ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ส่งจดหมายขอร่วมงานคณะราษฎรหลังปฏิวัติ ไฉนปีต่อมาเข้ากับกบฏบวรเดช

ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ ภาพจากหนังสือ เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.

“เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน” เป็นวลีติดปากที่มักพูดกันมาเสมอ แน่นอนว่าคนเรามีหลากหลาย มีบ้างที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่ก็มีบ้างที่จะพบเห็นลักษณะของบุคคลตามวลีข้างต้นในประวัติศาสตร์อันยาวนาน กรณีหนึ่งที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือแนวทางของ ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ ซึ่งเคยร่วมสังกัดการเมืองกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะเดียวกันก็เคยเข้าร่วมกบฏบวรเดชจนถูกจับกุมตัว

ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ คือนายทหารจากระบอบเก่า กล่าวคือในวัยเด็กก็เติบโตภายใต้การดูแลของเจ้านายฝ่ายในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้สภาพในวัยเด็กจะเป็นเช่นนั้น แต่กาลต่อมาก็ไม่ได้มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้านายและไม่ได้เป็นที่โปรดปราน

ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ เกิดเมื่อ 30 กันยาน พ.ศ. 2444 เป็นบุตรขุนเสาวรักษ์บรรณาคม (ชิด ไกรฤกษ์) และคุณลิ้นจี่ ไกรฤกษ์ จากข้อมูลของปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ ผู้ศึกษาประวัติกลุ่มนักโทษคดีกบฏบวรเดชและผู้เขียนหนังสือ เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ ระบุว่า ร.ท. จงกล ถูกนำตัวไปฝากเจ้านายและให้เจ้านายอุปการะในพระตำหนักสวนกุหลาบ

ในหนังสือบันทึกประวัติของร.ท. จงกล ซึ่งเจ้าตัวเขียนเอง เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กไว้ว่า

“ถูกพามาอยู่กับคุณท้าวนารีวรคณาลักษ์ (แจ่ม ไกรฤกษ์) ซึ่งเป็นป้าที่พระตำหนักสวนกุหลาบ” (จงกล ไกรฤกษ์, 2546)

ในด้านการศึกษา เข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่ออายุได้ 14 ปี ช่วงนี้อยู่ในการอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ร.ท. จงกล เขียนเล่าในหนังสือว่า พระองค์เจ้าอาทรฯ รับสั่งให้หลวงบริหารทัยราช ซึ่งเป็นปลัดของกรมหลวงนครราชสีมา “เป็นผู้จัดการนำไปฝากโรงเรียนนายร้อย” (จงกล ไกรฤกษ์, 2546)

เมื่อสำเร็จการศึกษาในพ.ศ. 2465 ก็ไปอยู่กับกรมทหารราบที่ 15 จังหวัดนครราชสีมา ภายหลังสอบผ่านโรงเรียนเสนาธิการเป็นอันดับ 2 แต่ยังเป็นผู้บังคับหมวดหัดทหารตามเดิม หลังจากนั้นได้ย้ายไปรับราชการที่พิษณุโลก โดยหลังจากทำงานมา 6 เดือนก็เข้าร่วม “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ก่อนเป็นนักโทษคดี “กบฏบวรเดช”

ในบันทึกของร.ท. จงกล ยังเล่าปัญหาที่ประสบในการทำงานว่า แม้ทหารชั้นผู้น้อยแสดงความคิดเห็นที่ดีแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้วทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ไม่ได้รับฟัง แต่จะเชื่อถือตามลำดับตำแหน่ง ปมนี้ทำให้ร.ท. จงกล อึดอัดอย่างมาก

จากการสืบค้นข้อมูลของ ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ พบว่า ภายหลังร.ท. จงกล วิ่งเต้นย้ายเข้ามาเป็นนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในกรุงเทพฯ ในปีพ.ศ. 2468 แต่ภายหลังสอบไล่โรงเรียนเสนาธิการทหารได้ที่ 2 แล้วก็ไม่อาจย้ายได้ ต้องกลับไปเป็นผู้บังคับหมวดหัดทหาร ปฏิบัติงานหัดทหารอยู่ 2 เดือน

เวลาต่อมาก็ได้รับคำสั่งให้เป็นนายทหารเสนาธิการแผนกยุทธการฝึกทหาร กรมเสนาธิการ ตำแหน่งนี้ก็ยังไม่ได้มีโอกาสก้าวหน้าทางการงาน

ทั้งนี้ ก่อนที่จะเข้าร่วมกับคณะกู้บ้านกู้เมือง ร.ท. จงกล เคยเขียนจดหมายลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2475 หรือหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองราว 4 เดือน ส่งไป “คำนับ” ประยูร ภมรมนตรี ใจความในจดหมายมีว่า

“ผมมีปรารถนาที่จะใช้ชีวิตของตนเองให้เปนผู้มีประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองเท่าที่คุณจะเห็นควร ตามสติกำลังดังที่คุณได้รู้จักผมมา จึงคำนับคุณไว้เพื่อทราบ เพราะผมมีความระลึกอยู่ว่า คุณซึ่งมีหน้าที่สำคัญแก่ชาติอยู่ทุกวันนี้ อาจเอื้อเฟื้อใช้สรอยผมให้สมกับที่ผมมีปรารถนาดีต่อชาติได้บ้าง”[1]

ขณะที่จดหมายตอบกลับของประยูร ภมรมนตรี ลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2475 มีเนื้อหาว่า

