของตัวเองไปอยู่บ้านของคู่ครอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้รับการปฏิบัติดีเลวอย่างไร แต่ถึงกระนั้น การแต่งงานสำหรับหญิง-ชายชาวกรีกก็ดูจะเป็นเรื่องปกติของชีวิต เพราะถือว่าเป็น “การเปลี่ยนผ่าน” (a rite of passage) จากการเป็นเด็กไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ โดยทั่วไปพิธีการแต่งงานจะจัดขึ้นในช่วงฤดูหนาว และกินเวลาราว 2-3 วัน

สิ่งหนึ่งที่สังคมกรีกดูจะต่างไปจากสังคมอื่นก็คือ “เมีย” จะยังไม่ได้ไปอยู่อย่างถาวรที่บ้านของผู้ชายที่เป็นผัวจนกว่าจะมีลูก ในช่วงระหว่างนั้น พ่อของเธอสามารถยกเลิกการแต่งงานได้ตลอดเวลา (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติของครอบครัว) ซึ่งจะทำให้เธอตกอยู่ในความดูแลโดยพ่อของเธออีกครั้ง

แม้ว่ากฎหมายของกรีกจะยอมรับการแต่งงานระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง (heterosexual marriage) แต่ผู้ชายกรีกก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดเพศสัมพันธ์ของตัวเองไว้กับ “เมีย” ของตัวเองเท่านั้น โดยอาจหาเศษหาเลยอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นจากนางบำเรอ ทาสทั้งหญิงและชาย โสเภณี (หญิงและชาย) และชู้รัก (หญิงและชาย) พฤติกรรมเช่นว่านี้ ทำให้มักกล่าวกันว่า ผู้ชายชาวเอเธนส์มีเมีย 3 คน คือ 1. “เมียแต่ง” ที่เอาไว้ผลิตลูกและดูแลรักษาทรัพย์สมบัติ 2. “เมีย-นางบำเรอ” ที่เอาไว้สำหรับหลับนอน และ 3. “เมีย-หญิงงามเมือง” เพื่อความบันเทิงรื่นรมย์

แต่ “เมีย” ชาวเอเธนส์จะถูกกันออกจากชายอื่นที่ไม่ใช่คู่ครองของตัวเอง อีกทั้งจะได้รับการลงโทษอย่างรุนแรงถ้าหากถูกจับได้ว่า “เล่นชู้” อย่างน้อยที่สุดก็จะถูกผัวหย่าและส่งตัวกลับบ้านส่วน “ชู้รัก” อาจถูกฆ่าได้โดยกฎหมายยอมรับ

โดยทั่วไป “เมีย” ชาวเอเธนส์ จะอายุน้อยกว่าผัวราว 10-25 ปี การแต่งงานถือว่าเป็นสถาบันที่สนองตอบต่อการสืบทอดลูกหลานและการดูแลบ้านช่องมากกว่าเรื่องของ “ความรักใคร่” ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ

อีกสิ่งหนึ่งที่ชาวกรีกประพฤติปฏิบัติตรงกันข้ามกับความรู้สึกนึกคิดของชาวยิวที่เป็นคริสต์ก็คือ “รักร่วมเพศ” สัมพันธภาพระหว่างชายกับชายด้วยกันเองซึ่งมีอยู่มากในหมู่ชนชั้นนำของสังคมนั้นถือเป็น “อุดมคติ” ที่สำคัญของชีวิตเลยทีเดียว

ความสัมพันธ์ระหว่างไม้ป่าเดียวกันคือผู้ชายกับเด็กผู้ชายนับได้ว่าเป็นการแสดงออกตามธรรมชาติ เหมาะสมกับความสัมพันธ์ที่ยาวนาน เพราะ “ดื่ม อบอุ่น และเต็มไปด้วยความรัก” เช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ทางเพศแบบหลากหลาย บรรดานักปรัชญาคนสำคัญของกรีกทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Plato, Xenophon, Aristotle, Aristophanes และ Plutarch ล้วนแล้วแต่ถือว่า “รักร่วมเพศ” เป็นสิ่งปกติ

สำหรับผู้หญิงในเอเธนส์นั้นเล่า ซึ่งมักจะมีชีวิตจำกัดอยู่กับครอบครัว ทำให้เรารู้เรื่องราวเกี่ยวกับ “หญิงรักหญิง” (lesbian) น้อยมาก ยกเว้นกรณีของ Sappho (เกิด 612 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหัวหน้าของกลุ่มผู้หญิงสาวที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ร่ำเรียนดนตรี ขับร้อง แต่งบทกวี และเต้นรำ โดยเธอได้บรรยายความรู้สึกในเรื่องนี้เอาไว้ออกมาเป็นบทกวี

แน่นอนว่าบทกวีของเธอคงไม่ได้แพร่หลายในหมู่ “เมีย” ชาวกรีกยกเว้นหญิงงามเมือง ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเธอส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก และทั้งหมดถูกกีดกันออกจากแวดวงของผู้ชายอันเป็นที่ที่น่าจะมีการอ่านบทกวีของ Sappho

ด้วยเหตุนี้ เหตุผลที่เชื่อได้ว่า ควรมีผู้หญิงกรีกอีกหลายคนที่ได้รับความอภิรมย์ในอ้อมกอดของหญิงเพศเดียวกัน ดังที่มีปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน (อันได้แก่ ขบวนการอัญจารี เป็นต้น-ผู้เรียบเรียง) แต่ในยุคนั้นเรื่องการเปิดเผยเช่นนี้นับว่าเป็นอันตรายต่อตัวเองอย่างยิ่ง

(ที่มา: เรียบเรียงจากบทที่ 1 ของหนังสือเรื่อง A History of The Wife Marilyn Yalom พิมพ์โดย Pandora, London, 2001, pp. 1-44 เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง โอกาสครบรอบ 60 ปี ของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ แห่งศูนย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สนใจเรื่อง “ผู้หญิง” เป็นพิเศษ ตามคำเชื้อชวนชวนของ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์)

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 20 กันยายน 2564