ต้นตอตำนาน “โลกิ” เทพนอร์สผู้แปลงได้ทั้งเพศและรูปโฉม ไฉนถึงขั้นเคย “คลอดลูก” ?

(ซ้าย) ตัวละคร โลกิ รับบทโดย ทอม ฮิดเดิลสตัน ในตัวอย่างภาพยนตร์ Thor: The Dark World ดัดแปลงจากคอมิกของ Marvel ภาพจาก YouTube/Marvel Entertainment (ขวา) ภาพวาด โลกิ ในเอกสารบันทึกกลุ่มชนนอร์ดิก (ยุโรปทางเหนือ) ราวศตวรรษที่ 18 จาก Wikimedia Commons (ไฟล์ public domain)

เทพปกรณัมนอร์ส เป็นตำนานเทพเจ้าแถบตอนเหนือของทวีปยุโรป เป็นตำนานเชิงศาสนาของชนพื้นถิ่นดั้งเดิม ผู้คนส่วนใหญ่รู้จัก โลกิ (Loki) ในนามเทพเจ้าผู้หลอกลวง บางตำนานบอกว่าโลกิเป็นบุตรของฟาโบติ (Fárbauti) บิดาของโลกิ ถูกจัดว่าเป็นกลุ่ม Jötnar หรือ “ยักษ์” และมารดาคือลอเฟย์ (Laufey) เป็นกลุ่ม Æsir เทพเจ้า

ในบางตำนานไม่ได้กล่าวถึงโลกิในฐานะลูกของโอดิน แต่เป็นเทพที่อยู่ควบคู่กับเทพโอดิน (Odin) และธอร์ (Thor)

Advertisement

ต้นตอของเรื่อง “โลกิ”

นักวิชาการบางคนมองว่า จุดเริ่มของโลกิในฐานะเทพนอร์ส เริ่มจากเทพแห่งไฟ โดยมองว่า โลกิเหมือนไฟที่มีทั้งคุณและโทษ (Nancy Marie Brown อ้างถึงใน Sarah Durn, 2021) นักวิชาการบางคนก็บอกว่า “Loki” มาจากคำว่า “knot” หรือ “tangle” ที่แปลว่า “ปม” หรือ “ความยุ่งเหยิง”

ในตำนานได้มีการบรรยายลักษณะของเทพเจ้าโลกิว่าเป็นคนรูปงาม มีสติปัญญา แต่ชอบกลั่นแกล้งผู้คน และมักทำอะไรเกินเลยจนทำให้เกิดปัญหา ซึ่งครั้งหนึ่งก็เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมหาสงคราม “แร็กนารอค” (Ragnarok)

เป็นที่ทราบกันว่าเรื่องราวเกี่ยวกับเทพนอร์สปรากฏในรูปแบบหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกๆ ในช่วงศตวรรษที่ 13 โดยตำนานเทพนอร์สปรากฏหลักฐานที่เป็นบันทึกอยู่ 2 เวอร์ชั่น คือ Poetic Edda และ Prose Edda

Poetic Edda เป็นบันทึกรวบรวมกวีนอร์สที่ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง ส่วนใหญ่แล้วรวบรวมมาจากบันทึกของพวกกลุ่มชนไอซ์แลนด์ ที่ใช้ภาษาซึ่งเรียกว่า Islandic ช่วงยุคกลาง เรียกกันว่าบันทึก Codex Regius

Prose Edda เป็นหนังสือรวบรวมบทกวีซึ่งเขียนโดย Snorri Sturluson

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ “โลกิ” โดยส่วนใหญ่แล้ว ข้อมูลของ “โลกิ” ซึ่งคนรับรู้กันมาจากแหล่งข้อมูลในยุคกลาง (Medieval) ขณะที่สถานะของโลกิในบริบทพื้นที่ของสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) ก่อนยุคอิทธิพลของคริสเตียนจะเข้ามานั้นไม่ค่อยปรากฏข้อมูลที่ชัดเจน

แนนซี่ มารี บราวน์ (Nancy Marie Brown) นักวิชาการผู้ศึกษาวัฒนธรรมไวกิ้งและนักเขียนหนังสือเกี่ยวกับบทเพลงและตำนานนอร์ส ให้สัมภาษณ์กับ Gizmodo โดยมองว่า เรื่องราวเกี่ยวกับโลกิที่คนส่วนใหญ่รับรู้ล้วนมาจากผลงานของ Snorri Sturluson นักประวัติศาสตร์โบราณซึ่งตัวผู้เขียนกวีคนนี้เองก็มีประวัติโชกโชนไม่เบาในแง่เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ

แนนซี่ มารี บราวน์ อธิบายเพิ่มว่า เมื่อพวก “ไวกิ้ง” เปลี่ยนศาสนา ตำนานเทพนอร์สเริ่มเลือนลางไปตามเวลา กระทั่งในทศวรรษ 1600s บันทึกต่างๆ รวมถึง Poetic Edda และ Prose Edda เริ่มมีผู้นำไปแปลมากขึ้น

การใช้วัฒนธรรมนอร์ส

ส่วนปัจจัยที่ทำให้เรื่องราวตำนานเหล่านี้ได้รับความนิยม ในมุมมองของแนนซี่ บราวน์ เธอคิดว่า ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดชาตินิยม เธอให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Gizmodo ตอนหนึ่งว่า

“ช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 1800s เริ่มปรากฏแนวคิดว่าสิ่งที่จะทำให้ชาติหนึ่งแตกต่างจากชาติอื่นๆ คือมรดกทางวัฒนธรรม”

นักวิชาการรายนี้มองว่า นั่นทำให้พี่น้องกริมม์ (Jacob Ludwig Karl Grimm และ Wilhelm Carl) ไปรวบรวมเรื่องราวต่างๆ เพื่อพิสูจน์ว่าเยอรมนีเป็นชาติ ไม่ใช่การรวมตัวกันของรัฐ เธอกล่าวเสริมว่า

“สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับไอร์แลนด์ เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาต่างจากอังกฤษ และมีสิ่งเดียวกันนี้เกิดกับไอซ์แลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน และเดนมาร์ก”

ตัวอย่างที่นักวิชาการหยิบยกมากล่าวถึงคือกรณีของนาซีซึ่งใช้ “ตำนานนอร์ส” เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางวัฒนธรรมเพื่ออ้างถึงความเหนือกว่าของอารยัน (Aryan)

ในสหรัฐฯ ก็ปรากฏการใช้วัฒนธรรมยุคกลางเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยประกอบร่างสร้างตัวตนภายหลังสงครามกลางเมืองสร้างความเสียหายอย่างหนัก คริส บิชอป (Chris Bishop) ซึ่งศึกษาเรื่องการใช้วัฒนธรรมจากยุคกลางในบริบทสังคมอเมริกันและผู้เขียนหนังสือ Medievalist Comics and the American Century ให้สัมภาษณ์กับสื่อดังไว้ว่า “ยุคกลาง” คือสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความงดงามในตัวปัจเจกบุคคล (นึกถึงอัศวินที่ท่องเที่ยวผจญภัย จนถึงโรบิน ฮู้ด) นำมาสู่การตีความแปลงสารในแบบแนวคิด Exceptionalism (แนวคิดว่า บุคคล, ประเทศ หรือระบอบการเมืองของตัวเองมีข้อยกเว้นให้แตกต่างจากประเทศอื่นหรือแม้กระทั่งเหนือกว่าประเทศอื่น) น่าเคารพยกย่อง และมีความเป็นคริสเตียน

แวดวงวิชาการเรียกการใช้ “ยุคกลาง” หรือการรวบรวมผสมผสานประยุกต์สิ่งที่เป็น “ยุคกลาง” ขึ้นมาใหม่ว่า Medievalism ซึ่งในสังคมอเมริกันก็นิยมกระบวนการดังกล่าวนี้มากในยุคศตวรรรษที่ 19 เมื่อมาถึงในปีค.ศ. 1937 วงการ “คอมิก” (Comic) นำเรื่องราวเกี่ยวกับยุคกลางมาใช้ในผลงานชื่อ Prince Valiant มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับตำนานกษัตริย์อาร์เธอร์ ภายหลังจากนั้นก็มีคอมิกหลายชิ้นนำเทพโอดิน, ธอร์ และโลกิมาใช้ในผลงาน

และในปี 1962 แสตน ลี (Stan Lee) และแลร์รี่ ไลเบอร์ (Larry Lieber) นำ “โลกิ” มาใช้ในผลงาน Journey into Mystery #85 ซึ่งเล่าถึงโลกิ ในสถานะทั้งมิตร, ศัตรู, พี่น้อง(บุญธรรม) ของเทพธอร์

