ย้อนรอย “ธูป” เครื่องหอมบูชาเทพเจ้า ถึงการทำธูป ซื้อ-ขายในสมัยอยุธยา

ธูป (public domain - pixabay.com)

เมื่อกล่าวถึง “ธูป” ก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเป็นเครื่องหอมชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องบูชาที่มักใช้คู่กับเทียน แต่ความสำคัญของธูปในยุคนี้ได้ก้าวไปอีกขั้น โดยเฉพาะ “ธูปปู่” ในมิติของ “ศาสตร์แห่งตัวเลข” และการ “เสี่ยงโชค” ธูปได้มีบทบาทใหม่ในฐานะผู้มอบ “ศรัทธาพารวย”

แต่ในที่นี้จะพามาทำความรู้จักธูปในอดีตว่ามีความเป็นมาอย่างไร? คนไทยรู้จักธูปและทำธูปกันตั้งแต่เมื่อใด?

เสถียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) นักปราชญ์ผู้รู้ของไทย (เกิด พ.ศ. 2431 สมัยรัชกาลที่ 5) อธิบายเกี่ยวกับธูปว่า “ธูป เป็นคำสันสกฤตและบาลี แปลว่ากลิ่นหอมเครื่องหอม ก็กลิ่นหอมเครื่องหอมย่อมเป็นที่พึงพอใจแก่คนทั่วไป ถ้าเป็นกลิ่นเหม็นคนก็ไม่ชอบ และนึกว่าผีสางเทวดาก็คงไม่ชอบเช่นเดียวกัน…มนุษย์จึงหาอุบายถวายกลิ่นหอมแก่เทวดาเสียด้วย ท่านจะได้ชอบพอใจ”

เสถียรโกเศศอธิบายต่อไปว่า ในยุคดึกดำบรรพ์มนุษย์คิดจะส่งกลิ่นหอมให้ลอยขึ้นไปสู่สวรรค์เพื่อบูชาอ้อนวอนเทพเจ้า จึงได้จุดกองไฟแล้วเอาไม้หอมหรือเครื่องหอมโยนใส่ลงไปในกองไฟนั้น ต่อมาจึงพัฒนาทำภาชนะใช้สำหรับรองรับไฟ เช่น ตะคัน หรือหม้อเผา

เสถียรโกเศศตั้งข้อสันนิษฐานว่า ในอารยธรรมตะวันตกนิยมใช้ภาชนะสำหรับเผาเครื่องหอม การทำธูปที่เป็นก้านไม้อย่างที่เห็นกันในปัจจุบันนั้น น่าจะเป็นของที่คิดค้นขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันออก อาจจะเป็นจีนที่คิดทำขึ้น

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานการเกี่ยวกับธูปใน “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง” ความว่า “บ้านริมวัดพร้าวพวกพราหมณ์แลไทย ทำแป้งหอมน้ำมันหอม กระแจะ น้ำอบ ธูปกระแจะ ธูปกระดาษแลเครื่องหอมทาฃาย” แสดงว่า มีการทำธูปโดยพราหมณ์และคนไทย แต่ไม่มีการกล่าวถึงธูปจีน หรือคนจีนทำธูป

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยน่าจะยังทำธูปกันอยู่ โดยเฉพาะในราชสำนักปรากฏว่าทำธูปใช้เอง ดังปรากฏในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ 2 ให้เจ้าพนักงานข้างในฟั่นธูปใช้ในงานต่าง ๆ ให้ทำธูปเป็น 2 ขนาด คือ ธูปเล็ก และธูปใหญ่ ทำแล้วให้มัดเป็นมัด ๆ ธูปใหญ่มัดละ 20 ดอก ธูปที่เจ้าพนักงานข้างในทำน่าจะเป็นธูปชนิดพิเศษ

ส่วนธูปจีนที่มีก้านยาว ๆ ชุบสีแดงอย่างที่เรียกกันว่า “ธูปหาง” นั้น จะเข้ามาเมื่อใดยังไม่พบหลักฐาน ชาวบ้านทั่วไปคงจะใช้ธูปจีน ซึ่งบรรจุในซองกระดาษยาว ๆ เรียกกันว่า แหนบ โดยธูปในสมัยก่อนนอกจากจะใช้ในพิธีทางศาสนาแล้ว ยังมีการนำธูปและเทียนไปใช้ขอขมาคนตายในงานเผาศพ ภายหลังจึงได้ใช้เป็นเครื่องที่ใช้เผาไปด้วย

แล้วธูปไทยในยุคหลัง ๆ ใครเป็นคนคิดทำคนแรก?

