กรมหมื่นนราธิปฯ กับการบัญญัติศัพท์ในภาษาไทย และการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ”

ศัพท์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันเช่นคำว่า รัฐธรรมนูญ, ประชาธิปไตย, วัฒนธรรม, สื่อสารมวลชน, นโยบาย, ปฏิวัติ ฯลฯ ไม่ใช่ศัพท์เก่าแก่ แต่เป็นศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นใหม่โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (25 สิงหาคม 2434 – 5 กันยายน 2519) เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4) ประสูติแต่หม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ (สกุลเดิม มนตรีกุล) โดยเมื่อแรกประสูติ ทรงดำรงพระอิสรริยศคือ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ภายหลังทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็น “พระองค์เจ้า” และ “ทรงกรม” ตามลำดับ โดยออกพระนามเรียกอย่างลำลองว่า “พระองค์วรรณ”

เนื่องจากสมัยนั้น วิทยาการด้านต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีศัพท์ทางเทคนิคเกิดขึ้นใหม่มากมาย หากจะต้องแปลเป็นภาษาไทยก็มักติดขัด หากจะใช้การทับศัพท์ก็จะทำให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษาพันทาง แต่ถ้าต่างคนต่างบัญญัติก็จะไม่เป็นระบบระเบียบจนอาจทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้น ทำให้รัฐบาลตั้ง “คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย” เมื่อ พ.ศ. 2485 โดยมอบหมายให้กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการงานดังกล่าว โดยมีราชบัณฑิตยสถานเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งกรมหมื่นนราธิปฯ ก็ทรงเป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน

กรมหมื่นนราธิปฯ โปรดการบัญญัติศัพท์มาก พระองค์ทรงแปลศัพท์และบัญญัติศัพท์มาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พระองค์เคยประทานสัมภาษณ์พิเศษแก่วารสารราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปฐมฤกษ์ (กรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2518) ซึ่งทำให้เห็นถึงสาเหตุที่พระองค์มีความสนพระทัยในการบัญญัติศัพท์ ดังนี้

“ข้าพเจ้ากลับมาจากยุโรปในปี 2462 เป็นสมัยที่เริ่มการบัญญัติศัพท์กันเป็นกิจจะลักษณะ เพราะจะต้องแปลร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งร่างเป็นภาษาอังกฤษนั้น เป็นภาษาไทยซึ่งจะเป็นต้นฉบับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ทรงเบิกทางไว้ให้แล้วในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ทรงแปล Freedom of the Seas ว่า เสรีภาพแห่งทะเล มีผู้แย้งว่า เสรี ในภาษาบาลีหมายความว่า เสเพล แต่สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ รับสั่งว่าในคาถาพระราชทานพรแก่พระราชโอรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงใช้คำว่า เสรี ในพรที่พระราชทานเสด็จพ่อข้าพเจ้า (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) ซึ่งมีความหมายแน่ชัดให้เป็นอิสระ สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ทรงเห็นว่าเสรีภาพเป็นอันใช้ได้

ในปี 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำ ‘เสรีภาพ’ จึงใช้กันแพร่หลาย ถือว่าติดเป็นคำไทยแล้ว

บทเรียนที่ได้รับจากการโต้เถียงกันนี้ ก็คือ เราได้ทราบความจริงว่าความหมายของคำมีอยู่สองสถาน คือ 1. ความหมายตามธาตุของศัพท์ denotation และ 2. ความหมายนิยมใช้ connotation ความหมายนิยมใช้นั้นเปลี่ยนไปตามกาลเทศะ เช่น คำว่า เสรี ความหมายตามธาตุของศัพท์ก็แปลว่า ตนเป็นใหญ่ ความหมายนิยมใช้ในทางที่ดีก็แปลว่า อิสระ ความหมายนิยมใช้ในทางเลว ก็แปลว่า เสเพล พระองค์ผู้ทรงคิดศัพท์ ‘เสรีภาพ’ ขึ้นในภาษาไทย ทรงใช้ในความหมายที่ดี นี่ก็เป็นความหมายในภาษาไทย…

