เส้นทาง “วณี เลาหเกียรติ์” ลูกตร. สู่นางสาวสยามคนที่ 2 เผยเงินรางวัล-ชีวิตหลังรับตำแหน่ง

วณี เลาหเกียรติ์ นางสาวสยามคนที่ 2 (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพนางงาม 2488 ห้องสมุด พ.อ. สมชาย หอมจิตร)

วณี เลาหเกียรติ์ นางสาวสยามปี พ.ศ. 2478 เธอเป็นนางสาวสยามคนที่สองต่อจาก กันยา เทียนสว่าง นางสาวสยามสมัยแรกประจำ พ.ศ. 2477 ซึ่งจัดประกวดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อประเทศในปี 2482 จึงได้เปลี่ยนชื่อการประกวดและตำแหน่งเป็น “นางสาวไทย” แทนนับแต่นั้นมา

การประกวดนางสาวไทยต้องหยุดการประกวดไปหลายครั้ง ทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อมีการยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญไป ก่อนที่ทางสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยจะฟื้นฟูการประกวดขึ้นมาอีกครั้งในสมัยหลัง

สำหรับเวที “นางสาวสยาม” นางงามประจำชาติไทย เปิดฉากขึ้นครั้งแรกสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่ามกลางงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2477 ทิ้งช่วงเวลาจากการประกวดสาวงามระดับท้องถิ่นมาระยะหนึ่ง โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำกับดูแล

คุณประเสริฐ เจิมจุติธรรม แฟนพันธุ์แท้นางงามบอกเล่าถึงสาเหตุที่เวทีแห่งสาวงามได้รับการบรรจุอยู่ในงานทางการเมืองว่า เนื่องจากขณะนั้นชาวสยามยังไม่รู้จักการปกครองระบอบใหม่อย่างประชาธิปไตย รัฐจึงจัดงานให้ความรู้ใต้ชื่อ “รัฐธรรมนูญ” แต่ประชาชนยังคงเข้าร่วมงานกันบางตา จนกระทั่งต้องใช้การประชันความงามมาเป็นมาตรการดึงดูดคน ซึ่งให้ผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจ

ข้อมูลบรรยากาศการประกวดในยุคแรกต้องสืบค้นไปถึงข้อมูลจากคำบอกเล่าของ “นางงาม” ที่เข้าร่วมในยุคแรกซึ่งเคยมีผู้รวบรวมบทสัมภาษณ์นางงามยุคแรกหลากหลายท่านเอาไว้ ดังเช่นหนังสือ “ดอกไม้ของชาติ” โดยอรสม สุทธิสาคร ซึ่งบอกเล่าบรรยากาศการประกวดนางงามในยุคแรกจากการสัมภาษณ์พร้อมข้อมูลบริบททางสังคมเอาไว้ด้วย

การบอกเล่าเหล่านี้ทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบบรรยากาศการประกวด ที่สำคัญคือเบื้องหลังประสบการณ์นางงามยุคแรก อาทิ ประสบการณ์ของวณี เลาหเกียรติ์ นางสาวสยามคนที่ 2 ของประเทศเมื่อพ.ศ. 2478 ซึ่งประกวดในช่วงกลางเดือนธันวาคม สถานที่จัดงานอย่างท้องสนามหลวงและพระราชอุทยานสราญรมย์เต็มไปด้วยน้ำเจิ่งนอง แต่จากการรายงานข่าวผ่านคอลัมน์ปกิณกคดีของประชาชาติ วันที่ 13 ธันวาคมแล้วจะทราบได้ว่า งานครั้งนั้นยังเป็นที่สนใจของประชาชน โดยมี 3 สิ่งที่โดดเด่นคือ ล็อตเตอรี่ การเต้นรำ และนางงาม

สำหรับการประกวดนางงามนั้นมี 3 วัน วันที่ 10 ธันวาคมเป็นการประกวดนางสาวธนบุรี วันถัดมาเป็นนางสาวพระนครมีผู้เข้าประกวด 46 คน ผู้ได้รับเลือกคือวณี เลาหเกียรติ์ จากอำเภอบางรัก

อรสม สุทธิสาคร ยังบรรยายรายละเอียดการคัดเลือกนางงามสมัยนั้นว่า มีเกณฑ์คัดเลือกอย่างละเอียด

“โดยกรรมการพิจารณาจากรูปทรง ผิวเนื้อ เล็บ ฟัน หลังเวทีมีการเปิดดูน่อง แม้นางงามจะใส่ชุดไทยห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าซิ่น ยาวกรอมเท้า แต่กรรมการก็สำรวจละเอียดเพื่อเลือกเฟ้นคนที่งามจริงๆ หน้าตาไม่มีการแต่งเติมเสริมแต่ง เป็นที่มั่นใจได้ว่างามอย่างเป็นธรรมชาติแท้”

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับปากคำของวณี ที่บอกเล่าประสบการณ์และที่มาของการเข้าร่วมประกวดครั้งนั้นว่า

“สมัยนั้นทางมหาดไทยจะให้ข้าหลวงออกตามหาว่าบ้านไหนมีลูกสาวสวย พอทางการมาเห็นเข้าก็ขอให้ช่วยชาติร่วมฉลองงานรัฐธรรมนูญ ตอนเข้าประกวดนี่เตรียมตัวล่วงหน้าไม่นาน การทำนุบำรุงร่างกายก็เป็นไปตามปกติ เพราะเวลานั้นยังไม่นิยมการบำรุงร่างกายตามแบบสากลนิยมกันนัก

