การรณรงค์เชิญชวนให้ปชช.เคารพธงชาติ สมัยจอมพล ป. ผ่านรายการวิทยุ นายมั่น-นายคง

(ซ้าย) วัฒนธรรมเคารพธงชาติ 8 นาฬิกา (ภาพจาก อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม. 14 กรกฎาคม 2540) (ขวา) ในยามสงครามและน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2485 ภาพของประชาชนที่หยุดยืนเคารพธงชาติโดยพร้อมกันนั้น เป็นการเริ่มรณรงค์โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

การรณรงค์ “ชาตินิยม” ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่รู้จักกันดีเรื่องหนึ่งคือ การออกประกาศให้ประชาชนเคารพธงชาติ ดังที่ปรากฏภาพคุ้นตาอย่างดีคือ ภาพยืนตรงเคารพธงชาติท่ามกลางบรรยากาศน้ำท่วมในกรุงเทพฯ

รัฐบาลในสมัยนั้นได้มีการออก “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 4 เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี” เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2482 มีใจความตอนหนึ่งว่า

“ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นสิ่งสำคัญประจำชาติ พึงได้รับความเชิดชูเคารพของชาวไทยทั้งมวล จึงประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้

1. เมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้น หรือลงจากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยว หรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลดลง ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบ เครื่องแบบ หรือตามประเพณีนิยม…”

การกำหนดรัฐนิยมในลักษณะนี้เป็นความพยายามของรัฐในการสร้างบุคลิกลักษณะนิสัย หรือจิตสำนึกให้ประชาชน เพื่อที่จะสร้างชาติไทยให้มีวัฒนธรรมอันดีงาม ในมุมมองของรัฐนั้น นี่เป็นการสร้างข้อกำหนดความประพฤติต่าง ๆ ที่จะทำให้ชาติไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นชาติที่เจริญแล้ว

การเคารพธงชาติก็เป็นการแสดงออกถึงการเคารพนับถือเครื่องหมายแทน “ชาติ” อันเป็นสิ่งที่ควรเคารพอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในวัฒนธรรมไทยนั้น การเคารพต่อธงชาติอันเป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนของชาติ เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่คุ้นเคยเท่ากับการทำความเคารพพระมหากษัตริย์ หรือการกราบไหว้พระพุทธรูป ฉะนั้น เมื่อมีการกำหนดให้มีการเคารพธงชาติ รัฐบาลต้องทำการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนปฏิบัติตามมากยิ่งขึ้นด้วย มิใช่แค่ออกประกาศหรือทำให้เป็นกฎหมายเพียงอย่างเดียว

การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ที่ว่านั้นทางหนึ่งคือ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุกระจายเสียง โดยเฉพาะผ่านทางรายการสนทนาของนายมั่น-นายคง รายการนี้ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลจอมพล ป. ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับประชาชน โดยทำหน้าที่ถ่ายทอด ชักชวน และกระตุ้นเตือนประชาชนให้ทำตามนโยบายของรัฐบาล

ฉากละครปลุกใจรักชาติ เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” บทประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ (ภาพจาก Thailand Illustrates ปี 1954 ฉบับ พฤศจิกายน)

จุดกําเนิดของรายการสนทนาของนายมั่น-นายคงนี้ เริ่มจากเมื่อครั้งรัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองวันชาติอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 พระราชธรรมนิเทศ ซึ่งทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากองโฆษณาวันชาติ และได้เลือกนายสังข์ พัธโนทัย เป็นเลขานุการของกองฯ ซึ่งได้คิดรูปแบบรายการเป็นการสนทนาทางวิทยุ โดยสมมตินามผู้พูดเป็น นายมั่น ชูชาติ กับนายคง รักไทย ทำหน้าที่โฆษณาเกี่ยวกับความสำคัญของงานฉลองวันชาติ ฯลฯ แต่เมื่องานฉลองวันชาติ พ.ศ. 2482 สิ้นสุดลง รายการวิทยุรายการนี้ยังคงดำเนินไปต่อเนื่อง เพื่อเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล จวบจนจอมพล ป. หมดอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2487 จึงล้มเลิกรายการไป

