พระชาติกำเนิดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ความย้อนแย้งในเอกสารประวัติศาสตร์

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายในโบสถ์น้อย วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ก่อนจะกล่าวถึง “ความย้อนแย้ง” เกี่ยวกับพระชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ลองกลับมาทบทวนข้อมูลเดิมที่เราส่วนใหญ่มีกันก่อน นั่นก็คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระชาติกำเนิดเป็นสามัญชน มีพระนามเดิมว่า “สิน” พระราชบิดาเป็นชาวจีน พระราชมารดาเป็นชาวไทย เนื้อหาหลักๆ ก็ไม่หนีไปจากนี้เท่าใดนัก

ทีนี้มาดู “ความย้อนแย้ง” ที่ สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ ค้นคว้าจากเอกสารต่างๆ หลายสิบรายการ และเรียบเรียงเป็นบทความชื่อ “ความย้อนแย้งทางประวัติศาสตร์ กรณีพระชาติกำเนิดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในจดหมายเหตุต่างชาติ พระราชพงศาวดาร และเอกสารเชลยศักดิ์ของไทย” ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564

เอกสารที่ สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ ค้นคว้า แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ จดหมายเหตุต่างชาติ, พระราชพงศาวดาร และเอกสารเชลยศักดิ์นอกทำเนียบของไทย

เริ่มจากหลักฐานเก่าสุดที่กล่าวถึงพระชาติของกำเนิดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คือจดหมายเหตุคณะบาทหลวงฝรั่งเศส เรื่อง “พระดำริของเจ้าไทยจะร้องไปยังประเทศฝรั่งเศส” ซึ่งมองซิเออร์เคอร์ส่งไปถึงมองซิเออร์ดารากองที่พำนักอยู่ ณ กรุงกัมพูชา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1768 (พ.ศ. 2311) กล่าวว่า พระองค์ทรงมีเชื้อสายจีน แต่ไม่ได้ระบุว่า พระราชบิดาหรือพระราชมารดากันแน่ที่เป็นชาวจีน บันทึกว่า

“…ในเวลานั้นพระยาตากซึ่งเป็นชาติจีนครึ่งหนึ่งนั้น กำลังดำริจะเอาราชสมบัติ ได้ทราบว่ามีเจ้าเชื้อพระราชวงศ์เสด็จไปที่บางปลาสร้อย จึงได้จัดเรือให้ออกไปจับเจ้าศรีสังข์มายังเมืองจันทบุรี…”

ขณะที่บทความนี้ของสุทธิศักดิ์ กล่าวถึงเอกสารต่างชาติ 2 รายการที่กล่าวว่า พระราชมารดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็น “ชาวจีน” ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลเดิมที่รับรู้กันมา ได้แก่

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุทธยา (History of the Kingdom of Siam and of the Revolution that have caused the Overthrow of the Empire, up to A.D. 1770) ของ ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (François Henri Turpin) นักเขียนและนักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเรียบเรียงขึ้นจากบันทึกของพระสังฆราช ปีแยร์ บรีโกต์ (Pierre Brigot) มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ผู้เคยเดินทางเข้ามาอยู่ยังประเทศสยาม โดยตีพิมพ์ครั้งแรกที่กรุงปารีสในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อ ค.ศ. 1771 (พ.ศ. 2314) บันทึกว่า

“หลังจากกองทัพพม่าซึ่งมีชัยออกจากราชอาณาจักรสยามไปแล้ว พวกสยามซึ่งกระจัดกระจายและหนีเตลิดเข้าไปอยู่ในป่า ได้พากันกลับมายังเมืองหลวงอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยความคิดที่จะแก้แค้นพวกพม่าที่ทำให้พวกเขาต้องได้รับความลำบาก พวกสยามไปปฏิบัติการอย่างรุนแรงทุกหนทุกแห่ง โดยฆ่าพวกพม่าทุกคนที่พบเห็น แต่เลือดของพวกโหดร้ายเหล่านี้ไม่มีประโยชน์อันใด ในการที่จะช่วยแก้ไขความอดอยากซึ่งบ้านเมืองกำลังประสบอยู่ได้เลย…

พวกสยามทั้งๆ ที่รวมกันด้วยความปรารถนาที่จะแก้แค้น ก็ยังแตกแยกออกเป็นก๊ก เป็นพวกตามผู้นำ 

ประชาชนมุ่งมั่นไปที่พระยาตาก ขุนนางสยามซึ่งมารดาเป็นชาวจีน ท่านเป็นทั้งนักการเมืองและนักรบ ท่านปูทางที่จะไปสู่ความยิ่งใหญ่ของท่าน ด้วยการเรียกร้องความสงสารและความเห็นใจ ท่านได้รับเลือกเป็นหัวหน้า โดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งหมด ครั้งแรกท่านได้ใช้นามแฝงว่า ‘ผู้กู้ชาติ’ และแอบแฝงความสูงศักดิ์โดยการใช้เครื่องนุ่งห่มตามปรกติ ท่านปรารถนาที่จะทำตัวเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น เพื่อที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศที่แท้จริงต่อไป”

สอดคล้องกับจดหมายเหตุบันทึกรายวันเกี่ยวกับการเดินทางจากอินเดียและมะละกาใน พ.ศ. 2322 (Journal of A Voyage from India to Siam and Malacca in 1779) ของ ดร. โยฮันน์ แกร์ฮาร์ท เคอนิช (Dr. Johann Gerhard König) นายแพทย์ นักพฤกษศาสตร์ และนักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมันประจำเจ้าเมืองแห่งอาร์คอท ซึ่งเดินทางเข้ามายังประเทศสยามในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อ ค.ศ. 1778 (พ.ศ. 2321) ความว่า

“พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันทรงได้อาณาจักรมาด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ พระราชบิดาของพระองค์เป็นคนชั้นสูงชาวไทย และพระราชมารดาเป็นชาวจีน เมื่อครั้งที่พวกพม่ารุกรานอาณาจักรนี้ พระองค์ทรงเป็นเจ้าเมืองในภูมิภาคเล็กๆ ของประเทศ”

จะเห็นได้ว่าจดหมายเหตุ ดร. โยฮันน์ แกร์ฮาร์ท เคอนิช นอกจากให้ข้อมูลว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชมารดาเป็นชาวจีน เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุทธยาแล้ว ยังบันทึกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชบิดาเป็นชนชั้นสูงชาวไทยอีกด้วย

ข้อเท็จจริงข้างต้นย้อนแย้งกับประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยปัจจุบัน ที่ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชบิดาเป็นชาวจีน และมีพระราชมารดาเป็นชาวไทย จากการสืบค้นของสุทธิศักดิ์ สำนึกทางประวัติศาสตร์นี้ เริ่มปรากฏหลักฐานครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. 2367-2394) ในบันทึกของ โจไซห์ คอนเดอร์ (Josiah Conder) ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ. 1830 (พ.ศ. 2373) กล่าวถึงเรื่องพระชาติกำเนิดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตามคำบอกเล่า บันทึกว่า

“พระยาตาก (Pe-ya-tac) ลูกของคหบดีจีนที่เกิดแต่แม่ชาวสยาม เป็นผู้ที่ไต่เต้าจากตำแหน่งราชการเล็กๆ ในราชสำนักขึ้นไปเป็นเจ้าเมืองตาก หลังจากหลบหนีไปที่จันทบูร ไม่ช้าไม่นานนักก็ได้กลายเป็นผู้นำต่อต้านข้าศึก และเขาก็ประสบความสำเร็จหลังใช้เวลายาวนานในการขับไล่พม่าออกจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายหลังประกาศตนเป็นกษัตริย์ ก็ได้ย้ายเมืองหลวงไปที่บางกอก ซึ่งทรงบูรณะป้อมค่ายพร้อมทั้งสร้างพระราชวังขึ้นแห่งหนึ่งซึ่งยังเห็นอยู่ทุกวันนี้…”

ดูเอกสารต่างชาติกันมาหลายสำนวนแล้ว คราวนี้มาดูเอกสารไทยกันบ้าง

พงศาวดารสยามอย่างย่ (Brief History of Siam) พระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. 2394-2411) สำหรับพระราชทานแก่หมอดีน (Dr. W. Dean) นำตีพิมพ์ลงในวารสารไจนีสรีโพสิทอรี (The Chinese Repository) ปีที่ 20 เล่มที่ 7 เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1851 (พ.ศ. 2394) เมืองกึงตึ๋งของจีน บันทึกว่า

“กษัตริย์พระองค์แรกที่ตั้งมั่นที่เมืองบางกอก เป็นคนเชื้อสายจีน ซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษ นามว่า พระยาตาก (Pin Tat) เขามีชื่อจีนว่า แต้สินตาก (Tia Sin Tat or Tuat) เกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เรียกว่า บ้านตาก ทางภาคเหนือของสยาม ตรงละติจูด 16 องศาเหนือ วันเดือนปีเกิด คือ เดือนมีนาคม ค.ศ. 1734/พ.ศ. 2277 เมื่อครั้งเสียกรุง เขามีอายุ 33 ปี ก่อนหน้านั้นเคยเป็นปลัดเมืองตาก และต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง โดยได้รับราชทินนามเป็นพระยาตาก อันเป็นชื่อที่คนรู้จักมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ในช่วงรัชกาลสุดท้ายของกรุงศรีอยุทธยา เขาได้รับเลื่อนยศเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งแต่โบราณกาลมาได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของหัวเมืองฝ่ายตะวันตกของสยามภาคเหนือ เขาได้ตำแหน่งนี้มาโดยการมอบสินบนแก่เสนาบดีระดับสูงของเจ้าฟ้าเอกทัศน์อนุรักษ์มนตรี…”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานลายพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ เรื่อง “พงศาวดารราชอาณาจักรสยาม แก่ เซอร์จอห์น เบาริ่ง (Sir John Bowring) อัครราชทูตอังกฤษ ที่เดินทางเข้ามาเจรจาขอทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับรัฐบาลสยาม ซึ่งภายหลังเขาได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการเขียนหนังสือราชอาณาจักรและราษฎรสยาม (The Kingdom and People of Siam) ตีพิมพ์ครั้งแรกที่กรุงลอนดอน   เมื่อ ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) ตอนหนึ่งกล่าวถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า

“จุลศักราช 1129 คริสต์ศักราช 1767 [พ.ศ. 2310 – สุทธิศักดิ์] ทหารพม่ายังคงยึดครองอยุทธยาอยู่ ตอนนั้นมีผู้มีอำนาจมากผู้หนึ่ง นามว่า พระยาตาก ผู้เป็นเจ้าเมืองของหัวเมืองหนึ่งทางเหนือของประเทศสยาม บิดาเป็นชาวจีนและมารดาเป็นชาวสยาม…”

ตัวอย่างเอกสารที่ยกมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงบางส่วนของ จดหมายเหตุต่างชาติ และพระราชพงศาวดาร ทั้งยังไม่ได้กล่าวถึงเอกสารเชลยศักดิ์นอกทำเนียบของไทย ด้วยความจำกัดของพื้นที่ ขอได้โปรดติดตามส่วนที่เหลือทั้งหมดในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับประจำเดือนกรกฎาคมนี้ ว่าเหตุใด พระชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงย้อนแย้ง


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2564