การประกวดก็นิยมแบบธรรมชาติแท้ๆ ไม่แต่งเติมก็ดูสวยดีนะคะ เขาจะไม่อนุญาตให้แต่งหน้าเลย ชุดประกวดเป็นชุดไทยห่มสไบเฉียงเป็นความกรุณาของคุณหญิงมหาโยธาท่านให้ยืมผ้ายกเก่าแก่ของท่านซึ่งหายากมาก ทั้งยังให้ลูกสาวซึ่งเป็นนักเรียนนอกฝึกการเดินให้ โดยเกณฑ์บ่าวไพร่คนเป็นร้อยมานั่งดู เพื่อไม่ให้เราประหม่า

แต่เวลาเดินบนเวทีจริงๆ ก็ประหม่าเล็กน้อยนะคะ เวทีนี่เขาแต่งเหมือนเวทีละครเป็นเวทีแคบๆ เวลาเดินก็เดินเท้าเปล่ากันทุกคน ก็รู้สึกธรรมดา เพราะทุกคนก็ไม่ได้ใส่รองเท้า

หลังเวทีนี่กรรมการจะขอดูน่องดูผิว ดูละเอียด เวลาเดินนี่มองลงมาจากเวทีเห็นคนดูแต่งกายสุภาพสวยงาม”

สำหรับ วณี เลาหเกียรติ์ เป็นลูกของนายตำรวจคือ ร้อยตำรวจเอกบุญจินต์ ย่าของเธอเป็นเจ้าของห้างเคียมฮั่วเฮ็งห้างดังสมัยนั้น และเป็นเจ้าของที่ดินมากมาย

อรสม สุทธิสาคร ระบุว่า ภายหลังได้ยกที่ดิบแถบถนนคอนแวนต์ให้เป็นสถานที่ก่อสร้างอารามชี

ขณะที่วณี นับถือศาสนาคริสต์ เนื่องด้วยกำพร้าแม่ตั้งแต่เด็กและเลี้ยงดูโดยย่า เธอจึงเป็นที่รักของย่าอย่างยิ่ง และเริ่มเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ตั้งใจจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยแต่มาชนะประกวดเสียก่อน เธอยังเล่าที่มาและประสบการณ์จากการประกวดว่า

“ที่จริงถูกหลอกมาประกวดนะ เพราะคุณหญิงข้างบ้านบอกจะให้ลูกสาวมาประกวดด้วย จะได้เดินเป็นเพื่อน แต่เอาเข้าจริงไม่ได้มา ปล่อยให้เราเดินคนเดียว ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้ตำแหน่ง ไม่เคยมีใครมาบอก พอได้ตำแหน่งแล้วเหนื่อยมาก แต่ก็ภูมิใจ รู้สึกเป็นเกียรติคือรู้สึกตัวเองเป็นผู้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล รางวัลเป็นเงิน 1 พันบาท หลังได้มารัฐบาลขอบริจาคหมด แต่มงกุฎกับถ้วยยังอยู่ เวลาได้รับเชิญไปไหนก็ไปกับญาติผู้ใหญ่ ภาระหน้าที่หลังได้ตำแหน่งมากมายจริงๆ อย่างมีการแข่งขันกีฬาตามสถาบันต่างๆ ก็ต้องไปเตะบอลเปิดการแข่งขัน เขามาขอถ้วยให้ทีมชนะก็ต้องให้ไป”

วณี สมรสกับนายแพทย์มานิตย์ สมประสงค์ ตั้งแต่อายุ 20 ปี ขณะที่เจ้าบ่าวของเธออายุ 33 ปี จบแพทยศาสตร์ศิริราช พิธีมงคลสมรสจัดที่วังปารุสกวัน เจ้าภาพคือพระยาพหลพลพยุหเสนา

เวลาล่วงเลยมาหลายทศวรรษ จนถึงปี พ.ศ. 2564 เฟซบุ๊ก Theptarin Hospital (โรงพยาบาลเทพธารินทร์) เผยแพร่ภาพและข้อความเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า

“โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ให้บริการฉีดวัคซีนรอบประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ ได้รับเกียรติจาก คุณวณี เลาหเกียรติ อดีตนางสาวสยามปี 2478 มารับบริการฉีดวัคซีน AstraZeneca ซึ่งปัจจุบัน คุณวณีอายุ 100 ปี”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ชีวิตรักของนางงามยุคคณะราษฎร จากเวที สู่ภริยาทูต-คุณนายเหล่าทัพ-ร่วมเชื้อพระวงศ์

คลิกอ่านเพิ่มเติม : นางงามไทย: จากใต้อำนาจรัฐสู่การรับใช้นายทุน


อ้างอิง:

กัญญ์วรา ศิริสมบูรณ์เวช. “นางงามไทย: จากใต้อำนาจรัฐสู่การรับใช้นายทุน, ใน” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2553.

อรสม สุทธิสาคร. ดอกไม้ของชาติ จากเวทีความงามสู่เวทีชีวิต อัลบั้มชีวิต 13 นางสาวไทยยุคแรก. รวมทรรศน์, 2533.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2564