บันทึกแสดงสปิริตของนายพล ไอเซนฮาวร์ ที่ไม่ต้องใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2  

พลเอก ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ กล่าวให้ขวัญกำลังใจทหารเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1944 ก่อนการยกพลขึ้นบก

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 การยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “วันดีเดย์” ของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรในยุทธการโอเวอร์ลอร์ด เพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในยุโรปที่นาซีเยอรมนียึดครอง ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร

แต่ก่อนหน้านั้นใครจะรู้ได้ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร

พลเอก ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพสัมพันธ์มิตรในยุโรป ยังวิตกกับปฏิบัติการครั้งนี้แม้จะวางแผนมาอย่างดี และดูเหมือนมีโอกาสของชัยชนะอย่างสูง อาจพลิกผันได้ตลอดเวลา ในฐานะนักศึกษาประวัติศาสตร์สงคราม และผู้บัญชาการในสนามรบยุโรป พลเอก ไอเซนฮาวร์จึงใช้เวลาศึกษาวิธีวางแผนปฏิบัติการขนาดใหญ่ แม้การยกพลขึ้นบกในวันดีเดย์ถูกเตรียมการในรายละเอียดมาอย่างมาก รวมทั้งทำให้มันชัดเจนเข้าใจง่ายว่าปฏิบัติการจะเกิดขึ้นที่ไหน

ในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน ยุโรปเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน พลเอก ไอเซนฮาวร์กังวลเกี่ยวกับสถานะของกองพลยานเกราะของเยอรมนีในนอร์มังดี และหากเยอรมนีจะใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ โดยยิงปืนจากเรือก่อนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะขึ้นบก การส่งกองพลส่งกำลังทางอากาศ 3 กองพลของสัมพันธมิตรอาจนำไปสู่ความย่อยยับได้

นายพล ไอเซนฮาวร์ (ภาพจาก 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2)

วันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1944 มีการประชุมร่วมกับผู้บัญชาการระดับสูง, ทีมเจ้าหน้าที่ทหารของอเมริกา และอังกฤษ พลเอก ไอเซนฮาวร์ตัดสินใจเลื่อนวันยกพลขึ้นบกออกไปจากวันที่ 5 มิถุนายน เพราะสภาพอากาศอันเลวร้าย

วันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1944 พลเอก ไอเซนฮาวร์เรียกทีมเจ้าหน้าที่ทหารชุดเดิมประชุมที่กองบัญชาการของเขา ทางเหนือของพอร์ตสมัธ ครั้งนี้ไอเซนฮาวร์ให้นักอุตุนิยมวิทยาจากกองทัพอากาศอังกฤษ มาเสนอการพยากรณ์สภาพอากาศล่าสุดต่อที่ประชุม การพยากรณ์อากาศคาดว่าในวันที่ 6 มิถุนายน ที่จะถึงอาจมีลมและฝนปานกลาง แต่ถ้าต้องเลื่อนวันยกพลขึ้นบกอีกครั้ง อาจต้องรอหลายสัปดาห์ กว่าสภาพของกระแสน้ำ, อิทธิพลของดวงจันทร์ และอากาศ จะเอื้ออำนวย

จากข้อมูลของนักอุตุนิยมวิทยาดังกล่าว ในที่สุดที่ประชุมก็มีข้อเสนออย่างเป็นเอกฉันท์ให้ลงมือปฏิบัติการ ซึ่งพลเอก ไอเซนฮาวร์ก็ตอบตกลง

ช่วงบ่ายของวันที่ 5 มิถุนายน ไอเซนฮาวร์เขียนบันทึกสั้นๆ ด้วยหลายมือหวัดๆ สำหรับใช้ในกรณีที่การยกพลขึ้นบกล้มเหลว ในบันทึกนี้ระบุว่า หากการยกพลขึ้นบกล้มเหลว ทุกคนไม่มีความผิดและไม่ต้องรับผิดชอบ มันเป็นความผิดของเขาเพียงคนเดียว

บันทึกดังกล่าวไอเซนฮาวร์ สอดเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ของเขา และมันก็อยู่ในนั้นเป็นเวลา 1 เดือน จนกระทั่งเขาดึงมันออกมาและยื่นให้กับผู้ช่วย แต่มันถูกแซงหน้าด้วยเหตุการณ์แห่งชัยชนะหลายอย่างของฝ่ายสัมพันธมิตรไปก่อนแล้ว


ข้อมูลจาก :

พลลตรีจูเลียน ทอมป์สัน และดร.แอลแลน อาร์. มิลเลตต์ เขียน, นงนุช สิงหะเดชะ แปล. 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2564