เวลาต่อมา เมื่อเทพธอร์ ฉบับคอมิกของ “มาร์เวล” (Marvel) ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ โลกิ ซึ่งถือเป็นคู่รักคู่แค้นก็มาปรากฏตัวด้วย น่าสนใจที่ โลกิ ฉบับภาพยนตร์ของมาร์เวล ที่ได้ทอม ฮิดเดิลสตัน (Tom Hiddleston) รับบทได้รับความสนใจจากแฟนอย่างล้นหลามจนมีซีรีส์เป็นของตัวเองในชื่อ Loki ฉายเฉพาะช่องทางสตรีมมิงของ Disney+

คลิกอ่านเพิ่มเติม : กำเนิด “การ์ตูน” จากของที่ระลึกในลานประหาร สู่ยุคฮีโร่มาร์เวล-ดีซี

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ซุปเปอร์ฮีโร่” เทพยุคใหม่ ท้าทายศรัทธาเดิม พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของ อเวนเจอร์-โดเรมอน

ครอบครัวของโลกิ

โลกิ ในตำนานนอร์สมีภรรยาคนแรกนามว่า อังกรูโบดา (Angrboda) เป็นยักษ์ มีบุตรด้วยกัน 3 คนได้แก่

บุตรชายคนโต คือหมาป่าเฟนเรียร์ (Fenrir) ที่ตามตำนานเล่าว่าสามารถกลืนกินโลกทั้งใบได้ด้วยการกัดเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ Fenrir ยังเป็นคนที่ฆ่า Odin อีกด้วย

บุตรชายคนรอง คือ งูยักษ์จอร์มุงกันด์ (Jormungand) ที่สามารถพันรอบโลกได้และยังมีเลือดที่มีพิษร้ายแรง ตามตำนานเล่าว่าเมื่อธอร์สังหารจอร์มุงกันด์สำเร็จ หลังจากนั้นไม่กี่วินาที ธอร์ก็ตายเพราะพิษของงูยักษ์

บุตรสาวคนสุดท้าย คือ เฮลาหรือเฮล (Hel) เป็นผู้ดูแลโลกแห่งความตายที่เรียกว่านรกหรือเฮลไฮล์ม (Helhiem) เป็นผู้ที่อยู่เหนือความตายทั้งปวง เชื่อกันว่าเฮลมีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว ครึ่งหนึ่งเป็นร่างมนุษย์ ส่วนอีกครึ่งเป็นร่างของซากศพเน่าเละเทะ

จุดเริ่มต้นของมหาสงคราม Ragnarok

ในตำนานนอร์สกล่าวว่า โอดินเห็นคำทำนายจากน้ำพุแห่งปัญญาว่าบุตรทั้ง 3 ของโลกิจะนำมาซึ่งหายนะมหาสงคราม Ragnarok

เพื่อป้องกันมิให้คำทำนายนั้นเป็นจริง โอดินจึงมีบัญชาให้จัดการกับบุตรทั้งสามของโลกิ โดยสั่งให้โยนจอร์มุงกันด์ ลงไปในมหาสมุทร ส่งเฮลลา ไปอยู่ในขุมนรก และให้เหล่าคนแคระพันธนาการเฟนเรียร์ ไว้ด้วยโซ่วิเศษ

ด้วยเหตุนี้ทำให้โลกิเกิดความเคียดแค้น จึงวางแผนสังหารเทพบัลเดอร์ (Baldur) โอรสของโอดินและเทพเจ้าฟริกก์ (Frigg)

บัลเดอร์ เทพเจ้าแห่งความดี บุตรชายของโอดินและฟริกก์เทพเจ้าแห่งแสงสว่างและความบริสุทธิ์ เคยมีผู้ทำนายล่วงหน้าว่าเขาจะตายกะทันหัน ดังนั้นเทพเจ้าฟริกก์ผู้เป็นแม่ จึงไปอ้อนวอนต่อพลังธรรมชาติทุกแห่งเพื่อไม่ให้มีสิ่งใดทำอันตรายลูกตัวเองได้ แต่ทว่าโลกิได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมของตนไปล้วงความลับมาว่าเทพเจ้าฟริกก์ไม่ได้ไปขอพรจากต้น Mistletoe เพราะมองว่าอ่อนเกินไป ทำอันตรายลูกตนไม่ได้อยู่แล้ว

