รัชกาลที่ 1 กับแนวคิดสัจนิยมในพุทธศาสนา ทรงไม่ถือโชคลางหรือเคร่งจารีตเก่า

ในรัชกาลที่ 1 แม้ชนชั้นนำจะมีความคิดที่มีลักษณะมนุษยนิยม สัจจนิยม และเหตุผลนิยมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถสลัดความคิดที่เชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติออกไปได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้จึงยังคงมีการพูดถึงเหตุนิมิตต่าง ๆ

เช่นมีจดหมายเหตุว่าด้วยมดดำมดแดงและนกกระจาบกระทำให้บังเกิดเป็นมงคลนิมิตรใน พ.ศ. 2335 มีจดหมายเหตุเรื่องขุนสุระคำแหงถึงแก่กรรมและฟื้นขึ้นมาเล่าเหตุนิมิตรต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2337 มีหนังสือผู้วิเศษมาแต่ถ้ำวัวแดงถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. 2344 มีพระราชพิธีปลุกเศกเครื่องคงกระพันที่วัดไชยชนะสงครามขันธ์ มีการเสี่ยงทายพระธรรมบทเพื่อทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น สำเภาหูส่งจะเข้ามาหรือไม่ พม่าจะแพ้หรือไม่ และเจ้าอังวะจะตายหรือไม่

มีการคัดลอก “จุททสคาถา” อันประกอบด้วยพุทธมนตร์คาถา 14 บท ซึ่งเชื่อว่าถ้าจารึกลงไว้ในแผ่นเงินแผ่นทองแล้วติดไว้ตามที่ที่กำหนดจะช่วยให้บังเกิดผลตามปรารถนา และถ้าใช้ผ้าขาวทำธงสามหางลงยันต์แลคาถายกขึ้นบูชาพระพุทธเจ้า ก็จพให้จําเริญพระศิริยศเดชานุภาพปรากฏไป ทุกประเทศก็จะมาอ่อนน้อมถวายลาภต่าง ๆ และใน พ.ศ. 2351 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯ ให้สมเด็จพระพนรัตน์ พระพุทธโฆษา พระเทพเมาลี ประกอบพระราชพิธีมหาสวัสดิรักษาแด่กรมหลวงศรีสุนทรเทพซึ่งกำลังประชวรหนัก

นอกจากนี้ยังมีการทำพิธีสาบานต่าง ๆ นอกเหนือจากพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเพื่อผลในการควบคุมสังคม เช่นใน พ.ศ. 2335 มีพิธีสาบานของพวกเมืองทะวายว่าจะไม่คิดกบฎและจะทำราชการโดยสัจสุจริต มีการทำพิธีสาบานของทหารในกองทัพพระยายมราชซึ่งยกไปตีทะวายว่าถ้าได้ทรัพย์สมบัติมาจะถวายจนสิ้นเชิง มีพิธีสาบานของเจ้าพญาอภัยภูเบศร พญากลาโหมเขมร และพญาพระเขมรทั้งปวงว่ามิได้มีจิตรฉันทาโทษาเวรพยาบาทแก่กันแล้ว จะตั้งใจคิดอ่านปรึกษาราชการตัดสินกิจสุขทุกข์ของอนาประชาราษฎรประนีประนอมให้พร้อมมูลกัน ฉลองพระเดชพระคุณโดยสุจริต

แม้เมื่อสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็โปรดฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยกระทำสัจสาบานต่อกัน เพื่อ “จะดำรงราชสุจริตรักษาพระวงษมิให้จุลาจลวิปริตผิดลำดับไป”

เบื้องหลังของพิธีสาบานเหล่านี้คือความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติว่าสามารถดลบันดาลให้เกิดผลดีหรือผลร้ายได้ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าคำสาบานส่วนใหญ่อยู่ภายในกรอบความคิดของพุทธศาสนา กล่าวคือเน้นถึงผลที่ว่าขอให้ได้พบพระรัตนตรัยในภายภาคหน้าหรือไม่มากกว่าผลที่มาจากการดลบันดาลของอำนาจเหนือธรรมชาติอื่น ๆ

