รูปเทวบุคคลบนพระเกศา พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 : ภาพสลักที่ปราสาทบันทายฉมาร์

ภาพสลัก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ ปราสาทบันทายฉมาร์
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพระโอรส ภาพสลักผนังระเบียงคดด้านทิศตะวันออกปราสาทบันทายฉมาร์ ส่วนในวงกลม ภาพขยายรูปเทวบุคคล 4 กรบนพระเกศา

หนึ่งในบรรดาศาสนสถานสำคัญนอกเมืองพระนคร ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 คือ ปราสาทบันทายฉมาร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองพระนคร ห่างออกไปราว 160 กิโลเมตร ใกล้พรมแดนประเทศไทย พื้นที่ติดกับจังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน ปราสาทแห่งนี้มีความสำคัญทั้งจากเรื่องราวในจารึก และภาพสลักเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่รอบระเบียงคดคล้ายกับที่ปราสาทบายน

ในบทความนี้จะนำเสนอภาพสลักสำคัญพบที่ระเบียงคด มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภาพบุคคลขนาดใหญ่ เมื่อพิจารณาจากพระพักตร์แล้วคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คล้ายคลึงกับประติมากรรมรูปเหมือนของพระองค์ และภาพสลักที่พบในปราสาทบายน บุคคลที่ยืนด้านข้างคือพระราชโอรส ซึ่งในจารึกปราสาทบันทายฉมาร์ระบุพระนาม “ศรีศรินทรกุมาร”

ภาพดังกล่าวแสดงการเสด็จไปตามภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา พร้อมด้วยทหารและข้าราชบริพารถือฉัตรกั้น มีบุคคลหมอบเฝ้าถวายพานพุ่ม ทั้ง 2 พระองค์ทรงพระดำเนินไปตามทาง พระหัตถ์ถือคันศรและธนู รายละเอียดที่น่าสนใจคือที่มุ่นพระเกศาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปรากฏรูปเทวบุคคล 4 กร ประดับอยู่ ซึ่งไม่เคยได้พบมาก่อนในรูปเหมือนของพระองค์ การที่ช่างสลักตั้งใจประดับพระเกศาด้วยรูปเทวบุคคล 4 กรนี้ ย่อมแสดงถึงความหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และแท้จริงแล้วรูปดังกล่าวหมายถึงเทวบุคคลใด

ภาพสลัก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และ พระโอรส ที่ ปราสาทบันทายฉมาร์
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพระโอรส ภาพสลักผนังระเบียงคดด้านทิศตะวันออกปราสาทบันทายฉมาร์ ส่วนในวงกลม ภาพขยายรูปเทวบุคคล 4 กรบนพระเกศา

คณะนักวิชาการญี่ปุ่นในโครงการสำรวจและอนุรักษ์เมืองพระนคร (Japanese Government Team For Safeguarding Angkor (JSA)) ได้จัดแสดงภาพถ่ายนี้ไว้ที่ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวหน้าปราสาทบายน โดยตีความรูปเทวบุคคลในภาพว่าคือพระวิษณุ อันเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งหมายถึงการที่กษัตริย์ได้รับการยอมรับนับถือเสมือนพระวิษณุในศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพ เนื่องจากได้พบภาพสลักที่เกี่ยวข้องกับการบูชาพระวิษณุที่ผนังระเบียงคดด้านทิศใต้ของปราสาทบันทายฉมาร์ โดยสันนิษฐานว่าทรงนับถือศาสนาฮินดูมาก่อนและภายหลังเปลี่ยนไปอุปถัมภ์พุทธศาสนามหายาน

อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานดังกล่าว ยังมีประเด็นสำคัญทางวิชาการที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมในประเด็นที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเป็นเสมือนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ดังปรากฏภาพสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ปราสาทบันทายฉมาร์แห่งนี้ด้วย ซึ่งไม่ควรมองข้ามไป นอกจากนี้ทั้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพระเจ้าธรณินทรวรมัน พระราชบิดาทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนามหายาน จนมีความรุ่งเรืองถึงขีดสุด และพบคติการบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอย่างกว้างขวางในรัชสมัยของพระองค์ ในจารึกปราสาทพระขรรค์เมืองพระนครตอนหนึ่ง ยังได้กล่าวถึงการสร้างรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอุทิศถวายพระบิดา อันมีนัยของการยกย่องพระบิดาเสมอพระโพธิสัตว์ ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา และได้รับการยอมรับนับถือในการช่วยเหลือมนุษย์และสัตว์โลกให้ข้ามสังสารวัฏ

ภาพสลัก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปราสาทบันทายฉมาร์
ภาพสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และรูปเทวบุคคลในพระหัตถ์ ระเบียงคดทิศตะวันตก ปราสาทบันทายฉมาร์

ปราสาทบันทายฉมาร์ เป็นศาสนสถานสำคัญซึ่งพบการบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสูงสุด ตามคัมภีร์การัณฑวายุหสูตร ซึ่งมีเนื้อหาปรากฏในภาพสลักขนาดใหญ่ที่ผนังระเบียงคดด้านทิศตะวันตกจำนวน 8 ภาพเรียงตามลำดับกัน ศาสตราจารย์บัวเซอลิเย และ ดร. นันทนา ชุติวงศ์ ได้ตีความภาพสลักเหล่านี้ไว้อย่างสมบูรณ์ โดยภาพสลักทั้งหมดแสดงปาฏิหาริย์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในการโปรดมนุษย์ เทวดา และสัตว์โลกทั้งหลาย มีภาวะที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล และมีความยิ่งใหญ่เหนือเทพเจ้าในศาสนาฮินดู

ภาพสลักตอนหนึ่งแสดงการถือกำเนิดของเทพเจ้าทั้ง 8 องค์ในศาสนาฮินดู จากพระวรกายของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อันได้แก่ พระอาทิตย์และพระจันทร์ถือกำเนิดจากพระเนตร พระมเหศวรจากพระนลาฏ พระนารายณ์หรือพระวิษณุจากพระหทัย พระสรัสวตีจากพระทนต์ พระวายุจากพระโอษฐ์ พระปฐวีจากพระบาท และพระวรุณจากพระครรภ์ โดยในภาพสลักรูปเทพเจ้าทั้งหลายรวมทั้งพระวิษณุ 4 กร พระหัตถ์บนถือจักรและสังข์ พระหัตถ์ล่างกระทำอัญชลี ปรากฏที่พระอังสาด้านขวาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ภาพลายเส้นจากภาพสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและเทพเจ้าในศาสนาฮินดู (ที่มา Boisselier, J. “Precision sur Quelques Images Khmers d’ Avalokitesvara Les Bas-Reliefs de Bantay Chmar,” in Art Asiatique Tome 11, 1965, pp. 73-83.)

นอกจากนี้ในภาพยังปรากฏรูปเทวบุคคล 4 กร นั่งสมาธิบนพระหัตถ์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเทวบุคคล 4 กรดังกล่าวยังได้พบในภาพสลักอีกหลายภาพที่ปราสาทบันทายฉมาร์ ศาสตราจารย์บัวเซอลิเยเรียกเทวบุคคลดังกล่าวว่า “ปรัชญา” อันอาจหมายถึงศักติของพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธมหายาน หรืออาจเป็นคุณสมบัติบางประการที่อยู่ในองค์พระโพธิสัตว์ ที่แสดงออกด้วยวัตถุในพระหัตถ์จำนวนมากมาย เช่น คัมภีร์ ลูกประคำ หรือหม้อนํ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่รูปเทวบุคคล 4 กรนี้ มีความหมายแทนองค์เทพเจ้า พระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์จำนวนมากมายที่ถือกำเนิดขึ้นจากพระองค์ โดยปรากฏทั้งในพระหัตถ์ พระรัศมี และขุมพระโลมา เช่นเดียวกับที่แสดงออกในประติมากรรมพระโพธิสัตว์เปล่งรัศมี ที่นิยมสร้างในสมัยนี้

ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีสำริด ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ ประเทศฝรั่งเศส (ที่มา Helen Ibbitson Jessup and Thierey zephie ed. Sculptur of Angkor and Ancient Cambodia Millennium of Glory. USA. : Thames and Hudson Inc., 1997, p.313.)

