เปิดจดหมายจาก “อินจัน” เผยชีวิตหลังฉากทั้งสุข-ทุกข์ในครอบครัว สะท้อนแฝดสยามรักลูกแค่ไหน

รูปถ่าย อิน-จัน แฝดสยาม พร้อม ภรรยา และ ลูกชาย
รูปถ่าย อิน-จัน แฝดสยาม พร้อม ภรรยา และ ลูกชาย ฝ่ายละคน อินอยู่ซ้ายมือของคนดู ภรรยาของอิน(ซาราห์)อยู่ซ้ายสุด ภรรยาของจัน(แอดีเลด)อยู่ขวาสุด (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2549)

…หลังจากใช้ชีวิตออกตระเวนแสดงจนสร้างฐานะได้ระดับหนึ่งแล้ว อิน-จัน ได้ตัดสินใจปลีกตัวจากสายตานับคู่ไม่ถ้วนของผู้ชม และปักหลักใช้ชีวิตอย่างสงบที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา พร้อมรับชื่อสกุล “บังเกอร์” มาเป็นของตัว ก่อนพบสองพี่น้องจากตระกูลเยตส์ และเริ่มต้นชีวิตครอบครัวแบบที่ไม่มีใครในครั้งนั้นกล้าคิด

อีก 5 ปีให้หลัง อิน-จัน ซึ่งขณะนั้นมีวัยใกล้ 40 ปี และห่างเหินจากการออกแสดงมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ได้ตัดสินใจออกเดินทางไปเปิดการแสดงอีกครั้งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2392 (ค.ศ. 1849) ที่กรุงนิวยอร์ก

ทว่าชาวนิวยอร์กในเวลานั้นกลับหันไปสนใจกับของใหม่แปลกตาล่าสุดคือ “ทอม ทัมป์” ซึ่งเป็นชายแคระสูง 25 นิ้ว

6 สัปดาห์ อันเหงาหงอยในนิวยอร์กผ่านไป ทั้งสองจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านในนอร์ทแคโรไลนาด้วยความผิดหวัง ผู้จัดรายการจ่ายค่าตัวให้เพียง 1 ใน 3 ของที่ตกลงกันไว้…ในเวลาอีก 2-3 ปีต่อมา

ฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. 2396 (ค.ศ. 1853) มาถึงพร้อมกับคําทาบทามจากบุรุษชื่อฮาวส์ [3] ให้อิน-จันออกแสดงอีกครั้ง แม้ทั้งสองยังรู้สึกเศร้าใจกับการไปนิวยอร์กคราวก่อน แต่นายฮาวส์ก็เกลี้ยกล่อมว่า ครั้งนี้จะไม่เหมือนครั้งนั้น เพราะเป็นการออกตระเวนแสดงในเมืองต่างๆ ตามชายฝั่งทะเลตะวันออก และมุ่งหน้าสู่แคนาดา อิน-จันตอบตกลง โดยมีข้อแม้ว่า ต้องนําลูกๆ ไปด้วย

นายฮาวส์ไม่ปฏิเสธ อินเลือกแคทเธอรีน [4] เพราะเป็นลูกสาวคนโตและเป็นลูกคนแรก ส่วนจันเลือกคริสโตเฟอร์ [5] ลูกคนที่ 2 ซึ่งเป็น ลูกชายคนโต

ในช่วง 12 เดือนถัดมา อิน-จันใช้ชีวิตตระเวนแสดงตามที่ต่างๆ โดยมีแคทเธอรีนและคริสโตเฟอร์ ร่วมแสดงด้วยการออกเต้นรําและร้องเพลง

สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองยึดปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในระหว่างเดินทาง คือการส่งจดหมายแลกเปลี่ยนข่าวสารกับครอบครัวและเพื่อนสนิท รวมทั้งเพื่อจัดการธุรกิจและธุระในบ้าน แต่ที่พิเศษกว่าครั้งก่อนๆ คือ นอกจากจดหมายที่ลูกๆ ช่วยเขียนแทนแล้ว ยังมีจดหมายที่อิน-จันเขียนเองรวมอยู่ด้วย

จดหมายที่นํามาถ่ายทอดในบทความนี้ ส่วนใหญ่ได้รับริ้วรอยที่กาลเวลาประทับตราไว้ เพื่อยืนยันความเก่าแก่ ทุกฉบับมีสีเหลืองเนื่องจากเกรียม เวลาที่ผ่านมาราว 150 ปี บางฉบับมีรอยแหว่ง หรือเปื้อนน้ำจนข้อความจางหาย ฉบับที่ (เดาว่า) อิน-จัน เขียนเองประกอบด้วยประโยคเรียบง่ายตามประสาผู้ชาย แต่สอดแทรกความรักใคร่ห่วงใยที่มีต่อครอบครัวไว้ในช่องว่างระหว่างบรรทัดตัวอักษรจนเต็มแปล้ จดหมายเก่า ๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นอีกมิติหนึ่งในชีวิตของ “อิน-จัน” ได้เป็นอย่างดี…มิติที่มีทั้งรอยยิ้มและน้ำตาอย่างที่รูปถ่ายไม่สามารถเปิดเผยให้เห็นได้

