วันว่าง? ว่างขนาดไหน? ประเพณีวันว่าง? ของชาวภาคใต้

โนรา มโนห์รา นครศรีธรรมราช
โนราที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ 5

วันว่าง เป็นประเพณีสำคัญของชาวภาคใต้ คล้ายประเพณีสงกรานต์ของภาคอื่นๆ แต่มีขนบในการปฏิบัติอาจแตกต่างกันไปบ้าง ที่สำคัญคือ “ข้องดเว้น” หลายประการที่พอสรุปได้ ก็คือ เรื่องการงานอาชีพ, การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต, ตัดผมตัดเล็บ, ตัดกรานต้นไม้กิ่งไม้, การกล่าวคำหยาบและด่าว่า, เฆี่ยนตีลงโทษแก่สัตว์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ “ห้าม” ทำทั้งสิ้น ในสมัยก่อนแม้แต่โจรผู้ร้ายก็ต้องงดเว้นการโจรกรรมในช่วงวันว่าง

ประเพณีวันว่างกระทำกัน 3 วัน ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ซึ่งจะตรงกับเดือน 5 ของปี ถ้าปีใดมีอธิกมาส (มีเดือน 8 สองหน) ประเพณีวันว่างนั้นก็จะเลื่อนมาอยู่ในเดือน 6 วันว่างก็คือวันปีใหม่ของชาวภาคใต้นั่นเอง

แต่ก่อนจะถึง “วันว่าง” แต่ละบ้านต้องทำงานยุ่งหัวฟูกันก่อน

ก่อนวันว่างมาถึง ทุกครัวเรือนต้องตระเตรียมการให้พร้อม ต้องเร่งทำงานที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อย เป็นต้นว่า ต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวในนาและขนย้ายที่เก็บให้หมด ใครกำลังปลูกบ้านสร้างเรือนใหม่ก็รีบสร้างให้เสร็จ ใครทอหูกทอผ้าต้องเร่งทอให้จบผืนไม่ทิ้งค้างคากี่ไว้ มิเช่นนั้นจะถูกตำหนิติเตียนจากเพื่อนบ้าน และถือว่าขัดจารีตไม่เป็นมงคล

นอกจากนี้ทุกบ้านจะต้องจัดเตียมอาหารมาสำรองไว้ให้พอใช้พอกินได้ตลอดเทศกาลวันว่างทั้ง 3 วัน เพราะระยะวันว่างทั้ง 3 วัน ห้ามสีข้าวหรือออกไปหาผักหาปลา แต่ละบ้านต้องนำสากนำครกมาวางไว้ในที่เปิดเผย เอาสากรวมเข้าเป็นมัดเดียวกัน ผูกด้วยด้ายแดงด้ายขาว ตั้งใส่ลงไว้ในครกแล้วใส่น้ำลงไว้ด้วย เรียกว่า “แช่สากแช่ครก” จะไม่ใช่งานในช่วงวันว่าง (ปัจจุบันเลิกปฏิบัติเกือบหมดแล้ว) สิ่งที่สำคัญที่ต้องจัดหาเตรียมไว้ คือข้าวเหนียว น้ำตาล มะพร้าว สำหรับใช้ทำขนม

พ่อบ้านแม่เรือน ต้องจัดหาซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้ลูกหลานและตัวเอง สำหรับสวมใส่ในวันว่าง ซึ่งถือว่าเป็นคติว่าต้องใช้ของใหม่ คนเป็นลูกหลานจัดหาเสื้อผ้าไปมอบให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายใช้สวมใส่หลังจากอาบน้ำหรือ “สระหัว”

ก่อนวันสิ้นปีเก่า (ก่อนวันวันว่าง) 2-3 ทุกบ้านต้องทำความสะอาดบ้านและบริเวณบ้านครั้งใหญ่, จัดเก็บข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบ ก่อนวันว่าง 1-2 วัน ต้องตัดเล็บตัดผมให้เรียบร้อย เพราะเมื่อถึงวันว่างห้ามทำ

พอถึงวันว่าง (หรือวันสิ้นปี) ก็ไม่ได้ “ว่าง” อย่างชื่อที่เรียก

หากเป็น การว่างเว้นจากการงาน หรือการเลี้ยงชีพเท่านั้น เริ่มจากตอนเช้าก็เอาเสื้อผ้าชุดใหม่มาใส่ไปวัดทำบุญทำทานที่วัดใกล้บ้านเพื่ออุทิศลส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ จากนั้นก็สรงน้ำพระ แล้วจึงอาบน้ำหลวงพ่อเจ้าอาวาสและพระสงฆ์สูงอายุของวัดนั้น ตามด้วยอาบน้ำให้ผู้เฒ่าในชุมชน เรียกว่า “สระหัววันว่าง” สุดท้ายก็เป็นกิจกรรมรื่นเริงของแต่ละท้องที่ตามยุคสมัยไป

เทศกาลวันว่างของชาวใต้ก็คือเทศกาลปีใหม่นั้นเอง มีการทำบุญทำทานเหมือนกับเทศกาลสงกรานต์ และมีการกำหนดให้ว่างเว้นจากการทำงาน, การตัดเล็บผม เหมือนกับเทศกาลตรุษจีน ซึ่งทั้งหมดก็เป็นเทศกาลปีใหม่ของแต่ละชนชาติ แต่ละประเทศ ก่อนที่เราจะใช้ปีใหม่สากล (1 มกราคม) ส่วนที่เหมือนกันก็คงไม่ใช่เรื่องใครลอกใคร เพราะทำงานกันมาทั้งปี ถึงปีใหม่ ไม่ว่าใครก็คิดเหมือนกันว่าเราต้องพักสักหน่อย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก

สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. “วันว่าง” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรม ภาคใต้, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เรื่องใน พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2564