ทั้งนี้รูปเทวบุคคล 4 กรในภาพสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรดังกล่าว ยังมีลักษณะใกล้เคียงกับที่ปรากฏบนพระเกศาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีความเป็นไปได้ที่พระองค์จะทรงได้รับการยกย่องเสมือนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเช่นเดียวกับพระบิดา ประกอบกับพระกรณียกิจของพระองค์ก็ดูจะสอดคล้องกับแนวคิดในพุทธศาสนามหายานอยู่ไม่น้อย ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้นับถือพุทธศาสนามหายานอย่างแรงกล้าแล้ว ยังทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างยิ่งใหญ่ โดยในจารึกอโรคยศาลหลายแห่งทั่วราชอาณาจักร ได้กล่าวถึงปณิธานของพระองค์ในการช่วยเหลือ “มนุษย์โลกผู้จมลงในมหาสมุทร ให้รอดพ้นภพชาติ” ด้วยการสร้างอโรคยศาลเพื่อบรรเทาทุกข์ ซึ่งเป็นแนวคิดของพระโพธิสัตว์ที่มีจุดมุ่งหมายไปสู่นิพพาน พร้อมกับการสร้างสุขในการมีชีวิตในโลกนี้แก่สัตว์โลก จนอาจกล่าวได้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างอาณาจักรของพระองค์ให้สมบูรณ์ทั้งทางโลกและทางธรรมตามแนวทางของพระโพธิสัตว์อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดีการบูชาพระวิษณุและพระศิวะ ยังคงมีอยู่สืบเนื่องมาตลอด การอุปถัมภ์พุทธศาสนามหายานของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงเป็นการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเข้าด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากภาพสลักที่เกี่ยวข้องกับพระวิษณุ พระกฤษณะ และการบูชาศิวลึงค์ ปรากฏร่วมกันอยู่เสมอในศาสนสถาน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในสังคมเขมรโบราณที่ผสมผสานและหลากหลาย

ข้อสันนิษฐานพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเป็นเสมือนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรดังกล่าวเป็นการเสนอความเชื่อในพุทธศาสนามหายานสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งต้องการข้อมูลศิลปกรรมและจารึกสนับสนุน เนื่องจากได้พบภาพสลักนี้เพียงแห่งเดียวในขณะนี้ จึงยังเป็นประเด็นข้อเสนอทางวิชาการใหม่ ที่ยังไม่ยุติและเปิดกว้างเพื่อการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพุทธศาสนามหายานในรัชสมัยของพระองค์เพิ่มเติมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

ยอร์ช เซเดส์. “ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ในบริเวณเมืองพระนคร.” ในประชุมศิลาจารึกภาคที่ 4. แปลโดย สุภรณ์ อัศวสันโสภณ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513.

วรรณวิภา สุเนต์ตา. พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรกัมพูชา ผู้เนรมิตสถาปนาปราสาทบายนและเมืองนครธม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2528.

Boisselier, J. “Precision sur Quelques Images Khmers d’ Avalokitesvara Les Bas-Reliefs de Bantay Chmar,” in Art Asiatique Tome 11, 1965.

Chutiwongs, N. The Iconography of Avalokitesvara in Mainland of South East Asia. (nd., np.)

JSA. Annual Report on the Technical Survey of Angkor Monument 2003. Japan : Interbook Co., Ltd., 2003.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2560