รัฐบาลอังกฤษ แจก “ที่หลบภัยในร่ม” ป้องกันการโจมตีทางอากาศ

“ที่หลบภัยมอร์ริสัน” ที่ใช้เป็นโต๊ะอาหารในยามปกติ (ภาพจาก 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 )

การป้องการโจมตีทางอากาศที่สร้างความสูญเสียต่อประชาชนอย่างมาก คงไม่มีอะไรดีกว่า “หลุมหลบภัย” แต่ในการรบที่ยืดเยื้ออย่าง สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว การต้องออกจากบ้านไปอยู่ในหลุมหลบภัยที่มีความชื้นสูงและหนาวเย็นใต้พื้นดินที่บ่อยครั้งมีน้ำท่วมขัง แม้จะปลอดภัยแต่ก็ทุกข์ทรมาน

ขณะที่สงครามก็คืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ สัญญาณเตือนภัยแต่ละคืนดังถี่ขึ้น ที่ประเทศอังกฤษหลายบ้านที่มีห้องใต้ดินในฤดูหนาวจึงเลือกจะหลบภัยในห้องใต้ดินแทน แต่ก็ใช่ว่าทุกบ้านจะโชคดีมีห้องใต้ดินให้ใช้หลบภัย

เฮอร์เบิร์ต มอร์ริสัน รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงภายใน ประเทศอังกฤษ ตัดสินใจว่ามีความจำเป็นต้องสร้าง “ที่หลบภัยในร่ม” ที่มีประสิทธิภาพขึ้นแทนการใช้หลุมหลบภัย จอห์น เบเคอร์ ได้รับมอบหมายให้คิดค้นที่หลบในร่มตามนโยบายของมอร์ริสันจนสำเร็จ และตั้งชื่อมันว่า “ที่หลบภัยมอร์ริสัน”

รัฐบาลอังกฤษแจกจ่าย “ที่หลบภัยมอร์ริสัน” ให้กับประชาชนกว่า 500,000 ชุด แต่ละชุดจะมีชิ้นส่วนของที่หลบภัยทั้งหมด ซึ่งผู้ที่ได้รับสามารถประกอบได้เองอย่างง่ายๆ ด้วยการขันน็อตตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ เช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์น็อกดาวน์

เมื่อประกอบเสร็จแล้ว “ที่หลบภัยมอร์ริสัน” จะมีลักษณะเป็นกรงยาว 1.8 เมตร กว้าง 1.2 เมตร สูง 0.75 เมตร ด้านบนที่เป็นหลังคาทำด้วยเหล็ก ด้านข้างเป็นตาข่ายลวด พื้นเป็นเหล็ก มันถูกออกแบบให้ปกป้องประชาชนกรณีที่ชั้นบนของบ้าน 2 ชั้นถล่มลงมาเมื่อถูกระเบิด แต่มันไม่สามารถช่วยรักษาชีวิตคนได้หากบ้านถูกระเบิดโดยตรง

ในเวลาปกติ แต่ละครอบครัวสามารถใช้ “ที่หลบภัยมอร์ริสัน” เป็นแทนโต๊ะอาหารสำหรับ 5-6 ที่นั่ง หรือเป็นที่นอนยามค่ำคืน แต่หากเกิดการโจมตีทางอากาศเกิดขึ้น มันก็ทำหน้าที่ที่แท้จริงของมัน คือ “ที่หลบภัยในร่ม” ที่ช่วยชีวิตประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ข้อมูลจาก :

พลลตรีจูเลียน ทอมป์สัน และดร.แอลแลน อาร. มิลเลตต์ เขียน, นงนุช สิงหะเดชะ แปล. 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2556


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 19 ตุลาคม 2564