จดหมายของอิน-จัน

ข้อความในจดหมายมีคําที่สะกดผิดแทรกอยู่ที่นี่บ้างที่โน่นบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของจดหมายที่เขียนโดยชาวบ้านในสมัยนั้น อย่าลืมว่าอิน-จันเดินทางออกจาก สยามตั้งแต่อายุ 18 ปี จึงคงไม่ได้ร่ำเรียนมากไปกว่าการขีดเขียนภาษาไทยและจีนขั้นพื้นฐาน ทั้งสองใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงปลายวัยรุ่นถึงช่วงผู้ใหญ่ตอนต้นไปกับการตระเวนแสดงตามที่ต่างๆ

การที่อิน-จันเรียนรู้ภาษาอังกฤษจนสามารถเขียนสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ และอ่านออกจนถึงขั้นสามารถชื่นชมกวีนิพนธ์ของนักประพันธ์อย่างเอดการ์ แอลเลน โป [6] ได้ จึงถือเป็นผลพวงจากสติปัญญาและความมานะพยายามในการเรียนรู้ไม่ใช่น้อย

ในครั้งนั้น ชาวอเมริกันแท้ๆ เองจํานวนมากยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยซ้ำไป ดูเหมือนว่า อินชอบขีดเขียนมากกว่าจัน และอาจเป็นผู้ที่เขียนจดหมายทั้งหมดที่หลงเหลือมาจนทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามท้ายจดหมายมักลงชื่อว่า “C & E” ซึ่งอาจเป็นมารยาทในการยกชื่อฝ่ายที่ไม่ใช่ผู้เขียนขึ้นก่อน หรือไม่อีกทีก็เป็นเพราะตั้งแต่ออกตระเวนแสดงมา ชื่อของจันเป็นชื่อต้นเสมอ

อีกอย่างหนึ่งที่น่ายกย่องเกี่ยวกับอิน-จันและภรรยาคือ ทุกคนให้ความสําคัญในเรื่องการศึกษาของลูกๆ จนถึงกับช่วยลงทุนสร้างโรงเรียนเพื่อให้ลูกและเด็ก ๆ ในละแวกบ้านได้มีโอกาสเรียนหนังสือ

จดหมายส่วนใหญ่มักขึ้นต้นว่า “ภรรยาและลูก ๆ ที่รัก” (Dear wives and children) ถ้าฝ่ายภรรยาเขียนก็จะเป็น “สามีและลูก ๆ ที่รัก” (Dear husbands and children) โปรดสังเกตคําว่าสามีหรือภรรยาที่อยู่ในรูปพหูพจน์ ซึ่งแสดงว่าเป็นการเขียนถึงทั้ง 2 ครอบครัวในเวลาเดียวกัน จดหมายเกือบทั้งหมดที่นํามาลงให้อ่านนี้เป็นจดหมายที่อินหรือลูกของอินเป็นผู้เขียน และมักพูดถึงธุระของอินกับลูกก่อน พอถึงคราวพูดเรื่องธุระของฝ่ายจันก็จะเปลี่ยนไปพูดว่า “อาฝากบอกว่า…”

จดหมายที่ลูกๆ เป็นคนเขียน ช่วยให้ทราบว่า ลูก ๆ เรียกพ่อของตนว่า “ป๊ะป๋า” (Papa) จดหมายฉบับหนึ่งที่นํามาลงให้อ่านกันนี้ เขียนโดยภรรยาของจันคือแอดีเลด [8]

จดหมายลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2396 (ค.ศ. 1853) ส่งถึงบ้าน ขณะที่ทั้งสองเปิดการแสดงที่เมืองบัฟฟาโล ในมลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำไนแองการาที่ไหลขึ้นเหนือไปทิ้งตัวลงจนกลายเป็นน้ำตกชื่อดังชื่อเดียวกันในฝั่งประเทศแคนาดา จดหมายฉบับนี้บอกเราว่า ลูกๆ ของอิน-จัน รู้สึกสนุกกับการได้เดินทางไปเปิดหูเปิดตากับพ่อตามเมืองต่างๆ

“หวังว่าจดหมายฉบับนี้จะมาถึงเมื่อทุกคนสบายดี เราได้รับจดหมายลงวันที่ 19 จากพวกเธอหลายวันแล้ว เราดีใจมากที่ทุกคนสบายดี และเก็บเกี่ยวพืชผลได้ดี เรามาถึงน้ำตกไนแองการาวันอาทิตย์ที่แล้ว ซึ่ง ทําให้เด็ก ๆ ร่าเริงมาก เราและลูกๆ เดินกันทั้งวัน เราและลูกๆ ได้เดินทางกันไกลพอสมควรในเรือไอน้ำ ผู้หญิงและเด็ก ๆ ในเรือหลายคนเมาเรือกัน แต่ลูกของเราไม่มีใครเมาเรือสักคน…เราคาดว่าจะอยู่ในกรุงนิวยอร์กประมาณ 4 หรือ 5 สัปดาห์ เราไม่รู้ว่าจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่ เราอยากให้พวกเธอเขียนถึงเราถ้ามีเวลาว่าง เราอยากให้พวกเธอเขียนถึงเราบ่อยขึ้น”

