เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เหตุที่ทำให้สยามปกครองพระตะบองกว่า 1 ศตวรรษ

วัดกำแพง เมืองพระตะบอง

บทนำ

เมืองพระตะบอง เป็นหัวเมืองสำคัญของกัมพูชา เพราะเป็นหัวเมืองที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ด้วยเหตุที่มีพื้นที่ติดทะเลสาบ และมีแม่น้ำสังแกไหลผ่าน ทำให้ดินแดนบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก จนมีคำกล่าวกันในหมู่ชาวกัมพูชาว่าเมืองพระตะบองเพียงเมืองเดียวสามารถปลูกข้าวเลี้ยงประเทศกัมพูชาได้ทั้งประเทศ คำกล่าวนี้ย่อมแสดงถึงความสำคัญของเมืองพระตะบองที่มีต่อความรู้สึกของชาวกัมพูชาได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2326 ไทยได้เข้าปกครองเมืองพระตะบองและหัวเมืองใกล้เคียงให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ โดยมีเจ้าเมืองเป็นขุนนางเชื้อสายกัมพูชา คือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เป็นผู้ปกครอง เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ถึงแก่อสัญกรรม ทางกรุงเทพฯ ได้ตั้งเจ้าเมืองพระตะบองโดยเลือกจากเชื้อสายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) และกรมการเมืองพระตะบองที่มีความสามารถไปปกครอง จนถึงปี พ.ศ. 2450 ซึ่งเป็นปีที่ไทยได้ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2450 โดยแลกมณฑลบูรพา (พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ) กับเมืองด่านซ้าย เมืองตราดรวมทั้งหมู่เกาะต่างๆ

Advertisement

เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม) จึงย้ายบ้านเรือนบริวารเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร การปกครองเมืองพระตะบองโดยเจ้าเมืองในเชื้อสายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) จึงหลงเหลืออยู่เพียงในความทรงจำของชาวเมืองพระตะบอง ที่ยังคงเล่าถึงท่านเจ้าผู้ปกครองเมืองพระตะบองสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองพระตะบองภายใต้การปกครองของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ มีนักวิชาการท้องถิ่นชาวเมืองพระตะบองชื่อ “โตว์จ ฌวง” ได้ศึกษารวบรวมและเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อว่า “พระตะบองสมัยท่านเจ้า” (ฮาวาย : ศูนย์เอกสารค้นคว้าอารยธรรมเขมร, 1994) ผู้แปลเห็นว่าเนื้อหาในบทที่ 1-2 เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองพระตะบองในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชสำนักรัตนโกสินทร์ และเป็นข้อมูลมุขปาฐะที่น่าสนใจ มีรายละเอียดหลายประการแตกต่างจากเอกสารเกี่ยวกับเมืองพระตะบองที่ฝ่ายไทยได้เรียบเรียงขึ้น เช่น พงศาวดารเมืองพระตะบอง เป็นต้น

ดังนั้นเอกสารชุดนี้จึงน่าจะมีประโยชน์หากนำมาศึกษาร่วมกับเอกสารไทย เพื่อให้ทราบและก่อให้เกิดความเข้าใจถึงความทรงจำที่เกี่ยวกับเมืองพระตะบองในยุคที่ไทยปกครองจากสายตาของชาวกัมพูชา ในที่นี้ผู้แปลจึงถอดความจากหนังสือดังกล่าวมา โดยพยายามรักษาถ้อยคำสำนวนตามฉบับภาษาเขมรไว้ทั้งหมด นอกจากนี้ผู้แปลได้จัดทำเชิงอรรถอธิบายเพิ่มเติมโดยมีวงเล็บต่อท้ายว่าผู้แปล และจัดวรรคตอนใหม่ เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นดังนี้


เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) :

เหตุที่ทำให้สยามปกครองพระตะบองกว่า 1 ศตวรรษ

ในปี ค.ศ. 1764 (พ.ศ. 2307) ประเทศสยามมีชาวจีนคนหนึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ปกครองเมืองหนึ่งบริเวณชายแดนพม่าชื่อเมืองตาก เรียกเจ้าเมืองนี้ว่า “พระยาตากสิน” เพราะชื่อสิน ในปี ค.ศ. 1766 (2309) พม่ายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาราชธานีสยาม ทำให้สยามตกอยู่ภายใต้ความไร้อธิปไตย ราชวงศานุวงศ์กษัตริย์สยามแตกกระจัดกระจาย ประเทศสยามต้องแตกเป็นแคว้นเล็กๆ เป็นเอกราชทุกแห่ง เชื้อพระวงศ์สยาม 2 พระองค์ นามเจ้าจุล และเจ้าสีสังข์ [1] ได้หนีมาหลบอยู่ในประเทศกัมพูชากับพระบาทนารายณ์ราชาองค์ตน [2]

อนุสาวรีย์ตาตัมบอง จังหวัดพระตะบอง (ภาพจาก http://cambodianchildrenstrust.org)

เวลานั้นพระยาตากสินได้ประมวลพรรคพวกตีขับไล่ทัพต่างประเทศที่อุกอาจ ปราบปรามผู้ก่อความปั่นป่วนในประเทศ แล้วประกาศตนเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศสยาม เรียกว่าพระเจ้าตากสิน ตามเมืองเดิมและชื่อเดิม พระเจ้าตากสินได้ยกราชธานีไปตั้งอยู่ห่างประมาณ 70 กิโลเมตร ทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา ตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ฝั่งตะวันตก ราชธานีใหม่นี้ชื่อว่าธนบุรี