ดังนั้นโลกิจึงสร้างลูกธนูที่ทำมาจากต้น Mistletoe แล้วหลอกให้ Hod (หรือ Höðr) เทพเจ้าแห่งความมืด พี่ชายตาบอดของเทพเจ้าบัลเดอร์ยิงลูกธนูใส่น้องชายตนเอง จึงทำให้เทพบัลเดอร์ตายในทันที

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้โลกิถูกขับไล่ออกจากแอสการ์ดและถูกพันธนาการไว้กับก้อนศิลา ให้งูพิษที่อยู่เหนือศีรษะค่อยๆหยดพิษใส่ใบหน้าของเขาอยู่ตลอดเวลา ทำให้โลกิดิ้นทุรนทุรายด้วยความทรมาน

นอกจากนี้ โอดินยังลงโทษโลกิ โดยการทำให้วาลี (Vali) บุตรของโลกิที่เกิดจากภรรยาอีกคนกลายเป็นหมาป่าและฉีกร่างน้องชายต่างมารดานามว่า นาร์ฟี (Narfi) ที่เกิดจากโลกิกับซิกจิน (Sigyn) โดยอวัยวะภายในของนาร์ฟี ถูกนำมาใช้ล่ามโลกิไว้กับก้อนหิน เพื่อเป็นการเอาคืนที่โลกิฆ่าบุตรชายของเขา

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของมหาสงคราม Ragnarok เป็นสงครามที่ทำลายล้างเหล่าเทพเจ้า

“เทพเจ้าโลกิ” เคยตั้งครรภ์?

โลกิเป็นผู้ชาย แล้วเขาจะตั้งครรภ์ได้อย่างไร ผู้อ่านหลายคนอาจจะรู้สึกสงสัยในประเด็นนี้ ในตำนานเทพปกรณัมนอร์ส ไม่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงรูปร่างภายนอก เพศของโลกิก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วย กล่าวคือเขามีทั้งความเป็นพ่อและความแม่ ดังเช่นใน Prose Edda เนื้อเรื่องส่วนที่เรียกว่า The Beguiling of Gylfi หรือ Gylfaginning โลกิเปลี่ยนตัวเองเป็นม้าตัวเมียเพื่อล่อลวงม้าตัวผู้ชื่อ สวาดิลฟารี (Svadilfari) อันแข็งแกร่ง

สาเหตุที่ทำให้โลกิต้องแปลงเป็นม้าตัวเมียเนื่องจากตำนานตอนเริ่มต้นสร้างโลกมีชายคนหนึ่งเสนอเทพเจ้าที่จะสร้าง “วัลฮาลลา” (Valhalla) ซึ่งก็คือโถงของดินแดนในจินตนาการที่เล่ากันว่ามีประตูถึง 540 บาน โดยจะใช้เวลาในการสร้างเพียงสามฤดูกาล แลกกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และหัตถ์ของเทพธิดา Freya เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน

เทพเจ้ารู้สึกว่าเป็นราคาที่แพงเกินไป ดังนั้นพวกเขาจึงยื่นข้อเสนอว่า หากชายผู้นั้นสามารถสร้าง Valhalla ให้เสร็จภายในฤดูกาลเดียวโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากใครเลย เขาจะได้รับค่าตอบแทนตามที่เขาเรียกร้อง ขณะที่ชายผู้นั้นได้ยื่นเงื่อนไขข้อเดียวคือให้ม้าตัวผู้ของเขาชื่อสวาดิลฟารี เป็นผู้ช่วย ด้วยการโน้มน้าวของโลกิ ข้อเสนอนี้จึงเป็นที่ตอบรับ

เวลาผ่านไปจนกระทั่งมาถึงวันสุดท้ายของฤดูกาล งานส่วนใหญ่รอบ Valhalla ที่ทำโดยม้าสวาดิลฟารีนั้นใกล้จะเสร็จแล้ว เทพเจ้าทั้งหลายเกิดความกังวลและกล่าวโทษโลกิ พร้อมสั่งให้หาทางไปทำให้เป็นโมฆะ มิเช่นนั้นโลกิจะต้องได้รับโทษตายด้วยวิธีอันสยดสยอง ด้วยความหวาดกลัว โลกิจึงรับปากเทพ

