ในยุคสังคมศักดินา คนต่ำศักดิ์ ด่า-นินทา-แฉ-วิจารณ์ คนสูงศักดิ์ ได้หรือไม่?

ชาวเมืองสกลนคร ณ บริเวณซุ้มรับเสด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ คราวเสด็จตรวจราชการเมืองสกลนคร 14 มกราคม พ.ศ. 2449

เมื่อพิจารณากฎหมายตราสามดวงซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้มีการบังคับใช้ภายใต้สังคมศักดินา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พบว่า กฎหมายตราสามดวงได้กำหนดหลักเกณฑ์ของสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นเอาไว้แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยมี “ศักดินา” เป็นเครื่องกำหนดสิทธิหน้าที่ของบุคคล

กฎหมายตราสามดวงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นว่า ผู้มีบรรดาศักดิ์หรือไม่มีบรรดาศักดิ์ด่าบุคคลอื่นให้ถือเป็นความผิด การด่าที่จะสามารถฟ้องร้องกันได้นั้น ต้องเป็นการกระทำต่อหน้าผู้เสียหาย หากเป็นการด่าลับหลัง ไม่ได้ยินด้วยตัวเอง หรือมีคนอื่นมาบอก ไม่ให้ถือเป็นความกัน [1]

Advertisement

“ผู้ใดมีบันดาศักดิแลหาบันดาศักดิมิได้ก็ดี แลมีผู้ใดด่าลับหลัง มิได้ยินแก่โสตประสาทตน แลมีผู้มาบอกเล่าไซ้ ท่านว่ามิควรให้ฟังถ้อยคำผู้บอกนั้นเอาเปนถ้อยเปนความเลย ถ้าเมื่อเขาด่านั้นตนได้ยินไซ้ จึ่งควรให้เอาเปนถ้อยเปนความ ให้ร้องป้องกันได้ตามกฎหมาย”

บทบัญญัติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยดั้งเดิมยอมรับว่าบุคคลมีเสรีภาพในการพูดการแสดงความคิดเห็น เพียงแต่การพูดที่ไปสร้างความเสียหายต่อเกียรติ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรีของผู้อื่น เช่น การด่า ถือเป็นความผิด ขณะเดียวกันการนินทาลับหลัง กฎหมายไม่ให้ถือเป็นคดีนำมาฟ้องร้อง เพราะการพิสูจน์ความผิดกระทำได้ยากและต้องการให้บุคคลผู้ถูกนินทาโดยที่ตนไม่ได้ยินคำพูดเหล่านั้นด้วยตัวเองมีขันติธรรม สอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เข้าหลักนินทากาเลเหมือนเทน้ำ [2]

นอกจากนี้ กฎหมายยังเปิดโอกาสให้ทาสสามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นได้ หากข้อความนั้นเป็นความ จริงและมีประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การกล่าวว่าผู้อื่นเป็นพ่อมดหมอผี หรือเป็นผีกระสือกระหัง เพราะในสังคมสมัยนั้นถือว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นความผิด ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเป็นอันตรายต่อสังคม หากมีการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง ผู้พูดย่อมจะไม่มีความผิด และตัวผู้ถูกกล่าวหาที่ได้กระทำพฤติกรรมเช่นนั้นจะต้องถูกนำตัวมาลงโทษ

“ผู้ใดส่อท่านว่าเปนฉมบ กฤษติยารู้ว่าน รู้ยา รู้วิทยาคุณกระทำให้ท่านตาย พิจารณามิเป็นสัจแลหากเทษส่อท่านดังนั้น ท่านให้ลงโทษโดยโทษานุโทษ แล้วให้ไหมขวบค่าตัวผู้ส่อ ถ้าเป็นสัจดุจผู้ส่อท่านให้ฆ่ามันผู้รู้คุณว่านยาฉมบจะกละกฤษติยานั้นเสีย เพราะมันจะทำไปภายหน้า ส่วนทรัพย์สิ่งสีนมันนั้นให้เอาเข้าพระคลังหลวงจงสิ้น” [3]

“ผู้ใด ด่าท่าน ส่อท่านว่าเป็นกระสือกระหางจะกละ พิจารณามิเปนสัจ หากว่าท่าน ส่อท่านดั่งนั้น ให้ลงโทษโดยโทษานุโทษแล้วให้ไหมเท่าค่าตัวผู้ต่า ผู้ส่อนั้นเปน สีนไหมกึ่ง พิไนยกึ่ง ถ้าเปนสัจว่าเปนกระสือกระหางจะกละจริงไซ้ ให้เอามันผู้เปนกระสือกระหางจะกละมาขวิดษารภาเสีย ทรัพย์สิ่งสีนมันให้เอาเข้าพระคลังหลวง” [4]

รวมถึงกรณีกล่าวหาว่าบุคคลอื่นมีเพศสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว ถ้าเป็นความจริงก็สามารถจะพูดแสดงความคิดเห็นได้

