เผยภูมิหลังจากวาทะ “เป็นคราวที่พวกเจ้านายตกต่ำนี่กระไร” ของกรมพระยาวชิรญาณวโรรส

กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร

“…บัดนั้นซึ่งเป็นคราวที่พวกเจ้านายตกต่ำนี่กระไร แต่พวกเรายังเล็กนักก็ไม่รู้สึกลึกซึ้งกี่มากน้อย…”

ข้อความนี้ปรากฏในพระประวัติตรัสเล่าของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (12 เมษายน 2403 – 2 สิงหาคม 2464) ทรงเล่าถึงชีวิตของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังสวรรคต และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขณะพระชนมายุเพียง 15 พรรษา จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ด้วยเหตุนี้ในยุคนั้นอำนาจวาสนาต่างๆ จึงตกอยู่กับผู้สำเร็จราชการ และบุคคลสกุลบุนนาคเสียส่วนมาก

เรื่องราวความตกต่ำของเจ้านายในสมัยนั้น ได้ถูกบันทึกไว้หลายรูปแบบ เช่น บันทึกเล่าเรื่องส่วนพระองค์ หรือเล่าขานสืบกันมาในหมู่ญาติ และที่บันทึกไว้เป็นตอนหนึ่งในบทกวีก็มีบ้าง ดังจะได้ประมวลมาเป็นหลักฐานยืนยันถึงความตกต่ำของพวกเจ้านาย ตามข้อความในพระประวัติตรัสเล่าดังนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักพระทัยถึงภาวะเช่นนี้เป็นอย่างดี ดังปรากฏถึงความรู้สึกดังกล่าวในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ความตอนหนึ่งว่า

“…ในเวลานั้นพ่ออายุเพียง 15 ปี กับ 10 วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหล ก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อ คือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา จะต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก…”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา ได้เสด็จพร้อมพระพี่นางพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีและพระมารดาเจ้าคุณจอมมารดาสำลี ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานสาวสมเด็จเจ้าพระยาฯ เพื่อไปช่วยงานแซยิดของท่าน ต้องเสด็จไปประทับแรมกับเจ้าคุณจอมมารดาบนตึกสมเด็จเจ้าพระยาฯ เช่นเดียวกับญาติผู้น้อยทั้งหลายที่ไปช่วยงาน

ถึงวันงาน เจ้าคุณจอมมารดาแต่งองค์พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 2 พระองค์ ทรงเกี้ยวทรงนวมเต็มยศไปที่ห้องโถงหน้าตึก อันเป็นทางที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ จะเดินผ่านไปหอนั่งข้างหน้าเพื่อเลี้ยงพระ เจ้าคุณจอมมารดาต้องพาพระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ไปหมอบอยู่ที่ห้องโถง พร้อมกับคนในสกุลบุนนาคคนอื่นๆ สมเด็จเจ้าพระยาฯนุ่งผ้าลอยชาย เมื่อผ่านมาเจ้าคุณจอมมารดาก็ให้พระเจ้าลูกเธอทรงกราบ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ทักทายเพียงว่า “อ้อ! พวกเจ้าเขาก็มาเหมือนกันหรือ” แล้วก็เดินต่อไป

เกี่ยวกับความรู้สึกตกต่ำนี้ เจ้านายที่ทรงประสบเหตุการณ์ด้วยพระองค์เอง ก็คงจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ทรงต้องจดจำไว้ และเมื่อเวลาผ่านไปความขมขื่นในพระทัยค่อยจางลง ก็อาจทรงถ่ายทอดให้ลูกหลานได้รับฟัง ดังเช่นที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ทรงเล่าถึงชีวิตเมื่อทรงพระเยาว์ ครั้งมีพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์ไว้ว่า ขณะที่เจ้าพี่เจ้าน้องเสด็จขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น “…แหมเอ็ง เรากลัวเขาจริงๆ พอคลานผ่านที่เขาเอกเขนกอยู่ละก็ เราหมอบกราบกันราบทีเดียว…”

