อคติทางเชื้อชาติในสังคมอเมริกัน หลังเหตุการณ์ 9/11

ไฟ รำลึก เหตุการณ์ เหตุการณ์ 9/11 ใน นิวยอร์ก
การเปิดไฟรำลึกครบรอบ 10 ปี เมื่อ 9 กันยายน 2011 ของเหตุการณ์ 9/11 (Photo by STAN HONDA / AFP)

หลังเหตุการณ์ 9/11 สังคมอเมริกันเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ทั้งก่อให้เกิดการตื่นกลัวภัย “การก่อการร้าย” ทั้งก่อให้เกิดแนวคิด “ชาตินิยม” ทั้งก่อให้เกิด “อคติทางเชื้อชาติ” เหล่านี้ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ บอกเล่าไว้ใน “บาดแผลอเมริกา : สงครามกับเสรีภาพในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา” (สำนักพิมพ์มติชน, 2547)

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2544 (2001) ผมกับครอบครัวเดินทางไปสหรัฐอเมริกา หลังจากเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมครั้งรุนแรงที่สุดในสหรัฐอเมริกาไม่กี่เดือน แม้จะเดาไม่ผิดว่าผลสะเทือนของกรณี 11 กันยา ที่มีต่อสังคมและคนอเมริกันต้องสูงแน่ ๆ แต่ผมก็นึกไม่ออกว่าสภาพการณ์ในสังคมอเมริกาของชาวบ้านระดับต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร

เราได้ข่าวการปะทุขึ้นของบางส่วนเสี้ยวของลัทธิเชื้อชาตินิยมและชาตินิยมและลัทธิต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งอันหลังนั้นปรากฎออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในนโยบาย ‘สงครามใหม่ของอเมริกา’ ภายใต้การกำกับของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ดำเนินอยู่ในอัฟกานิสถานขณะนั้น อันอาจทำให้ภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียกลางต้องเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือในอนาคตข้างหน้านี้”

ครั้งหนึ่งขณะที่ ศ.ดร.ธเนศ กำลังจะเดินทางจากฟิลาเดเฟียไปลอสแองเจลีสด้วยเครื่องบิน ต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด ก็เพราะหลังเหตุการณ์ 9/11 ทำให้มาตรการการบินของสหรัฐอเมริกาเป็นไปอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงอคติทางเชื้อชาติที่ก่อตัวขึ้นในสังคมอเมริกัน ศ.ดร.ธเนศ เล่าไว้ว่า

“ผมรีบไปยังประตูผู้โดยสารขาออก พอไปถึงก็เห็นแถวผู้โดยสารยืนรอยาวประมาณ 100 เมตร พอทำใจได้เพราะอย่างไรก็มาถึงหน้าด่านสุดท้ายแล้ว ยังไงก็ไม่ตกเครื่องแน่ ๆ เพราะมีคนรอไปด้วยกันเป็นหลายสิบ ที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งก็คือ ไม่มีใครบ่น ไม่ว่าไม่หงุดหงิด ไม่โมโหเลย กับแถวที่ยาวขึ้นเรื่อย ๆ …ทั้ง ๆ ที่ความล่าช้านั้นเกิดจากวิธีการที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และไม่มีระบบของเจ้าหน้าที่สายการบินที่ดูบัตรประจำตัวของผู้โดยสารว่าตรงกับชื่อในบัตรขึ้นเครื่องหรือเปล่า และดูหน้าว่าคนเดียวกันไหม

ระหว่างนั้นพนักงานดังกล่าวก็วิ่งออกมาชี้ตัวผู้โดยสารบางคนเพื่อไปให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสนามบินตรวจอย่างละเอียดอีก เหมือนกับในหนังที่ตำรวจจับคนร้ายหรือผู้ต้องหา แล้วให้กางแขนออก เปิดกระเป๋าและข้าวของที่ติดตัวออกมาดูหมดทุกอย่าง ถ้าเป็นผู้ชายก็ถอดรองเท้าออกให้เขาพลิกดูอีกด้วย หลังจากที่มีการจับผู้โดยสารจากยุโรปมาสหรัฐ ที่มีวัตถุระเบิดอยู่ในส้นรองเท้าได้คนหนึ่งก่อนวันคริสต์มาส ทำให้จิตวิทยาคนอเมริกันยังหวาดกลัวกับการก่อการร้ายบนเครื่องบินมากขึ้นไปอีก…

การสุ่มตัวอย่างผู้โดยสารสำหรับการตรวจอย่างละเอียดทำให้มีเสียงสะท้อนออกมาเหมือนกันว่า คนที่มีโอกาสถูกเลือก มักต้องมีคุณลักษณะอะไรบางอย่างที่สังคมอเมริกันผิวขาวไม่ค่อยชอบและไม่ค่อยไว้ใจ เช่น สีผิว เชื้อชาติ และศาสนาเป็นต้น ทั้งหมดแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมในคนที่มีเชื้อชาติอาหรับ คนนิโกร และคนผิวขาววัยรุ่น หรือคนผิวขาวที่มีอายุแต่ท่าทางโทรมหน่อย เป็นการสุ่มเลือกที่ดึงเอาความมีอคติทางเชื้อชาติและผิวสีในสังคมอเมริกันออกมาอีก ทั้ง ๆ ที่ก็รู้ว่ามันเคยเป็นและก็ยังเป็นเชื้อเพลิงของความบาดหมางและแตกแยกภายในชาติมาแล้วก็ตาม