ใจความอีกส่วนหนึ่งในจดหมายฉบับเดียวกันมีว่า

“ดูเหมือนนานมากแล้วที่เราออกจากบ้านมา เราเกือบเป็นโรคคิดถึงบ้านแล้ว ลูกๆ มีความสุขมากและสุขภาพของทุกคนดีจริงๆ เราคิดว่าลูกๆ โตขึ้นเยอะ เราคิดว่าพอเรากลับบ้าน ลูกเล็ก ๆ ที่บ้านคงจะลืมเราไปแล้ว พวกเธอต้องหารองเท้าดีๆ ให้ลูกทุกคนใส่เร็วๆ นะ คริสต์ [10]

กําชับให้บอกว่า เขาซื้อหินเฌล [11] ให้เธอด้วยเงินของเขาเองเชียวล่ะ เป็นแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นกันในเมืองเมาต์แอรี เขาพูดถึงวิคและแมรี่ [12] มากกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ ทั้งหมด บอกว่ายังไม่อยากกลับบ้าน เราซื้อเสื้อโค้ท กางเกง รองเท้าบู๊ต และผ้าคลุมใหม่ให้เขาด้วย เขาบอกว่าเขาอยากส่งเสื้อผ้าเก่ากลับบ้านไปให้พวกน้องๆ เราซื้อเสื้อโค้ท กางเกง และ เสื้อเชิ้ตให้เขา 4 ชุด ทั้งหมดนี้ทําให้เขาดูตัวใหญ่ขึ้น”

ข้อความข้างต้นเป็นสาระปกติของจดหมายที่ส่งถึงบ้าน ซึ่งมักเล่าถึงสุขภาพของลูก ๆ เมืองที่กําลังเปิดการแสดง กําหนดการเดินทาง และกิจกรรมจิปาถะอื่น ๆ นอกจากนี้แล้ว ธุระหรืองานในไร่ที่คนทางบ้านควรเอาใจใส่ และการถามไถ่ทุกข์สุขของลูกๆ ตลอดจนเพื่อนบ้านก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในจดหมายเหล่านี้

บ่อยครั้งที่อิน-จันพูดถึงบรรดาทาสผิวดําในความดูแลด้วย จดหมายฉบับนี้มีประโยคที่พาดพิงถึงทาสเหล่า นั้นว่า “เราอยากให้พวกเธอยกกางเกงและเสื้อโค้ทเก่าๆ ของเราให้พวกนิโกร”

อุบัติเหตุของลูกสาว

หลังจากการออกตระเวนแสดงได้หลายเดือน จดหมายจากทางบ้านฉบับหนึ่งก็เดินทางมาถึง แต่คราวนี้มีเรื่องที่คงทําให้จิตใจของคนเป็นพ่อปั่นป่วน ทางบ้านแจ้งข่าวเรื่องอุบัติเหตุของลูกสาวมาด้วย จดหมายข้างล่างนี้เป็นจดหมายตอบจากอิน โดยลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2396 (ค.ศ. 1853) เขียนจากนิวยอร์ก ถึงซาราห์หรือแซลลี [13] ภรรยาของอิน เพราะเป็นเรื่องที่อินต้องสะสาง เนื้อหาตอนนี้ใช้คําว่า “เรา” บ้าง “ฉัน” บ้าง

“เราเพิ่งได้รับข่าวร้ายเกี่ยวกับอุบัติเหตุของเธอ และเราเสียใจที่รู้ว่าลูกของเราถูกลวก [14] อย่างสาหัสยิ่ง เธอบอกได้ไหมว่าเป็นความผิดของใคร เราอยากรู้ ช่วยบอกเราในจดหมายฉบับหน้าด้วย หวังว่าอุบัติเหตุครั้งนี้จะทําให้เธอระมัดระวังมากขึ้นในวันข้างหน้า ก่อนหน้านี้ เราเขียนถึงเธอบ่อยๆ ให้ดูแลลูกๆ ให้ดี อย่างไรก็ตามหวังว่าจะไม่ได้ยินเรื่องแบบนี้อีก ซาราห์ที่รัก ฉันไม่ได้โกรธ [15] เธอนะ แต่อยากให้เธอระมัดระวัง ดูแลลูก ๆ ทุกคน ฉันไม่อยากให้เธอทํางานอะไรเลย อยากให้เธอดูแลลูกๆ ก่อน แล้วถ้าเธอมีเวลาทําอย่างอื่นก็จะดี แต่ต้องดูแลลูกๆ ก่อน”

เนื้อความในจดหมายไม่ได้ระบุชื่อของลูกคนที่ถูกน้ำร้อนหรือไฟลวก แต่ข้อมูลจากแหล่งอื่นบอกว่า ลูกสาวของอินชื่อโรซาลิน อ. บังเกอร์ (Rosalyn Etta Bunker) ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2395 (ค.ศ. 1852) เสียชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน

โดยในวันที่เกิดเหตุนั้น เธออยู่บ้านตามลําพังกับทาสหญิงคนหนึ่ง ซึ่งละเลยต่อหน้าที่จึงเกิดอุบัติเหตุตกลงไปในกองไฟ ขณะที่เขียนบทความเรื่องนี้ ยังไม่ทราบว่าเหตุการณ์ทั้งสองนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกันหรือไม่ เพราะปีที่เกิดเหตุนั้นต่างกัน อินเขียนจดหมายฉบับนี้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2396 (ค.ศ. 1853) ไม่น่าเป็นไปได้ว่า ภรรยาของอินจะรอเขียนจดหมายแจ้งข่าวเรื่องลูกถูกน้ำร้อนหรือไฟลวกนานเพียงนั้น หรือจดหมายเดินทางช้าเป็นปี