ในท่ามกลางความคิดทางศาสนาที่เกิดจากการผสมผสานความคิดความเชื่อแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ราชสำนักได้เน้นพุทธศาสนาแบบมนุษยนิยมจนเด่นชัดขึ้น

โดยบุคลิกภาพส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีความคิดอย่างกระฎมพีชัดเจน คือไม่ถือเคร่งครัดในเรื่องโชคลางและจารีตประเพณีเก่า ๆ หากแต่เชื่อมั่นอย่างมากในสติปัญญาของมนุษย์ว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จในโลกนี้ได้ ความไม่ถือเคร่งครัดในโชคลางและจารีตประเพณีเห็นได้ชัดเมื่อทรงพระราชดำริที่จะให้เอาพระศพสมเด็จพระนารายณ์ธิบดี กษัตริย์กัมพูชาเข้ามากรุงเทพฯ ในขณะที่ขุนนางผู้ใหญ่คัดค้านเกรงจะเป็นอุบาทว์แก่บ้านเมือง

ต่อมาเมื่ออัญเชิญพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งชำรุดมากมาจากกรุงเก่า ทรงพระราชดำริจะเอาทองหลอมรวมหล่อเป็นพระพุทธรูปขึ้นใหม่ พระราชาคณะถวายพระพรว่าไม่สมควร เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาพระคลัง (สน) ลงไปส่งสำเภาข้ามสันดอนมีใบบอกเข้ามาขอหัวหมูและบายศรีก็ทรงรับสั่งว่าเลอะเทอะหนักแล้วโปรดฯ ให้ถอดเสีย

และในปลายรัชกาลมีพระราชดำรัสสั่งให้เชิญพระโกศเข้ามาตั้งถวายทอดพระเนตร มีเรื่องเล่าว่า “คุณเสือสนมเอกทูลห้ามปรามว่าทรงอะไรเช่นนั้นน่ากลัวเป็นลาง…รับสั่งว่ากูไม่ถือ” อนึ่ง มีพระราชกำหนด พ.ศ. 2327 ปกป้องคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกระสือกระหัง ซึ่งแสดงว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ทรงเชื่อในเรื่องนี้

ในเมื่อทรงมีพื้นฐานความคิดดังกล่าวมาข้างต้น ในด้านศาสนาจึงทรงให้ความสำคัญแก่ลักษณะที่เป็นพิธีกรรมน้อยลงมาก แต่จะให้ความสำคัญแก่ศาสนาที่มีพื้นฐานอยู่บนประสบการณ์ตามที่เป็นจริงมากขึ้น เห็นได้ชัดว่าทรงมีพระบรมราโชบายที่จะเปลี่ยนมาเน้นการสั่งสอนให้เกิดปัญญาความรู้ ให้สามารถพิจารณาสภาวะต่าง ๆ อย่างมีเหตุมีผลจนเกิดความเข้าใจหลักคำสอนทางศาสนาแล้วจึงนำมาปฏิบัติเพื่อจะได้มี “ชีวิตที่ดี” ในโลกนี้ กิจกรรมทางพุทธศาสนาของราชสำนักส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายดังกล่าวนี้ทั้งสิ้น

ในปีแรก ๆ ที่สถาปนาราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ทรงตราพระราชกำหนดบทพระไอยการหลายฉบับเพื่อ “อธิบาย” หลักคำสอนของพุทธศาสนาแก่

…เจ้าพญาแลพญาพระหลวงเมือง เจ้าราชนิกุลขุนหมื่นพันทนายฝ่ายทหารพลเรือนมหาดเลกขอเฝ้าเชาที่ข้าเจ้าต่างกรมฝ่ายหน้าฝ่ายในฝ่ายหลัง แลข้าหลวงกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมืองปากไต้ฝ่ายเหนือ อะนาประชาราษฎรทั้งปวง…