การจำแนกความหมายตามศัพท์และความหมายนิยมใช้ เป็นหลักการอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าระลึกถึงในการคิดศัพท์ เช่นคำว่า ปฏิรูป reform การเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม มีผู้ติว่า ปฏิรูป ในภาษาบาลีแปลว่า ของปลอม ข้าพเจ้าได้ให้ตัวอย่างคำบาลีว่า ‘ปฏิรูปการี’ แปลว่า ผู้กระทำให้เหมาะสม ทั้งนี้จะมีความหมายนิยมใช้ในทางที่ดี คือทำให้เหมาะสม หรือในทางที่เลว คือปลอมแปลง ก็แล้วแต่จะใช้ เมื่อเราใช้หมายความว่า เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม ความหมายนิยมใช้ก็เป็นเช่นนั้น

ข้าพเจ้าได้รับบทเรียนอีกอย่างหนึ่งจากการทรงคิดศัพท์ของรัชกาลที่ 6 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ทรงเรียก United States of America ว่าสหกรณรัฐอเมริกา สหกรณเป็นคำที่สมเด็จพระมหาสมณะเจ้าฯ ได้ทรงคิดขึ้นสำหรับแปลว่า Cooperative ถ้าจะอ่านให้ถูกต้องก็ย่อมอ่านว่า สะ หะ กะ ระ ณะ รัด อะ เม ริ กา ซึ่งมีเสียงอะมากไปสำหรับหูคนไทย สมเด็จพระมหาสมณะเจ้าฯ จึงทรงใช้ว่า สหการีรัฐอเมริกาเพื่อให้เหมาะแก่เสียงในภาษาไทย และรัชกาลที่ 6 ทรงแปลงเป็นสหปาลีรัฐอเมริกา เพื่อให้ได้ความชัดว่าปกครองร่วมกัน ต่อมามีผู้ปรารถนาจะได้อักษรย่อ 3 ตัว เหมือน U.S.A. จึงได้ร่นลงมาเป็น ‘สหรัฐอเมริกา ส.ร.อ.’

หลักการอันเป็นบทเรียนที่พระราชทานไว้นี้ก็คือ ความสำคัญของทำนองเสียง หรือลำนำจังหวะ rhythm ซึ่งจะต้องเหมาะแก่อัจฉริยลักษณ์ genius ของภาษา กาลเวลาเท่านั้นจึงจะบอกได้ว่าคำใดจะติด คำใดจะไม่ติด

ข้าพเจ้าขอให้ตัวอย่างคำว่า Culture ข้าพเจ้าคิดตามความหมายของศัพท์และได้นึกถึงรูปภาษาสันสกฤตว่า พฤทธิธรรม ได้นำออกใช้ แต่ข้าพเจ้าเองก็ไม่พอใจ รู้สึกหนัก ๆ อย่างไรก็ไม่ทราบ จนกระทั่งวันหนึ่งเขียนบทความอยู่ก็มีคำว่า วัฒนธรรม เข้ามาในหัว ข้าพเจ้าก็ตระหนักทีเดียวว่าเป็นคำที่ชอบด้วยทำนองเสียงหรือลำนำจังหวะในภาษาไทย และอันที่จริงก็ได้ใช้กันแพร่หลายไปโดยเร็ว

คำแรกที่ข้าพเจ้าได้คิดขึ้นคือ ปฏิกรรม Reparation ข้าพเจ้าได้ทำการทดลองอย่างหนึ่งคือ เมื่อข้าพเจ้าอยู่ที่วิทยาลัยเบเลียล มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด อาจารย์ภาษาปัจจุบันเรียกหาผู้อาสาสมัครเรียนภาษาเยอรมันโดยวิธีภาษาเปรียบเทียบ ข้าพเจ้าเป็นผู้อาสาแต่ผู้เดียว

อาจารย์ชี้แจงว่า ภาษาอังกฤษกับภาษาเยอรมันเป็นภาษาเดียวกัน คำรูปธรรมออกเสียงคล้ายกัน ส่วนคำนามธรรมนั้นเสียงต่างกัน แต่ถ้าวิเคราะห์ดูแล้ว จะเห็นว่า พวกติวตัน (เยอรมัน) เมื่อตีกรุงโรมได้แล้ว ได้รับเอาวัฒนธรรมโรมันมา โดยแปรคำลาตินมาเป็นรูปคำเยอรมัน เช่น inscribe-einschreiben, describe-deschreiben, subscribe-unterschreiben

ข้าพเจ้าทราบว่า บาลี-สันสกฤต เป็นภาษาตระกูลเดียวกับกรีก-ลาติน จึงได้ทำการทดลอง คือ ตระหนักว่าคงจะมีคำบาลี ตรงกับคำลาตินว่า Reparation 

