นางล้อม เหมชะญาติ สามัญชนที่ ร.5 ซื้อของฝากให้ หลังเสด็จประพาสยุโรป

นางล้อม เหมชะญาติ
นางล้อม เหมชะญาติ (ภาพจากหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ นายถนั่น พิศาลบุตร)

นางล้อม เหมชะญาติ สตรีสามัญชน ที่ “รัชกาลที่ 5” ซื้อของฝากพระราชทาน หลังเสด็จ “ประพาสยุโรป”

นางล้อม เหมชะญาติ หรือชื่อจีนคือ “ง่วนฮั่วเส็ง” เป็นธิดาของเจ้าสัวม้าหัว กับนางเปี่ยม เกิดในตระกูลชาวจีนที่มั่งคั่ง ในวัยเด็กนางล้อมชอบเรียนวิชาอย่างบุรุษ คือไม่ได้สนใจใคร่เรียนวิชาการเรือนอย่างสตรีทั่วไปในสมัยนั้น นางล้อมสนใจศึกษาวิชาด้านพาณิชยกรรมหรือการค้าขาย เมื่อเติบโตและแต่งงานกับเจ้าสัวเฮียบหยู นางล้อมจึงได้ช่วยงานในกิจการของครอบครัวสามีและครอบครัวบิดาไปพร้อมกัน ทั้งยังประกอบกิจการของตัวเองต่างหากอีกด้วย

ด้วยเพราะเป็นสตรีสามัญผู้มั่งคั่ง มีกิจการการค้ารุ่งเรือง ประกอบกับอุปนิสัยของนางล้อมนั้นเป็นคนใจบุญ มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ชอบทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นเนืองนิจ ทำให้นางล้อมเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันโดยถ้วนทั่ว ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า

“ข้าพเจ้าเคยฟังนางล้อม เหมชะญาติ ปรับทุกข์ในเวลามีความเดือดร้อนด้วยถูกผู้อื่นเบียดเบียนหลายครั้ง สังเกตเห็นว่ามิได้เป็นผู้ลุอำนาจแก่อคติ มักพอใจแผ่ไมตรีจิตต์ต่อผู้อื่น แม้เป็นผู้ซึ่งก่อเหตุให้ตนได้รับความเดือดร้อน เช่นยอมเสียเปรียบเพื่อซื้อรำคาญเป็นต้น หรืออย่างต่ำก็เป็นอุเบกขา หาเคยได้ยินแสดงความโกรธหรือความพยาบาทมาดร้ายต่อผู้ใดไม่ เห็นจะเป็นด้วยใจดีนี้เอง จึงได้ยินแต่คนชมและชอบ นางล้อม เหมชะญาติ อยู่แพร่หลาย”

ล้อม เหมชะญาติ
คุณยายล้อม เหมชะญาติ (ภาพจากหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ นายถนั่น พิศาลบุตร)

เหตุที่รัชกาลที่ 5 ทรงคุ้นเคยกับนางล้อมนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า “นางล้อมฯ เล่าว่าได้เคยเข้าเฝ้าครั้งแรกเมื่องานพระที่นั่งครั้งหนึ่ง (เห็นจะเป็นเมื่อขึ้นพระที่นั่งจักรี ใน พ.ศ. 2425) ว่านางหยาข้าหลวงเดิมซึ่งเป็นเจ้าของโรงสีไฟอยู่โรง 1 ได้คุ้นเคยกัน เป็นผู้พามารดากับตัวนางล้อมเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายกิมฮวยอั้งติ๊ว [1]”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงเล่าอีกว่า “เมื่อทรงสร้างวัดเบ็ญจมบพิตร นางล้อม เหมชะญาติ มีความเลื่อมใสไปคอยเฝ้าฯ วันหนึ่งในเวลางานวัด วันนั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จผ่านไป ข้าพเจ้าตามเสด็จไปด้วย เห็นนางล้อมฯ ตรงเข้าไปเฝ้าถึงพระองค์ส่งห่อธนบัตรซึ่งเตรียมไปทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ กราบบังคมทูลว่า ‘กระหม่อมฉันมีความเลื่อมใสขอตามเสด็จในการพระราชกุศลด้วย’ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงยินดีอนุโมทนา แล้วตรัสปฏิสันถารกับนางล้อมอยู่สักครู่หนึ่ง แต่นั้นพอถึงงานวัดนางล้อมก็ไปเฝ้าฯ ดูเหมือนจะไม่ขาดเลยสักปีหนึ่ง พอสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตรเห็นก็ทรงทักทายปราศรัยเสมอ ข้าพเจ้ามักตามเสด็จก็เลยได้รู้จักคุ้นเคยกับนางล้อมแต่นั้นมา…”

งานวัดเบญจมบพิตร

เมื่อนางล้อมมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับราชสำนักมากขึ้น นางจึงอาศัยความสัมพันธ์ใกล้ชิดนี้ในการขอความช่วยเหลือ เมื่อตนได้รับความทุกข์ร้อน ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า “วันหนึ่งนางล้อมมาหาข้าพเจ้า บอกว่าโรงสีไฟของนางล้อมตั้งอยู่ที่ปากคลองพระโขนงโรง 1 ได้ยินว่าเจ้าพนักงานจะปิดคลอง เกรงเรือที่เคยมาส่งเข้า [2] จะมาถึงโรงสีไม่ได้ ก็เกิดขัดข้องพาให้ขาดผลประโยชน์ของนางล้อม ๆ หารือว่าจะทำอย่างไรดี ข้าพเจ้าแนะให้ไปเข้าเฝ้าฯ กราบทูลร้องทุกข์เอง ด้วยเห็นว่าเป็นผู้หนึ่งซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณา

นางล้อมเข้าไปเฝ้าฯ ได้สมประสงค์แล้วเลยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าฯ ได้เหมือนกับเป็นภรรยาข้าราชการผู้หนึ่ง นางล้อมจึงเข้าเฝ้าต่อมาเนือง ๆ จนชอบพระราชอัธยาศัย ข้าพเจ้าเคยได้ยินมีพระราชดำรัสชมว่า ‘แกเป็นคนซื่อ’ และได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิ เหรียญทวีธาภิเษก เหรียญรัชมังคลาภิเษก กับทั้งกล่องหมากกาไหล่ทองลายพระอักษรพระนาม และเมื่อเสด็จกลับมาจากยุโรป นางล้อมฯ ก็ได้พระราชทานกระเป๋าหนังมีพระบรมรูปเป็นของฝากด้วย…”

ทั้งนี้ ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของ นายถนั่น พิศาลบุตร เมื่อ พ.ศ. 2527 (นายถนั่นเป็นหลานของนางล้อม-มีศักดิ์เป็นยาย) ได้ระบุไว้ว่ากระเป๋าหนังมีพระบรมรูปนี้ ได้ตกทอดมาถึงศาสตราจารย์คุณดวงเดือน พิศาลบุตร และยังอยู่ในสภาพดีทุกประการ”

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดของนางล้อมกับราชสำนักคือ นางล้อมเคยกราบทูลขอพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ให้ทรงตั้งชื่อหลานสาวทั้งสองคนของตนด้วย ซึ่งรัชกาลที่ 5 ก็ทรงมีพระเมตตา พระราชทานนามแก่หลานสาวของนางล้อมว่า “เงินกอง” และ “ทองโกย”

ซุ้มช้าง รับเสด็จ รัชกาลที่ 5
ภาพซุ้มช้างของกรมยุทธนาธิการ ในงานรับเสด็จรัชกาลที่ 5 กลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน (กฐินต้น) มักจะรับสั่งให้นางล้อมทราบการนี้ ซึ่งนางล้อมก็มักจะตามเสด็จในการพระราชกุศลวัดละ 100 ชั่ง และเมื่อมีงานวัดเบญจมบพิตร มักมีการประมูลข้าวของเพื่อหารายได้เข้าวัด รัชกาลที่ 5 จะทรงมีพระราชดำรัสให้นางล้อมเป็นคนประเดิมในการตั้งราคาก่อน ทั้งนี้เพื่อที่พระมเหสี พระราชเทวี จะได้ให้ราคาเพิ่มจากที่นางล้อมตั้งไว้

นางล้อมเป็นคนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากคนหนึ่ง ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 แล้วนั้น นางล้อมก็มักมาเข้าเฝ้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอยู่เสมอ และกราบทูลพระองค์ว่าได้ทำบุญอุทิศถวายรัชกาลที่ 5 เสมอ

ในส่วนการทำนุบำรุงศาสนานั้น นางล้อมมักเป็นองค์ประธานในการกุศลต่าง ๆ คือ ซ่อมสร้างปฏิสังขรณ์พระอารามต่าง ๆ โดยเฉพาะที่วัดทองนพคุณ ซึ่งเป็นวัดที่นางล้อมเป็นผู้ทำนุบำรุงวัดนี้อย่างมากที่สุด และเป็นมรรคนายิกาที่สำคัญของวัดแห่งนี้

ไม่เฉพาะแต่วัดใหญ่ในเมืองเท่านั้น วัดที่อยู่ห่างไกล นางล้อมก็ได้ช่วยเหลือไปทำนุบำรุงอีกด้วย ดังที่ ส. ศิวรักษ์ เล่าไว้ว่า “ถึงปลายฤดูกฐิน ท่านจะนั่งเรือยนต์ไปตามวัดต่าง ๆ ทางท้องน้ำ โดยเฉพาะก็ที่ห่างออกไปไกล ๆ คอยดูว่าวัดไหน ‘ตกกฐิน’ คือไม่มีคนมาทอด ท่านก็จะขึ้นขอทอด โดยเตรียมอัฐบริขารและเครื่องกฐินไป มีเลื่อย ขวาน กบ มีด ไม้ สำรับ ปิ่นโต ผ้าพับ เป็นต้น สมัยนั้นทอดกฐินกัน โดยหวังบุญหวังผล เพื่ออุดหนุนให้พระได้อานิสงฆ์ของการกราลกฐินตามพระพุทธานุญาต ยิ่งกว่าจะหวังเงินหรือหวังหน้ากัน”

นับว่านางล้อม เหมชะญาติ เป็นสตรีสามัญชนที่รัชกาลที่ 5 ทรงรู้จักและทรงสนิทสนมมากคนหนึ่ง ถึงกับทรงมีพระราชดำริจะพระราชทานเกียรติยศให้เป็น “ท่านผู้หญิง” ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ฉันอยากจะให้แม่ล้อมเป็นท่านผู้หญิง แต่ทีนี้แกเป็นสัปเยกฝรั่งเศส [3] เพราะตามผัว (เจ้าสัวเฮียบหยู) ก็เลยให้ไม่ได้”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] เครื่องบูชาหรือเครื่องประดับตกของจีน

[2] หมายถึงข้าว

[3] มาจากคำว่า Subject หมายถึงเป็นคนในบังคับของฝรั่งเศส


อ้างอิง :

ราชบัณฑิตสภา. (2472). นิบาตชาดก เล่ม 18 อสีตินิบาต, นางล้อม เหมชะญาติ พิมพ์อุทิศสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการบำเพ็ญกุศลฉลองอายุครบ 70 ปี บริบูรณ์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2472. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์.

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของ นายถนั่น พิศาลบุตร วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2527 ณ เมรุวัดธาตุทอง. (2527). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 สิงหาคม 2564