MU2005 เวทีนางงามที่รัฐบาลใช้โปรโมตท่องเที่ยว-เรียกความเชื่อมั่น หลังสึนามิเพียง 5 เดือน

นาตาลี เกลโบว่า นางงามจักรวาล ปี 2548 (Miss Universe 2005) และทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ในปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดนางงามจักรวาล “Miss Universe 2005” การประกวดนางงามจักรวาลครั้งนี้มีความสำคัญต่อประเทศไทยมาก ไม่ใช่ในแง่การประชันความงามชิงมงกุฎ แต่เป็นในแง่การเผยแพร่วัฒนธรรม การสร้างภาพลักษณ์ การดึงดูดนักท่องเที่ยว และการเรียกคืนความเชื่อมั่นทางธุรกิจ หลังจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี พ.ศ. 2547

บรรดาผู้เข้าประกวดต่างทยอยเดินทางมาถึงประเทศไทยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อทำการเก็บตัวทำกิจกรรมก่อนที่จะมีการประกวดรอบสุดท้ายในวันที่ 31 พฤษภาคม

บรรดานางงามจากหลายประเทศกล่าวว่า การมาประกวดนางงามจักรวาลในครั้งนี้เพื่อต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวและการลงทุนในประเทศไทย เช่น อดีเล่ บาสสัน นางงามจากนามิเบีย กล่าวว่า จะนำสิ่งดี ๆ เมืองไทยกลับไปบอกนักธุรกิจชาวนามิเบียที่อยากมาลงทุนในไทยจำนวนมาก (มติชน, 9 พฤษภาคม 2548)

ขณะที่ เชลซี คูลีย์ นางงามจากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนสหรัฐ จะขอช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวไทย หลังจากผ่านภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิมา จะชี้ให้เห็นเมืองไทยที่มีสถานที่ท่องเที่ยวยังสวยงามอยู่ให้เป็นที่รู้จัก และจะเล่าถึงสิ่งดี ๆ ในไทยให้คนอเมริกันทราบ (มติชน, 9 พฤษภาคม 2548)

ในระหว่างการเก็บตัวจะมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ และได้เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อเยี่ยมชมและถ่ายทำวิดีทัศน์โปรโมต เช่น วัดพระแก้ว, พระบรมมหาราชวัง, วัดอรุณฯ, โบราณสถาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, โบราณสถาน จังหวัดสุโขทัย, ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี, สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม, เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ, ศูนย์ฝึกช้างเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี

การประกวดนางงามจักรวาลปี 2548 (Miss Universe 2005) บรรดานางงามเข้าเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวัง (Photo by SAEED KHAN / AFP)

แต่การทำกิจกรรมที่สำคัญมากที่สุดกิจกรรมหนึ่งจัดขึ้นในช่วงวันที่ 19 พฤษภาคม ที่จังหวัดภูเก็ต

เชลซี คูลีย์ นางงามจากสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยในช่วงแรกของการเก็บตัวว่า “ที่จริงฉันยังไม่รู้เลยว่าผู้เข้าประกวดต้องทำกิจกรรมอะไรบ้าง ยังไม่รู้ตารางทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ฉันมั่นใจว่า ต้องมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อผู้ประสบภัยสึนามิอยู่ด้วยแน่นอน ซึ่งฉันคิดว่าการที่พวกเราผู้เข้าประกวดมีโอกาสได้พบกับผู้คนซึ่งเคราะห์ร้ายจากสึนามิ เราอาจจะพูดให้เขารู้สึกมีความหวัง มีศรัทธาขึ้นใหม่ หรือบางทีเราอาจสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ให้เกิดขึ้นกับชีวิตของใครบางคน เมื่อเขาได้รู้ว่ามีคนที่ห่วงใยเขาอยู่จริง ๆ” (มติชน, 13 พฤษภาคม 2548)

ในการเก็บตัวที่จังหวัดภูเก็ตนี้ บรรดานางงามจะไปทำกิจกรรมและบันทึกภาพและวิดีทัศน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ตแฟนตาซี (Phuket Fantasea), อ่าวมาหยา เกาะพีพี และจะไปเยี่ยมชมดูศักยภาพและความพร้อมของหอสัญญาณเตือนภัยสึนามิบริเวณหาดป่าตอง รวมทั้งไปมอบเงินบริจาค จำนวน 12 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลป่าตองอีกด้วย

โดยหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 20 พฤษภาคม รายงานข่าวว่า “ผู้เข้าประกวดนางงามจักรวาลปี 2548 จำนวน 81 คน จากประเทศต่าง ๆ ยังคงมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 19 พฤษภาคม กองประกวดได้นำนางงามไปบันทึกเทปโทรทัศน์ที่ จ.ภูเก็ต เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลก จุดประสงค์ก็เพื่อช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยภายหลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย จนสร้างความไม่มั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว…”

