มองความสัมพันธ์ ‘สหรัฐอเมริกา’ กับ ‘ปากีสถาน’ และ ‘ไทย’ หลังเหตุการณ์ 9/11

ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไทย และ ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา จอร์จ ดับเบิลยู บุช หลังเหตุการณ์ 9/11
ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอร์จ ดับเบิลยู บุช ภาพถ่ายเมื่อในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) ในการกระชุม APEC (AFP PHOTO/GOH CHAI HIN)

มองความสัมพันธ์ ‘สหรัฐอเมริกา’ กับ ‘ปากีสถาน’ และ ‘ไทย’ หลังเหตุการณ์ 9/11

“Every nation in every region now has a decision to make. Either you are with us, or you are with the terrorists”

“ทุกชาติ ทุกภูมิภาค ขณะนี้ต้องตัดสินใจว่าคุณจะอยู่ข้างเรา หรือคุณจะอยู่ข้างผู้ก่อการร้าย”

Advertisement

จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากล่าวไว้เมื่อ ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) หลังเกิดวินาศกรรม 11 กันยายน หรือเหตุการณ์ 9/11

โศกนาฏกรรมในครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องดำเนินนโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้ายอย่างเด็ดขาด สหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรใหม่และรักษาพันธมิตรเก่าเพื่อสนองนโยบายดังกล่าว ในที่นี้จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับ “ปากีสถาน” ในฐานะ “แนวรบที่หนึ่ง” และ “ไทย” ในฐานะ “แนวรบที่สอง”

เหตุการณ์ 9/11 เครื่องบิน ชน ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
โศกนาฏกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) เครื่องบินสองลำพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (Photo by SETH MCALLISTER / AFP)

ปากีสถาน

“แนวรบที่หนึ่ง” ก็คือ การทำสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียกลาง โดยใน ค.ศ. 2001 สหรัฐฯ บุกอัฟกานิสถาน และใน ค.ศ. 2003 บุกอิรัก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ 9/11 โดยสหรัฐฯ ได้ใช้ปากีสถานเป็นฐานปฏิบัติการทางการทหารที่สำคัญในภูมิภาคในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ปากีสถานเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาการเมืองภายในวุ่นวาย มักมีการผลัดเปลี่ยนแย่งชิงอำนาจเสมอ ซึ่งนั่นย่อมเป็นอันตรายต่อการเข้าครอบงำของกลุ่มก่อการร้าย ยิ่งปากีสถานมีอาวุธนิวเคลียร์ด้วยแล้วนั่นยิ่งทำให้สหรัฐฯ ต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ ดังที่ คอนโดลีซซา ไรซ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า “ประเทศที่ไม่มีความสามารถในการปกป้องอธิปไตยของตนเอง จะทำให้เกิดการแผ่ขยายและการเพิ่มขึ้นของกลุ่มก่อการร้าย อาวุธนิวเคลียร์รวมถึงสิ่งอื่นที่เป็นอันตราย”

ภายหลังจากการปฏิวัติในอิหร่านซึ่งทำให้สหรัฐฯ สูญเสียพันธมิตรที่สำคัญในภูมิภาคไป สหรัฐฯ จึงหันมาให้การสนับสนุนปากีสถานมากขึ้น ทางหนึ่งเพื่อค้านอำนาจของสหภาพโซเวียตที่กำลังแผ่อิทธิพลลงมายังภูมิภาค สหรัฐฯ ได้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงินจำนวนมหาศาล และพยายามกดดันให้ปากีสถานยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์

ย้อนกลับไปในสมัยปลายสงครามเย็นราวทศวรรษ 1980-1990 กลุ่มนิยมแนวทางศาสนาอิสลาม (Islamist) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายของปากีสถาน กองทัพต้องอาศัยนักรบมูจาฮีดีน ส่วนหนึ่งส่งไปทำสงครามในแคว้นแคชเมียร์ พื้นที่พิพาทกับอินเดีย และอีกส่วนหนึ่งส่งไปต่อสู้กับกองทัพคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตที่รุกคืบเข้ามาในอัฟกานิสถาน ความจำเป็นดังกล่าวส่งผลให้ปากีสถานต้องสนับสนุนกลุ่มนักรบมูจาฮีดีนและกลุ่มตาลีบัน ซึ่งกุมอำนาจของอัฟกานิสถานในช่วงนั้น

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของปากีสถานจึงมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มองค์กรมุสลิมที่นิยมแนวทางศาสนาอิสลาม โดยหน่วยสืบราชการลับของปากีสถานต้องทำงานร่วมกับพรรคญามาอาต อี อิสลามี พรรคการเมืองฝ่ายขวาของปากีสถาน และกลุ่มอัลกออิดะฮ์ เพื่อเกณฑ์นักรบมูจาฮีดีนทั่วโลก โดยเฉพาะที่มาจากโลกอาหรับซึ่งมี อับดุลเลาะห์ อาซัม และอุซามะฮ์ บินลาดิน เป็นหัวหน้าเครือข่ายคอยประสานงานรับสมัครนักรบมูจาฮีดีน