ได้ดูคำอุปสรรค (Prefix) บาลี พบว่า ปฏิ ตรงกับ Re จึงได้พลิกพจนานุกรมชิลเดอรส Childers ที่ตัว ปฏิ รูดไปไม่กี่คำก็ถึงคำว่า ปฏิกรรม ซึ่งมีความหมายตามที่ต้องการ ข้าพเจ้าจึงได้ร่างขึ้นไปถวายสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ฯ ก็ทรงรับเอา และรับสั่งว่า ในภาษาไทยจะสะกดครึ่งบาลีครึ่งสันสกฤต เช่น ปฏิกรรมก็ได้

วิธีวิเคราะห์หรือแยกศัพท์นี้ เป็นวิธีคิดศัพท์อย่างหนึ่งซึ่งใช้ได้ประโยชน์มาก

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ข้าพเจ้ารู้สึกความจำเป็นที่จะต้องคิดศัพท์ใหม่ขึ้นใช้สำหรับศัพท์การเมือง คำเหล่านั้นและความหมายของคำเหล่านั้นจะได้ไปถึงประชาชนคนไทย ข้าพเจ้าก็ได้จัดตั้งหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ ขึ้น เพื่อเผยแพร่ระบอบรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย โดยนำเอาคำที่คิดขึ้นนั้นมาใช้ด้วย

คำหนึ่งซึ่งคิดไว้ก่อนแล้วแต่เพิ่งมาใช้แพร่หลาย คือคำว่า นโยบาย Policy แต่เดิมเคยใช้ว่า รัฏฐาภิปาลโนบาย หรือรัฐประศาสโนบาย แต่นั่นจะใช้ได้ก็สำหรับวิธีการปกครองบ้านเมืองเท่านั้น จะใช้สำหรับการทั่วไป เช่น การกาชาดไม่ได้ ในปี 2464 ได้มีการประชุมกาชาดระหว่างประเทศ ณ กรุงเทพฯ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าคิดศัพท์ Red Cross Policy ข้าพเจ้าก็ถวายว่า นโยบายกาชาด ได้ทรงรับเอา แต่ศัพท์ ‘นโยบาย’ นั้น มิได้แพร่หลายจนเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว

ข้าพเจ้าได้เล็งเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น หากเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักมูลแห่งชีวิตของชาติและของประชาชนชาวไทย ซึ่งคำอังกฤษใช้ว่า Revolution ไทยใช้ว่า การพลิกแผ่นดิน แต่จะใช้ ‘การพลิกแผ่นดิน’ สำหรับ Industrial Revolution ก็ไม่ถนัด ข้าพเจ้าจึงนำวิธีที่คิดศัพท์ ปฏิกรรม นั้นมาใช้ในกรณีนี้ และคิดศัพท์ ‘ปฏิวัติ’ ขึ้น ซึ่งบัดนี้ก็ติดแล้ว ตลอดจนคำว่าปฏิรูป Reform

คำที่นำมาใช้นั้นไม่ใช่คำมาจากบาลี-สันสกฤตเท่านั้น ย่อมหาคำไทยมาก่อนเป็นธรรมดา เช่น ระเบียบ – order ระบบ – System ระบอบ – regime ในปี 2480 ไทยได้แก้หนังสือสัญญาทางไมตรีและการเดินเรือกับมวลมิตรประเทศ เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากสภาพนอกอาณาเขตสิ้นเชิง ข้าพเจ้าได้รับมอบให้แปลเป็นภาษาไทย จึงต้องคิดศัพท์ขึ้นมากหลาย คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรได้รับเอาทั้งหมด เว้นแต่คำเดียว คือคำแปล power ว่า ภูว การเลียนเสียงภาษาอังกฤษ บางทีก็สำเร็จ เช่น อัตโนมัติ Automatic ทั้ง ๆ ที่ไม่ถูกความหมายตามศัพท์ก็ติดเสียแล้ว อัตโนมัติ แปลว่า ความเห็นของตนเอง automatic แปลว่าเป็นไปเอง ซึ่งควรใช้ ‘อัตโนวัติ’ แต่เมื่อ ‘อัตโนมัติ’ ติดเสียแล้วก็ย่อมแล้วแต่จะใช้ กันไป

