เมืองอู่ทอง ตั้งอยู่บนเส้นทางและชุมทางการคมนาคมทางบกและทางทะเล

แผนผังเมืองโบราณอู่ทอง

“เมืองอู่ทอง” ที่ตีนเขาทำเทียมเป็นศูนย์กลางซึ่งเป็นบริเวณที่มีชุมชนแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก พัฒนาและสืบเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดีและลพบุรี นับเป็นบริเวณบ้านเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันสามารถกำหนดอายุและเวลาได้เด่นชัดกว่าที่อื่นๆ เป็นบริเวณที่ตั้งอยู่บนเส้นทางและชุมทางการคมนาคมทางบกและทางทะเล

เส้นทางบกนั้นเป็นการติดต่อกันระหว่างบ้านเมืองและผู้คนจากลุ่มน้ำอิระวดี-สาละวินข้ามเทือกเขาตะนาวศรีมายังบริเวณลุ่มน้ำแม่กลองและท่าจีนที่มีเมืองอู่ทองเป็นชุมทางคมนาคมก่อนที่จะเดินทางผ่านลุ่มน้ำจระเข้สามพัน-ท่าว้า ข้ามแม่น้ำสุพรรณบุรีไปทางลุ่มน้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรีและป่าสักไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งขึ้นไปทางภาคเหนือด้วย

ส่วนการคมนาคมทางน้ำหรือทางทะเลนั้น พื้นที่ชายขอบของดินดอนเก่าในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและสุพรรณบุรี นับว่าอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลมากที่สุด ทำให้เกิดชุมชนทางการคมนาคมการค้า โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นเมืองท่ามากกว่าบริเวณอื่นๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เมืองอู่ทองนับเป็นเมืองท่ายุคแรกๆ ที่เก่าแก่ที่สุดที่มีหลักฐานทางโบราณคดี และลักษณะทางภูมิประเทศสภาพแวดล้อมสนับสนุน อีกทั้งมีบ้านเมืองและกลุ่มเมืองโบราณเป็นจำนวนมากสนับสนุนให้แลเห็นความสัมพันธ์ทางโครงสร้างของการเป็นรัฐแรกเริ่ม [Early State]

เมืองอู่ทองอยู่ตำแหน่งเมืองท่าขนาดใหญ่ที่มีเรือค้าต่างประเทศโพ้นทะเลจากทางตะวันออกแถบทะเลจีนเข้ามาจอดทอดสมอได้ เพราะตั้งอยู่บนชายขอบที่สูงอันลาดลงมาจากเขาทำเทียมที่เป็นกลุ่มเขาท่ามกลางที่ราบลุ่มที่มีการกระจายตัวของชุมชนบ้านเมืองเล็กๆ อยู่โดยรอบ ด้านหน้าของเมืองเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่ลำน้ำจระเข้สามพันกับลำน้ำท่าว้ามารวมกันเป็นลำน้ำใหญ่ไปออกลำน้ำท่าจีนที่อยู่ทางตะวันออก

ซึ่งในเวลาที่เมืองอู่ทองยังมีตัวตนอยู่นั้น คงเป็นที่ลุ่มใต้น้ำหรือปริมาณน้ำที่ต่อเนื่องไปถึงอ่าวไทย ในขณะเดียวกันตำแหน่งของเมืองอู่ทองก็ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางบกที่มาจากลุ่มน้ำแม่กลองและเส้นทางการค้าทางบกจากลุ่มน้ำอิระวดี-สาละวินข้ามเทือกเขาตะนาวศรีมาออก จึงเป็นที่บรรดาสินค้าที่เป็นแร่ธาตุและของป่ามาส่งออกทางทะเลที่จะไปทางตะวันออก รวมทั้งการเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกที่ผ่านเมืองอู่ทองไปทางเหนือและลุ่มน้ำเจ้าพระยาในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมเก่า ผ่านลุ่มน้ำน้อย ลำน้ำลพบุรี-ป่าสักไปสู่ที่ราบสูงโคราชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

(จาก สร้างบ้านแปงเมือง เขียนโดย ศรีศักร วัลลิโภดม)