อาวุธประจำตัวกวนอูคือ “ง้าวมังกรเขียวเสี้ยวจันทร์” จริงหรือ? คำตอบอาจไม่ใช่แบบที่เชื่อ

กวนอู ง้าวมังกรเขียวเสี้ยวจันทร์ ง้าวกวนอู
กวนอู เทพแห่งสงคราม (War God)

ในนิยายสามก๊กบทที่ 1 กล่าวว่า กวนอู “ตีง้าวมังกรเขียวเสี้ยวจันทร์ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘งามเหี้ยมสังหาร’ หนัก 82 ชั่ง” ระหว่างด้ามกับตัวง้าวทำเป็นรูปมังกรเขียวเลี่ยมเชื่อมต่อกัน ตัวง้าวเป็นรูปจันทร์เสี้ยว จึงมีชื่อว่า “ง้าวมังกรเขียวเสี้ยวจันทร์”

ปัญหาอยู่ที่ว่าอาวุธที่มีชื่อพิเศษเช่นนี้ ไม่ใช่อาวุธที่ใช้ในสงคราม แต่ใช้ในการแสดง

ในหนังสือ “อู่เป้ยจื้อ” (ประมวลยุทธการ) บรรพยวดยานและอาวุธ” บันทึกไว้ว่า “ง้าวเสี้ยวจันทร์ใช้ฝึกซ้อมแสดงอานุภาพ ไม่ใช้ในสมรภูมิจริง” ในหนังสือ “ซันไฉถูฮุ่ย-สามสมรรถประกอบภาพ” ซึ่งมีภาพประกอบสมบูรณ์ ง้าวจันทร์เสี้ยวมีลูกกระพรวนคล้องประดับอยู่สองลูก เห็นชัดว่าไม่ใช่อาวุธที่ใช้ในการรบจริง แต่ใช้ในการแสดง

อีกทั้งใน “พงศาวดารสามก๊ก ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติกวนอู” ก็มีบันทึกว่า “อ้วนเสี้ยวส่งทหารเอกชื่องันเหลียงไปโจมตีเล่าเอี๋ยนเจ้าเมืองตังกุ๋นที่อำเภอเป๊กหม่า โจโฉให้เตียวเลี้ยวกับกวนอูเป็นทัพหน้าไปรับศึก กวนอูเห็นธงและสัปทนรถของงันเหลียงก็โผนม้าเข้าไปแทงงันเหลียงตายท่ามกลางทหารมากมาย แล้วตัดหัวกลับมา ทหารอ้วนเสี้ยวมิอาจรับมือได้ อำเภอเป๊กหม่าจึงพ้นจากวงล้อม”

บันทึกประวัติศาสตร์ตอนนี้บอกว่า กวนอู แทงงันเหลียงตาย แสดงว่าอาวุธที่ใช้มิใช่ง้าว ควรจะเป็นทวน หอก หรือกระบี่ เพราะง้าวใช้ฟันมิได้ใช้แทง

ฉะนั้น ง้าวมังกรเขียวเสี้ยวจันทร์ที่กวนอูใช้ น่าจะเกิดจากศิลปินผู้เล่านิทานแต่งขึ้นเพื่อสร้างจินตนาการอันงามให้กวนอู จากบทประพันธ์ร้อยแก้วและร้อยกรองของคนโบราณพอจะอนุมานได้ว่า อาวุธที่กวนอูใช้น่าจะเป็นกระบี่ ในกวีนิพนธ์บท “ส่งเกาหยวนไว่กลับจิงโจวที่ศาลกวนอู” ในรวมกวีนิพนธ์สมัยถัง บทที่ 248 ของหลางจวินโจ้ว กวีสมัยราชวงศ์ถัง มีข้อความว่า ขุนพลสง่ามีราศี กล้าหาญลบอดีตและปัจจุบัน ควบม้าผ่านร้อยสมรภูมิกระบี่เดียวสู้คนได้นับหมื่น”

จึงเห็นได้ว่า ในสมัยราชวงศ์ถัง ยังไม่มีชื่อ “ง้าวมังกรเขียวเสี้ยวจันทร์” ในบันทึกเรื่อง “ฉงเจี้ยนเมี่ยวจี้ (สร้างศาลใหม่อีกครั้ง)” ของห่าวจิง คนสมัยราชวงศ์หยวนกล่าวถึงกวนอูว่า “โผนม้าตัดหัวข้าศึกกลางไพร่พลนับหมื่น ได้รับป้ายทองและบรรดาศักดิ์ด้วยฝีมือตนเอง ควงดาบเขียนหนังสือลาแล้วจากโจโฉไป มีความสง่าของวีรชนแห่งชาติเป็นอมตะตลอดมา”

แต่ในสมัยราชวงศ์หยวนก็เริ่มมีหนังสือ “สามก๊กจี่เพ่งอ่วย” หรือ นิทานสามก๊กเกิดขึ้น นิทานนี้เสริมแต่งให้ กวนอู งามยิ่งขึ้น จึงเปลี่ยนอาวุธประจำตัวกวนอูเป็น “ง้าวมังกรเขียวเสี้ยวจันทร์” จินตนาการเรื่องนี้ของศิลปินผู้เล่านิทานได้สืบทอดต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจาก “อาวุธประจำตัวของกวนอูคือ ‘ง้าวมังกรเขียวเสี้ยวจันทร์’ จริงหรือ?” ในหนังสือ หนังสือ 101 คำถามสามก๊ก เขียนโดยเซวียนปิ่งซ่าน แปลโดยถาวร สิกขโกศล สำนักพิมพ์มติชน, 2556 (จัดย่อหน้าและเพิ่มการเน้นคำใหม่เพื่อความสะดวกในการอ่าน- กอง บก.ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2560