ในปี ค.ศ. 1768 (พ.ศ. 2311) พระเจ้าตากได้ส่งสาส์นมาถึงพระบาทนารายณ์ราชาองค์ตน ขอให้รับรู้ว่าพระองค์เป็นกษัตริย์สยามพระองค์ใหม่ แต่พระองค์ตนได้ปฏิเสธ พระเจ้าตากขัดพระทัยยิ่ง จึงยกทัพมาบุกตีประเทศเขมร โดยอ้างข้ออ้างว่าเพื่อนำพระองค์นนรามา [3] ซึ่งหลบหนีไปอยู่ในเมืองสยามนานแล้วนั้น ให้คืนมาเสวยราชย์ยังประเทศกัมพูชา

พระเจ้าตากได้จัดเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ให้นำทัพบก ส่วนพระองค์บัญชากองทัพเรือทางทะเลมาขึ้นที่กำปอด โดยนำพระองค์นนรามามาด้วย ทัพสยามได้ตีบุกประเทศกัมพูชา ตลอดจนถึงอุดงค์มีชัย พระนารายณ์ราชาต้านทานไม่ได้ เสด็จหนีไปเมืองญวนขอพึ่งกษัตริย์ญวน พระเจ้าตากก็ยกพระองค์นนรามาให้ขึ้นเสวยราชย์ ณ อุดงค์มีชัย

พระนารายณ์ราชาองค์ตน โดยได้รับความช่วยเหลือจากทัพญวนได้โจมตีผลักดันพระองค์นนรามาให้ออกจากอุดงค์ไปตั้งอยู่ที่กำปอด ปกครองเมืองภาคใต้ นับแต่นั้นเป็นต้นมาประเทศเขมรแบ่งเป็น 2 ส่วน มีกษัตริย์องค์หนึ่งอยู่ที่อุดงค์ กษัตริย์อีกองค์หนึ่งอยู่ที่กำปอด ในเวลานี้เองมีขุนนางคนหนึ่งชื่อแบน ได้เข้าไปขอรับใช้พระองค์นนรามา พญาแบนผู้นี้เกิดในเมืองตรัง (เตรียง) ในจังหวัดตาแก้วทุกวันนี้

ส่วนที่อุดงค์มีชัย พระนารายณ์ราชาองค์ตนได้จัดราชทูต ให้นำราชสาส์นไปถวายพระเจ้าตาก ยอมรับทราบว่าพระเจ้าตากเป็นกษัตริย์สยาม พระเจ้าตากหยุดหาเรื่องหาเหตุกับพระนารายณ์ราชาองค์ตน แต่ด้วยความเหนื่อยหน่ายสงคราม พระนารายณ์ราชาองค์ตนจึงยอมสละราชสมบัติถวายพระองค์นนรามา ในปี ค.ศ. 1775 (พ.ศ. 2318) พระองค์ตนยินยอมรับฐานะต่ำกว่าเป็นพระมหาอุภโยราช (เทียบได้กับตำแหน่งวังหลัง) พระองค์ตนสุคตในปี ค.ศ. 1777 (พ.ศ. 2320) โดยมีพระราชบุตรเพียงพระองค์เดียวคือพระองค์เอง ซึ่งยังเป็นเด็ก

พระองค์นนรามามีความคิดอยากกำจัดอิทธิพลญวนเหนือประเทศเขมร โดยยกทัพไปรบกับญวน ในเวลาซึ่งมีความวุ่นวายจากพวกไตเซินในประเทศญวน เรื่องนี้ทำให้ขุนนางเก่าซึ่งนิยมพระองค์ตนขัดใจอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้นเพื่อสนองคุณสยาม พระองค์ได้เกณฑ์ทัพและเสบียงไปช่วยสยามรบกับลาวอีก ผู้ซึ่งถูกเกณฑ์เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายในเมืองกำพงสวาย บารายณ์ และโคกแสะ โดยการสมรู้ร่วมคิดของขุนนาง 3 คน ซึ่งเป็นพี่น้องกัน คือ ออกญาเดโช (แทน) ออกญาแสนข้างฟ้า (เปียง) [4] และออกญามนตรีเสน่หา (โสร์)

ออกญามนตรีเสน่หา (โสร์) ถูกพระองค์นนรามาตัดสินโทษประหารชีวิต ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์นนรามาเข้าใจผิดไปจัดเจ้าฟ้ามู ซึ่งเป็นพี่ของขุนนางทั้ง 3 คนนั้นไปปราบออกญาเดโช (แทน) และออกญาแสนข้างฟ้า (เปียง) สมเด็จเจ้าฟ้ามูจึงร่วมมือกับน้องแล้วแปรทัพมารบกับพระองค์นนรามา

ในเวลานั้น พระองค์นนรามาได้แต่งตั้งออกญาวงศาอัครราช (แบน) ให้ขึ้นเป็นออกญายมราช แล้วจัดให้อยู่ดูแลรักษาราชธานีกับออกญาวิบุลราช (ซู) พระองค์นนรามาก็ยกทัพไปกำพงสวายปราบกบฏของเจ้าฟ้ามู พร้อมทั้งน้องและพรรคพวก ออกญาวิบุลราช (ซู) ซึ่งเป็นพรรคพวกของเจ้าฟ้ามูจึงจัดพนักงานให้ไปพึ่งญวนมาช่วยสมเด็จเจ้าฟ้ามู ทัพญวนเข้ามาช่วยแล้วได้จับพระองค์นนรามาและพระราชวงศานุวงศ์สำเร็จโทษทั้งหมด ขุนนางเสนาบดีทั้งหมดจึงยกราชสมบัติถวายยังพระองค์เองซึ่งเพิ่งจะมีชนมายุ 7 พรรษา ให้ขึ้นเสวยราชย์ เพียงแต่อำนาจรัฐจริงถูกเจ้าฟ้ามูควบคุมทั้งหมด ในฐานะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามหาราช

สมเด็จเจ้าฟ้ามูได้ยกน้องชื่อเปียง ให้ขึ้นเป็นออกญาจักรี แล้วยกออกญาวิบุลราช (ซู) ให้ขึ้นเป็นออกญากลาโหม พระบิดาเลี้ยงของพระองค์เอง ก็ได้ขึ้นเป็นที่ออกญาวัง สมเด็จเจ้าฟ้ามูไม่ไว้ใจออกญายมราช (แบน) เพราะเป็นคนของพระองค์นนรามา จึงจัดยมราช (แบน) ให้ไปอยู่กำพงสวายกับออกญาเดโช (แทน)

ส่วนในกรุงธนบุรี พระเจ้าตากกังวลพระทัยมากกับการกบฏของสมเด็จเจ้าฟ้ามู จึงได้จัดให้เรียกหาตัวออกญายมราช (แบน) ไปเมืองสยาม เมื่อถึงแล้วพระเจ้าตากให้ลงโทษออกญายมราช (แบน) อย่างหนัก ว่าหูเบาทำให้เขาฆ่ากษัตริย์ได้ แล้วจัดให้เฆี่ยนยมราช (แบน) 100 ไม้ ตัดใบหูและใส่คุกในเมืองสยามต่อไป [5]

วัดปราบปรามปัจจามิตร เมืองพระตะบอง

ภายหลังพระเจ้าตากโปรดให้ปล่อยออกญายมราช (แบน) ออกจากคดีให้กลับมาสู่ประเทศเขมร พร้อมกับเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ซึ่งยกทัพใหญ่มาตีปราบพวกสมเด็จเจ้าฟ้ามูจนถึงเมืองอุดงค์ เจ้าฟ้ามูจึงจัดให้ไปขอกองทัพช่วยจากกษัตริย์ญวน กษัตริย์ญวนชื่อเธียงตี จึงจัดเสนาทหารให้มาช่วยสมเด็จเจ้าฟ้ามหาราชมู ในเวลาซึ่งเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) กำลังทำสงครามในประเทศเขมร พระเจ้าตากซึ่งประทับอยู่ที่กรุงธนบุรี ได้จำเริญพระกรรมฐานตามพระพุทธศาสนาจึงกลายเป็นวิกลจริตซึ่งเป็นเหตุนำให้เกิดจลาจลและไร้อธิปไตยทั้งพระนคร

เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ซึ่งกำลังทำสงครามในประเทศเขมร ได้ทราบเรื่องจลาจลซึ่งเกิดในกรุงธนบุรี จึงนำทัพกลับคืนไปเมืองสยาม เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ได้ปราบกบฏและจลาจลในพระนครเสร็จแล้วจึงขึ้นครองอำนาจเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศสยาม ทรงพระนามว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก [6] พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ยกราชธานีจากธนบุรีซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตก มาตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันออกหน้ากรุงเก่า ตั้งชื่อว่ากรุงเทพมหานคร

ในเวลานี้ออกญายมราช (แบน) ได้เข้ามาประเทศเขมร โดยได้ร่วมคิดกับออกญากลาโหม (ซู) ซึ่งเพิ่งจะได้ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยา (ซู) ออกญายมราช (แบน) และสมเด็จเจ้าพระยา (ซู) ได้พากันฆ่าสมเด็จเจ้าฟ้ามหาราช (มู) และครอบครัวทั้งหมด สมเด็จเจ้าพระยา (ซู) จึงขึ้นกุมอำนาจเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า (ซู) ต่อมาภายหลังสมเด็จเจ้าฟ้า (ซู) อยากกุมอำนาจแต่ผู้เดียว จึงหาอุบายฆ่าออกญายมราช (แบน) แต่ออกญายมราช (แบน) รู้ตัวทัน จึงนำพรรคพวกไปฆ่าเจ้าฟ้า (ซู) แล้วออกญายมราช (แบน) จึงขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าทลหะกำกับการแผ่นดินต่อมา

ด้วยเหตุที่ไม่สามารถปราบคู่ศัตรูได้ทั้งหมด สมเด็จเจ้าฟ้า (แบน) จึงอัญเชิญพระองค์เองและราชวงศานุวงศ์ทั้งหมดมาเมืองสยาม พระเจ้ากรุงสยามทรงรับพระองค์เองอย่างเอื้ออารีแล้วจัดไว้เป็นพระราชบุตรบุญธรรม ในเวลาซึ่งเจ้าฟ้า (แบน) นำทัพไปเมืองสยามนั้น พรรคพวกข้างเจ้าฟ้า (มู) ได้พากันเข้ามากรุงอุดงค์ แล้วยกออกญาเดโช (แทน) ให้ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า (แทน)

พระเจ้าสยามทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้า (แบน) เป็นเจ้าพระยาอภัยธิเบศ วิเศษสงคราม รามนรินทร์ อินทรชัย อภัยเภรี ปรากรมพาหุ [7] แล้วได้จัดให้นำทัพมาป้องกันเมืองพระตะบองและตีกำจัดเจ้าฟ้า (แทน) ออกจากอุดงค์มีชัย ซึ่งเป็นเหตุให้มีสงครามระหว่างเขมรข้างหนึ่งซึ่งพึ่งญวน กับเขมรอีกข้างหนึ่งซึ่งพึ่งสยาม

ทัพเจ้าฟ้า (แทน) ได้ตีผลักดันทัพเจ้าพระยาอภัยธิเบศ (แบน) จนถึงพระตะบอง แต่เจ้าพระยาอภัยธิเบศ (แบน) ได้ตีตอบมาอย่างรุนแรง ทำให้ทัพเจ้าฟ้า (แทน) ปราชัยอย่างหนักที่แพรกโฏนเตียว ทัพเจ้าฟ้า (แทน) แตกหนีกระจัดกระจายจนถึงพนมเปญ เจ้าพระยาอภัยธิเบศ (แบน) ไล่ตามถึงอุดงค์ แล้วจับได้สมเด็จเจ้าฟ้า (แทน) นำไปถวายกษัตริย์สยาม กษัตริย์สยามเปลี่ยนเป็นปรานียกเว้นโทษให้สมเด็จเจ้าฟ้า (แทน)