“จดหมายของคุณลงวันที่ 22 ศกนี้ ความว่า ปรารถนาจะใช้ชีวิตของคุณให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองนั้น ผมขอแสดงความยินดีด้วยและขอบคุณในความหวังดีของคุณ ถ้ามีโอกาสเมื่อใดจะแจ้งให้ทราบ”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : พระยาราชมนตรีบริรักษ์(ภู่)ที่ “แซม ยุรนันท์” ชี้ว่าเป็นบรรพบุรุษ กับสัมพันธ์สกุลชุมสาย

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ย้อนเหตุบุกจับเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ เมื่อทหารไว้พระทัยกลายเป็นคณะราษฎร 2475

หากวิเคราะห์ตีความเนื้อหาในจดหมายนี้แบบตรงไปตรงมา อาจมองได้ว่า ร.ท. จงกล พร้อมจะเข้าร่วมกับคณะราษฎร และอาจหมายความว่าไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หากมองถึงขั้นการเข้าร่วมคณะราษฎรเพื่อก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นไม่มีข้อมูลบ่งชี้ถึงเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ได้เข้าร่วมอย่างชัดเจน แต่จากการวิเคราะห์ของปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ มองว่า พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม ผู้เป็นอาจารย์ของร.ท. จงกล ปฏิเสธเข้าร่วมการปฏิวัติ ร.ท. จงกล ซึ่งเป็นลูกศิษย์จึงไม่ได้เข้าร่วม

หากมองในภูมิหลังของร.ท. จงกล ในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว ร.ท. จงกล ก็เจริญก้าวหน้าด้านการงานน้อยมาก ถึงจะเล่าว่าอยู่ใต้การอุปถัมภ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมา (ทูลกระหม่อมอัษฎางค์) แต่พระองค์ทิวงคตตั้งแต่พ.ศ. 2467 แล้ว หลังจากนั้น ร.ท. จงกล ก็ออกไปรับราชการในหัวเมือง และตามที่กล่าวข้างต้นว่า สอบผ่านโรงเรียนเสนาธิการเป็นอันดับ 2 แต่ก็ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม

ดังนั้นแล้วปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ จึงมองว่า ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ มีความผูกพันกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์น้อย

เมื่อเกิดปฏิวัติ 2475 เวลาผ่านไปไม่กี่เดือน ร.ท. จงกล จึงเขียนจดหมายไปขอร่วมงานกับรัฐบาลในระบบใหม่ กระทั่งในปีถัดมา ร.ท. จงกล ก็เข้าร่วมกับกบฏบวรเดช ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีพระยาศรีสิทธิสงคราม เข้าร่วมด้วย และสุดท้ายก็ตกเป็นนักโทษคดี “กบฏบวรเดช” ส่วนพระยาศรีสิทธิสงครามถูกกระสุนปริศนายิงเสียชีวิต

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ปมกระสุนปริศนาปลิดชีพพระยาศรีสิทธิสงคราม ผู้สกัดการติดตามของรัฐบาลขณะกบฏบวรเดชหนี

ในช่วงที่ถูกจำคุกที่เรือนจำบางขวาง ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ และกลุ่มนักโทษการเมืองยังร่วมกันลอบออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในแดน 6 เรียกชื่อว่า “น้ำเงินแท้” เขียนด้วยมือทั้งเล่ม กำหนดให้แต่ละห้องอ่านได้ 24 ชั่วโมง เมื่ออ่านกันทั่วถึงในนักโทษการเมืองแล้วก็ส่งออกมาข้างนอกให้ญาติได้อ่าน เชื่อว่าส่งกันมือต่อมื่อเพื่อไม่ให้ตกไปอยู่กับฝ่ายตรงข้าม

สำหรับเส้นทางหลังจากพ้นโทษแล้ว ร.ท. จงกล ดำเนินบทบาทนักหนังสือพิมพ์อยู่ระยะหนึ่ง และลงเลือกตั้งในพ.ศ. 2489 แต่แพ้ข้าราชการเก่าในจังหวัดพิษณุโลก เมื่อช่วงการเมืองระอุพ.ศ. 2490 ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ เล่นการเมืองอยู่สังกัดฝั่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายหลังการรัฐประหาร 2490 ร.ท. จงกล ชนะเลือกตั้งได้

เมื่อมาถึงช่วงร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ร.ท. จงกล ยังแสดงความคิดเห็นคัดค้านการบัญญัติให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาและคณะองคมนตรี และเสนอว่าควรให้ประชาชนเลือกวุฒิสภาและเลือกกรรมการองคมนตรี

ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ วิเคราะห์ว่าในช่วงทศวรรษ 2490 การที่ร.ท. จงกล เลือกอยู่ฝั่งตรงข้ามกลุ่มกษัตริย์นิยม เป็นเพราะมีความสัมพันธ์กับจอมพล ป. ซึ่งได้กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง จึงเลือกเสนอความคิดคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่ออุดมการณ์กษัตริย์นิยมในไทยมีอิทธิพลในสังคมสูงขึ้นมากขึ้นในทศวรรษ 2500 ร.ท. จงกล ก็ยังเขียนถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในฐานะ “ผู้ทรงเทิดทูนประชาธิปไตย”

ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2511


เชิงอรรถ:

[1] “เรื่อง ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ (พ.ศ. 2475-2494)” เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี, สร.0201.8/23, หจช. อ้างถึงใน เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ.

อ้างอิง:

ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์. เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.

จงกล ไกรฤกษ์. อยู่อย่างเสือ : บันทึกชีวิตนักต่อสู้ทางการเมืองยุคบุกเบิก (2475-2500). เชียงใหม่ : The Knowledge Center, 2546. น.110-114. อ้างถึงใน เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กรกฎาคม 2564