เผาตำรา-ฆ่าบัณฑิต วิธีกำจัดคนเห็นต่าง สร้างเอกภาพทางการเมืองของจิ๋นซี

จิ๋นซีฮ่องเต้ จิ๋นซี ฮ่องเต้ จีน
จิ๋นซีฮ่องเต้ วีรบุรุษที่เกิดจากสถานการณ์ช่วงเสื่อมของราชวงศ์โจวตะวันตก รวบรวมเมืองต่างๆ ขึ้นเป็นจักรวรรดิเอกภาพ

“เผาตำรา ฆ่าบัณฑิต” วิธีกำจัดคนเห็นต่าง สร้างเอกภาพทางการเมืองของ “จิ๋นซี”

เมื่อ “ฉินสื่อหวง” หรือ “จิ๋นซี” รวบรวมอาณาจักร สถาปนาราชวงศ์ฉินจนเป็นปึกแผ่น ได้แต่งตั้ง “หลี่ซือ” ขุนนางสำคัญเป็นอัครมหาเสนาบดี หลี่ซือผู้นี้เป็นต้นคิดที่เสนอให้จิ๋นซีรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่จักรพรรดิแต่ผู้เดียว ขุนนางผู้ปกครองแคว้นต่างๆ ทั้งทหารและพลเรือนแต่งตั้งหรือถอดถอนโดยพระองค์เท่านั้น

ต่อมาในช่วง 213 ปีก่อน ค.ศ. เหล่าปัญญาชนแสดงความคิดให้รื้อฟื้นระบอบเจ้าที่ดินศักดินาอย่างสมัยก่อนรวมอาณาจักร ซึ่งเจ้าที่ดินปกครองดินแดนเขตแคว้นใหญ่น้อย หลี่ซือยืนกรานคัดค้านอย่างเด็ดขาดเขาเห็นว่าความคิดดังกล่าวเป็นภัยต่อบ้านเมืองและราชวงศ์ฉิน

หลี่ซือตำหนิปัญญาชนนักศึกษาเหล่านี้มีแต่ความดื้อรั้น นำความรู้เล่าเรียนมาคัดค้านลบหลู่ดูหมิ่นกฎหมายของบ้านเมือง ปลุกระดมผู้คนปล่อยข่าวลือไปทั่ว พฤติกรรมเช่นนี้ หากไม่ปราบปรามให้หมดสิ้น จะเสื่อมเสียพระเกียรติภูมิ

เขาเสนอให้เผาประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวของทั้ง 6 แคว้น, เผาบทนิพนธ์ของสำนักปรัชญาการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากในยุคร้อยสำนัก, บทเพลงโบราณ, ตำรากฎหมาย ฯลฯ สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษากฎหมายต้องไปเรียนยังสำนักอาจารย์เท่านั้น ส่วนตำราที่ได้รับข้อยกเว้นไม่ถูกทำลาย ได้แก่ ประวัติศาสตร์ของแคว้นฉิน, ตำราแพทย์, โหราศาสตร์ และการเกษตร

หากใครเก็บตำราดังกล่าวให้ทางการดำเนินริบตำราดังกล่าวและเผาทำลายเสีย ส่วนปัญญาชนที่บังอาจอ้างอิงตำราเหล่านั้น และเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นปิดบังความจริง ให้ประหารชีวิตในที่สาธารณะ

แนวคิดของหลี่ซือ ได้รับความเห็นชอบจากจิ๋นซีเห็น มาตรการ “เผาตำรา ฆ่าบัณฑิต” กลายเป็นกฎหมายบ้านเมือง และมีการบังคับใช้

หลังจากพระบรมราชโองการออกมาภายใน 30 วัน ถ้าเจ้าของหนังสือตามที่กล่าวมาข้างต้น ยังไม่ทำลายหนังสือเหล่านั้น แม้จะไม่ถูกประหารชีวิต แต่จะถูกสักหน้าและใช้แรงงาน 4 ปี โดยให้ไปทำงานหนักก่อสร้างกำแพงหมื่นลี้

เวลาผ่านไป 2 ปี แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ยังไม่สงบ จิ๋นซียังคงได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ การถูกลบหลู่เช่นนี้ทำให้กริ้ว และมีรับสั่งให้ดำเนินการสอบสวนเหล่าปัญญาชนและนักศึกษาจำนวนมาก จากเหตุการครั้งนี้ปรากฏว่า มีบัณฑิตถูกฝังทั้งเป็นกว่า 460 คน

ซี.พี.ฟิตซเจอรัลด์ ชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีน อธิบายต่อกรณี “เผาตำรา ฆ่าบัณฑิต” ว่า เสนาบดีหลี่ซือ มองเห็นอันตรายอันเกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อของเหล่าปัญญาชน ที่เป็นศัตรูของระบอบการปกครอง คำโฆษณาของเหล่าบัณฑิตที่เผยแพร่แก่สาธารณะ มีพื้นฐานจากวรรณคดี ตลอดจนตำราต่างๆ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์โดยสิ้นเชิงต่อระเบียบแบบแผนของทางการ เป็นอาวุธที่มีอันตรายต่ออาณาจักรใหม่

หลี่ซือก็ตัดสินใจทำลายระบอบการปกครองเดิมที่มีเจ้าที่ดินครอบครองเขตแดนศักดินาที่ต่างก็เป็นอิสระเหนือเขตแดนของตน ในลักษณะการกระจายอำนาจ แต่แค่นั้นยังไม่เพียงพอ แม้แต่ความทรงจำในอดีตก็ต้องกำจัดให้หมดสิ้น ประวัติศาสตร์โดยตัวของมันเองจึงต้องลบล้างออกไปให้หมด หลี่ซือจึงทูลองค์จักรพรรดิเสนอแผนเผาหนังสือของเขาขึ้น ทำให้ชื่อของหลี่ซือและจิ๋นซี เป็นที่เกลียดชังไม่มีวันจางหายไปได้ของบรรดานักศึกษาปัญญาชนรุ่นหลังๆ

ซึ่งจุดประสงค์สำคัญของการเผาตำรา ฆ่าบัณฑิต ของฉินสื่อหวงก็เพื่อทำให้เกิดเอกภาพทางความคิด แต่วิธีการเช่นนี้นับเป็นวิธีที่โหดร้ายและโง่เขลา ก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อแหล่งวิทยาการความรู้และการพัฒนาเติบโตทางวัฒนธรรม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พิมพ์ครั้งที่ 4 กุมภาพันธ์ 2574

หลี่เฉวี่ยน เขียน, เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย แปล, ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 23 กรกฎาคม 2564