เจ้าพระยาอภัยธิเบศ (แบน) ขึ้นกุมอำนาจในเมืองอุดงค์ ปกครองประชาราษฎรโดยวิธีโหดร้ายฆ่าฟันไม่ปรานีทำให้ราษฎรเดือดร้อนอย่างหนัก (ในสมัยเจ้าฟ้า (แบน) ผู้ชายส่วนใหญ่ตายหมด เหลืออยู่แต่หญิงแม่ม่ายและลูกกำพร้า จึงมีเล่าว่า “สมัยเจ้าฟ้า (แบน) แม่ม่าย 10 คน มีราคา 1 สลึง โสเภณี 10 คน เสมอหมากทะลาย 1”)

พระเจ้าสยามทราบเกี่ยวกับความโหดร้ายของเจ้าพระยาอภัยธิเบศ (แบน) จึงยินยอมส่งพระองค์เองให้คืนมาเสวยราชย์ พระองค์เองมีพระชนมายุ 22 พรรษา จึงเสด็จมาเสวยราชย์ที่ประเทศเขมรในปี ค.ศ. 1794 (พ.ศ. 2337)

ในเวลานั้นเจ้าพระยาอภัยธิเบศ (แบน) ขอพระองค์เองมาเป็นเจ้าเมืองพระตะบองและเสียมราบ เพราะตนเองไม่สามารถทำงานอยู่ในอุดงค์ได้ ด้วยมีความขัดแย้งกับสมเด็จเจ้าฟ้า (ปก) ซึ่งเป็นพระบิดาเลี้ยง กับพระองค์แก้ว (ด้วง) และกับออกญาเดโช (แทน) พระองค์เองจึงยินยอม แต่ภายหลังเจ้าพระยาอภัยธิเบศ (แบน) ได้เข้าไปกราบถวายบังคมพระเจ้าสยามขอไม่ฟังราชการกรุงอุดงค์เพราะตนมีความขัดแย้งกับขุนนางชั้นสูงที่อุดงค์ โดยตนขอส่งส่วยสาอากรมาทางพระเจ้าสยาม

พระเจ้าสยามมีพระทัยยินดียิ่ง จึงส่งพระราชสาสน์มายังพระองค์เองขอเมืองพระตะบองและเสียมราบ พระองค์เองไม่ยอม แต่ภายหลังมารู้ว่าเจ้าพระยา (แบน) กบฏร่วมมือกับกษัตริย์สยามแล้ว จึงยินยอมถวายเมืองพระตะบองและเสียมราบแด่พระเจ้าสยามแต่เพียงรัชกาลเดียวคือรัชกาลพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พ้นจากรัชกาลนี้ไป พระองค์เองขอเอาเมืองทั้งสองนี้คืนมา ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1795 (พ.ศ. 2338) เป็นต้นมา เมืองพระตะบองเสียมราบ ซ็อมณัต (สํณาต่) และจงกัล (จุงกาล่) ได้กลายเป็นเมืองสยาม โดยมีเจ้าพระยาอภัยธิเบศ (แบน) และครอบครัวกุมอำนาจตรวจตราเป็นเจ้าครองแคว้นบนแผ่นดินอันเวิ้งว้างนี้จนถึงปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450)

พระองค์เองยินยอมถวายเมืองพระตะบองและเสียมราบแด่พระเจ้าสยามแต่เพียงรัชกาลเดียวคือรัชกาลพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเท่านั้น พระองค์เองจะขอคืนมาในรัชกาลกษัตริย์พระองค์หลัง แต่ในปี ค.ศ. 1806 (พ.ศ. 2349) พระองค์เองได้สุคตก่อนพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไปอีก พระมหากษัตริย์หลังพระองค์เองมีกังวลต่างๆ จึงไม่ได้ทวงเอาเมืองเหล่านี้คืนจากสยาม ครอบครัวเจ้าฟ้า (แบน) จึงกำกับเมืองนี้ จนถึง 6 ชั่วคน รวมทั้งเจ้าพระยาอภัยธิเบศ (แบน) จนถึงท่านคทาธร (ชุ่ม) [8] คือปี ค.ศ. 1795 (พ.ศ. 2338) ถึง ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450)

อนุสาวรีย์รูปปั้นเจ้าศรีสวัสดิ์ กษัตริย์กัมพูชา อนุสาวรีย์ที่ระลึกคืนเมืองเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ ในปี ค.ศ. 1907 ภาพจากไปรษณีย์เก่า (ขอบคุณภาพจากคุณไกรฤกษ์ นานา)

1 ศตวรรษใต้อำนาจครอบครัวเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน)

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1795 (พ.ศ. 2338) เป็นต้นมา เจ้าพระยาอภัยธิเบศ (แบน) ได้ขึ้นเป็นเจ้าครองแคว้น หยุดฟังคำสั่งกษัตริย์เขมรที่อุดงค์ กำกับเมืองพระตะบองโดยมีความช่วยเหลือจากกองทัพสยาม และต้องยกส่วยสาอากรไปถวายพระเจ้าสยามทุกปี ภายหลังจากที่ถึงแก่อสัญกรรม ครอบครัวของเขารับมรดกตรวจตราเมืองพระตะบองทั้งสิ้น 5 ชั่วคน จนถึงปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) เมืองพระตะบองจึงได้กลับคืนมายังประเทศเขมร