การประกวดนางงามจักรวาลปี 2548 (Miss Universe 2005) บรรดานางงามเยี่ยมชมหอสัญญาณเตือนภัยสินามึ (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

นางงามเยอรมนี ให้สัมภาษณ์ว่า ทันทีที่เหยียบหาดป่าตอง ทำให้รู้สึกถึงภาพเก่า ๆ ตอนเกิดสึนามิ “ทำให้ฉันรู้สึกสะเทือนใจ” แต่ขณะเดียวกัน ก็รู้สึกว่าประทับใจต่อความพยายามของคนภูเก็ตที่ต่อสู้จนพลิกฟื้นภูเก็ตให้กลับมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ได้ เช่นเดียวกับนางงามอินเดียที่บอกว่า “รู้สึกตื้นตันใจ” ต่อความพยายาม กระทั่งสามารถฟื้นฟูสถานที่ประสบภัยสึนามิจนมีสภาพทุกวันนี้ (มติชน, 21 พฤษภาคม 2548)

AFP รายงานว่า การประกวดนางงามจักรวาลครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงให้นานาชาติเห็นการฟื้นตัวของประเทศไทยหลังจากเหตุการณ์สึนามิ และแสดงให้ชาวต่างชาติกลับมาทำลงทุนและท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง

“Miss Universe pageant to showcase Thailand’s recovery from the tsunami and convince tourists it is safe to return to the Land of Smiles.”

“Miss Universe contestants descended on the resort islands of Phuket and Phi Phi to remind the world that Thai tourism is back in business.”

การประกวดนางงามจักรวาลปี 2548 (Miss Universe 2005) บรรดานางงามถ่ายรูปที่หาดมาหยา เกาะพีพี (Photo by SAEED KHAN / AFP)

ด้านรัฐบาลไทยได้สนับสนุนการจัดการจัดประกวดนางงามจักรวาลครั้งนี้อย่างเต็มที่ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น กล่าวในรายการ “นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน” ว่า การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประกวดนางงามจักรวาล ได้ผลดีมากในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ถือว่าคุ้มมาก (มติชน, 15 พฤษภาคม 2548)

ทั้งนี้ รัฐบาลอนุมัติงบประมาณกว่า 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 253.5 ล้านบาท) ให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อสนับสนุนการจัดประกวดนางงามจักรวาลในประเทศไทย (มติชน, 11 พฤษภาคม 2548)

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เจรจากับบริษัทมืสยูนิเวิร์สของสหรัฐฯ เจ้าของลิขสิทธิ์การจัดงานให้ขยายเวลาช่วงสารคดีเผยแพร่ประเทศไทยในวันถ่ายทอดสดรอบตัดสินเพิ่มจาก 12 นาที เป็น 22 นาทีแล้ว เพิ่มอีกถึง 10 นาที รัฐบาลสนับสนุนงบฯ ราว 255 ล้านบาท ได้โฆษณาประเทศต่อคนดูทั่วโลกกว่า 800 ล้านคน ถือว่าคุ้มมาก เพราะหากโฆษณาในลักษณะเดียวกันนี้ อาจต้องใช้มากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4,000 ล้านบาท (มติชน, 14 พฤษภาคม 2548)

และในวันประกวดรอบสุดท้ายได้มีการจัดพิธีการรำลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิตและประสบภัยจากสึนามิ โดยพอลล่า ชูการ์ต ประธานองค์กร Miss Universe Organization ผู้จัดงานประกวดนางงามจักรวาล กล่าวว่า “เราไม่สามารถทำรายการแสดงบนเวที โดยขาดช่วงเวลาแห่งการรำลึกนี้ไปได้ และสิ่งหนึ่งที่เราต้องการจะบอกแก่ชาวโลกให้รับรู้ก็คือ ประเทศไทยขณะนี้สามารถยืนหยัดและเดินหน้าได้ต่อไป” (มติชน, 31 พฤษภาคม 2548)

เวลาเพียง 5 เดือนให้หลังจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ รัฐบาลไทยได้พยายามฟื้นฟูส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยต้องการให้ทั้งโลกเห็นว่า ท้องทะเลไทยได้กลับมาสวยงามเหมือนดังเดิม พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนอีกครั้ง โดยใช้เวทีการประกวดนางงามจักรวาลปี พ.ศ. 2548 เป็นพื้นที่เผยแพร่วัฒนธรรม สร้างภาพลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยว และเรียกคืนความเชื่อมั่นทางธุรกิจ

ดังที่นายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า การประกวดนางงามจักรวาลมีผลดีต่อประเทศ ช่วยเผยแพร่การท่องเที่ยวไทยได้ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์สึนามิ (มติชน, 19 พฤษภาคม 2548)

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2564