ย้อนการต่อสู้เพื่อเอกราชของ “มาเลเซีย” จากสมัยอาณานิคม ถึงสภาพหลังได้เอกราช

มะละกา สมัย การปกครอง ดัตช์ 1 ใน รัฐต้นกำเนิด มลายู มาเลเซีย
มะละกาในสมัยอยู่ภายใต้การปกครองของดัตช์ ค.ศ. 1750

ย้อนการต่อสู้เพื่อเอกราชของ “มาเลเซีย” จากสมัย อาณานิคม ถึงสภาพหลังได้เอกราชจาก “อังกฤษ”

มลายูก่อนการเข้ามาของชาติอาณานิคม

ในช่วง 100 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงประมาณ ค.ศ. 1400 คาบสมุทรมลายูอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาฮินดู ต่อมาประมาณ ค.ศ. 1400-1511 ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาอิสลาม ดินแดนในคาบสมุทรมลายูได้มีการแบ่งออกเป็นรัฐต่าง ๆ ซึ่งแต่ละรัฐก็จะมีผู้ปกครองของตนเอง โดยรัฐที่สำคัญ คือ 2 รัฐทางตอนใต้ของคาบสมุทรมลายู ได้แก่ มะละกา และยะโฮร์

ผู้ที่ก่อตั้งมะละกา คือ เจ้าชายปรเมศวร มีเชื้อสายของราชวงศ์ไศเลนทร์ แห่งเมืองปาเล็มบัง อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยเดิม โดยใน ค.ศ. 1403 เจ้าชายปรเมศวรได้แต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นเจ้าเมืองมะละกา และได้ส่งทูตไปจีนใน ค.ศ. 1405 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการให้จีนยอมรับว่ามะละกาเป็นอาณาจักรอิสระ และก็ต้องการให้จีนช่วยต่อต้านอำนาจของสยาม ด้วยทำเลที่ตั้งและทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์จึงทำให้มะละกาเป็นดินแดนที่อาณาจักรต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ต่างหมายปอง

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 และต้นศตวรรษที่ 16 มะละกาได้ขยายเป็นจักรวรรดิ ซึ่งครอบครองพื้นที่ทั้งหมดของคาบสมุทรมลายูและบางส่วนของเกาะสุมาตรา มะละกาได้เปลี่ยนสถานภาพจากเมืองท่าเล็ก ๆ เป็นชุมทางการค้าการขนส่งทางทะเล และเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเข้ามาของชาติตะวันตก

หลังการล่มสลายของอาณาจักรมะละกาใน ค.ศ. 1511 จากการถูกรุกรานโดยโปรตุเกส ส่งผลให้มะละกาเป็นสถานีการค้า อาณานิคม แห่งใหม่ของโปรตุเกสในเอเชีย และนำมาสู่การเปิดการค้ากับศูนย์อำนาจอื่น ๆ ในภูมิภาค คือ สยาม พะโค ปาไซ และปัตตานี ต่อมา 130 ปีให้หลัง อํานาจของโปรตุเกสในมะละกาสิ้นสุดลง เมื่อฮอลันดาเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17

แต่กระนั้นฮอลันดาก็ยังไม่สามารถทําให้แหลมมลายูเป็นศูนย์กลางอํานาจทั้งทางการเมืองและการค้าของตนได้ จนกระทั่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 อังกฤษเข้ามามีบทบาทแทนที่ฮอลันดา โดยเริ่มจากการเช่าเกาะปีนัง หรือเกาะหมากจากสุลต่านรัฐเคดาร์ ใน ค.ศ. 1786 เพื่อเป็นท่าเทียบเรือและศูนย์กลางทางการค้าในบริเวณช่องแคบมะละกา 

เพื่อให้เกิดการแบ่งแยกอํานาจในการขยายอิทธิพลอย่างชัดเจน อังกฤษ และฮอลันดาจึงได้ทําข้อตกลงกันใน ค.ศ. 1824 โดยที่อังกฤษจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงดินแดนที่เป็นหมู่เกาะอินโดนีเซีย และฮอลันดาเองก็จะไม่แทรกแซงดินแดนบนแหลมมลายูเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ใน ค.ศ. 1826 อังกฤษจึงรวมดินแดนที่มีอยู่ในขณะนั้นสามแห่ง คือ ปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ ตั้งเป็นนิคมช่องแคบ (Straits Settlement) เพื่อสร้างความมั่นคงในการขยายอํานาจและการค้าของอังกฤษในบริเวณแหลมมลายูต่อไป