และทรงเล่าถึงเรื่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งทรงพระเยาว์ ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพว่า ขณะหมอบกราบอยู่นั้น “…วันหนึ่งเขาเขยิบตีนไปถูกเอาหัวพระมหาสมณะที่กำลังกราบอยู่เข้า เขาหันมาบอกว่าขอโทษนะเจ้า…”

ลูกหลานที่ไม่เคยประสบเหตุด้วยตนเองอาจสงสัยว่าทำไมเจ้านายเล็กๆ จึงเกรงกลัวสมเด็จเจ้าพระยาฯมากนั้น เรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเหตุผล ซึ่งก็คือบุคลิกของสมเด็จเจ้าพระยาฯ นั่นเอง ที่ทำให้ผู้คนเกรงกลัว “…เป็นคนฉลาดหลักแหลมและเด็ดขาด มีสติปัญญาแก้ไขเหตุการณ์ปัจจุบันได้ดี…เคยเห็นคนมามากแล้วไม่เห็นมีใครสง่าเหมือนสมเด็จเจ้าพระยาฯ คนนี้ ถ้าเดินมาในที่ประชุมคนทั้งร้อยก็กลัวทั้งร้อย ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร…”

นอกจากบันทึกและเรื่องที่เล่าสืบกันมาแล้ว กวีบางท่านยังบรรยายบรรยากาศเวลานั้น เช่น คุณพุ่ม บรรยายเรื่องการเสด็จไปยังที่ต่างๆ ของพระเจ้าลูกยาเธอหลังการเสด็จสวรรคตว่า

“…โอ้คิดครั้งยังมีพระชนม์มาศ แม้จะออกนอกพระราชวังหลวง
มีทหารแห่แหนดูเด่นดวง ได้โชติช่วงดูพระเดชเกษตรา
อันแผ่นดินสิ้นยศลดไสล ไม่ทันไรมานิราศวาสนา
เหลือจะคาดพลาดไพล่เหมือนไปมา โอ้ชะตาตกอับไม่รับยอ…”

เจ้านายบางพระองค์ทูลขอพระบรมราชานุญาตออกไปประทับนอกพระบรมมหาราชวังกับพระราชโอรสซึ่งทรงออกวังแล้ว ดังเช่น สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ขณะยังเป็นเจ้าจอมมารดาเปี่ยม พาพระราชธิดาทั้ง 3 พระองค์ คือพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนาและพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ไปประทับ ณ วังพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ริมแม่น้ำเจ้าพระยาปากคลองตลาด ซึ่งทุกพระองค์ต้องทรงดำรงพระชนมชีพอย่างประหยัดมัธยัสถ์ ดังที่สมเด็จพระศรีสวรินทราฯ ตรัสเล่าถึงชีวิตพระองค์เมื่อทรงพระเยาว์ว่า

“…ฉลองพระองค์ที่ทรงเมื่อยังทรงพระเยาว์นั้น ทรงต่อมาจากสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา ส่วนสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ฯ ทรงรับต่อมาจากพระองค์ชายใหญ่อุณากรรณ ขนาดของฉลองพระองค์ก็ไม่สู้จะได้สัดส่วนนัก…”

หรือแม้เรื่องพระกระยาหารก็ทรงเล่าว่า “…ฉันน่ะได้กินแต่บะช่อ พอวันไหนพวกพ้องทางบ้านเขาเอาหมูมาให้ แกงบะช่อวันนั้นก็มีหมูมาก ถ้าวันไหนต้องจ่ายเองก็มีหมูน้อย มีแต่ต้นหอม…”

จากหลักฐานต่างๆ ที่รวบรวมมานี้ น่าจะเป็นสิ่งยืนยันถึงข้อความในพระประวัติตรัสเล่าของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสที่ว่า “…บัดนั้นชั่งเป็นคราวที่พวกเจ้านายตกต่ำนี่กระไร…” ได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564