ปัญหา “สลาฟ” ในคาบสมุทรบอลข่านที่รัสเซียหนุน สาเหตุหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 1

ภาพถ่ายของ อาร์ชดยุก ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ขณะเสด็จออกจากหอประชุม ไม่นานก่อนที่พระองค์พร้อมพระชายาจะถูกลอบปลงพระชนม์ในกรุงซาราเยโว เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 อันเป็นเหตุนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (AFP PHOTO)

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2560 ไกรฤกษ์ นานา เขียนบทความเรื่อง “100 ปีที่ไร้ซาร์ ตอนที่ 1 ‘ภาพที่หายไป’ ของซาร์นิโคลัสที่ 2” ซึ่งตอนหนึ่งในบทความนี้ กล่าวถึงปัญหาชาตินิยมของพวกสลาฟในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งมีรัสเซียสนับสนุนและให้ท้าย จนเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างซาร์นิโคลาสที่ 2 กับพระประยูรญาติ และนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

การยึดติดกับความเชื่อที่ว่ารัสเซียเป็นผู้ปกป้องชาวสลาฟเพราะชาวรัสเซียก็เป็นชาวสลาฟเหมือนกัน มีชาติกำเนิดเดียวกัน กลายเป็นความขัดแย้งกับนโยบายต่างประเทศของรัสเซียเอง ที่ต้องการสร้างสันติภาพและภราดรภาพในหมู่ประเทศมหาอำนาจด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเผ่าพันธุ์เยอรมัน ซึ่งครอบครัวปัจจุบันของซาร์นิโคลาสที่ 2 ก็ผูกพันอยู่ด้วยอย่างสนิทสนมกับพระประยูรญาติฝ่ายพระมเหสี ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวเยอรมัน [6]

ชาวโครแอต (Croat) และชาวเซิร์บ (Serb) ซึ่งเป็นชนชาติสลาฟเข้ารับราชการในกองทัพและสวามิภักดิ์ต่อจักรวรรดิออสเตรียได้ แต่การเข้ามามีบทบาทของรัสเซียในหมู่ชนชาติสลาฟก็นับเป็นภัยต่อความมั่นคงของออสเตรีย เพราะก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมและความเคลื่อนไหวในชนชาติสลาฟเพื่อจัดตั้งประเทศอิสระและปกครองตนเอง

นับแต่ทศวรรษ 1830 เป็นต้นมา รัสเซียได้เข้าไปมีอิทธิพลเหนือดินแดนบนคาบสมุทรบอลข่าน (ซึ่งปกครองโดยจักรวรรดิออตโตมันหรือตุรกีในยุคนั้น – ไกรฤกษ์ นานา) มากยิ่งขึ้น และได้ทำตัวเป็นผู้พิทักษ์จักรวรรดิออตโตมันซึ่งปกครองดินแดนของชาวสลาฟมากมาย มีอาทิ พวกรัสเซียน พวกยูเครเนียน พวกเบลารูเซียน 3 กลุ่ม คือ ชาวสลาฟตะวันออกอาศัยอยู่ในประเทศรัสเซีย ยูเครน และเบลารุส

ส่วนชาวสลาฟตะวันตก ได้แก่ พวกโปลส์ พวกเช็กพวกสโลวัก และพวกเวนส์ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศโปแลนด์ เช็กและสโลวาเกีย กลุ่มสุดท้ายคือชาวสลาฟใต้ ได้แก่ พวกเซิร์บ พวกโครแอต พวกสโลวีน และพวกบัลแกเรียน ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศเซอร์เบีย โครเอเชีย สโลวีเนีย และบัลแกเรีย

ชาวสลาฟจึงเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรบอลข่านและจากการที่รัสเซียมีอุดมการณ์รวมกลุ่มสลาฟ (Pan-Slavism) ยิ่งเป็นเชื้อไฟให้ชาวสลาฟทั่วไปซึ่งผูกพันอยู่กับรัสเซียทางเชื้อชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หันมาซุกปีกพญาอินทรี 2 หัว (คือรัสเซีย) ตลอดมา รัสเซียเองก็ทำหน้าที่ผู้คุ้มครองพี่น้องชาวสลาฟได้ดีเยี่ยม จนบางครั้งก็มากเกินไป

ชาวสลาฟทั่วบอลข่านจึงได้ใจ และลุกฮือขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิ์การรวมชาติของตนเองอยู่เนืองๆ สร้างความปั่นป่วนให้ต้นสังกัดอย่างออสเตรีย ตุรกี และ กรีก อันจะกลายเป็นสาเหตุหลักของการประกาศสงครามของรัสเซียต่อเผ่าพันธุ์เยอรมัน (คือเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี)

ชาวสลาฟจึงเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรบอลข่าน และการที่รัสเซียมีอุดมการณ์รวมกลุ่มสลาฟ (Pan-Slavism) ยิ่งเป็นเชื้อไฟให้ชาวสลาฟทั่วไปซึ่งผูกพันอยู่กับรัสเซียทางเชื้อชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ชาวสลาฟทั่วบอลข่านจึงได้ใจ และลุกฮือขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิ์การรวมชาติของตนเองอยู่เนืองๆ สร้างความปั่นป่วนให้ต้นสังกัดอย่างออสเตรีย ตุรกี และกรีก อันจะกลายเป็นสาเหตุหลักของการประกาศสงครามของรัสเซียต่อเผ่าพันธุ์เยอรมัน (คือเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี)