“ด่าสบประมาทท่านให้ได้ความอาย ว่ามึงทำชู้ด้วย แม่มึง ๆ ทำชู้ด้วยพ่อมึง ๆ ทำชูด้วยลูกมึง ๆ ทำชู้ด้วยหลานมึง ถ้าเปนสัจดั่งมันด่า อย่าให้มีโทษแก่ผู้ด่านั้นเลย ให้ลงโทษแก่มันผู้ทำกระลีลามกนั้นโดยบทพระอายการ ถ้าพิจารณาเปนสัจว่ามันแกล้งด่าท่านให้ได้อาย ให้ไหมกึ่งค่าตัวตามกระเศียรอายุศม์ผู้ต้องด่า อนึ่งด่าท่านว่ามึงเปนชู้กูก่อนมึงเปนข้ากูก่อนก็ดี พิจารณาเปนสัจว่ามันแกล้งด่าท่านให้ได้ความอายอดสูดั่งนั้น เปนสบประมาท ให้ไหมกึ่งค่า ถ้าจรีงดุจมันด่าไซ้ ก็ให้ไหมกึ่งนั้นลงมาเล่า ถ้าด่าสิ่งอื่นเปรียบเทียบท่าน พิจารณาเปนสัจ ท่านว่ามันด่าหมูประทาด่าหมาประเทียบ ให้ไหมโดยเบี้ยค่าตัวเอาแต่กึ่งหนึ่ง” [5]

ส่วนกรณีผู้มีบรรดาศักดิ์ต่ำกว่า พูดหรือแสดงความคิดเห็นต่อผู้มีบรรดาศักดิ์สูงกว่า กฎหมายตราสามดวงยังมีการบัญญัติให้การรับรองไว้ เช่น พระมหากษัตริย์ตรัสกิจราชการคดี ถ้าไม่ชอบด้วยความยุติธรรม ข้าราชบริพารสามารถทูลทัดทานได้

“อนึ่งพระเจ้าอยู่หัว ดำรัสตรัสกิจราชการคดีถ้อยความประการใด ๆ ต้องกฎหมายประเวนีเปนยุติธรรมแล้วให้กระทำตาม ถ้าหมีชอบจงอาจพิดทูลทัดทานครั้งหนึ่ง สองครั้ง สามครั้ง ถ้าหมีฟังให้งดไว้อย่าเพ่อสั่งไป ให้ทูลในที่ระโหถาน ถ้าหมีฟังจึงให้กระทำตาม ถ้าผู้ใดมิได้กระทำตามพระอัยการดั่งนี้ ท่านว่าผู้นั้นเลมิดพระราชอาชญา” [6]

หรือกรณีทาสกล่าวหาว่าบุคคลผู้มีศักดินาสูงกว่ากระทำความผิด ก็มีบทบัญญัติอนุญาตให้พูดได้ เช่น การกล่าวหานายทาสหรือเจ้าเงินว่าเป็นโจรลักทรัพย์ เบียดบังเงินทองสิ่งของของหลวง หรือเป็นกบฏ เรื่องเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นการช่วยเหลือรัฐให้ปราบปรามผู้กระทำความผิด แม้จะขัดต่อความสัมพันธ์ของคนในสังคม แต่กฎหมายก็เปิดโอกาสให้พิสูจน์ได้ ถ้าเป็นความจริง ทาสคนนั้นไม่ต้องรับผิด

“ทาษส่อเจ้าเงิน ว่าเปนโจรลักทรัพยอันใด ๆ ก็ดี ว่าบังเงินทองสิ่งของ ๆ หลวงก็ดีว่าเปนกระบถประทศร้ายประการใด ๆ ก็ดี แลพิจารณามิเปนสัจว่านายเงินนั้นเปนผู้ร้ายไซ้ ท่านว่าให้เอาทาษอันส่อนั้น มาขึ้นขาหย่างเอาเฉลวปะหน้าประจาร แล้วให้มันร้องว่าอย่าดเยืองข้า ผู้ธรชนร้ายส่อนายเงิน แล้วให้ลงโทษทวนตัดปาก แล้วให้ฃายมันเสีย ถ้านายเงินร้ายแก่มัน ๆ ว่าจริงไซ้ ท่านให้มันไทพ้นจากทาษ” [7]

แม้ว่าโครงสร้างสังคมไทยดั้งเดิมจะอยู่ภายใต้ระบบศักดินาที่แต่ละชนชั้นมีความเหลื่อมล้ำต่างกัน แต่กฎหมายตราสามดวงยังเปิดโอกาสให้บุคคลทุกระดับสามารถแสดงความคิดเห็น มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์การกระทำหรือพฤติกรรมของคนในสังคมได้ แสดงให้เห็นถึงความเจริญของกฎหมายไทย

ไม่เว้นแม้กระทั่งการตำหนิติเตียนบุคคลผู้มีศักดินาสูงกว่า ถ้าบุคคลผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดหรือมี พฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ผู้พูดย่อมมีสิทธิ์พูดได้ โดยคำนึงถึงความจริง และประโยชน์ต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการพูดหรือแสดงความคิดเห็นที่ทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย กฎหมายก็ถือเป็นความผิด ต้องนำตัวมาลงโทษ และถ้าผู้ถูกกล่าวหานั้นมีศักดินาสูงกว่า โทษที่ลงก็จะสูงเป็นพิเศษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระอัยการลักษณะวิวาทด่าตี มาตรา 35.

[2] ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. กฎหมายสมัยอยุธยา. (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา, 2501), น. 13.

[3] พระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จ มาตรา 137.

[4] พระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จ มาตรา 140.

[5] พระอัยการลักษณะวิวาทด่าตี มาตรา 37.

[6] กฎมณเฑียรบาล มาตรา 106.

[7] พระอัยการทาส มาตรา 10.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ซุบซิบนินทาในสังคมศักดินา : เสรีภาพหรือเรื่องต้องห้าม?” เขียนโดย คธาพล ตรัยรัตนทวี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2564