จอมพล ป. ได้มีส่วนในการกำหนดวางแนวทางและเนื้อหาในการทำรายการสนทนาของนายมั่น-นายคงนี้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงหลัง พ.ศ. 2484 ที่ได้มีรายการเป็นประจำทุกวัน

วิธีการคือ ก่อนที่จะเริ่มรายการ จอมพล ป. จะส่งเนื้อหาของเรื่องราวที่จะกล่าวถึงในรายการวันนั้นมายังคณะผู้ผลิตรายการ เรียกกันว่า “จดหมายซองเหลือง” ซึ่งจะเขียนเป็นบทความร้อยแก้วธรรมดา จากนั้นพระราชธรรมนิเทศจะแปลงบทร้อยแก้วให้เป็นบทสนทนา โดยที่นายสังข์เป็นผู้จดบันทึกตามคำบอกของพระราชธรรมนิเทศ และวันใดที่จอมพล ป. มิได้ส่งจดหมายซองเหลืองมา คณะผู้ผลิตรายการจะนำเอาเรื่องเก่ามาเล่าซ้ำ โดยดัดแปลงให้เข้ากับเหตุการณ์ประจำวัน

ในรายการสนทนาระหว่างนายมั่น-นายคงนั้น เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ ธงชาติ ความสำคัญของธงชาติ และการประดับธงชาติในวันสำคัญต่าง ๆ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอ 

ในการประชาสัมพันธ์ให้ประดับธงชาติเนื่องในวันชาตินั้น นายมั่น-นายคงกล่าวไว้ในรายการว่าธงชาติไทยย่อมอยู่คู่กับชาติไทย เพราะฉะนั้นในงานฉลองวันชาติ ธงชาติไทยก็จะสะบัดอยู่ทุกหนแห่ง ซึ่งจะทำให้เราร่าเริงและเบิกบานใจไม่มีอะไรเปรียบ ธงชาติอยู่ไหน ใจไทยอยู่ที่นั่น ธงชาติอยู่ที่ไหน เกียรติไทยอยู่ที่นั่น ธงชาติเป็นเครื่องหมายแทนเกียรติอย่างสูงสุดของชาติไทย ธงชาติไทยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะขาดเสียมิได้ในวันชาติ…”

เด็กนักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติตอน 8.00 น. (ภาพจากเพลงชาติไทยฉบับปัจจุบัน 2562)

รายการสนทนาของนายมั่น-นายคง ยังได้ส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลที่พยายามรณรงค์ประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ประชาชนทำการเคารพธงชาติกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2485 ได้ทำการสนทนาในเรื่องเกี่ยวกับการชักจูงประชาชนให้เคารพธงชาติโดยพร้อมเพรียงกันเกือบทุกวันตลอดทั้งเดือน

ในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ประชาชนเคารพธงชาตินั้น เริ่มจากการที่คู่สนทนามีความเห็นว่า เรื่องการเคารพธงชาติ ตั้งแต่การประกาศเป็นรัฐนิยม และต่อมาก็ได้เข้าไปอยู่ในกฎหมายแล้วนั้น ยังเห็นผลในการปฏิบัติอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่ ถึงแม้ว่าประชาชนจะรู้จักและยอมรับแล้วว่า ธงเป็นเครื่องหมายสำคัญสูงสุดของความเป็นชาติไทย แต่ในทางปฏิบัติคือ การเคารพธงชาตินั้นบางคนก็ทำอย่างเคร่งครัดบางคนก็ไม่ยอมทำเลย คู่สนทนามีความเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เพราะ “ถ้าเราหวังจะดำรงความเปนชาติของเราตลอดไป เราจะลืมเรื่องการเคารพทงชาติไม่ได้” จากนั้น จึงเสนอเรื่องการอบรมเรื่องการเคารพธงชาติให้ได้ผลดี ความว่า

