ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีทัศนคติต่อการแสดงธรรมะ หรือ “การเทศน์” ที่ปฏิบัติในพระราชอาณาจักรว่าไม่ใช่ลักษณะที่ถูกที่ควรนัก
พระองค์ทรงกล่าวว่าหัวข้อธรรมะสำหรับใช้เทศน์ที่แสดงให้ชาวบ้านทั่วไปรับฟัง มักจะเป็นเรื่องที่เล่าผ่านนิทานหรือชาดก ซึ่งเป็นการฟังเพื่อความสนุกสนานมากกว่าประโยชน์ การฟังเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือซาบซึ้งต่อพระธรรมเท่าใดนัก
เรื่องประโยชน์จากการฟังพระธรรมเทศนา รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชปรารภทูลถาม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ความตอนหนึ่งว่า
“ได้ฟังเทศน์ที่พระครูสังฆปาโมกข์เทศน์ มีเนื้อความเป็นนิทานมาก ข้อปฏิบัติมีแต่เล็กน้อยไม่เป็นที่เลื่อมใส เห็นว่าการพระศาสนาในหัวเมืองอยู่ข้างจะเหลวไหลเสื่อมทรามมาก เพราะไม่มีหนังสือแสดงข้อปฏิบัติที่จริงแท้สำหรับเล่าเรียน มีแต่หนังสือเหลวๆ ไหลๆ หรือหนังสือที่ลึกเกินไป ผู้อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง…” [ประมวลพระราชนิพนธ์ฯ พระธรรมเทศนา]
รัชกาลที่ 5 จึงทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้ทรงเขียนเทศนาธรรมขึ้น ด้วยสำนวนที่สามัญชนจะเข้าใจได้สะดวก และตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความถูกต้อง
พระภารกิจนี้นำไปสู่ความรู้แบบมุขปาฐะในขั้นต้นที่ถูกแปลงเพื่อใช้สื่อสารที่กว้างขวางขึ้น เช่น หนังสือแบบเรียน หนังสือธรรมะ ฯลฯ ซึ่งส่งไปตามวัดต่างๆ ในหัวเมืองเพื่อใช้เป็นมาตรฐานการเทศน์และการศึกษาทั่วพระราชอาณาจักร ที่ต่อมาใช้เป็นตำราการศึกษาภาคบังคับคณะสงฆ์
คลิกอ่านเพิ่ม:
- พระสงฆ์ อยุธยา “แชร์แวส” บาทหลวงฝรั่งเศสระบุ ดื่มด่ำรสพระธรรมมีน้อย
- น้ำชายาเสียง ตัวช่วยแก้เสียงแห้งในพระพิธีธรรมในอดีตมีอะไรบ้าง
ข้อมูลจาก :
ปฐม ตาคะนันท์. คณะสงฆ์สร้างชาติ สมัยรัชกาลที่ 5, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ธันวาคม 2564