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ภรรยาของอินคงไม่ได้บอกว่า ลูกสาวคนนี้เสียชีวิต เพราะสํานวนจดหมายของอินขาดอารมณ์ของพ่อที่สูญเสียลูก บางทีผู้เป็นแม่อาจไม่ต้องการบอกความจริงทั้งหมดให้ทราบในระหว่างที่สามีกําลังออกตระเวนแสดง และต้องการบอกด้วยตนเองเมื่อสามีกลับถึงบ้านแล้ว ทว่าเหตุผลนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเสียทีเดียว เพราะเมื่อลูกสาวอีกคนหนึ่งเสียชีวิต ลูกสาวคนโตของอินเป็นผู้เขียนไปบอกพ่อหลังจากเกิดเหตุแล้วเพียง 1 เดือน

จดหมายฉบับเดียวกันนี้ ยังมีข้อความที่แสดงให้เห็นความห่วงใยของพ่อแฝดคู่นี้ที่มีต่อประสบการณ์ในวัยเด็กของลูก ๆ ด้วยว่า “เธอต้องบอกเบอร์รี่ว่า เวลาฆ่าหมู ต้องไม่ให้เด็ก ๆ อยู่ใกล้”

อิน-จันคงไม่ต้องการให้ลูกเล็ก ๆ เห็นภาพที่สยดสยองเกินไปสําหรับเด็ก เช่น เดียวกับพ่อแม่ทุกคน แม้ในกรณีที่การกระทํานั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดํารงชีวิตปกติก็ตาม

ตัวอย่างจดหมายจากอิน-จัน (ก) ขึ้นต้นว่า “ภรรยาและลูก ๆ ” (ข) ลงท้ายด้วยชื่อ “จันและอิน” (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2549)

ของฝากและของขวัญ

ดูเหมือนภารกิจประจําอย่างหนึ่งของอิน-จันในระหว่างการตระเวนแสดงคือ การออกจับจ่ายซื้อของแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อเป็นของฝากให้สมาชิกในครอบครัว ในจดหมายฉบับดังกล่าวมีข้อความที่ยืนยันนิสัยนี้ได้ดี

“อยู่ที่นี่อีกนานเท่าไหร่หลังปีใหม่ แต่ก็ไม่คิดว่าจะกลับถึงบ้านก่อนกลางเดือนเมษายนปีหน้า แบนเนอร์เขียนบอกว่า คนของเราเก็บเกี่ยวข้าวโพดได้เยอะ เราดีใจที่ได้ยินอย่างนั้น เธอบอกพวกนั้นด้วยว่า เมื่อเรากลับบ้าน เราจะมีของฝากให้ทุกคน ยกเว้นลีแอนน์ เราคิดว่า จอช อิสระ [16] จะดูแลเธอเอง”

ไม่ทราบว่า ลี แอนน์ และจอช เป็นใคร

จดหมายลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2397 (ค.ศ. 1854) เขียนจากนิวยอร์กถึงภรรยาและลูก ๆ ข้อความที่ว่า “ตอนนี้เคทกับคริสต์หลับปุ๋ยไปแล้ว” ทําให้นึกถึงภาพอิน-จันนั่งที่โต๊ะทํางาน เขียนจดหมายถึงบ้านใต้แสงตะเกียงริบหรี่ พร้อมชําเลืองดูลูก ๆ ที่นอนหลับอย่างเหนื่อยอ่อนอยู่ในเตียงนอนใกล้ ๆ เป็น ครั้งคราว

ใจความส่วนหนึ่งในจดหมายยังบอกเราด้วยว่า นอกจากการซื้อของฝากเพื่อเป็นที่ระลึกยามเดินทางแล้ว อิน-จันยังสรรหาของขวัญส่งไปให้ลูกๆ เมื่อถึงวาระสําคัญด้วย ทั้งสองไม่ยอมเสียโอกาสที่จะร่วมฉลองวันเกิดกับลูก ๆ ด้วยการส่งของขวัญจากถิ่นไกล เพื่อกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก

ขณะเดียวกัน ก็ไม่ลืมกําชับผู้ใหญ่ที่บ้านให้ทําหน้าที่ของตนในไร่ด้วย

“เราเขียนถึงเธอสัปดาห์หนึ่งมาแล้ว และในจดหมายนั้น เราสอดแหวนวงหนึ่งมาให้โจเซฟิน [17] เป็นของขวัญวันเกิด ถ้าได้รับแหวนแล้ว เราหวังว่าเธอคงเขียนตอบ และเราจะส่งอีกวงหนึ่งให้จูเลีย [18] เป็นของขวัญวันเกิดเช่นกัน เธอบอกดีเคเตอร์ [19] ด้วยว่า เราซื้อมีดให้แล้ว เธอบอกในจดหมายว่า หมาเข้ามากัด แกะของเราตาย ทําไมเบอร์รี่ไม่ยิงหมาเสียล่ะ เรามีดินปืนกับตะกั่วตั้งเยอะ เธอบอกเบอร์รี่ด้วยว่า เราอยากให้เขาฆ่าหมาทุกตัวที่เข้ามาในรั้วของเรา แล้วโยนทิ้งในลําห้วยโดยไม่ต้องปริปากบอกใคร เธอบอกว่า เธอหรือเบอร์รีเลี้ยงหมูแค่ 14 ตัว ทําไม ทําไมไม่เลี้ยงมากกว่านั้น เราหวังว่าเธอคงเลี้ยงหมูเพิ่ม เราจะได้มีเนื้อสด ๆ กินตลอดฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน เอาอีก 4 หรือ 5 ตัว”

จดหมายลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2397 (ค.ศ. 1854) เขียนโดยภรรยาของจันคือแอดีเลด หลังจากคําขึ้นต้นว่า “สามีและลูก ๆ ที่รัก” (Dear husbands and children) แล้ว เธอก็กล่าวถึงลูกสาวคนโตของอิน คือแคทเธอรีน ซึ่งเพิ่งหายป่วยจากอาการหวัด ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างครอบครัวทั้งสองได้อย่างหนึ่ง

“เราได้รับจดหมายลงวันที่ 5 ของเธอแล้ว เราดีใจที่รู้ว่าพวกเธอสบายดี หวังว่าแคทเธอรีนคงสบายดี เราทุกคนสบายดี”

หลังจากนั้น เธอก็รายงานกิจกรรมต่าง ๆ ในไร่ แล้วเล่าเรื่องแหวนที่ผู้เป็นพ่อส่งมาให้ลูกสาว

“โจเซฟีนพอใจกับแหวนของเธอเป็นที่สุดเท่าที่เคยเห็น เธอได้รับก่อนวันเกิดของเธอ และสวมมันทุกวัน แนนซี [20] บอกว่าคุณต้องซื้อต่างหูให้เธอคู่หนึ่ง”

นอกจากนี้แล้ว เธอก็เล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ซึ่งไม่ขอนํามาลงในที่นี้เนื่องจากไม่มีรายละเอียดพอให้จับเค้าเกี่ยวกับบุคคลและเรื่องราวเหล่านั้น แอดีเลด ลงท้ายไว้ในจดหมายฉบับนี้ว่า

“เราจะดีใจมากที่เห็นพวกเธอทุกคนกลับบ้าน ดูเหมือนเวลาผ่านไปช้าเหลือเกิน บอกคริสโตเฟอร์ว่า ฉันเสียใจมากที่เขาลืมฉันเสียแล้ว เขาบอกว่า เขาไม่อยากเจอแม่”

ใจความตรงนี้ทําให้นึกถึงจดหมายที่กล่าวไว้ข้างต้น ที่ว่าอิน-จันห่วงว่าลูก ๆ ที่บ้านจะจําตนไม่ได้เมื่อกลับถึงบ้าน ดูเหมือนฝ่ายภรรยาเองก็รู้สึกทํานองเดียวกันเกี่ยวกับลูกที่ออกเดินทางร่วมกับสามี

ทั้งนี้เพราะการเดินทางแต่ละครั้งกินเวลานานมากความห่างเหิน ทําให้ลูก ๆ ซึ่งมีอายุน้อยลืมหน้าพ่อหรือแม่ที่ตนไม่ได้เห็นไปนานอย่างช่วยไม่ได้ ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่อิน-จันชดเชยความรู้สึกนั้นส่วนหนึ่งด้วยการซื้อของแปลกใหม่กลับมาฝากลูก ๆ ที่บ้านเสมอ

ในเดือนเมษายนของปี พ.ศ. 2397 (ค.ศ. 1854) ทั้งสี่ก็มุ่งหน้ากลับบ้านด้วยรายได้ที่คุ้มค่าเหนื่อย อิน-จันวางมือจากการออกตระเวนปรากฏตัวเป็นเวลาอีก 5 ปี ก่อนออกเดินทางอีกในปี พ.ศ. 2403 (ค.ศ. 1860) และกลับบ้านในปีถัดไป ไม่มีการเดินทางไปไหนอีกพักใหญ่ และอาจไม่มีอีกเลยถ้าไม่เป็นเพราะสงครามกลางเมือง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2404-8 (ค.ศ. 1861-5) และนําความสูญเสียมาสู่ฐานะของครอบครัวจนเป็นแรงผลักดันให้ อิน-จัน ในวัย 55 ปี ต้องออกจากบ้านอีกครั้ง

จดหมายลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) เขียนจากเมืองฟิตซ์เบิร์ก มลรัฐแมสซาชูเซตส์ [21] โดยขึ้นต้นว่า “ถึงพี่/น้องสาวที่รัก” (Dear Sister) แต่ไม่ลงชื่อว่าเป็นใคร ทว่าเนื้อความในจดหมายฉบับ นี้และฉบับถัดไปทําให้เดาว่า น่าจะเป็นสตีเฟน ดีเค เตอร์ ลูกชายของอิน แม้ลายเซ็นย่อว่า “เอส เอฟ ปี” นั้นชวนให้สงสัยอยู่บ้าง

เนื้อความในจดหมายพาดพิงถึงน้องชาย 2 คน ซึ่งอาจชอบเล่นมากกว่าช่วยงานที่บ้าน

“บอกเฟดริก [22] และวิลเลียมให้ทําตัวฉลาดหน่อย ช่วยเก็บแอปเปิ้ลและเลี้ยงหมู แล้วฉันจะเอาอานม้ากลับไปให้”