เท่าที่มีหลักฐานบันทึก ผู้ที่อ้างว่าเป็นคนทำธูปไทยคนแรกคือ หลวงศรีรัตนโกสินทร์ (บุศย์ บุนนาค) ซึ่งเป็นเจ้ากรมของสมเด็จฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 คิดทำขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2459 ท่านได้บันทึกว่า เป็นคนแรกที่พยายามคิดทำธูปไทยที่มีกลิ่นหอมขึ้น ในตอนแรกได้นำธูปจีนมาเป็นแกน แล้วเอาผงธูปที่คิดค้นขึ้นใหม่มาฟั่นทับพอกธูปจีนนั้นให้ใหญ่ขึ้น โดยมีส่วนผสมจากเนื้อไม้จันทน์ กำยาน และเครื่องปรุงอื่น ๆ มาบดผสมกันแล้วจุดเผา

เมื่อทดลองทำและทดลองใช้จนเป็นที่พอใจแล้วจึงนำออกขาย แต่ครั้งนี้ทำไม้ก้านธูปเอง คือ ฟั่นธูปขึ้นใหม่ ไม่ได้ใช้ธูปจีนมาฟั่นทับอีกต่อไป โดยแบ่งขายธูปเป็น 3 ประเภท คือ ซองใหญ่ราคาซองละ 10 สตางค์ มีธูป 10 ดอก จุดได้ 2 ชั่วโมง, ซองกลางราคาซองละ 10 มีธูป 20 ดอก จุดได้ 1 ชั่วโมง และซองเล็กราคาซองละ 5 สตางค์ มีธูป 15 ดอก จุดได้ครึ่งชั่วโมง

ภายหลังธูปไทยเป็นที่แพร่หลายและคงจะมีผู้คิดทำธูปไทยขึ้นทำเองบ้าง จนมีจำหน่ายโดยทั่ว ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบเห็นธูปไทยวางขายอยู่ที่เมืองปีนัง เมื่อ พ.ศ. 2483 ทรงเล่าไว้ว่า

“ที่เมืองปีนังเดี๋ยวนี้มีธูปไทยเรียกว่า ธูปหอมตราดอกไม้ ส่งออกมาขายเป็นธูปทำใส่ซองละ 10 ดอก ขายราคาซองละ 5 เซ็นต์ ธูปที่จีนทำขายที่ในเมืองปีนังก็เป็นพะเนินเทินทึกทุกขนาด เหตุไฉนคนจึงชอบซื้อธูปไทย ได้ลองจุดเปรียบกันดู ธูปจีนมีควันมากแต่ไม่มีกลิ่นหอม ธูปไทยมีควันน้อยแต่กลิ่นหอม จึงเข้าใจว่าคนคงชอบใช้ธูปไทยบูชาพระที่ในเรือน ชอบใช้ธูปจีนชาพระตามวัดและศาลเจ้าเพราะราคาถูกกว่าธูปไทย และต้องการให้เห็นควันมากเป็นประมาณด้วย”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ส. พลายน้อย. (พฤศจิกายน, 2538). ธูปไทย. สารคดี. ปีที่ 11 : ฉบับที่ 129.

เสถียรโกเศศ. (2498). รวมเรื่องสั้นของเสถียรโกเศศ. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์ตรี หลวงนิมานบรรณสิทธิ์ (กิ่ง หาญสมบูรณ์) 19 พฤษภาคม 2498, จาก คลังทรัพยากรดิจิทัล https://digital.library.tu.ac.th/

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. (ออนไลน์), จาก ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ https://vajirayana.org/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564