ไม่ทันไรปัญหาอคติในการเลือกปฏิบัติดังกล่าวก็ปรากฎออกมาช่วงเทศกาลคริสต์มาส เมื่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเดินทางตามไปที่หลังเพื่อทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่บ้านพักในเท็กซัส เขาถูกตรวจค้นขณะขึ้นเครื่องบิน ปรากฏว่าพบอาวุธปืน ซึ่งอีตาคนนั้นก็เอาหนังสือราชการแสดงตนว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำตัวของประธานาธิบดี มีใบอนุญาตให้พกปืนได้ (ไม่งั้นจะคุ้มครองตัวประธานาธิบดีได้อย่างไรเล่า ถ้าไม่พกปืน)

แต่กัปตันเครื่องบินไม่ยอม แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ให้คำรับรองว่าอีตาคนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจริงก็ตาม เพราะกัปตันถือว่าเขาใหญ่ที่สุดแล้วในเครื่องบิน และรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสาร จึงไม่ยอมให้อีตาคนนั้นบินไปด้วยในเครื่องบินลำนั้น…ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะอีตาเจ้าหน้าที่ที่มีปัญหานั้นเป็นคนอาหรับอเมริกันนั่นเอง

ปัญหาต่าง ๆ ในประเทศและในสังคมอเมริกันจึงเป็นผลจากแรงเหวี่ยงของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ผมกำลังสงสัยว่า คนและสังคมอเมริกันจะยอมรับและทนต่อสภาพที่ไม่เป็นเสรีนิยม ไม่เป็นทุนนิยมที่มีประสิทธิภาพ (อันตรงข้ามกับทุนนิยมเทียม ๆ – ersatz capitalism อย่างในเอเชีย) ไปได้นานสักเท่าไร…”

สำหรับเหตุการณ์ 9/11 ในมุมมองของ ศ.ดร.ธเนศ ได้กล่าวไว้ว่า

“คงไม่มีครั้งไหนในประวัติศาสตร์อเมริกัน ที่เหยื่อผู้ประสบเคราะห์กรรมถึงแก่ชีวิตจะได้รับการดูแล ตอบแทน และเป็นที่รำลึกของคนทั้งประเทศมากเท่ากับเหยื่อในกรณี 11 กันยานี้ ในทำนองเดียวกัน การทำให้ความสูญเสียและความรุนแรงของกรณีรวมศูนย์ได้มากเท่าไร ก็จะทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถสร้างความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงและกำลังอย่างเต็มรูปแบบต่อศัตรูหรือคนที่รัฐคิดว่าเป็นศัตรูได้อย่างเสรีเต็มที่ด้วยเช่นกัน

สภาพจิตของสังคมอเมริกันขณะนี้เป็นการประกบกันอย่างแนบแน่นแยกไม่ออก ระหว่างความรุนแรงในประเทศที่ถูกกระทำด้วยกลุ่มก่อการร้าย และความรุนแรงนอกประเทศที่สหรัฐกระทำต่อกลุ่มคนที่เป็นพวกผู้ก่อการร้าย แม้ในปฏิบัติการนั้นอาจต้องทำลายและรุนแรงต่อชาวบ้านอื่น ๆ ที่บริสุทธิ์และไร้ความผิด แต่โชคร้ายที่ชาวบ้านอัฟกานิสถานและต่อมาอิรัก (และต่อไป?) ไม่มีเสียง ไม่มีเสียงที่ให้ความสะเทือนใจต่อผู้คนในอารยธรรมอันสูงกว่าได้ เพราะถึงอย่างไรคนจนอดอาหารหรือบ้านพังก็เป็นเรื่องปกติวิสัยที่เคยเกิด และอาจเกิดเมื่อไรก็ได้ ถึงทหารอเมริกันไม่เข้าไปทิ้งระเบิด พวกนั้นก็ต้องถูกกองกำลังทาลิบันและปรปักษ์วางระเบิดยิงทิ้งแย่งชิงอาหารจากหน่วยบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติอยู่นั้นเอง หรือจากระบอบเผด็จการของชัดดัม ฮุสเซน ดังที่ที่ปรึกษาความมั่นคงของทำเนียบขาวและเพนตากอนโฆษณาอยู่ทุกวัน

แต่การที่นักธุรกิจวอลสตรีท นายธนาคาร นายหน้าประกันภัยและค้าหุ้น นักสื่อสารมวลชนและดอทคอม ฯลฯ ซึ่งกินเงินเดือนสูงถึง 2.5 แสนเหรียญสหรัฐต่อปี รวมไปถึงพนักงานและเจ้าหน้าที่บริษัทห้างร้านภัตตาคารอีกมาก ซึ่งเป็นคนงานธรรมดาจากทั่วโลกที่เงินเดือนไม่มาก ต้องมาตายด้วยการโจมตีตึกเวิลด์เทรดอย่างไม่มีปีไม่มีขลุ่ยจากคนที่ไม่มีหัวนอนปลายตีนนั้น เป็นเรื่องที่สะเทือนใจคนอเมริกันทั้งหลายอย่างยากที่จะลืมเลือนและให้อภัยได้

ที่สำคัญอีกข้อคือ คนอเมริกันไม่อาจเข้าใจเรื่องเลวร้ายทั้งหมดนี้ได้ด้วยเหตุผลและความคิดแบบอเมริกันที่เป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกยุคโลกาภิวัตน์นี้ ข้อนี้จะมีผลระยะยาวต่อปฏิกิริยาของรัฐและสังคมอเมริกันที่มีต่อ ‘มูลเหตุ’ และสภาพภววิสัยที่สร้างและรองรับปฏิบัติการ ‘ก่อการร้าย’ ทั้งหลายที่กำลังก่อรูปขึ้นมาเป็นปรปักษ์ตัวใหม่ ที่ทำการขัดขวางเส้นทางไปสู่สวรรค์ของระบบทุนอุตสาหกรรมและระบบการเมืองเสรีนิยมที่เพิ่งเอาชนะระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ได้อย่างสะบักสะบอม…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2564