เผยแพร่ |
---|
สมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกหนึ่งพระองค์ การมีพระเจ้าแผ่นดิน 2 พระองค์ของสยามในเวลานั้น เป็นที่ทราบของมิตรประเทศที่มีไมตรีกับสยาม
เมื่อเริ่มศักราชใหม่ในการติดต่อกับมิตรประเทศ พระจอมเกล้าฯ ทรงวางระเบียบไว้ คำนำพระราชส์นว่า “สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้า แผ่นดินสยามแลสมเด็จพระปวเรนทราเมศวรมหิศวเรศ รังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าประเทศสยามทั้งสองพระองค์ ขอประกาศแก่คนนอกประเทศในประเทศทั้งปวงเป็นอันมาก ฤๅผู้เดียว บันดาที่จะได้อ่านแลฟัง แลความรู้ความสนหนังสือนี้ให้ทราบเชื่อเป็นแน่ ว่าเราพระเจ้ากรุงสยามทั้งสอง…” และทรงใช้เรื่อยไป จนเมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จฯ สวรรคตไปแล้ว แบบฉบับการจัดระบบผู้นำแผนใหม่ในรัชสมัยนั้นก็เงียบหายไปเฉยๆ
เซอร์จอห์น บาวริ่ง ราชทูตอังกฤษ ก็ประหลาดใจกับเรื่องนี้ ดังปรากฏที่บันทึกไว้ว่า “สถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องแปลกประหลาดเรื่องหนึ่งในสยาม ซึ่งข้าพเจ้าไม่พบคำอธิบายที่ชัดเจนได้ ถึงแม้กษัตริย์องค์ที่ 2 จะไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง ก็ยังทรงมีบทบาทในการเจรจาข้อสนธิสัญญากับชาวต่างชาติ”
เอาเข้าจริงเซอร์จอห์น บาวริ่งเองไม่รู้ว่า ทำไมสยามจึงมีพระองค์เจ้าแผ่นดิน 2 พระองค์ในเวลาเดียวกัน?
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ (พ.ศ. 2411-2453) ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินเพียงพระองค์เดียว
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ (ครองราชย์ พ.ศ. 2380-2444) จึงรับสั่งถาม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ใน พ.ศ. 2434 ว่า “ประเทศของเธอมีพระเจ้าแผ่นดิน 2 พระองค์มิใช่หรือ?”
กรมพระยาดำรงฯ ทรงตอบทัดทานในทันทีว่า “เดี๋ยวนี้เลิกประเพณีแบบนั้นแล้ว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารไว้แทน” (นิทานโบราณคดี)
ข้อมูลจาก
ไกรฤกษ์ นานา. การเมือง “นอกพงศาวดาร” รัชกาลที่ 4 KING MONGKUT หยุดยุโรปยึดสยาม. สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2564