ท่าเรือ ที่ ปีนัง
ท่าเรือที่ปีนัง ในทศวรรษ 1910

มลายู ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

หลังจากอังกฤษเข้ามาครอบครองมลายูแล้ว อังกฤษไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของมลายูมากนัก ยังคงพยายามที่จะรักษาสถานะของสถาบันเดิมเอาไว้ ซึ่งการเข้ามาของอังกฤษส่งผลให้เศรษฐกิจของมลายูได้รับการพัฒนาให้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านการผลิตดีบุกและยางพารา ในขณะนั้นการจะทำเหมืองและสวนยางพารา จำเป็นต้องใช้แรงงาน ส่งผลให้มีชาวจีนและอินเดียหลั่งไหลเข้ามาในดินแดนนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้มีการแบ่งชนชั้นระหว่างเชื้อชาติ

หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีการต่อต้านอังกฤษ โดยเกิดขบวนการชาตินิยมและคอมมิวนิสต์จีนขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อในการรวมตัวกันเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตนเอง รวมไปถึงการมีบทบาททางการเมืองการปกครอง ซึ่งการร่วมมือกันในครั้งนั้นยึดโยงเอาความเชื่อมั่นในศาสนา เชื้อชาติ และภาษา มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและผูกพันกันในกลุ่ม 

ถึง ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกมาบุกมลายูโดยที่อังกฤษไม่ทันตั้งตัว ทำให้มลายูตกเป็นของญี่ปุ่นอย่างง่ายดาย และแม้ญี่ปุ่นจะพยายามดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเอาใจชาวพื้นเมือง เช่น ให้มีส่วนร่วมในการปกครอง แต่ก็ยังถูกชาวพื้นเมือง ชาวจีน และชาวอังกฤษ ต่อต้านอย่างหนัก เนื่องจากชาวมาเลย์เริ่มตระหนักถึงเรื่องเอกราชมากขึ้น อีกทั้งแนวความคิดเรื่องชาตินิยมก็ดูเหมือนจะถูกกระตุ้นเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

การได้รับเอกราชของมลายู

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษปกครอง อาณานิคม มลายูเข้มงวดกว่าเดิม แต่กลับถูกชาวพื้นเมืองต่อต้านอย่างรุนแรง จนต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่ โดยเน้นเอาใจชาวมาเลย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ายังคงไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากชาวพื้นเมืองมีความตื่นตัวทางการเมือง และหวังได้รับเอกราชอย่างแท้จริง

อังกฤษ พยายามเข้ามาแก้ไขสภาพเศรษฐกิจที่ทรุดโทรมให้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง ในส่วนการปกครองอังกฤษได้รวมเอา 9 รัฐในแหลมมลายูกับปีนังและมะละกามารวมเข้าด้วยกัน แล้วเรียกว่า สหภาพมลายู (Malayan Union) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 โดยมีเจ้าหน้าที่อังกฤษเป็นผู้ปกครอง มีสภาบริหารและสภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยเจ้าที่ให้มาเป็นผู้ช่วยราชการของสุลต่านในแต่ละรัฐ

การรวมรัฐต่าง ๆ เข้ารวมเป็นสหภาพมลายู เจอการคัดค้านจากหลายฝ่าย ชาวมาเลย์ได้ร่วมกันก่อตั้ง องค์การสหมาเลย์แห่งชาติขึ้น ใน ค.ศ. 1946 เพื่อต่อต้านสหภาพมลายู ทั้งนี้เพราะการปกครองในรูปแบบของสหภาพมลายูได้ลิดรอนสิทธิและสถานะของชาวมาเลย์ที่เคยมีมาก่อน ชาวมาเลย์ไม่พอใจที่จะให้ชาวจีนซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยในมลายูได้มีสิทธิเท่ากับพวกตนเอง

ขณะที่อีกพวกหนึ่ง คือ ชาวมาเลย์ที่ไม่ได้มีเชื้อสายมลายูแท้ ก็มีการรวมตัวในนามสหภาพประชาธิปไตยมลายู ถือเป็นพวกพรรคฝ่ายซ้าย ที่เสนอความเห็นว่า ระบบสหภาพมลายูไม่ใช่ระบบเสรีนิยม แต่เป็นระบบการใช้อำนาจอัตตาธิปไตยต่างหาก

ชาวบ้าน ชุมนุม ประท้วง ต่อต้าน สหภาพ มลายู
การประท้วงต่อต้าน สหภาพมลายู (Malayan Union)

