ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
น่าแปลกที่ มาร์โค โปโล นักเดินทางชาวตะวันตกคนแรกๆ ที่เดินทางมาจีนในสมัยราชวงศ์หยวน ไม่มีการบันทึกถึงกำแพงเมืองจีนไว้เลย อาจเพราะชาวมองโกลไม่ได้ให้ความสำคัญกับกำแพงเมืองจีนเท่าใดนัก
แต่ในเวลาต่อมา กลับมีนักวิชาการ, นักเดินทางกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของกำแพงเมืองจีนอย่างเหลือเชื่อ
ในปี ค.ศ. 1754 นักโบราณคดีชาวอังกฤษชื่อ วิลเลี่ยม สตูคลี่ย์ (ค.ศ. 1687–1765) บันทึกเกี่ยวกับกำแพงเมืองจีนในไว้ จดหมายเล่าเรื่องกำแพงเมืองจีนว่า “น่าจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากดวงจันทร์” ซึ่งมีการนำไปอ้างอิงต่อมาเสมอ ก่อนที่จะแพร่หลายในวงกว้างตามนักเขียนและผจญภัยชาวอเมริกัน วิลเลียม เอดการ์ กิล (ค.ศ. 1865-1925)
กิลเป็นนักผจญภัยที่เดินทางไปทั่ว เชื่อกันว่าเขาเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่เดินทางตลอดแนวกำแพงเมืองจีนที่ก่อสร้างในยุคราชวงศ์หมิง กิลเขียนประสบการณ์การเดินทางของเขาลงในหนังสือของเขาที่ชื่อ The Great Wall of China เขากล่าวถึงกำแพงยักษ์ของจีนว่า “มันเป็นสิ่งที่ก่อสร้างโดยฝีมือมนุษย์ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตามเปล่าจากดวงจันทร์” หนังสือของกิลตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1909 ซึ่งเวลานั้นโลกยังไม่มีมนุษย์อวกาศ
แต่คำพูดของเขา กลายเป็นคำถามที่นักบินอวกาสในยุคต่อมาต้องตอบ
ซึ่งคำตอบก็ฟังดูน่าผิดหวัง เพราะแม้แนวกำแพงเมืองจีนมีความยาวหลายหมื่นกิโลเมตร แต่ตัวกำแพงที่มีความกว้างเพียง 4-6 เมตร และสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีสีกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม แค่ออกไปนอกชั้นบรรยากาศของโลกก็มองไม่เห็นแล้ว ไม่ต้องพูดถึงระยะทางที่ไกลออกไปขนาดดวงจันทร์มาถึงโลก
สรุปว่า “กำแพงเมืองจีนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากดวงจันทร์” เป็นอันว่าคำโฆษณาของชาวอเมริกันที่ถ่ายทอดกันมาเรื่อยๆ ก่อนที่มนุษย์อวกาศจะไปเหยียบดวงจันทร์
ข้อมูลจาก :
นิธิพันธ์ วิประวิทย์. ระหว่างบรรทัด สถาปัตย์กรรมแดนมังกร, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2564
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564