“ไนวันหนึ่ง ๆ มีเวลาสำคันที่สุดสำหรับการเคารพทงชาติหยู่ 2 เวลาด้วยกัน คือ เวลาชักทงขึ้น ซึ่งทางราชการนิยมเวลา 8.00 น. และการชักทงลงซึ่งนิยมเวลา 18.00 น. ทั้งสองเวลานี้สำคันนัก ถ้าจะไห้ทำกันไห้พรักพร้อม ต้องกำหนดเอา 2 เวลานี้แหละเปนเกนท์”

ต่อมา รายการสนทนาของนายมั่น-นายคง ก็ได้เน้นย้ำถึงการเคารพธงชาติประจำวันเช้า-เย็น อีกครั้ง ดังความว่า “เวลา 8.00 น. เปนเวลาชักทงชาติขึ้นสู่เสาทั่วราชอานาจักร เวลานี้แหละเปนเวลาสำคันที่สุดประจำวันของเรา กรมโคสนาการได้ประกาสเชินชวนข้าราชการและประชาชนไนที่ทุกแห่งไปยืนนิ่งระวังตรง เพื่อสแดงความเคารพต่อทงชาติไทยเปนเวลา 5 วินาที หรือจนกว่าการบันเลงเพลงชาติโดยทางวิทยุกะจายเสียงจะได้จบลง หรือจนกว่าสัญญานอื่น ๆ ไนการชักทงชาติได้จบลง”

ดังนั้น ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย จะต้องพร้อมใจกันยืนนิ่งเคารพธงชาติในเวลา 8 นาฬิกาของทุกวันโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งรายการสนทนาของนายมั่น-นายคง ยังได้ทำการนัดกับผู้ฟังว่า “เวลา 8.00 น. นับตั้งแต่เช้าวันพรุ่งนี้เปนต้นไป ผู้ที่มีเครื่องรับวิทยุ ก็ขอได้โปรดเปิดไห้ดัง ๆ ด้วย เพื่อเพื่อนบ้านไกล้เรือนเคียง และคนสัญจรไปมาจะได้ยินทั่ว ๆ กัน” เพื่อที่จะได้ทำการเคารพธงชาติพร้อมเพรียงกันทั้งประเทศ

นอกจากนี้ นายมั่นได้เรียกร้องให้ยุวชนเป็นผู้นำในการเชิญชวนตักเตือนคนในครอบครัวให้ทำการเคารพธงชาติ ตามคำวิงวอนของจอมพล ป. ที่กระจายเสียงทางวิทยุเรื่อง “ยุวชนช่วยฉันสร้างชาติด้วย” โดยได้ยกเนื้อหาตอนหนึ่งในคำวิงวอนมาอ่าน ความว่า

“สิ่งแรกฉันหยากขอไห้ยุวชนช่วยฉันไห้พร้อมเพรียง เมื่อเวลาประกาสให้เคารพทงชาติไห้ทำทุกคนเปนการเคารพชาติที่มีคุนแก่เรา และไห้บอกคนไนบ้านทุกคนทำการเคารพด้วยบอกว่าทงชาติยังหยู่ ชักขึ้นแล้ว เอกราชของไทยยังบุญมั่นขวันยืนดี เราต้องพร้อมไจกันทำการเคารพทั่วทั้งชาติ และไนเวลาเดียวกันแหละ ฉันเชื่อมั่นว่าการเคารพทงชาติคราวหน้านี้จะสำเหร็ดได้ด้วยความรักชาติของยุวชนเปนสำคัน ทำตามนี้เรียกว่ายุวชนสร้างชาติ”

หมายเหตุ : การสะกดภาษาไทยในบทความนี้ยึดตามต้นฉบับ ซึ่งเป็นใช้ภาษาไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

 


อ้างอิง :

ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม. (2546). การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2564