ดังนั้น เมื่อได้รับการต่อต้าน อังกฤษจึงยกเลิกการปกครองแบบสหภาพมลายู และเสนอการปกครองให้เป็นแบบสหพันธ์รัฐ แต่ก็ยังถูกคัดค้านจากกลุ่มคนที่ไม่ใช่เชื้อสายมลายู โดยเฉพาะจีนคอมมิวนิสต์ เนื่องจากไม่ได้สิทธิเทียบเท่ากับชาวมาเลย์ จึงได้ก่อกบฏขึ้น อังกฤษจึงประกาศภาวะฉุกเฉิน และทำการปราบปราม

ในที่สุดอังกฤษจึงประกาศจัดตั้งสหพันธ์มลายูในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1948 ซึ่งมีลักษณะการปกครองที่รัฐบาลกลางซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ใหญ่ชาวอังกฤษ มีสภาบริหารที่มีทั้งข้าราชการและไม่ใช่ข้าราชการ และมีสภานิติบัญญัติที่คอยช่วยเหลือ            

รูปแบบการปกครองดังกล่าวได้กำหนดสิทธิความเป็นพลเมืองเอาไว้ว่า ชาวมาเลย์มีสิทธิเป็นพลเมืองโดยสมบูรณ์ ส่วนชนชาติอื่นจะเป็นพลเมืองได้ก็ต่อเมื่อเกิดในมลายู หรือหากอพยพเข้ามาก็ต้องอยู่มาไม่น้อยกว่า 15 ปี จึงจะขอสิทธิความเป็นพลเมืองถือสัญชาติมลายูได้ การดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดพลเมืองถือสัญชาติ 2 สัญชาตินั่นคือ สัญชาติมลายู และสัญชาติจีน หรือสัญชาติอินเดีย จึงทำให้กลายเป็นความขัดแย้ง

อังกฤษมีความกังวลเรื่องความแตกแยกในเรื่องเชื้อชาติและเอกภาพของชาติมลายู จึงลังเลที่จะให้เอกราชแก่มลายู ทำให้พรรค UMNO และพรรค MCA ต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้อังกฤษเห็นว่ามลายูจะไม่มีปัญหาเมื่อได้รับเอกราชแล้ว 

ใน ค.ศ. 1955 อังกฤษเปิดให้ชาวมาเลย์เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรก ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ตนกู อับดุลเราะห์มาน (Tunku Abdul Rahman) หัวหน้าพรรค UMNO ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และได้เริ่มทำการเจรจากับอังกฤษใน ค.ศ. 1956 โดยมีผู้แทนจากพรรคพันธมิตร และสุลต่านจากรัฐต่าง ๆ มาเข้าร่วมการประชุม และได้ข้อตกลงกันว่า มลายูจะได้เอกราชโดยอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษภายในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1957

มาเลเซีย หลังได้รับเอกราช

ตนกู อับดุล ระห์มัน นายกรัฐมนตรี คนแรก ของ มาเลเซีย
ตนกู อับดุล ระห์มัน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย (ภาพจาก wikipedia)

หลังจากที่มลายูได้รับเอกราชจากการเป็น อาณานิคม ใน ค.ศ. 1957 ต่อมาใน ค.ศ. 1963 มลายูได้รวมกับสิงคโปร์ ซาราวัก และซาบาห์จัดตั้งเป็นสหพันธรัฐมาเลเซียเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ และสิงคโปร์เองจะได้ไม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอีก

แต่ใน ค.ศ. 1965 สิงคโปร์แยกตัวออกมาเป็นประเทศอิสระ ด้วยเหตุผลเรื่องเชื้อชาติ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของสิงคโปร์นั้นเป็นชาวจีน

สังคมมลายูได้มีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ ประชาชนเชื้อสายมาเลย์อยู่อย่างมีเกียรติ เนื่องจากนโยบายที่ยังคงตำแหน่งสุลต่านและหัวหน้าหมู่บ้านเอาไว้ ส่งผลให้ชาวมาเลย์เข้าไปมีอำนาจในระบบราชการ

ในขณะที่ชาวจีนซึ่งถูกอังกฤษกีดกันไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและระบบราชการ กลับมีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจ กระทั่งสามารถกุมอำนาจด้านเศรษฐกิจเอาไว้ได้ จึงทำให้เกิดความหวาดระแวงในหมู่ชาวมาเลย์และชนชั้นนำ

