ทูตรัสเซียชวนสยามสละ “ความเป็นกลาง” เข้าร่วมสงคราม แต่ทูตอังกฤษต้าน กลัวเป็นหนี้บุญคุณ?

กองทหารบกรถยนต์ร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุ สยามในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ประกาศ “ความเป็นกลาง” ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ทั้งฝ่ายมหาอำนาจกลาง มีเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี และฝ่ายสัมพันธมิตร มีฝรั่งเศส อังกฤษ และรัสเซีย ต่างก็พยายามโน้มน้าวในการดึงให้สยามเข้าร่วมกับฝ่ายตน

ราวเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 นายลอริส-เมลิกอฟ (Mr. I.G. Loris-Melikov) อัครราชทูตรัสเซียคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาประจำตำแหน่ง ณ กรุงเทพฯ ได้พยายามอย่างยิ่งยวดในการชักชวนให้รัฐบาลสยามเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร

สถานะของรัสเซียในเวลานั้น ได้มีการล้มการปกครองโดยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และได้ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมาบริหารประเทศ และเลือกที่จะเดินหน้าทำสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อไป โดยรัสเซียมองว่า หากโน้มน้าวให้ประเทศที่ประกาศความเป็นกลางเข้าสู่สงครามกับฝ่ายตนได้นั้นจะมีผลต่อการทำสงครามและสถานการณ์ภายในของรัสเซียให้ดีขึ้น ดังเห็นได้จากการที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงคราม ซึ่งทำให้สภาพการณ์ของฝ่ายสัมพันธมิตรดีขึ้นอย่างมาก

ทันทีที่นายลอริส-เมลิกอฟ ได้รับโทรเลขคำสั่งจากรัฐบาลรัสเซีย ในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1917 เขาได้เข้าเฝ้าสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เสนาธิการทหารบก แม้พระองค์จะไม่ใช่เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ แต่พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญ ทรงมีท่าทีสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร และทรงมีอิทธิพลต่อราชสำนักและรัฐบาลสยามไม่น้อย เขาพยายามโน้มน้าวให้พระองค์ทรงเห็นชอบและสนับสนุนให้รัฐบาลสยามตัดสินใจเข้าสู่สงครามโดยเร็ว โดยชี้ให้พระองค์เห็นถึงประโยชน์ที่รัฐบาลสยามจะได้รับจากการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อสงครามยุติ

(จากซ้าย) 1. นายพลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จเรทัพบก และราชองครักษ์พิเศษ 2. นายพันเอก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาภ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ 3. นายพันตรี พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ผู้ช่วยกรมกลาง กรมยุทธนาธิการ 4. นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และราชองครักษ์พิเศษ

อีกสองวันต่อมา นายลอริส-เมลิกอฟ ยังมีจดหมายถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เพื่อย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของรัฐบาลสยามที่จะต้องรีบตัดสินใจเข้าสู่สงคราม โดยยกเรื่องผลประโยชน์ที่สยามจะได้รับ เช่น สิทธิในการเข้าร่วมในข้อตกลงพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะจัดทำขึ้นใหม่ในกลุ่มของฝ่ายสัมพันธมิตรภายหลังสงคราม และการสนับสนุนโครงการพัฒนาต่าง ๆ และโครงการด้านการศึกษาของสยาม เป็นต้น

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงเห็นด้วยกับนายลอริส-เมลิกอฟ แต่ทรงเห็นอุปสรรคสองประการ คือ ประการที่หนึ่ง เนื่องจากผลประโยชน์ อธิปไตย และบูรณภาพของสยามยังไม่ถูกฝ่ายมหาอำนาจกลางละเมิดโดยตรง ทำให้รัฐบาลสยามไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเข้าร่วมสงครามได้อย่างถูกต้องและสมเกียรติ และประการที่สอง คนไทยยังไม่มีปฏิกริยาต่อต้านฝ่ายมหาอำนาจกลาง หากประกาศสงครามกับฝ่ายดังกล่าวไปแล้วอาจเกิดความไม่พอใจขึ้นได้ และรัฐบาลสยามเองยังมีอำนาจไม่มั่นคงมากนัก สืบเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในการสืบราชบัลลังก์

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ จึงเสนอข้อแนะนำส่วนพระองค์ โดยทรงขอให้นายลอริส-เมลิกอฟ ไปปรึกษากับอัครราชทูตของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร และให้ร่วมกันชักชวนรัฐบาลสยามเข้าสู่สงครามอย่างเป็นทางการ เพื่อว่าจะได้มีเหตุผลเพียงพอในการเข้าร่วมสงครามอย่างมีเกียรติ ขณะเดียวกัน ทรงเห็นควรให้มีการยกเลิกพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่ไม่เป็นธรรมต่อสยาม นับแต่การลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2398 และอีกหลายประเทศที่ได้ทำสนธิสัญญาในทำนองดังกล่าวอีกหลังจากนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ปฏิกิริยาของรัฐบาลฝรั่งเศสนั้น มีความพยายามขอความร่วมมือจากรัฐบาลอังกฤษในการชักชวนให้รัฐบาลสยามประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝ่ายมหาอำนาจกลางด้วย ทั้งนี้ ผลประโยชน์และความมั่นคงในดินแดนอาณานิคมอินโดจีนของประเทศฝรั่งเศสนั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นกลางของสยามไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น เมื่อนายลอริส-เมลิกอฟ ไปปรึกษากับนายเลอแฟบวร์-ปองตาลิส (M. Lefebvre-Pontalis) อัครราชทูตฝรั่งเศส ก็มีความเห็นชอบกับข้อเสนอข้างต้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงฉลองพระองค์ชุดพลเอกแห่งกรมทหารราบเบาเดอรัม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสภาพ 22 M00032)

ท่าที่ของฝรั่งเศสและรัสเซีย (โดยเฉพาะประเทศหลังนั้น) ดูเหมือนว่าจะยินดีเป็นอย่างมากหากสยามสละความเป็นกลางแล้วเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายตน แต่อัครราชทูตอังกฤษมิได้มีความคิดเห็นสอดคล้องไปทางเดียวกัน และมีความขัดแย้งกับชาติมหาอำนาจทั้งสองข้างต้น อันเนื่องมาจากเรื่องผลประโยชน์จากการค้าในสยาม

นายเฮอร์เบอร์ต เดอริง (Mr. Herbert G. Dering) อัครราชทูตอังกฤษ แสดงความเห็นคัดค้านข้อเสนอของนายลอริส-เมลิกอฟ โดยนายเฮอร์เบอร์ต เดอริง ไม่เห็นด้วยกับการที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะร่วมกันดำเนินการทางการทูตเพื่อให้สยามเข้าร่วมสงคราม แม้ว่าสยามเข้าสู่สงครามแล้วจะมีผลดีต่อรัฐบาลอังกฤษไม่น้อย นายเฮอร์เบอร์ต เดอริง มีความเห็นว่า รัฐบาลอังกฤษยินดีหากสยามจะประกาศสงครามกับอีกฝ่าย แต่ต้องเป็นการตัดสินใจด้วยเหตุผลและความจำเป็นของรัฐบาลสยามเอง มิใช่การถูกผลักดันจากภายนอก สิ่งที่นายเฮอร์เบอร์ต เดอริง คัดค้านมากคือ การยกเลิกพิกัดอัตราภาษีศุลกากร เพราะอังกฤษมีผลประโยชน์มหาศาลกับสยาม มากกว่าชาติมหาอำนาจอื่น เงื่อนไขนี้จะทำให้อังกฤษสูญเสียผลประโยชน์อย่างมากและส่งผลกระทบภายหลังสงครามยุติ

นายเฮอร์เบอร์ต เดอริง เห็นว่า อัครราชทูตรัสเซียและฝรั่งเศสคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของประเทศตน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของอังกฤษ เพราะทั้งรัสเซียและฝรั่งเศสมีผลประโยชน์การค้ากับสยามเพียงเล็กน้อย และแทบไม่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกพิกัดอัตราภาษีศุลกากร

