เผยแพร่ |
---|
หลังปี พ.ศ. 2460 มีหลักฐานการระบาดของอหิวาตกโรคระบาดใหญ่ในประเทศอีก 5 ครั้งด้วยกัน ในครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2501-02) โรคระบาดเกิดขึ้นที่เขตราษร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี ก่อนจะแพร่มายังพระนคร และภูมิภาคอื่นอย่างรวดเร็ว ครั้งนี้โรคระบาดอยู่ 1 ปี 6 เดือน กินพื้นที่ 38 จังหวัด มีผู้ป่วย 19,359 คน ตาย 2,372 คน อัตราตายร้อยละ 12.25
ขณะที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตจํานวนมาก แต่รัฐบาลไม่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันได้ทัน และขาดแคลนอุปกรณ์รักษา เช่น ขวดน้ำเกลือ ชุดให้น้ำเกลือ เครื่องอบขวดน้ำเกลือ หลายสิ่งต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์แก่สถานเสาวภา สถาบันพยาธิวิทยา กรมแพทย์ทหารบก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยกันผลิตอุปกรณ์และวัคซีน พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้ง “ทุนปราบอหิวาตกโรค”
ทั้งมีพระราชดำริให้สถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต กระจายเสียงประชาสัมพันธ์ข่าวและเชิญชวนประชาชนบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล รวมทั้งมีการพิมพ์ใบประกาศเชิญชวนบริจาคสมทบทุนปราบอหิวาตกโรค ทำให้มีผู้ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลจำนวนมาก
จึงได้ทุนปราบอหิวาตกโรค ช่วยเหลือรัฐบาลในการผลิตอุปกรณ์รักษาผู้ป่วย และสงเคราะห์ครอบครัวที่หัวหน้าต้องเสียชีวิตจากโรคระบาด ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนโดยตรง ที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เมื่อปัญหาเฉพาะหน้าและโรคระบาดบรรเทาแล้ว ทุนก็ได้ยุติลง
ข้อมูลจาก
ประเมิน จินทวิมล.”ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย”, อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี. สารานุกรมพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรอบ 60 ปี แห่งการครองราชย์, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2564