หลังจากพูดธุระหรืองานที่ต้องทําในไร่ของฝ่ายอินเสร็จแล้ว ก็แทรกธุระของฝ่ายจันไว้ดังนี้

“อัลเบิร์ต [23] ฝากให้บอกคริสโตเฟอร์ว่า อย่าปล่อยให้ปืนของเขาหมอง และหล่อลื่นให้ดี บอกมอนต์โกเมอรีให้เก็บปืนของเราให้ดี และหล่อลื่นปืนพก อย่าปล่อยให้ขึ้นสนิม เรามีปืนพกกระบอกหนึ่งอยู่กับคุณ… [24] ช่วยไปรับมา และจ่ายเงินให้เขาด้วย แล้วจ่ายหนี้เล็ก ๆ น้อย ๆ สําหรับค่าทํารองเท้า และค่า เทอมด้วย” และ “อาฝากบอกคริสโตเฟอร์ให้ใส่ยางใหม่กับเกวียนเก่าเล่มนั้น”

ข้อความประโยคหนึ่งที่จันฝากถามไว้ในจดหมายฉบับนี้ ไม่ทําให้รู้สึกแปลกใจเลย หากรู้นิสัยของเจ้าตัว
“เขียนไปบอกด้วยว่า ทําบรั่นดีไว้มากแค่ไหน” จันนิยมดื่มสุรามากกว่าอิน

ก่อนจบจดหมาย ก็ยังมีการฝากเงินให้ลูกชายคนเล็กของอิน “ให้เงิน 10 เซ็นต์นี้แก่บ๊อบ” [25]

จดหมายลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) เขียนจากเมืองโทลีโด มลรัฐโอไฮโอ [26] ซึ่งห่างจากฉบับข้างต้นไม่นาน จดหมายฉบับนี้ไม่ขึ้นต้นถึงภรรยาและลูก ๆ อย่างเคย และลงท้ายด้วยชื่ออินคนเดียว ทว่าเมื่ออ่านถึงกลางหน้าแรกก็พบประโยคที่ช่วยให้รู้ว่าเป็นจดหมายที่อินบอกให้ลูกที่เดินทางไป ด้วยเขียนให้อีกเช่นกัน ประโยคตอนต้นจดหมายเป็นคําสารภาพผิดของผู้เป็นพ่อต่อลูกชายวัยขวบกว่าคนนี้

“ป๊ะป่าบอกว่าลืมส่งเงิน 10 เซ็นต์ให้บ๊อบ แต่คราวนี้จะส่งให้ 25 เซ็นต์เป็นการแก้ตัว”

จดหมายฉบับนี้ก็เช่นเดียวกับฉบับอื่นๆ ที่อินมีเรื่องฝากเตือนลูกๆ บางคนเป็นรายตัว คือ

“ป๊ะป่าบอกอย่าให้มอนต์โกเมอรี [27] และ แพทริก [28] กินน้ำตาลจนหมดก่อนที่เรากลับถึงบ้าน”

ใจความอีกส่วนหนึ่งช่วยให้ทราบด้วยว่า นอกจากของที่ระลึกที่นํากลับมาฝากเป็นประจําแล้ว อิน-จัน ยังซื้อของแปลกตาระหว่างเดินทาง เพื่อให้ลูกนําออกขายในเมืองที่อาศัยอยู่ เป็นการเสริมรายได้ หรือฝึกให้ลูกของตนรู้จักการทําธุรกิจย่อย ๆ ตั้งแต่เป็นเด็ก เช่นเดียวกับที่ตนเองเคยทํามาก่อนเมื่อครั้งยังใช้ชีวิตในเมืองแม่กลอง ราชอาณาจักรสยาม

“บอกมอนต์โกเมอรีให้เขียนบอกไปด้วยว่าขายนาฬิกาข้อมือหมดแล้วหรือยัง ถ้าหมดแล้ว เราจะซื้อเพิ่มให้อีก”

อิน-จันไม่ลืมถามไถ่ถึงพวกคนงานผิวดํา ซึ่งในปีที่เขียนจดหมายนี้ เป็นช่วงหลังสงครามกลางเมืองไปแล้ว ฉะนั้น คนงานเหล่านี้จึงไม่ใช่ทาสอีกต่อไป ว่ากันว่าอิน-จันพยายามจ้างอดีตทาสผิวดําของตนไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่สมัครใจอยู่กัน

“บอกไปด้วยว่า พวกนิโกรเป็นยังไง และยังมีการขโมยกันอยู่หรือเปล่า”

อีกครึ่งหนึ่งของจดหมายเป็นส่วนของจัน ซึ่งเป็นอาของผู้ที่เขียนจดหมายฉบับนี้ “อาสั่งให้คริสต์ใส่อิฐในเตา ซื้อข้าวโพดจากเจฟ ครีด พยายามซื้อ 100 บาร์เรล”

ข้อความถัดมาเป็นการกําชับเรื่องดูแลฟาร์ม “ให้อาหารหมูเสียแต่ตอนนี้ ขณะที่อากาศยังดีอยู่” รวมทั้งเรื่องเล็กน้อยประเภท “บอกแนนซีว่าอย่าขี่ม้ามากนัก จนอานสึกและอย่าให้ใครยืม ยกอานเก่าให้มารีแอนา [29] เสีย”