การยึดติดกับอำนาจและชาติกำเนิดของซาร์สร้างความสับสนให้สังคมทั่วไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นจุดอ่อนของราชสำนักโรมานอฟและเป็นสาเหตุหลักของการฉวยโอกาสโค่นล้มราชบัลลังก์ของมือที่สาม [1]…

ช่วงเวลาที่ประชาชนยังลังเลและสับสนนี้เองนักปลุกระดมชื่อ วลาดีมีร์ เลนิน ผู้นำกลุ่มลัทธิมาร์กซ์พลัดถิ่นได้เสนอแนวความคิดในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งแยกตัวออกมาจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย เรียกชื่อใหม่ว่าพรรคบอลเชวิก (Bolsheviks) เพื่อยกฐานะชนชั้นกรรมาชีพในรัสเซีย เลนินมีนโยบายประชานิยมที่ยกระดับความเป็นอยู่ของกรรมกรและผู้ยากไร้ให้ดีขึ้น ในขณะที่ภาพลักษณ์ของซาร์ค่อยๆ เลือนหายไปจากความนึกคิดของประชาชน

บอลเชวิกเป็นกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองรุนแรง มีจุดมุ่งหมายที่จะล้มล้างการปกครองระบอบซาร์ในรัสเซียและสถาปนาระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ขึ้นแทน เลนินรับเอาทฤษฎีการเมืองของ คาร์ล มาร์กซ์ ที่เขียนไว้ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์มาใช้โดยเฉพาะทฤษฎีที่ว่าด้วยสงครามระหว่างชนชั้น อันเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ

นอกจากนี้ เลนินยังเชื่อในความคิดที่ว่าการปฏิวัติของชนชั้นโดยการเปลี่ยนชนชั้นปกครองจะแก้ปัญหาเรื้อรังของสังคมได้ [7]

ในระยะเดียวกันนี้ปัจจัยจากภายนอกประเทศโดยเฉพาะปัญหาชาตินิยมของพวกสลาฟในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งมีรัสเซียสนับสนุนและให้ท้าย กดดันให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรัสเซียกับออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนีซึ่งสนับสนุนออสเตรีย-ฮังการีตึงเครียดขึ้นใน ค.ศ. 1913-14

ความขัดแย้งดังกล่าวจะฉุดดึงให้เยอรมนี ซึ่งเป็นพระประยูรญาติทางฝ่ายพระมเหสีของซาร์ (ไกเซอร์วิล เฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี เป็นพระเชษฐาของซารีนา อเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา- ผู้เขียน) จึงเป็น “พี่เมีย” ของซาร์ และยังเป็น “ลูกพี่ลูกน้อง” กับซาร์ทางฝ่ายพระราชชนนีอีกด้วย (ทั้งไกเซอร์และซาร์มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ–ไกรฤกษ์ นานา) เป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เด็ก เป็นหนุ่มด้วยกัน เติบโตมาด้วยกัน แต่ก็ต้องแตกคอกันเพราะปัญหาชาติกำเนิด ฝ่ายหนึ่งเป็นชาวเยอรมัน อีกฝ่ายหนึ่งเป็นสลาฟ

สงครามที่จะเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1914 จึงเป็นสงครามระหว่าง “พี่กับน้อง” แต่จะบานปลายและกินวงกว้างกลายเป็น “สงครามโลก” เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีข้อผูกมัดทางการทหารและพวกพ้องก็เป็นศัตรูของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งที่เยอรมนีและรัสเซียก็มิได้มีเรื่องผิดใจกัน ดังมีหลักฐานว่าไกเซอร์เยอรมันทรงขอร้องให้ซาร์สั่งระงับการระดมพล เพื่อเจรจาสงบศึกในฐานญาติสนิทที่เคารพนับถือกันและต่างก็ไม่เคยมีความบาดหมางกันมาก่อนแต่ก็ไร้ผล

ชนวนของสงครามโลกครั้งที่ 1 ระเบิดขึ้นเมื่ออาร์ชดยุคฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Archduke Francis Ferdinand) มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และเจ้าหญิงโซฟี (Sophee) พระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จประพาสกรุงซาราเยโว (Sarajevo) นครหลวงของบอสเนีย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914

รัฐบาลออสเตรีย-ฮังการีซึ่งต้องการปราบปรามการเคลื่อนไหวของพวกสลาฟในเซอร์เบีย (Serbia) จึงยื่นคำขาด 10 ข้อ ให้รัฐบาลเซอร์เบียซึ่งถูกสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ให้ตอบรับภายในเวลา 48 ชั่วโมง แต่เซอร์เบียตอบรับได้เพียง 8 ข้อ และส่งคำขาดที่ไม่สามารถตอบรับได้ให้ศาลโลกที่กรุงเฮกพิจารณา ออสเตรีย-ฮังการีซึ่งไม่พอใจในคำตอบและการกระทำของเซอร์เบียจึงประกาศสงครามต่อเซอร์เบียเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1914 [6]