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาของอัครราชทูตอังกฤษไม่มีผลต่อความมุ่งมั่นของนายลอริส-เมลิกอฟ เขาอาจมีความเชื่อมั่นในท่าทีของผู้นำระดับสูงในรัฐบาลสยามที่ค่อย ๆ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังเห็นได้จากการที่ระยะต่อมา ขณะที่รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงเรียกประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ในราชสำนัก และได้ทรงชี้แจงเหตุผลดังที่นายลอริส-เมลิกอฟ เคยกราบทูลไว้ ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยการสนับสนุนให้รัฐบาลสยามเข้าร่วมสงคราม แต่ก็ได้แสดงความขัดข้องใจต่อท่าทีของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะต่อตัวของอัครราชทูตอังกฤษที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะร่วมกันชักชวนรัฐบาลสยามเข้าสู่สงครามอย่างเป็นทางการ

หลังจากนั้น นายลอริส-เมลิกอฟ เข้าพบนายเฮอร์เบอร์ต เดอริง อีกครั้ง เพื่อโน้มน้าวให้ร่วมมือกันชักชวนรัฐบาลสยามให้เข้าสู่สงคราม โดยให้เหตุผลว่า พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ในราชสำนักมีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลสยามให้เข้าร่วมสงคราม นายลอริส-เมลิกอฟ ยังได้ให้เหตุผลอีกประการว่า หากสยามเข้าสู่สงคราม จะสามารถยึดทรัพย์สินของฝ่ายมหาอำนาจกลาง เช่น เรือลำเลียงและเรือสินค้าของเยอรมนีที่จอดอยู่ในน่านน้ำของสยาม และตำแหน่งทางราชการของชาวเยอรมันทั้งหลายก็จะว่างลง เปิดโอกาสให้คนในชาติฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาทำหน้าที่แทน แต่นายเฮอร์เบอร์ต เดอริง คงท่าทีเช่นเดิม และเห็นว่า รัชกาลที่ 6 ยังอยู่ในระหว่างการเสด็จประพาส ไม่มีกำหนดเสด็จฯ กลับในระยะเวลาอันใกล้ เป็นการชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลสยามจะตัดสินใจเข้าร่วมสงครามนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลจากความเป็นจริง

ในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1917 นายลอริส-เมลิกอฟ ได้ทำบันทึกให้แก่นายเฮอร์เบอร์ต เดอริง รวมทั้งบรรดาผู้แทนทางการทูตของฝ่ายสัมพันธมิตรคนอื่น ๆ ว่า การเข้าร่วมสงครามของรัฐบาลสยามมีความสำคัญต่อฝ่ายสัมพันธมิตรและต่อรัฐบาลรัสเซียมากน้อยเพียงใด ในทัศนะของนายลอริส-เมลิกอฟ มีความเห็นว่า

“เราต้องชี้ให้รัฐบาลไทยเห็นว่า ในฐานะที่รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมและเห็นด้วยกับหลักการและมติของการประชุมสันติภาพที่กรุงเฮกมาสองครั้ง การเข้าร่วมรับผิดชอบกับการต่อสู้เพื่อให้หลักการต่าง ๆ ของที่ประชุม กล่าวคือ การพิทักษ์สิทธิมนุษยชน อิสรภาพของแต่ละชาติ และการไม่ละเมิดความเป็นกลางของประเทศอื่น ๆ ยังคงความหมายของมันนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงสิทธิแต่เป็นหน้าที่ของประเทศไทยด้วย”

สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (แถวนั่งที่ 3 จากขวา) ทรงฉายร่วมกับนายพุ่ม สาคร (แถวยืนที่ 2 จากขวา) และอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารรัสเซีย

จากบันทึกของนายลอริส-เมลิกอฟ ทำให้อัครราชทูตอังกฤษแสดงความไม่เห็นด้วย ขณะที่อัครราชทูตฝรั่งเศสก็ไม่ค่อยพอใจเช่นกัน โดยเห็นว่า บันทึกดังกล่าวบางตอนเต็มไปด้วยอุดมการณ์เพ้อฝัน (Utopian) และพิจารณาท่าทีของรัฐบาลสยามในแง่ดีมากเกินไป แต่ภายหลังอัครราชทูตฝรั่งเศสและรัฐบาลฝรั่งเศสต่างก็เห็นพ้องกับบันทึกดังกล่าวว่า เป็นเวลาอันสมควรที่ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรจะร่วมกันชักชวนรัฐบาลสยามเข้าสู่สงครามอย่างเป็นทางการ