ตลอดจน “สังกะรีธรรมการราชาคณะ พระสงฆ์เจ้าอธิการอนุจร ฝ่ายคันทธุระวิปัสนาธุระอรัญวาสีคามวาสี” พระราชกำหนดใหม่ลงวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ. 2325 ทรงมีพระราชโองการให้คนทั้งหลายรักษาศีล และการที่จะรักษาศีลนี้ “ให้รู้เนื้อความภาษาไทยในพระบาฬีนั้นจงทุก ๆ สิกขาบท…ให้เข้าใจในภาษาไทย” แล้วทรงอธิบาย ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบโดยละเอียด พร้อมทั้งยกตัวอย่างที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง แล้วทรงในตอนท้ายว่า “แลลักษณะศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ดังพรรณาโปรดมาทั้งนี้ ให้ข้าทูลอองทุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง พิจารณาดูให้ขึ้นปากขึ้นใจ ไถ่ถามให้สิ้นความสงไศรย แล้วจึ่งให้สมาธาร”

ต่อมาในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนเดียวกัน ทรงตราพระราชกำหนดใหม่อธิบายหลักธรรม 3 ข้อที่เป็นสาระสำคัญของพุทธศาสนา คือให้ละเว้นความชั่ว ให้ทำความดี และอุตสาหะหมั่นทรมานจิตอันร้ายชั่วนั้นให้ดีขึ้น “ธรรมสามประการนี้ชื่อว่าพระพุทธสาศนา เหตุธรรมทั้งสามบทนี้รวบกองศีลคือพระวิไนย สมาธิคือพระสูตร ปัญญาคือพระบรมัด…ผู้ใดปรฏิบัติได้ ๆ ชื่อว่าภบบำรุงพุทธศาสนาฯ” ทรงยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนว่าจะปฏิบัติตามหลักธรรมทั้ง 3 ประการนี้ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งล้วนแต่เป็นการชี้แนะแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตนในชีวิตประจําวัน

ในเดือน 9 ปีเดียวกัน ทรงตราพระราชกำหนดอีกฉบับหนึ่งเพื่อลดความนับถือผีสางเทวดาและอำนาจลี้ลับอื่น ๆ ในหมู่คนทั่วไป ทรงพระราชดำริว่า

…ทุกวันนี้สัตวทังปวงเปนโลกี ครั้นมีทุกขขึ้นมาน้ำจิตรนั้นก็ผันแปรไปจากพระรัตนะตะยาธิคุณไปถือผีสางเทพารักษต่าง ๆ …ครั้นจะให้ห้ามเสียไม่ให้ถือผีสางเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์เล่าก็มีพระพุทธฎีกาตรัสไว้ในสัตปริยหารริยธรรมเจดปรการอันจะให้บ้านเมืองสมบูรรณขึ้นว่า ให้สมเดจพระมหากษัตราธิราชเจ้าบำรุงเทพารักษ์…จึ่งมีพระราชโองการดำหรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า

แต่นี้สืบไปเมื่อหน้าให้…ถวายสิ่งซึ่งอันสมควรแก่เทพารักษ์ แต่อย่านับถือว่ายิ่งกว่าพระไตรสระณาคม ห้ามอย่าให้พลีกำม์ด้วยสัตวต่าง ๆ มีโค กระบือ สุกร เปด ไก่ เป็นต้น บูชา…

แต่ซึ่งสารเทพารักษาอันเอาไม้ทำเปนเพศบุรุษลึงใหญ่น้อยต่าง ๆ หญิงชายชวนกันนับถือนั้น ทรงพระกรรุณาให้นักปราชญราชบัณฑิตยค้นดูในพระไตรปิฎกก็มิได้มีหย่าง…จึ่งทรงพระวิจารณเหนว่าแรกเหตุนี้จะมีมาเพราะคนพาลกักขะละหยาบช้า…สืบมาหญิงชายผู้หาปัญามิได้ก็เอาเยื่องหย่างนับถือสืบมา…อันหนึ่งเปนที่แขกเมืองนานาปรเทษไปมาค้าขายได้เหนจะดูหมิ่นถิ่นแคลนกรุงเทพพระมหานครอันกอปด้วยเกียติยศ…ห้ามอย่าให้มีเพศบุรุษลึงอันลามกอัประมงคลไว้ในสารเทพารักษ์เป็นอันขาดทีเดียว…

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. 2325-2352)” เขียนโดย สายชล สัตยานุรักษ์ (สำนักพิมพ์มติชน, 2546) ***ตัดทอนเอกสารอ้างอิงเพื่อความกระชับ โปรดดูเชิงอรรถในเล่ม***


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กันยายน 2564