จดหมายเหล่านี้ช่วยให้เดาได้ว่าลูกๆ ของ อิน-จัน คงมีความสุขตามประสาเด็กท้องไร่ ลูกชายรู้จักยิงปืนและขี่ม้า ส่วนลูกผู้หญิงก็คงได้โอกาสทัดเทียมกันในเรื่องการขี่ม้า ก่อนจบจดหมายยังมีประโยคที่ดูเหมือนจะระวังไม่ให้ลูกสาวคนโตของอินรู้สึกน้อยใจ

“เคท ป๊ะป่าบอกว่า ถ้าเธออยากได้อานม้าอย่างแนนซี ให้เขียนบอกไป แล้วเราจะซื้อให้เธอ”

เนื้อหาและชื่อของลูกๆ ที่อยู่ในจดหมายทั้ง 2 ฉบับข้างต้นทําให้สรุปได้อีกอย่างหนึ่งว่า ลูกชายร่างสูงที่ถ่ายกับอิน-จัน ควรเป็นลูกคนที่ 3 และลูกชายคนโตของอิน ชื่อสตีเฟน ดีเคเตอร์

หลังจากนั้นไม่นาน จดหมายลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2408 (ค.ศ. 1865) จากลูกสาวที่อินเกรงว่า อาจจะอยากได้อานม้าก็เดินทางมาถึง แต่เธอไม่ได้พูดถึงอานม้า เธอเล่าให้ผู้เป็นพ่อทราบถึงข่าวร้ายที่คงทําให้ฝ่ายหลังรู้สึกปวดร้าวใจมากกว่าตนหลายเท่านัก

“เป็นหน้าที่อันปวดร้าวของหนูที่ต้องบอกพ่อว่า จอร์จินนา [30] ไม่อยู่กับเราอีกต่อไปแล้ว น้องเสียชีวิต ในวันที่ 28 กันยายน ด้วยโรคคอตีบและครูป [31] น้องเป็นโรคคอตีบประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วเป็นหวัด ซึ่งต่อมากลายเป็นครูป อาการของน้องดูดีพอใช้ตลอดเวลา เป็นเวลา 4 วันก่อนเสียชีวิตที่น้องไปฟังสวดกับเราทุกวัน น้องสวมเสื้อคลุมและลูกปัดซึ่งน้องภูมิใจมาก ก่อนวันที่น้องจากไปน้องเล่นในห้องและไปทานอาหารเช้าในครัว น้องทานอาหารได้ตลอดเวลา

คืนต่อมา น้องมีอาการชักรุนแรงมาก และมีมาเรื่อยจนวันถัดมา(28) เวลา 12 นาฬิกาจึงเสียชีวิต น้องจากไปอย่างกะทันหันโดยที่ทุกคนไม่คาดคิดกันเลย น้องน้อยของเราทุกข์ทรมานมากเหลือเกิน แต่น้องก็ไปดีแล้ว เราทุกคนคิดถึงน้องมาก บ้านดูเงียบเหงาและเปล่าเปลี่ยวเมื่อไม่มีน้อง น้องพูดถึงพ่อบ่อย ๆ น้องจะถามแม่ทุกวันว่า พ่อไปไหน แม่ก็บอกว่า พ่อไปทางเหนือแล้ว น้องก็จะไปบอกพี่น้องคนอื่นต่อว่าพ่อเดินทางไปเหนือ”

การสูญเสียครั้งนี้เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ของอินในปีนี้ เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ อินต้องเสียลูกสาวอายุ 20 ปีที่ชื่อจูเลียไปแล้ว 1 คน การเป็นพยานต่อวาระสุดท้ายของลูกเป็นเหตุการณ์อย่าง
หนึ่งที่คนเป็นพ่อแม่ภาวนาไม่ให้เกิดในชั่วชีวิตของตน

อินต้องตกอยู่ในภาวะนี้ถึง 3 ครั้ง ความรู้สึกเช่นว่านี้ คงทวีคูณเป็นอย่างน้อย เมื่อต้องได้รับข่าวยามอยู่ไกลจากบ้าน เพราะเจ้าตัวคงรู้สึกว่า ตนมิได้ทําหน้าที่เสาหลักทางอารมณ์ให้แก่ครอบครัวอย่างที่ผู้นําครอบครัวพึงกระทําในวาระเยี่ยงนี้

ในแง่ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์แล้ว จดหมายจากเคทฉบับนี้ ยังช่วยแก้ความเข้าใจผิดที่แหล่งข้อมูลเก่าเคยระบุว่า จอร์จินนาเสียชีวิตเพราะถูกน้ำร้อนลวกอีกด้วย