อังกฤษไม่ได้เป็นเพียงชาติเดียวที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวทางของอัครราชทูตรัสเซีย โดยนายนิชิ (Nishi) อัครราชทูตญี่ปุ่น ก็มีความรู้สึกกังวลใจเช่นเดียวกัน ซึ่งญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีผลประโยชน์การค้ากับสยามมากพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเกิดสงครามขึ้นนั้น ญี่ปุ่นได้ขยายตลาดการค้าในสยามอย่างสะดวกมากขึ้น ในขณะที่การค้าของชาติมหาอำนาจตะวันตกในภูมิภาคนั้นลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยนายนิชิ ได้สนทนากับอัครราชทูตอังกฤษ เขาไม่เพียงแสดงท่าทีคัดค้านการชักชวนรัฐบาลสยามเข้าสู่สงครามเท่านั้น แต่ยังย้ำอีกด้วยว่า เขาคัดค้าน “แม้แต่การตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่เพียงแต่จะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลเยอรมนี”

หลังจากที่รัชกาลที่ 6 เสด็จนิวัตพระนคร ก็ไม่มีสัญญาณว่า รัฐบาลสยามจะดำเนินการอย่างไรต่อท่าทีของอัครราชทูตรัสเซีย ต่อมาในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 นายลอริส-เมลิกอฟ จึงเข้าเฝ้ากรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกับทูลถามเกี่ยวกับท่าทีของรัชกาลที่ 6 เกี่ยวกับการเข้าร่วมสงคราม แต่พระองค์แจ้งเขาเพียงว่า รัชกาลที่ 6 “พึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินกลับคืนถึงพระมหานคร ยังไม่มีเวลาพอที่จะคิดอ่านการที่สำคัญ ๆ อย่างเช่นนี้ให้ตลอดไปได้ จึงยังบอกไม่ได้ว่าคิดเห็นเป็นประการใด”

กระทั่ง ในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 รัชกาลที่ 6 ทรงเรียกประชุมเสนาบดีสภาเป็นการพิเศษอย่างกะทันหัน เพื่อพิจารณานโยบายของรัฐบาลสยามเกี่ยวกับปัญหาการเข้าร่วมสงคราม พร้อมกับเสนอ “พระราชาธิบายเรื่องการรักษาความเป็นกลางแห่งกรุงสยามในงามมหาสงคราม ณ ยุโรป” ซึ่งพระองค์ทรงชี้ให้เห็นสภาพการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงมากในระยะหลัง ทำให้ความเป็นกลางของสยามไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เหมือนในระยะแรก การจะรักษาความเป็นกลางต่อไปนั้น นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้วยังจะทำให้สูญเสียผลประโยชน์บางอย่างไปอีก

รัชกาลที่ 6 ทรงเห็นว่า ไม่เป็นการสมควรที่รัฐบาลสยามจะเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากการตัดสินใจเข้าร่วมสงคราม แต่พระองค์ก็ทรงเห็นว่า รัฐบาลสยามจำเป็นที่จะต้องรอการชักชวนจากฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อให้มีสาเหตุที่สมควรในการตัดสินใจเข้าร่วมสงคราม ที่สุด ในที่ประชุมจึงมีมติให้ชะลอการประกาศสงครามออกไปก่อน จนกว่ารัฐบาลสยามจะได้รับการชักชวนอย่างเป็นทางการจากฝ่ายสัมพันธมิตร

เรอดำน้ำ HMS G9 ของกองทัพเรืออังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1