ทั้งนี้เป็นเพราะชาวมาเลย์ไม่สามารถปรับตัวให้ก้าวทันระบบทุนนิยมที่เปลี่ยนแปลง จึงส่งผลให้ชาวมาเลย์นั้นยากจน ในขณะที่ชาวจีนและชาวอินเดียสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงและมีการจัดระบบสังคมของตนเอง จึงทำให้มีบทบาทในเศรษฐกิจ โดยชาวจีนสามารถสร้างความมั่งคั่งจากการค้าและอุตสาหกรรมที่พัฒนาอย่างรวดเร็วภายหลังการได้รับเอกราช จนกลายเป็นกลุ่มชนที่มีฐานะดีที่สุดในมลายู

ส่วนชาวอินเดียมีฐานะรองจากชาวจีน จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจและความคุกรุ่นในหมู่ชาวมาเลย์ ซึ่งสุดท้ายก็นำมาซึ่งการปะทะกันระหว่างชาวมาเลย์กับชาวจีน กระทั่งรัฐบาลต้องออกมาประกาศภาวะฉุกเฉิน และตั้งสภาปฏิบัติการแห่งชาติขึ้นมาปกครองแทน

จุดสำคัญที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติในมลายูนั้นเกิดเมื่อ ค.ศ. 1969 ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคฝ่ายค้านที่ชาวจีนสนับสนุน ในอดีตได้เพียง 2-5 ที่นั่ง แต่ครั้งนี้กลับได้เพิ่มขึ้นมากถึง 38 ที่นั่ง ทำให้ชาวจีนจำนวนมากออกมาเดินขบวนเพื่อแสดงความดีใจตามท้องถนนในเมืองใหญ่ เช่น กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง อลอร์สตาร์ อิโปห์ ซึ่งการแสดงออกของชาวจีนดังกล่าวเป็นไปอย่างคึกคะนอง มีการดื่มสุรา และกล่าววาจาถากถางเยาะเย้ยชาวมาเลย์

แม้ว่า ตนกู อับดุล ราห์มาน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าระวังและดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดเวลา แต่ความคึกคะนองของชาวจีนก็ไม่มีทีท่าสิ้นสุดลง แม้กระทั่งตำรวจที่มารักษาความปลอดภัยก็ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและชาวมาเลย์ที่อยู่ตามชุมชนต่าง ๆ ก็ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน

นายกรัฐมนตรี มาเลเซีย Tunku Abdul Rahman ประกาศอิสรภาพ ที่ สนามกีฬาเนการา
นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย Tunku Abdul Rahman ประกาศอิสรภาพของประเทศของเขาจากการปกครองของอังกฤษที่สนามกีฬาเนการา (Negara) (RESTRICTED TO EDITORIAL USE AFP PHOTO / National Archives of Malaysia / HO)

นอกจากการเดินขบวนก่อความเดือดร้อนและสร้างความไม่พอใจแก่ชาวมาเลย์แล้ว ยังมีการทะเลาะวิวาทหลายแห่งเกิดขึ้นทั่วกรุงกัวลาลัมเปอร์ จากความคึกคะนองของชาวจีนดังกล่าวทำให้สมาชิกพรรค UMNO รวบรวมสมาชิกออกมาเดินขบวนเช่นกัน เหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นการจลาจลลุกลามบานปลายไปตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศมาเลเซีย ชาวมาเลย์ ชาวจีนได้ปะทะกันเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน คือระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1969

เหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศรวมกันประมาณ 196 คน รถยนต์ถูกเผามากกว่า 300 คัน มีผู้ถูกคุมขังมากกว่า 5,000 คน บ้านเรือนและอาคารที่ทำการถูกเผามากกว่า 500 หลัง นับว่าเป็นกรณีจลาจลชนชาติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย

หลังเหตุการณ์จลาจล รัฐบาลมาเลเซียได้ศึกษาวิเคราะห์สาเหตุที่นำไปสู่การจลาจล ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างเชื้อชาติ เป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวมาเลย์ จนนำไปสู่ความเกลียดชังและการนิยมใช้ความรุนแรงต่อคนเชื้อชาติอื่น อีกทั้งการแสดงออกที่ไม่มีข้อจำกัดของนักการเมืองและสื่อมวลชนก็เป็นอีกหนึ่งฉนวนที่นำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ตน อับดุล ราซัค (Tun Abdul Razak) จึงได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งทางเชื้อชาติ