ส่วนคำว่า ภูว นั้นที่คณะกรรมาธิการไม่เห็นด้วย ก็ชอบแล้ว เพราะเสียงอ่านไม่เหมาะ จะอ่านว่า ภู ก็ไม่ถูก จะอ่านว่า ภู วะ ก็ไม่เพราะ ทั้งไม่มีในพจนานุกรมด้วย จึงจะหาความหมายได้ยาก ที่ข้าพเจ้าไม่ใช้ว่า อำนาจ ก็เพราะว่า อำนาจ แปลว่า สิทธิบังคับ แต่ชาติหรือประเทศในกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเอกราช ไม่มีสิทธิบังคับซึ่งกันและกัน คำว่า พลัง ก็มาแพร่หลายภายหลัง ข้าพเจ้าจึงได้ใช้ว่า ‘ประเทศ’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันมาแต่เดิม

ข้าพเจ้าได้คิดศัพท์การทูตทางการเมือง เพราะเป็นแผนกวิชาของข้าพเจ้า คำที่คิดนั้นจะเหมาะหรือไม่เหมาะ ย่อมแล้วแต่ผู้ใช้ ถ้าใช้กันแพร่หลายแล้ว คำนั้นก็ติด

ในขณะนั้น มีความรู้สึกกันในวงราชการและวงวิชาการว่า ศัพท์วิชาการต่าง ๆ ในภาษาไทย ควรจะใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเรียกกันว่า บัญญัติศัพท์

กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงแนะนำหลักการบัญญัติศัพท์ 3 ขั้น ดังนี้

ขั้นแรก

ต้องหาคำไทย ๆ เสียก่อน เช่น abrasion ก็บัญญัติว่า ‘การครูด, การเสียดสี’ acid soil ก็บัญญัติ ว่า ‘ดินกรด, ดินเปรี้ยว’ เป็นต้น โดยเฉพาะศัพท์ภูมิศาสตร์ที่คณะกรรมการทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ได้จัดทำนั้น ก็ได้พยายามใช้คำไทย ๆ เกือบจะโดยตลอด แต่ถ้าหากพิจารณาเห็นว่าถ้าใช้คำไทยแล้วอาจจะยาวเยิ่นเย้อไป ไม่สมกับที่จะเป็นศัพท์บัญญัติที่ควรจะเป็นคำที่กะทัดรัด อย่างนี้ก็จำต้องใช้มาตรการขั้นต่อไป คือ 

ขั้นที่ 2

พยายามหาคำจากภาษาบาลี และสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาคลาสสิกของไทย และคำที่จะเอามาบัญญัติใช้นั้น จะต้องเป็นคำที่มีอยู่ก่อนแล้วในภาษาไทย และออกเสียงได้ง่าย ถ้าได้คำที่มีเสียงใกล้เคียงกับศัพท์ภาษาอังกฤษด้วยยิ่งดี หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นคำที่สละสลวยฟังราบรื่นหู เช่น Communication ก็บัญญัติว่า คมนาคม Telecommunication ก็บัญญัติว่า โทรคมนาคม Ethnography ก็บัญญัติว่า ‘ชาติพันธุ์วรรณนา’ Ethnology ก็บัญญัติว่า ‘ชาติพันธุ์วิทยา’ หรือ culture ก็บัญญัติเป็น ‘วัฒนธรรม’ เป็นต้น

ขั้นที่ 3

ถ้าหากไม่สามารถนำมาตรการทั้งสองนั้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสมก็ต้องทับศัพท์ไปก่อน จนกว่าจะหาคำอื่นได้เหมาะสม คำที่ทับศัพท์นั้นก็จะต้องได้เสียงเป็นไปตามระบบเสียงของไทย เช่น Physics ก็ทับศัพท์ว่า ‘ฟิสิกส์’ บ้าง หรือทับศัพท์ไม่ตรงกับเสียงเดิมทีเดียวกัน แต่เหมาะกับลิ้นของเรา เช่น Chemistry เราใช้เป็น ‘เคมี’ บ้าง”

นอกจาก ศัพท์ที่กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงบัญญัติขึ้น เช่นคำว่า สื่อสารมวลชน – mass communication, สื่อ – media, มวล หรือมวลชน – mass, ปรัชญา – philosophy, อภิปรัชญา – metaphysics, มนุษยธรรม – humanity, อุปสงค์ – demand, อุปทาน supply ฯลฯ