ไม่กี่วันจากนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงมีจดหมายถึงรัชกาลที่ 6 โดยทรงมีความเห็นว่า รัฐบาลสยามต้องรีบดำเนินการตัดสินใจโดยไม่อาจรอการชักชวนจากฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะท่าทีของอังกฤษและรัสเซียไม่สอดคล้องกัน ฝ่ายสัมพันธมิตรมีความขัดแย้งกันในเรื่องของผลประโยชน์ ยากที่จะตกลงกันได้ ฉะนั้น การจะให้ฝ่ายสัมพันธมิตรร่วมกันดำเนินการทางการทูตเพื่อให้สยามเข้าร่วมสงครามจึงเป็นเรื่องยากมากขึ้นตามลำดับ พร้อมกันนั้น พระองค์ทรงแนะนำมาตรการในการปฏิบัติของรัฐบาลสยาม เพื่อเป็นการวางพื้นฐานและเป็นเหตุผลสำหรับการดำเนินการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อถึงเวลาอันสมควร ทั้งนี้ โดยที่รัฐบาลสยามจะไม่ตั้งเงื่อนไขข้อเรียกร้องอันใดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นพิเศษ

ในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1917 รัชกาลที่ 6 ทรงเรียกประชุมเสนาบดีสภาเป็นการพิเศษอีกครั้งหนึ่ง ดูเหมือนว่า พระองค์จะทรงเห็นพ้องกับจดหมายของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ รวมทั้งข้อแนะนำเกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาลสยาม ดังความใน “พระราชดำรัส ในที่ประชุมเสนาบดีสภา แถลงพระบรมราโชบายเด็ดขาดในเรื่องระบายคนชาติเยอรมันออกจากราชการ” ที่ว่า

“ข้าพเจ้าได้ไตร่ตรองต่อมาถึงเรื่องนี้อีก ทั้งประกอบกับความเห็นของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ซึ่งได้ส่งมายังข้าพเจ้า อันเป็นความเห็นตรงกับราโชบายของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าจึงเป็นอันตกลงใจแน่นอนแล้วว่าจะควรดำเนินรัฐประศาสโนบายอย่างไรต่อไป”

และที่ประชุมก็ได้มีมติแน่นอนในการที่จะเข้าสู่สงครามข้างฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ กราบบังคมทูลแนะนำ ซึ่งที่ประชุมเสนาบดีสภาได้มีมติเห็นชอบและยอมรับ

ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 รัฐบาลสยามจึงได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง

ความขัดแย้งกันในฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะท่าทีของอัครราชทูตรัสเซียและอังกฤษ ในเรื่องการร่วมมือชักชวนให้รัฐบาลสยามเข้าร่วมสงคราม มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลสยามตัดสินใจเข้าสู่สงครามเร็วขึ้น โดยไม่รอการชักชวน ในจดหมายที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 นั้น พระองค์ทรงอ้างถ้อยคำของนายเฮอร์เบอร์ต เดอริง อันเป็นข้อความที่นายลอริส-เมลิกอฟ เคยทูลพระองค์ ภายหลังจากที่นายลอริส-เมลิกอฟ ได้ไปขอความร่วมมือจากนายเฮอร์เบอร์ต เดอริง และมีความเห็นคัดค้านข้อเสนอของนายลอริส-เมลิกอฟ ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากเหตุผลที่ว่ารัฐบาลอังกฤษกลัวจะต้องเสียผลประโยชน์จากการเลิกพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเดิมแล้ว

“นายเดอริงยังเห็นว่าการที่กรุงสยามจะเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น ไม่มีประโยชน์อันใดสำหรับประเทศอังกฤษ ตรงกันข้าม การที่กรุงสยามคงเป็นกลางเรื่อยไปนั้นในเวลานี้ หรือแม้เมื่อเสร็จสงครามแล้ว อังกฤษมีอิสระ (free hand) ที่จะทำอะไร ๆ ได้ตามใจ ในเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศสยามได้สะดวกกว่า แปลว่าถ้าเราเข้ากับอังกฤษแล้ว ก็จะต้องเป็นบุญคุณส่วน 1 เปล่า ๆ”

 


อ้างอิง :

ฉลอง สุนทราวาณิชย์. (2533). ประเทศไทยกับการเมืองโลก : การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1. ใน นโยบายต่างประเทศไทยบนทางแพร่ง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2564