 อุซามะฮ์ บิน ลาดิน
ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่ของ อุซามะฮ์ บิน ลาดิน, AFP PHOTO/HO

หลังจากเหตุการณ์ 9/11 กลุ่มองค์กรมุสลิมหลายกลุ่มถูกทางการของสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเป็นองค์กรก่อการร้ายสากล เพราะมีส่วนพัวพันกับเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐฯ ได้เริ่มพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของปากีสถาน เพราะกลุ่มองค์กรมุสลิมมีอิทธิพลในแวดวงการทหารและหน่วยสืบราชการลับของปากีสถาน ซึ่งสามารถกดดันให้ความช่วยเหลือเครือข่ายของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ที่หลบหนีจากการโจมตีของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานเข้ามากบดานในปากีสถานได้

อย่างไรก็ตาม เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ประธานาธิบดีของปากีสถานได้ปลดนายทหารระดับสูงในกองทัพและหน่วยสืบราชการลับ แต่นั่นทำให้พรรคญามาอาต อี อิสลามี และกลุ่มนิยมแนวทางศาสนาอิสลามในประเทศไม่พอใจรัฐบาลอย่างมาก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารมูชาร์ราฟ แม้จะไม่สำเร็จผล แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของปากีสถาน และกลุ่มองค์กรมุสลิมต่าง ๆ ไม่พอใจผู้นำรัฐบาลที่อนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพของปากีสถานเป็นฐานปฏิบัติการทางการทหาร

ไม่เพียงแต่ความกังวลเรื่องกลุ่มก่อการร้ายเท่านั้น สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถานอีกด้วย นักวิเคราะห์แสดงความเป็นห่วงกรณีอาวุธนิวเคลียร์เพราะขาดความเป็นเอกภาพในการรักษาความปลอดภัย อันเนื่องมาจากมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่สลับหมุนเวียนเข้ามาบริหารประเทศ ดังที่ เบนาซีร์ บุตโต อดีตผู้นำปากีสถานกล่าวว่า “ถึงแม้ประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ได้ยืนยันว่าระบบควบคุมความปลอดภัยของอาวุธนิวเคลียร์มีความน่าเชื่อถือ แต่ตนเกรงว่าความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในอาจจะทำให้ระบบควบคุมความปลอดภัยของอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในภาวะเสี่ยง”

หลังจากสหรัฐฯ โจมตีกลุ่มอัลกออิดะฮ์และกลุ่มตาลีบัน ใน ค.ศ. 2001 มีรายงานว่าปากีสถานได้กระจายคลังเก็บอาวุธนิวเคลียร์ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันการถูกโจมตีทางอากาศโดยสหรัฐฯ ในทางตรงกันข้ามการกระทำดังกล่าวเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกบุกปล้นโดยกลุ่มนิยมแนวทางศาสนาอิสลามมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้สหรัฐฯ หวาดระแวงปากีสถาน เช่น 2 เดือนหลังเหตุการณ์ 9/11 มีรายงานว่านักวิทยาศาสตร์อาวุธนิวเคลียร์ชาวปากีสถานได้นัดพบกับผู้นำกลุ่มอัลกออิดะฮ์ แต่รัฐบาลปากีสถานระบุว่าเป็นการนัดพบเรื่องสาธารณกุศล นอกจากนี้ยังเชื่อว่าปากีสถานอาจเป็นแหล่งขายเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์อาวุธนิวเคลียร์ให้กับประเทศอื่น ๆ ทั้ง อิหร่าน เกาหลีเหนือ พม่า ตุรกี ฯลฯ

หลังเหตุการณ์ 9/11 และการบุกโจมตีอัฟกานิสถาน ด้านหนึ่งเพื่อปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย แต่อีกด้านหนึ่งก็เพื่อเพิ่มและกระชับอำนาจในภูมิภาค รวมทั้งควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถานด้วย นักวิเคราะห์มองว่าการที่สหรัฐฯ ได้เข้าไปตั้งฐานทัพในอัฟกานิสถานยังประโยชน์ในการเข้าควบคุมอาวุธนิวเคลียร์หรือเข้าไประงับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในภูมิภาคนี้ หรืออาจเป็นการปรามพฤติกรรมลักลอบขายเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถานให้กับชาติอื่น ๆ

ดังนั้น การมีฐานปฏิบัติการทางการทหารในอัฟกานิสถานซึ่งอยู่ใกล้ปากีสถานจะทําให้สหรัฐฯ สามารถแทรกแซงปากีสถานได้ในกรณีที่รัฐบาลปากีสถานไม่สามารถรักษาความปลอดภัยของอาวุธนิวเคลียร์ด้วยตนเองได้ 