นับได้ว่า กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงเป็นผู้บุกเบิกการบัญญัติศัพท์ในประเทศไทย นอกจากจะโปรดการบัญญัติศัพท์เป็นการส่วนพระองค์แล้ว พระองค์ยังทรงเห็นถึงความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ดังที่ทรงปาฐกถา ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2502 ความว่า

“การคิดศัพท์เป็นเรื่องที่พิสดารและยุ่งยากมาก แต่เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับความเจริญก้าวหน้าของภาษามากเหมือนกัน เฉพาะอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบัน ขณะที่อารยธรรมของโลกกำลังเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและมหึมา เราจะต้องหาคำใหม่ที่เหมาะสมมาใช้สำหรับแสดงความหมายแห่งความคิดในอารยธรรมนั้น ถ่ายให้แก่ประชาชนของเรา ครั้นเราจะใช้ทับศัพท์ ก็ได้เฉพาะสำหรับศัพท์วิชาการ ถ้าเป็นศัพท์ที่จะต้องไปถึงประชาชนเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจ และใช้ในชีวิตความรู้สึกนึกคิดของตนเองด้วยแล้ว เราจะต้องหาคำที่มีเค้ามูลในภาษาไทยมาแล้วนำออกใช้ โดยให้มีความหมายใหม่ตามที่เราต้องการ”

การบัญญัติศัพท์คำหนึ่งที่น่าสนใจคือคำว่า “ประชาชาติ” กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงเป็นผู้บัญญัติคำนี้ขึ้นใช้ และนำมาใช้เป็นชื่อหนังสือพิมพ์ประชาชาติ โดยเบื้องหลังคือ พระองค์ต้องการให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่ระบอบรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ดังที่ทรงกล่าวไว้ว่า

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใน พ.ศ. 2475 ฉันเห็นว่าไม่ใช่เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนไทยทีเดียว ทำให้ฉันระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศส ฉันจึงได้บัญญัติศัพท์ใหม่ คือคำว่า ปฏิวัติ พร้อมกันก็คิดออกหนังสือพิมพ์เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลง

หนังสือพิมพ์ประชาชาติออกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักมูลคือวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย พึงเข้าใจว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หรือที่เราเรียกกันว่าระบอบประชาธิปไตย

ในการเปลี่ยนแปลงที่จะให้เป็นสันตินั้น ฉันได้คิดคติพจน์ให้กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติว่า บำเพ็ญกรณีไมตรีจิต-วิทยาคม-อุดมสันติสุข

ทั้งนี้ก็เพราะฉันมีความเข้าใจว่า ในเรื่องสิทธินั้นทุกคนก็เรียกร้องตามหลักประชาธิปไตยหรืออำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนอยู่แล้ว แต่สิทธิและหน้าที่เป็นของคู่กัน ฉันจึงได้เน้นทางหน้าที่ว่า บำเพ็ญกรณี

ส่วน ไมตรีจิต นั้น สมัยนี้เราก็เรียกว่าเข้าถึงประชาชน ต้องมีไมตรีจิตหรือเข้าถึงประชาชนด้วยความเมตตาซึ่งกันและกันประชาธิปไตยจึงจะเรียบร้อยไปได้

ส่วน วิทยาคม หรือหลักวิชานั้น ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางการเมือง ครั้งนั้นฉันจึงได้เขียนบทความเป็นการไขข่าวหรือการเมืองปัจจุบันอย่างหนึ่ง และเป็นหลักวิชาทั่ว ๆ ไปอีกอย่างหนึ่ง

ถ้าบำเพ็ญกิจการดังว่ามา จึงจะได้อุดมสันติสุข ซึ่งเราทุกคนปรารถนา และหนังสือพิมพ์ประชาชาติก็ได้ปฏิบัติตามคติพจน์ที่ว่านั้น

เดือนกันยายน พ.ศ. 2475 “ประชาชาติ” ปรากฏตัวขึ้นในสังคมไทยในฐานะหนังสือพิมพ์รายวัน ซึ่งยึดมั่นในครรลองระบอบประชาธิปไตย พร้อม ๆ กับคอลัมน์ “ไววรรณ” ของกรมหมื่นนราธิปฯ คอลัมน์ยอดฮิตในหมู่ปัญญาชนในสมัยนั้น

ภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ด้วยความปรารถนาที่จะทำหนังสือพิมพ์คุณภาพให้เป็นศักดิ์ศรีแก่วงการหนังสือพิมพ์ไทย ดังนั้น ม.ร.ว. สุนิดา บุณยรัตพันธุ์, สุทธิชัย หยุ่น, ขรรค์ชัย บุนปาน, พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร และสุจิตต์ วงษ์เทศ จึงรวมตัวกันออกหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติรายสัปดาห์” โดยได้ชื่อประทานจากกรมหมื่นนราธิปฯ ดังที่ ขรรค์ชัย บุนปาน เล่าไว้ว่า

“อันที่จริงชื่อประชาชาติ ได้เคยมีมาแล้วในอดีต ซึ่งขณะนั้นผู้จัดทำประชาชาติในปัจจุบันยังไม่มีใครเกิด ผู้ทรงก่อตั้งประชาชาติแต่แรกเริ่มก็ยังมีพระชนม์อยู่ เราเห็นว่าประชาชาติเป็นมงคลนาม และเป็นนามอันแสดงถึงสื่อที่จะไปสู่ประชาชนอย่างแท้จริง เราจึงไปขอประทานอนุญาตจากผู้ทรงก่อตั้ง”

และกล่าวไว้ในบทนำแห่งหนังสือพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ ความว่า “คณะผู้จัดทำหนังสือประชาชาติรายสัปดาห์ต่างมีความปลื้มปีติสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็น้อมรับคติพจน์นั้นมารำลึกไว้ มิใช่เพื่ออยากเห็นหนังสือ ประชาชาติ หรือคําว่า ประชาชาติ คงอยู่ แต่สิ่งที่เราคณะผู้จัดทำปรารถนาและต้องการคือ ประชาชาติ อันหมายถึงคนไทยทั้งมวลต้องอยู่ตลอดไป”

ครั้นเมื่อปรับเปลี่ยนหนังสือพิมพ์ประชาชาติ จากรายสัปดาห์เป็นรายวัน กรมหมื่นนราธิปฯ ก็ได้ประทานคำอวยพรโอกาสถือกำเนิด “ประชาชาติรายวัน” เมื่อ พ.ศ. 2517 ความว่า

“เมื่อนายขรรค์ชัยบุนปานมาปรารภกับข้าพเจ้าว่าใคร่จะออกหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ รายสัปดาห์ ข้าพเจ้าก็มีความยินดีและอนุโมทนา โดยชี้แจงให้ทราบว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 แล้ว ข้าพเจ้าได้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจหลักประชาธิปไตยที่ว่า รัฐฐะเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หรือว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย ข้าพเจ้าจึงได้จัดการออกหนังสือพิมพ์รายวันให้ชื่อว่า ประชาชาติ โดยมีคำขวัญว่า ‘บําเพ็ญกรณี ไมตรีจิต วิทยาคม อุดมสันติสุข’

แม้ในสมัยปัจจุบัน ก็ยังมีความจำเป็นที่จะให้คำชี้แจงในเรื่องหลักประชาธิปไตย หรือจะว่ามีความจำเป็นยิ่งขึ้นเสียอีกก็ได้ ข้าพเจ้าจึงเต็มใจอำนวยพรให้ หนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ รายสัปดาห์ ประสบความเจริญรุ่งเรืองเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติสืบไป

บัดนี้ นายขรรค์ชัย บุนปาน มาปรารภกับข้าพเจ้าว่าใคร่จะออกหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ รายวัน ข้าพเจ้าก็มีความปีติยินดีและอนุโมทนาในความเจริญก้าวหน้านี้เป็นที่ยิ่ง

ด้วยอานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย ข้าพเจ้าขอให้หนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ รายวันประสบผลสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองในการจรรโลงระบอบประชาธิปไตยตลอดไปเทอญ”

จาก “ประชาชาติ” หนังสือพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้น “เพื่อเผยแพร่ระบอบรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย” โดยกรมหมื่นนราธิปฯ ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ ประชาชาติรายสัปดาห์-ประชาชาติรายวัน-รวมประชาชาติ-เข็มทิศธุรกิจ กระทั่งนำมาสู่หนังสือพิมพ์ “มติชนรายวัน” และ “ประชาชาติธุรกิจ” ดังทุกวันนี้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

100 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2534.

วิทยทัศน์พระองค์วรรณ. กรุงเทพฯ : มูลนิธินราธิปพงศ์ประพันธ์, 2544.

สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2564