อิน-จันคงเป็นพ่อที่ลูกๆ รักและยกย่อง เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่า ลูกๆ ของอินรู้สึกในทางลบกับความเป็นแฝดของพ่อ หรือไม่พอใจกับการร่วมเดินทางไปปรากฏตัวในที่ต่างๆ ฉะนั้น จึงไม่แปลกเลยที่เมื่อชีวิตของพ่อวางวายลง ลูกๆ ย่อมเป็นเดือดเป็นแค้นนักที่เพื่อนบ้าน และแม้กระทั่งแม่ของตนเองยกร่างไร้วิญญาณคู่นั้นให้คณะแพทย์ย้ายไปชันสูตรที่เมืองฟิลาเดลเฟีย แม้มีเหตุผลที่ดีทางการแพทย์ก็ตาม…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[4] Katherine Marcellus Bunker เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2387 (ค.ศ. 1844) ไม่เคยสมรส และเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง 7 ปีในปีพ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) ด้วยวัณโรค

[5] Christopher Wrenn Bunker เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2388 (ค.ศ. 1845) เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) เมื่ออายุได้ 47 ปี

[6] Edgar Allan Poe (พ.ศ. 2352-2392 หรือ ศ.ศ. 1809-49) ชาวอเมริกันนามกระเดื่อง ซึ่งเป็นกวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักวิจารณ์วรรณกรรม

[7] ข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการไม่รู้หนังสือในสหรัฐเริ่มมีการบันทึกอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2412-13 (ค.ศ. 1869-70) ผู้เยาว์อายุ 5-19 ปี เข้าเรียนในโรงเรียนเพียงร้อยละ 50 โดยที่ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างเพศหญิงและชาย

[8] Adelaide Yates

[9] Niagara Falls มีทั้งในฝั่งสหรัฐและฝั่งแคนาดาซึ่งมีความสวยงามมากกว่า

[10] Christopher Bunker ลูกชายคนโตของจัน

[11] ต้นฉบับคือ Shale ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร ไม่น่าใช่กระดานชนวน

[12] น้องสาวของคริสโตเฟอร์

[13] Sarah หรือ Sallie Yates

[14] เนื้อความในจดหมายไม่ได้ระบุว่าเป็นไฟหรือน้ำร้อน

[15] ต้นฉบับเขียนว่า I am not mede with you. เดาว่าเป็น I am not mad with you.

[16] ต้นฉบับเขียนว่า free Josh ซึ่งอาจหมายถึงคนผิวดำที่เคยเป็นทาสมาก่อน

[17] Josephine Virginia Burker ลูกสาวของจัน เกิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2387 (ค.ศ. 1844) ไม่เคยสมรส และเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 23 ปี ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1867)

[18] Julia Ann Bunker ลูกสาวของอิน เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2388 (ค.ศ. 1845) และเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2408 (ค.ศ. 1865)

[19] Stephen Decatur Bunker ลูกชายของอิน เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2389 (ค.ศ. 1846) และเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920)

[20] Nancy Adelaide Bunker ลูกสาวของจัน เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2390 (ค.ศ. 1847) และเสียชีวิตขณะอายุเพียง 27 ปี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2417 (ค.ศ. 1874)

[21] Fitchburg, Massachusetts

[22] ในที่นี้เขียนว่า Fedric แต่ในข้อมูลอื่น ๆ เขียนว่า Fredrick

[23] Albert Lemuel Banker ลูกชายคนเล็กขอจัน เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) แสดงว่าออกตระเวนไปกับพ่อ

[24] อ่านชื่อไม่ออก

[25] คงหมายถึงลูกชายคนเล็ก คือโรเบิร์ต บังเกอร์ (Robert Edward Bunker) ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียงขวบเศษ

[26] Toledo, Ohio

[27] James Montgomery Bunker เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2391 (ค.ศ. 1848) เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921)

[28] Patrick Henry Bunker เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2393 (ค.ศ. 1850 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938)

[29] Susan Mariana Bunker น้องสาวของแนนซี่ ลูกของจัน เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2392 (ค.ศ. 1849) และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922)

[30] Georgiana Columbia Bunker เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863)

[31] Croup ยาการหดเกร็งของลาริงซ์ทําให้หายใจลําบาก คล้ายหลอดลมอักเสบ บางแห่งแปลว่าโรคซาง

[32] คำว่า เรา ในที่นี้น่าจะหมายถึงสตีเฟน ดีเคเตอร์ และ เจมส์ มอนต์โกเมอรี ผู้เป็นน้องชาย

[33] ต้นฉบับคือ Wi ซึ่งคงหมายถึง William. แต่ไม่ทราบ คือวิลเลียมที่เป็นลูกคนหนึ่งของอิน หรือนายแพทย์วิลเลียมที่เป็นคนสนิทคนหนึ่งของครอบครัว

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

ข้อมูลเรื่องการรู้หนังสือของชาวอเมริกัน จากเว็บไซต์ http://inces.ed.gov/naalhistoricaldata/litenroll.asp

วิลาส นิรันดร์สุขศรี, แฝดสยาม อิน-สัน คนคู่สู้ชีวิต. มติชน, 2549.

หนังสือพิมพ์ New York Herald ฉบับประจําวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2417 (ค.ศ. 1874)

Hunter, Kay. Duet for a Lifetime. London: Michael Joseph, 1964.

Wallace, Irving และ Wallace, Amy. The Two. New York: Simon & Schuster, 1978.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “อิน-จัน มิติใหม่ของแฝด” เขียนโดย วิลาส นิรันดร์สุขศิริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2549, เรียบเรียงโดย ธนพงศ์ พุทธิวนิช


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2564