หนังสือพิมพ์สตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส 1 ใน 100 สิ่งสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2

ทหารอเมริกันกําลังอ่านหนังสือพิมพ์สตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส (ภาพจาก 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2)

พลตรีจูเลียน ทอมป์สัน CB OBE ทำงานสังกัดราชนาวิกโยธินอังกฤษ 34 ปี ทำหน้าที่บัญชาการการปฏิบัติการทุกระดับตั้งแต่ระดับหมวดไปจนถึงกองพลน้อย, อาจารย์รับเชิญแผนกสงครามศึกษาของคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ฯลฯ

ดร.แอลแลน อาร์. มิลเลตต์ นาวาเอกเกษียณราชการจากราชนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการทหาร ความขัดแย้งในศตวรรษที่ 20, ผู้อำนวยการศูนย์ไอเซนฮาวร์ด้านอเมริกันศึกษา มหาวิทยาลัยนิวออร์ลีนส์ ฯลฯ

ทั้งสองร่วมมือกันเขียนหนังสือชื่อ 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 (สนพ.มติชน, 2556) ฉบับแปลภาษาไทยโดย นงนุช สิงหเดชะ

ที่น่าสนใจคือ รายการ 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น นอกจาก เรือรบ, ระเบิด, ปืน, เครื่องบิน,…ฯลฯ แต่ทำไมในรายการดังกล่าว มี “หนังสือพิมพ์” ฉบับหนึ่งร่วมอยู่ด้วย เรื่องนี้นักเขียนทั้งสองอธิบายไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

หนังสือพิมพ์สตาร์ แอนด์ สไตรป์ส (Stars and Stripes) ซึ่งเคยตีพิมพ์ในรูปของหนังสือพิมพ์    สําหรับกองกําลังรบนอกประเทศของอเมริการะหว่างปี 1917-1919 กลับมามีชีวิตอีกครั้งในปี 1942 เพื่อเสนอข่าวสารในประเทศและความพยายามด้านสงครามระดับโลกที่จะเคลื่อนกําลังพลทหารของอเมริกา (จีไอ) ออกรบ

หนังสือพิมพ์ดังกล่าว ได้รับอนุญาตและรวมทั้งได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงสงคราม แต่การควบคุมงานบรรณาธิการแกว่งไปมา โดยด้านหนึ่งงานบรรณาธิการตกอยู่ ในความดูแลของผู้บัญชาการกองทัพบกและเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้าน กิจการสาธารณะ และอีกด้านหนึ่งก็ตกไปอยู่ในความดูแลของทีมบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักหนังสือพิมพ์มืออาชีพที่เพียงแต่สวมเครื่องแบบ แต่ยังคงภักดีต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐ ฉบับแก้ไขครั้งแรก (ซึ่งให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น) มากกว่าจะภักดีต่อข้อบังคับแห่งสงคราม

การรายงานข่าวในประเทศ ไม่มีปัญหาเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” เป็นพิเศษแต่อย่างใด เนื่องจาก สตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส พึ่งพาบริการข่าวของทางการสหรัฐและหนังสือพิมพ์ระดับชาติ      สําหรับการรายงานข่าวภายในประเทศ การเสนอข่าว นโยบายของรัฐบาลและเหตุการณ์ภายในประเทศ แม้แต่เหตุการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์ ที่ทําได้อย่างสมบูรณ์ถูกต้อง ช่วยชดเชยข่าวลือและมุมมองที่มีอคติของครอบครัว รวมทั้งการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายศัตรู

หนังสือพิมพ์สตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส ยังช่วยให้จีไอเข้าใจการดําเนินสงคราม ในสนามรบอื่นๆ ผลงานและคุณความดีของทหารหน่วยอื่นๆ และพันธมิตร รวมทั้งชี้แจงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการของกองทัพในมุมมองจากกระทรวงสงคราม อย่างไรก็ตาม มีการรายงานปฏิบัติการทางทหารที่ละเมิดกฎความมั่นคงน้อยมาก นักข่าวของสตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส ทําตามกฎการเซ็นเซอร์เรื่องความมั่นคงซึ่งบังคับใช้กับนักข่าวทุกคน

ปัญหาของสตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส อยู่ที่ผู้บัญชาการระดับสูง ซึ่งเห็นว่าหนังสือพิมพ์นี้มีอิทธิพลในการ ล้มล้าง บ่อนเซาะอํานาจของพวกตน และกระตุ้นให้เกิดการกระด้างกระเดื่องไม่อยู่ในวินัย อย่างไรก็ตาม ทีมบรรณาธิการสตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส ไม่ได้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงถูกต้องเสมอไป และไม่ได้เห็นว่านโยบายของกองทัพทั้งหมดเป็นนโยบายที่ฉลาด

สิบเอก บิลล์ มอลดิน นักเขียนการ์ตูนยอดนิยม ได้สร้างตัวการ์ตูนวิลลี่แอนด์โจ สัญลักษณ์ของพลทหารของอเมริกา (จีไอ) ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นการอ้างเหตุผลในเชิงกลวิธีของกองทัพ รวมทั้งเพื่อแฉสิทธิพิเศษที่ไม่เป็นธรรมสําหรับเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมด รวมทั้งบุคลากรที่อยู่แนวหลัง

สตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส ซอกแซกหาตัวอย่างของบรรดาผู้บัญชาการที่ละเมิดนโยบายของกองทัพซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับทหารเกณฑ์ การรายงาน ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนดังกล่าวซอกซอนค้นหาตัวอย่าง นักซื้อขายในตลาดมืดและการจัดสรรสิ่งของหายากขาดแคลนซึ่งผิดจากวัตถุประสงค์เดิมที่ตั้งใจจะจัดสรรให้กับหน่วยรบ

พลเอกมาร์ก ดับเบิลยู. คลาร์ก ข่มขู่นักข่าวทหารอย่างต่อเนื่อง ส่วนพลเอกดักลาส แมคอาเธอร์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับสูงในแปซิฟิกสั่งแบนหนังสือพิมพ์สตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส ในแถบแปซิฟิกจนถึงปี 1945 อย่างไรก็ตามนักข่าวสตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส สามารถโจมตีอิทธิพลการบังคับบัญชาด้วยการแอบส่งข่าวหรือปล่อยให้ข่าวรั่วไปยังเพื่อนในวงการซึ่งเป็นนักข่าวพลเรือนที่ทำข่าวสงคราม พลเอกจอร์จ เอส. แพตตัน ต้องการให้สิบเอกมอลดินขึ้นศาลทหาร แต่ปรากฏว่าเขากลับได้รับรางวัลพูลิเซอร์ซึ่งเป็นรางวัลสิ่งพิมพ์ยอดเยี่ยมแห่งอเมริกาในปี 1945

สตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส มีผู้อ่านมากกว่า 1 ล้านคน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รายงานข่าวของมันเกี่ยวกับการทำสงครามโลกครั้งที่ 2 รายงานข่าวของมันเกี่ยวกับการทำสงครามกับเยอรมนียังคงเป็นแหล่งข้อมูลที่ประเมินค่ามิได้เกี่ยวกับสงครามที่ทหารเกณฑ์อเมริกันเข้าร่วมรบ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม  2564