ไทย

ย้อนกลับไปในช่วงที่สงครามเย็นกำลังร้อนระอุ ไทยและสหรัฐฯ ต่างตระหนักว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ถือเป็นภัยคุกคามร่วมกัน โดยยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯ คือนโยบายปิดล้อมการขยายเขตอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งในกรณีของสงครามเกาหลี สงครามลาว สงครามเวียดนาม และสงครามอ่าวเปอร์เซีย ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจึงเป็นไปอย่างแนบแน่น ชนิด “ร่วมหัวจมท้าย”

แต่ภายหลังจากการถอนทหารออกจากเวียดนามซึ่งสะท้อนการลดทอนบทบาทของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการสูญสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียต พร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามเย็น ความสัมพันธ์ของไทยและสหรัฐฯ ดูเหมือนว่าจะไม่แนบแน่นเท่าเดิม แต่ทั้งสองชาติยังคงมีสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน โดยเฉพาะในมิติทางความมั่นคงทางการทหาร เห็นได้จากผ่านการฝึก Cobra Gold เป็นต้น

แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ ดูมีทีท่าห่างเหิน เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือวิกฤตเศรษฐกิจดังที่ไทยคาดหวัง ทั้งนี้อาจพิจารณาได้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคหลังสงครามเย็น ไม่ใช่ภูมิภาคซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อีกต่อไป

ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา จอร์จ ดับเบิลยู บุช กับ นายกรัฐมนตรี ไทย ทักษิณ ชินวัตร ที่ ทำเนียบขาว ใน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู บุช พบกับนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) (Photo by LUKE FRAZZA / AFP)

หลังการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลผลักดันให้ไทยกลายเป็นชาติมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมปฏิบัติของการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ซึ่งเคยยึดสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง สู่การปรับใช้นโยบายเปิดประตูสู่ทุกทิศทาง โดยไทยมีท่าที่ที่จะถอยห่างจากร่มเงาของสหรัฐฯ และเพิ่มหรือเน้นความสำคัญกับความสัมพันธ์กับจีน สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศมุสลิมมากยิ่งขึ้น

แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็น “แนวรบที่สอง” ของยุทธศาสตร์สงครามต่อต้านก่อการร้ายในระดับโลกของสหรัฐฯ ไปโดยปริยาย หนึ่งในชาติพันธมิตรเก่าแก่อย่างฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ก็ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างเต็มที่

ในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) ไม่นานหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ทักษิณให้สัมภาษณ์ว่า “รัฐบาลขอยืนยันว่าการก่อการร้ายถือเป็นอาชญากรรมที่ทุกฝ่ายทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันขจัด และประเทศไทยก็ยินดีร่วมมือกับนานาชาติ รวมทั้งสหรัฐฯ ในการจัดการกับการก่อการร้ายในทุกรูปแบบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นกระทบต่อเราก็ในฐานะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลก แต่ในสิ่งหนึ่งที่คาดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้านั้น เราได้พิจารณาถึงผลกระทบที่จะมีต่อคนไทยและประเทศไทย ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงใด ๆ แล้วเราก็จะติดตามทุกระยะ”

ต่อมาในช่วงต้นของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ทักษิณประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไทยจะ “เป็นกลางอย่างเคร่งครัด” ซึ่งสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของพลเอก ธรรมรัตน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่า “ไทยจะวางตัวเป็นกลางโดยไม่สนับสนุนทั้งกลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือสหรัฐฯ ในทำสงคราม เพราะเกรงว่าไทยจะตกเป็นเป้าของกลุ่มผู้ก่อการร้าย”

แม้ไทยจะไม่ได้เข้าร่วมกับสหรัฐฯ อย่างที่เรียกว่า “ร่วมหัวจมท้าย” เหมือนช่วงการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ภายหลังก็ปรากฏว่าระดับของความร่วมมือของไทยที่มีต่อสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยไทยจะส่งทหารช่างและแพทย์ทหารเข้าไปยังอัฟกานิสถานเพื่อสนับสนุนสหรัฐฯ และเมื่อ Colin Powell รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนไทยใน ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ได้กล่าวแสดงความขอบคุณต่อการให้ความช่วยเหลือสหรัฐฯ ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย นักวิเคราะห์มองว่าความช่วยเหลือที่ไทยมอบให้สหรัฐฯ อาจปรากฏให้เห็นในทางลับผ่านการใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่กักขังผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย

ทั้งนี้ นโยบายของไทยในขณะนั้นถูกมองว่าเป็น “การลู่ไปตามลม” แต่เป็นไปในลักษณะ “การลู่ไปตามสายลมแห่งการประสานผลประโยชน์” กล่าวคือ รัฐบาลทักษิณที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายด้วยมิติทางเศรษฐกิจเป็นสําคัญ ดังนั้น การร่วมมือกับสหรัฐฯ ในครั้งนี้ย่อมต้องเล็งเห็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ผลจากความร่วมมือนี้ปรากฏให้เห็นผ่านการลงนามในกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนใน ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) หรือ Trade and Investment Framework Agreement-TIFA ซึ่งมีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นภายหลังจากความพยายามในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างระหว่างไทยและสหรัฐฯ แต่เจรจาดังกล่าวถูกระงับลงภายหลังการรัฐประหารใน ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549)

และหากพิจารณาเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน ในช่วงทศวรรษ 2540 ที่ไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งจากกรณีการทำสงครามต่อต้านยาเสพติด กรณีตากใบและมัสยิดกรือแซะ แต่ประธานาธิบดีบุชกลับไม่ได้หยิบยกปัญหาสิทธิมนุษยชนมากล่าวถึงในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ นักวิเคราะห์มองว่าเหตุผลหนึ่งคือ การประสานประโยชน์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ กล่าวคือ ไทยให้ความช่วยเหลือสหรัฐฯ ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สหรัฐฯ จึงไม่กดดันหรือประณามไทยจากปัญหาสิทธิมนุษยชน 

ภายหลังสหรัฐฯ บุกอิรักใน ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) รัฐบาลทักษิณได้ประกาศว่าไทยจะส่งกองพันทหารช่างและคณะแพทย์ไปยังอิรัก ในปีเดียวกันนี้ ไทยร่วมมือกับหน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ CIA สามารถจับตัว Riduan Isamuddin หรือ Hambali อดีตผู้นำกลุ่ม Jemaah Islamiyah ได้ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ซึ่งอาจนับว่าเป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นว่าภัยการก่อการร้ายขยายมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้รัฐบาลไทยให้ความร่วมมือต่อยุทธศาสตร์สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ ทักษิณได้กล่าวกับสื่อมวลชนต่างประเทศภายหลังจากการจับกุม Hambali ว่า “เราได้เฝ้าติดตาม Hambali มาเป็นระยะเวลาหลายวัน และเป็นที่ปรากฏว่าเราสามารถจับกุมตัวเขาได้”

ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ แนบแน่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการประชุม APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ใน ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) โดยเวที APEC ได้กลายเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เรียกร้องให้ผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดจนกำจัดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และในปีเดียวกันนี้เอง ประธานาธิบดีบุชยังได้ประกาศสถานะการเป็นสมาชิกนอกนาโต (Major non-NATO ally-MNNA) แก่ไทยเพื่อตอบแทนความร่วมมือที่มีต่อกัน

การประชุม APEC 2001
(ซ้ายไปขวา) ผู้นำรัสเซีย, สิงคโปร์, ไทย, สหรัฐอเมริกา, เวียดนาม ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) ในการประชุม APEC (Photo by STEPHEN JAFFE / AFP)

สรุป

หลังเหตุการณ์ 9/11 ด้าน “แนวรบที่หนึ่ง” นอกจากสหรัฐฯ จะเข้ายึดอัฟกานิสถานและอิรักเพื่อทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายแล้ว สหรัฐฯ ยังได้กระชับความสัมพันธ์กับปากีสถานมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยอำนวยการในยุทธศาสตร์ดังกล่าว แม้ทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์บางประการร่วมกัน แต่ในอีกมิติหนึ่งสหรัฐฯ ก็ต้องการควบคุมการดำเนินการใด ๆ ของปากีสถานที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย

ขณะที่ด้าน “แนวรบที่สอง” ซึ่งมีไทยอยู่ในภูมิภาคด้วยนั้น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่สหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญ ดังเห็นได้จากการจับกุมผู้ก่อการร้ายในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า “แนวรบที่สอง” มีส่วนสำคัญต่อสงครามการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ อย่างมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ปรีชา ศรีวาลัย. (2547). สงครามต่อต้านผู้ก่อการร้าย. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

กรองวิภา สมณาศักดิ์ ณภัทร รัตนมา และอับดุลเลาะ ยูโซะ. (ตุลาคม-ธันวาคม 2562). การตั้งฐานทัพของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานหลังเหตุการณ์ 9/11 กับความพยายามในการป้อมปรามภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถาน. วารสารการบริหารท้องถิ่น. ปีที่ 12 : ฉบับที่ 4.

ฑภิพร สุพร. (มกราคม-มิถุนายน 2556). ย้อนพินิจการรับรู้ของทักษิณ ชินวัตรต่อสงครามต่อต้านการก่อการร้าย การหวนคืนของสายสัมพันธ์กรุงเทพฯ-วอชิงตันในยุคหลัง 9/11. วารสารสังคมศาสตร์. ปีที่ 9 : ฉบับที่ 1.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2564