เรานิยมเรียกเจ้าพระยาอภัยธิเบศว่าเจ้าฟ้า (แบน) ตามตำแหน่งซึ่งตั้งตนเองเป็นใหญ่ปกครองประเทศเขมรที่อุดงค์ คำว่าเจ้าฟ้าถูกทิ้งไปตั้งแต่กษัตริย์สยามตั้งให้เป็น “เจ้าพระยาอภัยธิเบศ วิเศษสงคราม รามนรินทร์ อินทรชัย อภัยเภรี ปรากรมพาหุ” [9]

เราไม่มีเอกสารชัดเจนมากเกี่ยวกับลูกหลานของเจ้าฟ้า (แบน) ผู้นี้ เพราะเอกสารกล่าวถึงไม่สามารถเหลืออยู่ได้ เราทราบได้แต่ท่านคทาธร (ชุ่ม) ซึ่งเป็นเจ้าครองแคว้นหลังสุดของครอบครัวเจ้าฟ้า (แบน) ซึ่งเขาเรียกว่า ครอบครัว “อภัยวงศ์” หลังจากได้ขึ้นเป็นเจ้าครองแคว้น เจ้าฟ้า (แบน) ได้จัดราษฎรเขมร 1 แสนคน ให้ไปช่วยเผาอิฐ ขุดคลอง ที่ราชธานีสยาม ทำให้เขมรพลัดพรากลูกเมีย ไปอยู่เมืองของเขาจนถึงทุกวันนี้ เกิดเป็นหมวดหมู่บ้านหนึ่งเรียกว่า “บางแสน”

ภายหลังจากที่พระองค์เองสุคตไปในปี ค.ศ. 1806 (พ.ศ. 2349) เจ้าพระยาอภัยธิเบศ (แบน) ได้นำบุตรีชื่อ “นางเทพ” มาถวายพระองค์จันท์ซึ่งเพิ่งจะขึ้นเสวยราชย์ที่อุดงค์ นักมนางเทพนี้มีบุตรี 1 องค์ นามว่า พระองค์แมน ซึ่งภายหลังญวนจับเอาไปถ่วงน้ำฆ่าเสียที่เมืองลงโฮ

เจ้าพระยาอภัยธิเบศ (แบน) ถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1809 (พ.ศ. 2352) ประมาณ 1 เดือน หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคต พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของประเทศสยามคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้แต่งตั้งท่านวิบุลราช (แปน) [10] ซึ่งต้องเป็นลูกท่านอภัยธิเบศ (แบน) ให้ขึ้นถืออำนาจในเมืองพระตะบอง โดยมีตำแหน่งเป็น เจ้าพระยาอภัยธิเบศ [12] ต่อมา

ท่านวิบุลราช (แปน) กุมอำนาจได้ 7 ปี จึงถึงแก่มรณกาลไป ท่านรส ซึ่งต้องเป็นลูกของท่านวิบุลราช (แปน) [12] กษัตริย์สยามได้แต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาอภัยธิเบศ [13] ต่อมา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1816 (พ.ศ. 2359) ท่านอภัยธิเบศ (รส) กุมอำนาจได้ 20 ปี จึงถึงแก่อสัญกรรมไปในปี ค.ศ. 1835 (พ.ศ. 2378)

ในเวลานี้ราชธานีอุดงค์มีวิบัติราชวงศ์อย่างหนัก ญวนได้ยกกษัตรีย์องค์มีให้เสวยราชย์ พระองค์ด้วงและพระองค์อิ่ม ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์จันท์ได้หนีไปเมืองสยาม สยามได้อุปถัมภ์พระองค์อิ่มและพระองค์ด้วง โดยจัดให้พระองค์อิ่มมาประทับอยู่แก้ขัดที่เมืองพระตะบอง พระองค์ด้วงเสด็จมาครองอยู่ที่เมืองมงคลบุรี ตรงวัดโพธิหลวง เมื่อมาถึงพระตะบอง พระองค์อิ่มได้ก่อสร้างป้อมกำแพงแห่งหนึ่ง แต่เป็นป้อมกำแพงทำจากไม้ปักแซมกระดานแทงดิน เพียงแต่น้ำท่วมในฤดูฝน

ในเวลานั้นกษัตริย์สยามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เหมือนว่าอยากให้ครอบครัวเจ้าฟ้า (แบน) หยุดกุมอำนาจที่พระตะบอง จึงได้มอบเมืองพระตะบองให้พระองค์อิ่มปกครอง พระองค์อิ่มไม่เต็มใจจะเป็นเพียงแค่เจ้าครองแคว้น ครองเมืองหนึ่ง แต่ปรารถนามาเสวยราชย์อยู่ที่อุดงค์เพียงอย่างเดียว

เวลานั้นญวนรู้ว่าพระองค์อิ่มมาประทับอยู่พระตะบอง จึงจัดพนักงานซึ่งเรียกว่า “องผอร์” ให้เข้ามาหลอกพระองค์อิ่มโดยล่อลวงว่า ญวนจะมอบราชสมบัติถวาย พระองค์อิ่มยินดียิ่งเพราะตรงกับใจ จึงเขียนจดหมายลับฉบับหนึ่งไปถวายกษัตริย์สยามว่า พระองค์ด้วงซึ่งประทับอยู่ที่มงคลบุรี มีการติดต่อสมคบกับญวน กลอุบายนี้ประสงค์จะแยกพระองค์ด้วงอย่าให้มาเสวยราชย์ในอุดงค์แข่งกับพระองค์ กษัตริย์สยามรับทราบแล้วจึงให้นำพระองค์ด้วงไปยังกรุงบางกอก [14]

เมื่อมีโอกาสดี พระองค์อิ่มจึงลอบเดินทางอย่างเงียบๆ กับพนักงานญวนไปอุดงค์ พระองค์อิ่มไม่ได้เสด็จไปเพียงพระองค์เดียว แต่ได้จับท่านปลัดรส กรมการเมืองพระตะบอง พร้อมทั้งกวาดต้อนครอบครัวเขมรที่อยู่ตามทางเอาไปด้วย [15]