โลกิได้แปลงร่างเป็นม้าตัวเมียที่สวยงามไปล่อม้าสวาดิลฟารีเพื่อถ่วงเวลา ไม่ให้สร้างกำแพงของวัลฮัลลาสำเร็จตามข้อตกลง และในคืนนั้นม้าสวาดิลฟารี ก็วิ่งตามสิ่งล่อลวงไปทั้งคืนจนนักสร้างไม่ได้ทำงานต่อในคืนนั้น

และคืนนั้นเองส่งผลทำให้โลกิ “ให้กำเนิด” ออกมาเป็น “ลูกม้าแปดขา” ที่เรียกว่า “สไลป์เนียร์” (Sleipnir) ตามตำนานบอกว่าโลกิได้ยกม้า “สไลป์เนียร์” ที่เกิดจากม้าสวาดิลฟารีให้กับโอดิน ซึ่งสไลป์เนียร์เป็นม้าที่ดีที่สุดทั้งในโลกมนุษย์และเทพ สามารถเดินทางระหว่างเก้าโลกในจักรวาลนอร์สได้

“โลกิ” เป็นวายร้ายหรือไม่?

จะเห็นได้ว่า ในตำนาน โลกิมีพฤติกรรมเสมือนเป็นวายร้าย หลายครั้งที่เขาใช้ความสามารถในการแปลงร่างเป็นสิ่งต่าง ๆ หลอกลวงผู้อื่นบอกความลับ และใช้เล่ห์กลจนนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ

โลกิ อาจไม่ใช่เทพที่ดีนัก แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเลวร้ายเต็มขั้นโดยสมบูรณ์ เมื่อเขาสร้างปัญหา หลายครั้งที่เขาจะรับผิดชอบและแก้ไขมัน อาทิ ตอนที่โลกิแอบไปตัดผมของซีฟ ภรรยาของธอร์ จนนางเสียใจมาก โลกิเลยไปขอให้คนแคระดำช่วยทำวิกผมใหม่ และขอให้ช่วยทำของวิเศษเพื่อขอขมาเหล่าเทพเจ้า

สำหรับผู้เขียนมองว่า เทพเจ้าโลกกิไม่ใช่ผู้ร้ายเต็มขั้นโดยสมบูรณ์ บางครั้งก็ถูกบีบให้ทำพฤติกรรมแบบ “ผู้ร้าย”

มีหลายครั้งที่โลกิใช้ความสามารถในการแปลงกายช่วยเหลือเหล่าเทพเจ้า อาทิ แปลงร่างเป็นม้าตัวเมีย และปลอมตัวเป็นสาวใช้เพื่อช่วยธอร์ ตามหาค้อน “มโยล์เนียร์” แต่เทพเจ้าเหล่านั้นกลับปฏิบัติต่อโลกิและลูก ๆ ของเขาอย่างศัตรูและดูถูกเขา อีกทั้งยังหลอกใช้ความสามารถของโลกิเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง

ดังนั้น การกระทำของเหล่าเทพเจ้ามีส่วนส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมของโลกิด้วย โดยค่อย ๆ เปลี่ยนจากพันธมิตรเป็นศัตรู ความลื่นไหลแปรผันในตัวตนของโลกิ จึงมาจากหลายเหตุผล หลายรูปแบบประกอบกันมากกว่าจะเกิดจากความชั่วร้ายภายในตัวเองโดยสมบูรณ์เพียงอย่างเดียว


อ้างอิง

Apel, Thomas . “Loki”. Mythopedia. Retrieved June 12, 2021.<https://mythopedia.com/norse-mythology/gods/loki/>

Durn, Sarah. “How Loki Shapeshifted From Nordic Folklore to a Marvel Icon”. Gizmodo. Online. Published 1 JUN 2021. Access 14 JUN 2021. <https://gizmodo.com/how-loki-shapeshifted-from-nordic-folklore-to-a-marvel-1846953783>

Grammaticus, Saxo. The History of the Danes. Book VIII, 1905.

Loki Norse mythology. Britannica. Online. Access 14 JUN 2021. <https://www.britannica.com/topic/Loki>

Scott, Jess. “Loki: The Story of the Trickster God”. Life in Norway. Online. Retrieved June 12, 2021. <https://www.lifeinnorway.net/loki-norse-mythology/>

Skjalden. 2020. “Loki”. Nordic Culture. Retrieved June 12, 2021, <https://skjalden.com/loki/>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2564