ฐานะผู้พิทักษ์ชนเผ่าสลาฟก็ประกาศระดมพลเพื่อช่วยเหลือเซอร์เบีย การระดมพลดังกล่าวมีผลให้เยอรมนีต้องเข้าสู่สงครามเนื่องจากรัสเซียไม่ยอมหยุดระดมพลตามที่เยอรมนีต้องการ ทั้งฝรั่งเศสก็ปฏิเสธที่จะวางตนเป็นกลาง

เยอรมนีจึงประกาศสงครามต่อรัสเซียเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม และต่อฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม แล้วส่งกองทัพบุกเบลเยียมซึ่งได้รับการประกันความเป็นกลางและการไม่ละเมิดความเป็นกลางมาตั้งแต่ ค.ศ. 1839 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม เพื่อมุ่งเผด็จศึกฝรั่งเศสตามแผนชลีฟเฟิน (Schlieffen Plan) ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 6 สัปดาห์

อังกฤษได้ยื่นคำขาดให้เยอรมนีถอนทหารออกจากเบลเยียม แต่เมื่อเยอรมนีปฏิเสธ อังกฤษก็ประกาศสงครามต่อเยอรมนีทันทีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1914 สงครามระดับท้องถิ่นระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับเซอร์เบียซึ่งสนับสนุนโดยรัสเซียจึงขยายตัวเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ในที่สุด

ทันทีที่เคานต์วิตต์ เสนาบดีผู้จงรักภักดีทราบเรื่องการตัดสินพระราชหฤทัยสนับสนุนเซอร์เบียในสงครามครั้งนี้ เคานต์วิตต์ซึ่งอยู่ในต่างประเทศเดินทางกลับรัสเซียทันที และได้ทูลต่อซาร์ให้ถอนตัวจากสงครามที่น่าอดสูใจ ซึ่งนับเป็นการเตือนสติซาร์เป็นครั้งสุดท้าย ท่านกล่าวว่า

“สงครามครั้งนี้คือความบ้าระห่ำ…รัสเซียจะสู้ไปเพื่ออะไร? เพื่อศักดิ์ศรีของเราในคาบสมุทรบอลข่านกระนั้นหรือ? หรือความชอบธรรมเพื่อช่วยชาวสลาฟร่วมเผ่าพันธุ์?

มันช่างโรแมนติคสิ้นดีไม่มีใครเฉลียวใจคิดสักนิดบ้างหรือว่าชาวบอลข่านเหล่านี้เป็นลูกผสมมานานแล้ว พวกเขาอาจมีสายเลือดเติร์กมากกว่าสลาฟด้วยซ้ำไป พวกเซิร์บที่ก่อเรื่องนี้ควรได้ชดใช้กรรมด้วยตนเอง พอทีสำหรับชาติกำเนิดอันเข้มข้น

หรือว่าพระองค์จะทรงคาดหวังผลประโยชน์จากสงคราม? คงได้แผ่นดินเพิ่มขึ้น (ถ้ารบชนะ) โอพระเจ้า! จักรวรรดิของพระองค์ยังไม่ใหญ่เกินพออีกหรือ? เรายังเหลือไซบีเรีย เตอร์กีสถาน และคอร์เคซัส ซึ่งยังไม่เคยถูกสำรวจเสียด้วยซ้ำไป!

และไม่ว่าฝ่ายใดชนะก็ตาม (เยอรมนีหรือรัสเซีย) มันล้วนแต่เป็นจุดจบของประเทศร่วมชะตากรรมทั้งนั้นแล้วก็คงมีการสถาปนารัฐใหม่ๆ ทั่วภาคพื้นสงครามทั่วยุโรป นั่นหมายถึงวาระสุดท้ายของจักรวรรดิซาร์ข้าพเจ้าไม่ขอกล่าวต่อไปในกรณีที่เราแพ้…” [6]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] ไกรฤกษ์ นานา, “จะเกิดอะไรขึ้นกับรัสเซีย ถ้าเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้? ” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ 2. สํานัก พิมพ์มติชน, 2553.

[2] _____.“พงศาวดารสะเทือน! ‘แผนชิงตัวพระเจ้าซาร์’ ช่วยให้พระองค์รอดไปได้หรือ?” ใน สยามกู้อิสรภาพตนเอง. สํานักพิมพ์มติชน, 2550

[3] เพ็ญศรี ตุ๊ก. สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 1 อักษร A-B. ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2542.

[4] สุปราณี มุขวิชิต. ประวัติศาสตร์ยุโรป ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1851-ปัจจุบัน เล่ม 1. สํานักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2540

[5] Halliday, E. M. Russia in Revolution. Harper &Row, 1967.

[6] Massie, Robert K. Nicholas and Alexandra. Dell Publishing Co., Inc., 1967.

[7] Rappaport, Helen. Caught in The Revolution.Windmill Books, 2016.

[8] L’ILLUSTRATION, Paris, 14 Avril 1917.

[9] THE GRAPHIC, London, 14 April 1917


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2564