แต่ในเมื่อถึงเมืองโพธิสัตว์ ญวนได้จับทั้งพระองค์อิ่ม พร้อมทั้งท่านปลัด ทั้งครอบครัวเขมรเอาไปคุมไว้ที่กรุงเว้ ณ ประเทศเวียดนาม ญวนคุมครอบครัวเขมรไว้อยู่กว่า 10 ปี ในกรุงเว้นี้ ท่านปลัดรสได้บนบานพระรัตนตรัย ขอให้ช่วยเขาและครอบครัวให้ได้กลับมาเมืองเขมร ท่านปลัดได้บนบานว่าจะสร้างวัดหนึ่งตอบสนองคุณพระรัตนตรัย เหตุนี้ในเวลาภายหลังซึ่งได้กลับเมือง ท่านปลัดได้สร้างวัดหนึ่งซึ่งเรียกว่าวัดปลัดมาจนถึงทุกวันนี้

สยามกังวลมากเกี่ยวกับการแทรกซึมของญวนที่พระตะบองซึ่งเป็นประตูของประเทศ สยามจึงจัดเจ้าพระยาบดินทรเดชา เรียกว่าเจ้าพระยาบดินทร์ หรือท่านเจ้าคุณ ให้จัดแจงเมืองพระตะบอง เกี่ยวเนื่องกับการรบกวนของกองทัพญวนเป็นเหตุ ในระหว่างปี ค.ศ. 1838 (พ.ศ. 2381)

ในการจัดแจงเมืองพระตะบองนี้ สยามได้เข้ามาสร้างกำแพงเมืองทำจากอิฐโบกปูนขาว มีความยาว 18 เส้น กว้าง 12 เส้น ชาวเมืองเรียกกำแพงปราการนี้ตามสยามว่ากำแพงสูง หรือกำแพง ได้สั่งซื้อปืนใหญ่เป็นจำนวนมากจากประเทศอังกฤษ เพื่อการป้องกันกำแพงนี้ อีกประการหนึ่งได้กั้นแม่น้ำเก่า คือโอร์ฏำบอง ให้ไหลแต่ทางเดียว มาหาแม่น้ำสังแก ซึ่งไหลผ่านที่ประชุมชนพระตะบองนี้ ได้มีการบรรจุอาคมคาถาในแม่น้ำ ตรงกำพงสีมาที่ข้างบนและเปียมสีมาที่ข้างล่าง มีการถมหินหลักใหญ่ๆ อยู่รอบเมืองเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายและศึกศัตรูต่างๆ ในการจัดแจงเมืองนี้ สยามได้เกณฑ์ทั้งตั้งแต่ที่ราบสูงนครราชสีมามา ทัพสยามในเวลานั้นร้ายกาจมาก เดินฆ่าฟันปล้นทรัพย์สมบัติชาวเมือง เพื่อให้ราษฎรเขมรกลัวอย่างหนัก

ในปี ค.ศ. 1852 (พ.ศ. 2395) พระเจ้าสยามพระนั่งเกล้าได้จัดเจ้าพระยาบดินทร์ให้นำทัพเชิญพระองค์ด้วง มาเสวยราชย์ที่อุดงค์ ประชาราษฎรพระตะบองได้เข้าร่วมส่วนหนึ่งในกองทัพนั้น ใต้การบัญชาของพระองค์แก้ว (มา) และพระนรินทรโยธา พระองค์แก้ว (มา) นี้เป็นลูกเจ้าฟ้า (แบน) ซึ่งได้นำทัพขับไล่ญวนจนถึงม็วตจรูก เปียมเนา ญวนขอยอมแพ้ถอยออกจากประเทศเขมร พระองค์ด้วงจึงได้เสวยราชย์อยู่ที่อุดงค์มีชัย เจ้าพระยาบดินทร์ได้ถวายบังคมลาพระองค์ด้วง กลับมาตั้งอยู่ที่พระตะบอง

เจ้าพระยาบดินทร์ได้จัดแจงแบ่งแยกดินแดนเจ้าครองแคว้นที่พระตะบอง ในระหว่างปี ค.ศ. 1845 (พ.ศ. 2388) เป็นเมืองเล็กๆ ขาดจากกัน เช่น เมืองพระตะบอง เสียมราบ ศรีโสภณ จงกัล พระสรุก การแบ่งแยกเมืองนี้มีนัยว่าเป็นการลดอำนาจเจ้าครองแคว้นที่พระตะบอง เมืองพระตะบองยังเหลือแต่เมืองสี่ คือ โมงระสือ พระตะบอง มงคลบุรี และแซรอ็อนเตียะก์ สยามได้ยกลูกของเจ้าพระยาอภัยธิเบศ (รส) คนหนึ่งชื่อนง ให้ปกครองเมืองพระตะบองโดยมีตำแหน่งเป็น “อภัยธิเบศ” เช่นเดียวกัน

ไม่ได้ทราบว่า เจ้าพระยาอภัยธิเบศ (นง) นี้ได้ทำอะไรบ้าง และถึงแก่อสัญกรรมในปีใด [16] แต่ในปี ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) ท่านได้จัดให้ไปเช่าคัมภีร์พระไตรปิฎกและตู้ใบหนึ่งจากประเทศสยามเอามาไว้ที่วัดโพธิ์เวียล หลังจากที่ท่านอภัยธิเบศ (นง) มรณกาลไป พระเจ้าสยามได้คัดเลือกลูกของนงคนหนึ่งชื่อเยีย หรือญุญ ให้เป็นเจ้าครองแคว้น มีตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ รามนรินทร์ อินทราธิบดี อภัยเภรี พาหุ [17] คำว่า คทาธร แปลว่า ผู้รักษากระบอง

เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งเจ้าครองแคว้นนี้ ที่จริงมีนัยว่าครอบครัวเจ้าฟ้า (แบน) ถูกลดแผ่นดินและอำนาจบ้าง คือท่านเยีย หรือญุญนี้เองซึ่งได้สถาปนาพระวิหารวัดสังแกทุกวันนี้ ซึ่งมีเจดีย์ 2 องค์อยู่ข้างหน้า องค์หนึ่งสำหรับบรรจุอัฐิท่านคทาธร (ญุญ) อีกองค์หนึ่งสำหรับอัฐิท่านจอมท้าวชื่อธิม ท่านจอมท้าวธิมนี้ ได้สถาปนาวัดหนึ่งอยู่ในกำแพง ซึ่งเรียกว่าวัดกำแพง เวลานี้อยู่ตรงทิศใต้โรงเรียนประถมศึกษาในปัจจุบัน

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย

ในปี ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406) ประเทศกัมพูชาได้ตกอยู่ในอาณานิคมฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1872 (พ.ศ. 2415) เจ้าพระยาคทาธร (ญุญ) ได้ไปเฝ้าพระบาทนโรดม ในเวลาซึ่งพระองค์เสด็จประพาสเมืองโพธิสัตว์ พระบาทนโรดมได้ประทานผอบทอง 1 กระโถนทอง 1 พานทอง 1 แก่ท่านคทาธร (ญุญ) ไม่เข้าใจว่าเหตุใดพระบาทนโรดมจึงประทานของอันมีค่าอย่างนี้แก่ท่านญุญ ซึ่งเพียงแต่เป็นเจ้าครองแคว้นเท่านั้น หรือนัยหนึ่งจึงเป็นเครื่องถวายไปยังกษัตริย์สยาม

ในเวลานี้สังเกตเห็นราชบุตรในพระองค์ด้วง พระนามพระองค์เจ้าแก้วมโนหร ได้หนีมาพึ่งอยู่กับท่านคทาธร (ญุญ) โดยไม่ทราบมูลเหตุแน่ชัด พระองค์เจ้าแก้วมโนหรนี้ได้สร้างตำหนักหนึ่งอยู่ข้างใต้วัดตามิม ประมาณ 100 เมตร โดยได้นำช้างและม้าเป็นจำนวนมากมาด้วย ที่นี้ในเวลานั้นเรียกว่ากำพงหลวง

ในเวลานี้ความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศสมักเกิดมีหนักขึ้น ๆ ในปี ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) ฝรั่งเศสได้บังคับสยามให้จัดเมืองพระตะบองเป็นเขตปลอดกองทัพ ดังนี้สยามไม่มีอำนาจตั้งทัพหรือสร้างค่ายที่พระตะบอง

ในสมัยท่านคทาธร (ญุญ) นี้ เมืองพระตะบองมีความเจริญบ้างเล็กน้อยในด้านคมนาคม ได้มีการเปิดให้มีไปรษณีย์ โทรศัพท์ และโทรเลขติดต่อกับบางกอก พนมเปญ ไพรนคร (ไซ่ง่อน) ในเวลาเดียวกันนี้ กำปั่นได้เข้ามาค้าขายและนำนักเดินทางจากเมืองพระตะบองไปบักเปรีย จากบักเปรียไปมงคลบุรี และจากบักเปรียไปพนมเปญด้วย

ท่านคทาธร (ญุญ) นับถือท่านเจ้าคุณบดินทร์มาก เขาได้แต่งลูกสาวชื่อคุณหญิงขลิบหรือมุม กับลูกเจ้าคุณบดินทร์ชื่อเอม สิงหเสนี [18] ในเวลาซึ่งท่านญุญอยู่ในวัยชรา คุณหญิงขลิบได้จัดแจงกิจการทั้งหมดช่วยพ่อ พระเจ้าสยามพอพระทัยมากและมีความประสงค์จะยกสามีของคุณหญิงขลิบให้เป็นเจ้าเมืองพระตะบอง แต่ในเวลานั้นคุณชุ่มซึ่งเป็นน้องคุณขลิบมีความอิจฉาจึงจัดให้คนลอบฆ่าสามีของคุณขลิบเสีย

ท่านคทาธร (ญุญ) ถึงแก่อสัญกรรมระหว่างปี ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) เรียกท่านญุญว่า ท่านเจ้าพระโกฐ เพราะเขาใส่ศพท่านญุญในโกฐทำบุญก่อนจะเผา

กษัตริย์สยามจนพระทัยจึงยกท่านชุ่มซึ่งเป็นลูกชายคนเดียวของจอมท้าวธิม ให้เป็นเจ้าครองแคว้นต่อไป โดยมีตำแหน่งว่าเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ รามนรินทร์ อินทราธิบดี อภัยเภรี พาหุ ท่านชุ่มกุมอำนาจได้กว่า 10 ปี สยามจึงมอบเขตพระตะบองคืนให้เขมร ท่านชุ่มต้องไปอยู่ที่ปราจีนบุรีในประเทศสยาม

ในระยะกว่า 1 ศตวรรษ คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1795-1907 (พ.ศ. 2338-2450) ครอบครัวเจ้าฟ้า (แบน) ปกครองเมืองพระตะบองตลอดมา ชาวเมืองพากันเรียกเจ้าครองแคว้นของตนว่าท่านเจ้า แต่เพื่อมิให้ปนกันระหว่างท่านเจ้าญุญและท่านเจ้าชุ่ม เขาจึงเรียกท่านญุญว่า “ท่านเจ้าพระโกฐ” ส่วนท่านชุ่ม เรียกว่า “ท่านเจ้าปราจีน”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] เจ้าสีสังข์ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (ผู้แปล)

[2] สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราช (พระองค์ตน) (ผู้แปล)

