เผยแพร่ |
---|
ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 1 ไทยได้เข้าปกครองเมืองพระตะบองและหัวเมืองใกล้เคียงให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ โดยมีเจ้าเมืองเป็นขุนนางเชื้อสายกัมพูชา คือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เป็นผู้ปกครอง และทายาทต่อจากนั้นรวม 6 ชั่วคน โดยพระคทาธร (ชุ่ม) เป็นคนสุดท้าย รวมระยะเวลา 112 ปี (พ.ศ. 2338– พ.ศ. 2450)
หาก พ.ศ. 2406 เป็นต้นมา ครึ่งหนึ่งของกัมพูชาอันได้แก่ เขมรส่วนนอก มีอาณาเขตจากพนมเปญไปจนจรดชายแดนญวนทางภาคตะวันออก เป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสโดยพฤตินัย และเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอินโดจีน ซึ่งฝรั่งเศสวาดภาพไว้ว่าจะเป็นของฝรั่งเศสทั้งหมดในไม่ช้า ได้แก่ ญวน เขมร และลาว
สำหรับเมืองพระตะบองแม้จะยังอยู่กับฝ่ายไทย แต่เป็นที่หมายปองของฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน เพราะเป็นหัวเมืองสำคัญของกัมพูชา เป็นเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ด้วยเหตุที่มีพื้นที่ติดทะเลสาบ และมีแม่น้ำสังแกไหลผ่าน จนชาวกัมพูชากล่าวกันว่า “เมืองพระตะบองเพียงเมืองเดียวปลูกข้าวเลี้ยงคนได้ทั้งประเทศ”
กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (บรรดาศักดิ์ขณะนั้น) ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับนายเอ็ดเวิร์ด สโตเบล ที่ปรึกษาชาวอเมริกัน ประเมินสถานการณ์ของเมืองพระตะบอง ไว้ใน บันทึกเรื่อง “ราชการเมืองพระตะบอง” [1] พ.ศ. 2438 ว่า จะทรงรับจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อย หากมั่นใจได้ว่าเมืองพระตะบองจะอยู่กับไทย แต่หากพระตะบองต้องตกไปเป็นของฝรั่งเศส พระองค์ “เห็นว่า ทิ้งไว้อย่างนี้ดีกว่า ถ้าฝรั่งเศสจะเอาเมืองพระตะบอง จะตีเมืองพระตะบองก็ให้ตีเอา จะได้ลงทุนลงแรงบ้าง”
ดังนั้นนอกจากเรื่องการจัดตั้งโครงสร้างด้านการปกครอง รัฐไทยไม่มีความพยายามอื่นใดมากนักที่จะจัดการสิ่งใดในเขตมณฑลบูรพา หรือเมืองพระตะบองนี้ สถานการณ์การเมืองในเวลานั้น มีแนวโน้มค่อนข้างสูงว่าฝรั่งเศสคงได้พระตะบองในไม่ช้า ขณะที่ฝรั่งเศสรุกหนัก ท่าทีของไทยกลับ “เฉยเมย” อย่างยิ่ง
ท่าที “เฉยเมย” เช่นนี้ ทำให้ในอีกปีเศษต่อมา พระยาคทาธร (ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งราชการ เมื่อ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1905/พ.ศ. 2448 ความว่า
“ราชการในสมัยนี้ ถ้าจะทำให้เรียบร้อยก็ได้ แต่ต้องจำเป็นยอมเสียเปรียบประดุจดังเล่นหมากรุก ถ้าเรากินเบี้ย ต้องยอมให้เขากินโคน กินม้า กินเรือ จึงจะเป็นที่เรียบร้อยไปได้ ถ้ามีแต้มจะกินโต้ตอบตามทางยุติธรรมซึ่งเป็นการถูก ก็คงจะมีเหตุรำคาญจุกจิกถึงเสนาบดี…
ตัวข้าพระพุทธเจ้า เวลานี้ประดุจดังตกระหว่างกลางทัพขนาบ จะคอยทัพหนุน ก็แลสุดสายตา แลชื่อข้าพเจ้าคงจะเสียการเน่าเป็นแน่ ด้วยสติปัญญาไม่เพียงพอต่อราชการ จึงได้มีบอกมากราบทูล ก็เพราะด้วยเสียดายชื่อของตัวและปู่กับบิดาที่ได้ทำดี เวลานี้จะตกเสียอยู่ในส่วนตัว จึงจำเป็นทำใบบอกทูลลาหยุดพัก เพราะรักชื่อจึงได้สู้เสียสละเกียรติยศ แลผลประโยชน์” [2]
แต่พระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ลาออก หากทรงให้ลาหยุดพัก 1 เดือน
เดือนกันยายน พ.ศ. 2448 พระยาคทาธร (ชุ่ม) ก็เสนอกับทางกรุงเทพฯ ให้ส่งเจ้าหน้าที่มาจัดเก็บรายได้ของแผ่นดินทุกประเภทที่พระตะบองเอง ทั้งนี้ตัวของพระยาคทาธร (ชุ่ม) จะขอเป็นเงินปีจากรัฐบาลแทน [3] ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่มีคำตอบจากกรุงเทพฯ มีแต่ผลของสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยามฉบับสุดท้าย ค.ศ. 1907 ที่ตัดมณฑลบูรพาให้ฝรั่งเศส-กัมพูชา เพื่อแลกกับตราดและด่านซ้ายแทน
หลังสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยามฉบับสุดท้ายนี้ พระยาคทาธร (ชุ่ม) ได้พาครอบครัวและบริวารอพยพเข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี ปีถัดมาได้รับการสถาปนาจากกรุงเทพฯ ให้เป็น “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์” (ชุ่ม) ปิดฉากเจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้ายของไทย
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เหตุที่ทำให้สยามปกครองพระตะบองกว่า 1 ศตวรรษ
- ควง อภัยวงศ์ เล่าเหตุการณ์ต้นตระกูลอพยพกลับสยาม หลังปกครองพระตะบองนาน 5 แผ่นดิน กว่า 112 ปี
- สายลับเขมร ช่วงวิกฤติ ร.ศ.112 คือใคร? มีบทบาทอย่างไรท่ามกลางความแตกแยกในราชสำนักเขมร
เชิงอรรถ :
[1] ระยับศรี กาญจนวงศ์, “บทบาทของเจ้าเมืองพระตะบองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2237-2449.” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมาหบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2522 ภาคผนวก ง. หน้า (59)-(62)
[2] อ้างจาก ระยับศรี กาญจนวงศ์, อ้างแล้ว, หน้า 212-213.
[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 247.
บรรณานุกรม
โตว์จ ฌวง-เขียน, ศานติ ภักดีคำ-แปล. “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) : ในตำนานการเล่าขานของชาวพระตะบอง” ใน, ศิลปวัฒนธรรม, เดือนกันยายน 2550
ไกรฤกษ์ นานา. “สายลับสองหน้า จากกัมพูชา กลางวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ในเงามืดของประวัติศาสตร์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม, เดือนกรกฎาคม 2553
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. สยามประเทศไทย กับ ‘ดินแดน’ ในกัมพูชาและลาว, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พฤศจิกายน 2552
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2564