ซึ่งมาตราการดังกล่าว ได้แก่ การห้ามอภิปราย วิจารณ์ หรือถกเถียงเรื่องละเอียดอ่อนทางเชื้อชาติ อาทิ ฐานะและอำนาจของสุลต่าน การใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ การประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ สิทธิพิเศษของชาวมาเลย์ เป็นต้น ผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิด แม้กระทั่งการอภิปรายในรัฐสภาก็ทำไม่ได้ และมาตรการอีกหนึ่งข้อ คือ การจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน การเสนอข่าวสารของสื่อแขนงต่าง ๆ ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวัฒนธรรมของต่างประเทศที่เข้ามามาเลเซียจะต้องถูกตรวจสอบและวางเงินประกันก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ

แม้ว่ารัฐบาลจะดําเนินนโยบายต่าง ๆ อย่างจริงจัง แต่การกระทำดังกล่าวกลับยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมทางสังคมนั้นขยายออกไปอีก ส่งผลให้สถานการณ์เริ่มเลวร้ายลงเรื่อย ๆ และกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติในที่สุด ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากความไม่พอใจของชาวมาเลย์พื้นเมืองที่ไม่มีโอกาสร่ำรวยและเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ จึงต่อต้านธุรกิจการลงทุนของชาวจีนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ส่วนชาวจีนเองก็ไม่พอใจในการพยายามครอบงําธุรกิจต่าง ๆ ของพรรค UMNO ที่มีลักษณะเป็นเศรษฐกิจแบบชาตินิยมที่ให้ความสําคัญเฉพาะชาวมาเลย์เท่านั้น

จากนโยบายดังกล่าวส่งผลให้สถานะของชาวจีนตกอยู่ในสถานะคนชนชั้นสอง ไม่สามารถมีพื้นที่ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมหรือมีสิทธิที่เท่าเทียมกับชาวมาเลย์ เป็นการแสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมถึงแม้จะมีการเรียกร้องแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้ระบุสิทธิของชนพื้นเมืองไว้อย่างชัดเจน จึงเป็นการยากที่ชาวจีนจะไปแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญ เพราะชาวจีนไม่ได้เป็นชนพื้นเมืองเป็นเพียงคนที่อพยพเข้ามาอาศัยเท่านั้น

ปัจจุบันมาเลเซียสามารถแก้ปัญหาเรื่องชนชาติได้ หากแต่การแก้ปัญหานั้นไม่ได้นำมาซึ่งความเสมอภาคแก่ทุกฝ่าย แต่เป็นการกดให้อีกเชื้อชาติกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง และอีกเชื้อชาติหนึ่งได้รับสิทธิพิเศษที่มากกว่าโดยใช้เกณฑ์ที่เรียกว่า ภูมิปุตรา ที่แปลว่าลูกของแผ่นดิน คือ การสนับสนุนชาวมาเลย์ดั้งเดิมให้มีสิทธิเหนือกว่าคนเชื้อชาติอื่น ดังนั้น การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงไม่ทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกัน รวมไปถึงความสมานฉันท์ที่แท้จริงขึ้นมาได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อาณัติ อนันตภาค. (2557). “ประวัติศาสตร์มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์”. สถานที่พิมพ์: ยิปซี สำนักพิมพ์.

เรวัตร หินอ่อน. “นโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อภูมิบุตร: มาเลเซียใต้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy) ค.ศ. 1971-1990” สืบค้นวันที่ 16  มิถุนายน 2564, http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOH/article/download/6601/6224

บาร์บารา วัตสัน อันดายา; และ ลีโอนาร์ด วาย. อันดายา. (2549). “ประวัติศาสตร์มาเลเซีย. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์”. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์.

ไรอัน, เอ็น. เจ. (2526). “การสร้างชาติมาเลเซียและสิงคโปร.์ แปลโดย. ม.ร.ว. ประกายทองสิริสุข”. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

อัฟฟาน ตุลย์ศักดิ์. 2557. “ความเท่าเทียมทางสังคมและชาติพันธุ์ในมาเลเซีย (กรณีศึกษานโยบายภูมิปุตรากับคนจีน)”. 

ประชาไท. สืบค้นวันที่ 17 มิถุนายน 2564, https://prachatai.com/journal/2014/05/53364

ภูมิ พิทยา. 2559. “ในมาเลเซีย ปัญหาชนชาติจีน-มลายู-อินเดีย นำสู่จลาจลครั้งรุนแรง”. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นวันที่ 17 มิถุนายน 2564, https://www.matichonweekly.com/scoop/article_9840


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2564