[3] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ว่า นักองค์โนน (ผู้แปล)

[4] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่า พระยาแสนท้องฟ้า (เปียง) (ผู้แปล)

[5] เพราะเรื่องที่พระเจ้าสยามตีและตัดใบหูออกญายมราช (แบน) นี้ได้ทำให้ครอบครัวเจ้าฟ้า (แบน) ไม่ชอบและไม่รักคนซึ่งมีใบหูใหญ่ พวกเขาเกลียดคนที่มีใบหูใหญ่สืบมา มาถึงปี ค.ศ. 1907 แล้วก็เชื้อสายเจ้าฟ้าแบน ซึ่งเขาเรียกว่าตระกูลอภัยวงศ์ยังกล่าวว่าเกลียดคนใบหูใหญ่ด้วย

[6] ตามเอกสารบางอย่างกล่าวว่า เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) นี้เป็นเขมร เกิดที่ตรำซอซอร์ ตำบลสำโรง เมืองตูกเมียะส์ เขตกำปอด ครอบครัวถูกสยามกวาดต้อนไปตั้งแต่เวลายังเล็ก และได้ขึ้นเสวยราชย์ต่อจากพระเจ้าตาก พระมหากษัตริย์สยามทุกวันนี้เป็นราชวงศ์จักรี (ด้วง) ทั้งสิ้น เหตุนี้จึงเรียกราชวงศ์สยามทุกวันนี้ว่า “ราชวงศ์จักรี” แต่บางคนเรียกราชวงศ์นี้ว่า “ราชวงศ์รัตนโกสินทร์”

หมายเหตุผู้แปล แนวคิดเรื่อง เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เป็นเชื้อสายเขมร น่าจะคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ดีแนวคิดนี้ปรากฏในหนังสือเอกสารมหาบุรุษเขมร ซึ่งเรียบเรียงโดย เอง สุต ด้วย อและนักวิชาการชาวกัมพูชาในปัจจุบันหลายคนยังเห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ (ผู้แปล)

[7] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ผู้แปล)

[8] คือ เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม) (ผู้แปล)

[9] เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์ ว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ วิเศษสงคราม รามนรินทร์ อินทบดี อภัยพิริยบรามกรมพาหุ (ผู้แปล)

[10] พงษาวดารเมืองพระตะบอง ว่า พระยาพิบูลย์ราช (แบน) เป็นขุนนางเมืองพระตะบอง ไม่ได้เป็นลูกของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน). (ผู้แปล)

[11] ตามเอกสารไทย เป็นเพียง พระยาอภัยภูเบศร (ผู้แปล)

[12] พงษาวดารเมืองพระตะบอง ว่า พระยาอภัยภูเบศร์ (รศ) เป็นลูกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) (ผู้แปล)

[13] ตามเอกสารไทย เป็นเพียง พระยาอภัยภูเบศร (ผู้แปล)

[14] พงษาวดารเมืองพระตะบอง ว่า เมื่อนักองค์ด้วงมาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ถูกกุมขัง ต่อมาพระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) ได้ขอพระราชทานรับไปดูแลแทน (ผู้แปล)

[15] พงษาวดารเมืองพระตะบอง ว่า นักองค์อิ่มกวาดต้อนครัวไปสองทาง คือทางน้ำซึ่งหนีรอดไปได้ แต่ทางบกถูกพระนรินทรโยธา กวาดต้อนกลับคืนมาได้ (ผู้แปล)

[16] พงษาวดารเมืองพระตะบอง ว่า พระยาอภัยภูเบศร์ นอง ว่าราชการเมืองมาได้ 12 ปี ณ วันศุกร์ เดือน 10 แรม 7 ค่ำ ปีวอกโทศก (พ.ศ. 2403) ถึงแก่อนิจกรรม (ผู้แปล)

[17] เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์ ว่า เมื่อแรก รัชกาลที่ 4 โปรดให้เป็น พระคทาธรธรณินทร์ ผู้ช่วยราชการเมืองปัตบอง ต่อมา เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 แรม 11 ค่ำ ปีมะแม พ.ศ. 2402 จึงทรงตั้งเป็นพระยาผู้สำเร็จราชการเมืองปัตบอง มีตำแหน่งเป็น พระยาคทาธรธรณินทร์ รามนรินทร์ อินทราธิบดี พิริยพาห ผู้สำเร็จราชการเมืองปัตบอง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2434 ในรัชกาลที่ 5 จึงทรงตั้งเป็นเจ้าพระยา มีราชทินนามว่า เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ รามนรินทร์ อินทราธิบดี ศรีสยามกัมโพช เกษตราภิบาล ปรีชาญาณยุติธรรมาธยาศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ (ผู้แปล)

[18] พงษาวดารเมืองพระตะบอง ว่า คุณหญิงขลิบเป็นภรรยาพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ (เอม สิงหเสนี) บุตรเจ้าพระยามุขมนตรี (เกษ สิงหเสนี) ผู้เป็นบุตรเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) (ผู้แปล)
บรรณานุกรม

บรรณานุกรม :

ตูจ ฌวง. บาต่ฎํบง สมัย โลกมฺจาส่. หาไว : มชฺฌมณฺฑลบูรฺพา-ปสฺจิม, 1994.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2545.

______. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2538.

______. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2548.

“พงศาวดารเมืองพระตะบอง ของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์,” ใน ประชุมพงษาวดารภาคที่ 16 พระอภัยพิทักษ์ (เลื่อม อภัยวงศ์) พิมพ์ครั้งแรก ในงานปลงศพ นางสงวน อภัยพิทักษ์ ปีมะแม พ.ศ. 2462. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2462.

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2535.

“พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม),” ใน ประชุมพงศาวดารเล่ม 40 ภาค 65-66. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2528.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กรกฎาคม 2560