อีครอบ : อีนี่ใช้ครอบนกยกรัง

อีครอบ หรือ กระโจม เป็นเครื่องมือชนิดตาข่าย ใช้ดักนกที่อาศัยอยู่ในรัง โดยเฉพาะนกเขา

เป็นเครื่องมือทำง่าย ใช้ง่าย คนมีส่วนบังคับใช้งานเล็กน้อย เครื่องมือนี้แสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์ในการจับนกทั้งรัง แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือการตั้งชื่อเครื่องมือที่ทำให้เข้าใจวิธีคิด วิธีใช้งานเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน

ชาวบ้านสร้างเครื่องมือหลายชนิดเพื่อจับสัตว์ชนิดหนึ่งๆ ด้วยวัตถุประสงค์ต่างกันคือ เพื่อนำเนื้อสัตว์มาทำกิน เลี้ยง กำจัดเพราะรบกวน แต่โดยหลักก็เพื่อกิน เครื่องมืออาจมีทั้งที่ใช้งานในลักษณะทุบ ดีด หนีบ ตีสัตว์ หรือเครื่องมือที่ไม่ทำให้สัตว์บอบช้ำนัก ซึ่งเป็นกลุ่มเครื่องมือประเภทบ่วง หรือตาข่าย อีครอบก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ตาข่าย แต่จุดที่น่าสนใจคือเป็นการดักหมู่ คือดักนกทั้งพ่อ แม่ และลูกนก เพื่อนำลูกนกไปเลี้ยงดูด้วย ไม่ให้ลูกนกตายคารัง

อีครอบใช้วัสดุหาง่ายอย่างผิวไม้ไผ่ ด้ายถัก และเส้นด้ายขนาดเล็ก วิธีทำคือ นำผิวไม้ไผ่มาขดเป็นวงกลมให้มีขนาดใหญ่กว่ารังนกที่เป็นเป้าหมาย หรือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ใช้เส้นด้ายมัดขดไม้ให้แน่น จากนั้นใช้ด้ายถักมาถักเป็นตาข่ายรอบวงไม้ให้มีลักษณะเหมือนกระโจมหรือกรวยแหลม มีความยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ที่ปลายกระโจมใช้เชือกยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตรมัดไว้ เพื่อใช้เชือกส่วนนี้มัดแขวนตามกิ่งไม้เวลาใช้งาน ที่ด้านล่างวงไม้มัดเชือก ๔ เส้นคล้ายสาแหรก แต่ละเส้นมีความยาวประมาณ ๔๐ เซนติเมตร มัดปลายรวมกัน แล้วมัดเชือกต่อมาเป็น “สายซุง” ยาวจากรังนกถึงพื้นดิน

วิธีใช้ นำอีครอบวางเหนือรังนก โดยเกี่ยวกับยอดไม้ กิ่งไม้ไว้ ใช้ใบไม้แต่งอำพรางอีครอบ

ผู้ใช้อีครอบถือสายซุงยืนใต้ต้นไม้ เฝ้ารอเวลาที่พ่อแม่นกกลับจากหากิน โดยต้องยืนสงบนิ่งไม่ให้นกตกใจเมื่อเห็นพ่อแม่นกกลับรัง กำลังเพลินกับการป้อนอาหารลูกนกจึงกระตุกอีครอบครอบนกทั้งหมดไว้ แล้วจึงปีนต้นไม้ขึ้นไปจับนก ได้นกไปเลี้ยงทั้งครอบครัว บางคนก็จับไปขายแลกข้าวแลกน้ำ

เห็นได้ว่าอีครอบไม่ใช่เครื่องมือที่มีกลไกซับซ้อน ทำง่าย ใช้ง่าย เป็นเครื่องมือที่พัฒนาจากตาข่ายใกล้ๆ ตัวก็ได้ โดยร้อยชายตาข่ายกับกิ่งไม้ที่งอให้เป็นขดเป็นวง พวกคนเลี้ยงควาย หรือพวกคนทำงานกลางทุ่งทั้งวันใช้เวลาว่างจับนกให้เป็นประโยชน์

การเรียนรู้เรื่องอีครอบ นอกจากช่วยให้เข้าใจวิธีจับนกแล้ว ยังช่วยให้เข้าใจกระบวนการผลิตเครื่องมือ และวิธีใช้งาน โดยทำความเข้าใจผ่านการตั้งชื่อเครื่องมือ ปรากฏว่ามีเครื่องมือเครื่องใช้จำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องมือจับสัตว์กลุ่มหนึ่งที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “อี” เช่น อีหัน (ดักงู โดยงูออกมาบิดหันตัวกับไม้ไผ่ที่มีความคมจนตาย) อีทุบ (เครื่องมือดักหนู กระรอกกระแต มีกลไกหลักเป็นไม้ไผ่ลำหนึ่งทุบสัตว์ที่เดินผ่านปากทางเข้าเครื่องมือ) หรืออีครอบ (ใช้ตาข่ายครอบคลุมนก)

การเรียนรู้เรื่องอีครอบจึงช่วยให้เข้าใจเรื่องภาษากับกลุ่มสังคม ซึ่งให้ทัศนะในเรื่องหนึ่งๆ ต่างกัน ในกรณีนี้คือเรื่องคำเรียก “อี” ที่เห็นชัดระหว่างกลุ่มคนสังคมเมืองกับสังคมชาวบ้าน

ขั้นพื้นฐานที่สุดคือ ผู้คนสังคมเมืองมักรับรู้ถึงคำว่า “อี” ว่าเป็นคำหยาบ แต่ในกลุ่มชาวบ้านแล้ว คำเรียก “อี” แสดงความสนิทสนม พ่อแม่จึงเรียกลูกสาวโดยใช้อีนำหน้าชื่อลูก ผู้ใหญ่ก็เรียกลูกหลานหรือคนอ่อนอาวุโสกว่าว่า “อีนั่นอีนี่” เป็นต้น

ส่วนชื่อเครื่องมือในหมู่ชาวบ้าน ก็เป็นเรื่องที่แสดงความใกล้ชิดของผู้ทำผู้ใช้กับเครื่องมือหากิน ทั้งนี้เครื่องมือต่างๆ ผู้ชายมักเป็นผู้ประดิษฐ์ ชื่อเรียกเครื่องมือที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าอี จึงเป็นการเรียกฝ่ายเพศตรงข้ามด้วยความสนิทสนม บอกความคุ้นเคย มิใช่กดย่ำดูแคลน เพราะเครื่องมืออย่างอีหัน อีทุบ อีครอบ ก็ต่างเป็นที่มาของอาหาร และมีประโยชน์ใช้สอยที่ชัดเจน

กล่าวได้ว่าชื่อเรียกเครื่องมือที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “อี” มักประสมคำกับกริยาอาการ แสดงการใช้งานเครื่องมือในลักษณะต่างๆ เช่น โดยการบิดหัน การทุบตี หรือการครอบ เป็นต้น

สำหรับชาวบ้านแล้วเมื่อได้ยินชื่อเครื่องมือที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “อี” จึงเข้าใจอย่างง่ายดายว่าเป็นเครื่องมือที่คุ้นเคย และใช้งานในกริยาอาการใด เป็นความเข้าใจพื้นฐานที่คนต่างสังคมไม่อาจนึกถึง