กากี คำนี้มีที่มาอย่างไร ทำไมถึงเรียก สีกากี สู่สีเครื่องแบบ

ตำรวจ ใส่ชุด สี กากี
ตำรวจไทยขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าน้ำรอระบายในกรุงเทพฯ เมื่อ 1 กันยายน 1998 (AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL)

กากี เป็นคำที่มักคิดกันอยู่สองความหมาย ไม่คิดถึงสีเครื่องแบบข้าราชการ ก็คงคิดถึงนางกากี (กับครุฑ) แต่หลายคนคงใคร่จะทราบว่า “กากี” ในภาษาไทยมีที่มาอย่างไร และความหมายว่าอย่างไรบ้าง

คำว่ากากีในภาษาไทยมีใช้ 3 ความหมาย คือ

1. กากีมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต แปลว่า “กาตัวเมีย” โดยมาจากคำว่า “กาก” แปลว่า “กา” แต่เติม “อีการันต์” เพื่อแสดงเพศเป็นเพศหญิง (หรือ “สตรีลิงค์” ในภาษาสันสกฤต, หรือ “อิตถีลิงค์” ในภาษาบาลี) ดังนั้น “กากี” ในความหมายนี้จึงแปลว่า “นางกา, กาตัวเมีย” คู่กับ “กาก” ที่แปลว่า “นกกา, กาเพศผู้”

2. กากีที่แปลว่า “หญิงมากชู้หลายผัว, หญิงแพศยา” มาจากวรรณคดีไทยเรื่องกากี ซึ่งปรากฏอยู่หลายฉบับทั้งกากีคำฉันท์ (ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง) บทเห่เรื่องกากี พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ และกากีคำกลอน บทนิพนธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นต้น

กากีของไทยมีที่มาจากชาดกในพระพุทธศาสนาเถรวาทจำนวน 3 เรื่อง คือกากาติชาดก สุสันธีชาดก คุณาลชาดก กล่าวถึงพญาครุฑลักนางกากาติมเหสีพระเจ้าพรหมทัตไปแล้วถูกจับได้ พญาครุฑจึงนำนางมาคืน แล้วพระเจ้าพรหมทัตได้สั่งให้ลอยแพนางกากี ชาดกนี้ประสงค์จะสั่งสอนเรื่องมายาสตรี จึงนำ “นางกากี” มาเปรียบกับ “หญิงมากชู้หลายผัว, หญิงแพศยา” จัดอยู่ในชุดนางในวรรณคดีไทยคนอื่นๆ ที่มักถูกประณาม คือโมรา กากี วันทอง

3. กากีแปลว่า “สีน้ำตาลปนเหลือง, สีสนิมเหล็ก” คำนี้อาจารย์ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ อธิบายไว้ (ในหนังสือความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย) ว่า “สีกากีเป็นสีเครื่องแบบทหารของอินเดีย โดยเฉพาะในแคว้นปันญาบ (ปัญจาบ) เมื่อประมาณ 100 กว่าปีนี้ คำนี้เรียกในอินเดียว่าคากี จากศัพท์เปอร์เซีย คาก-Khak ซึ่งแปลว่าฝุ่นหรือดิน แต่ก่อนนี้เราก็เรียกสีคากี แล้วมาเพี้ยนเป็นกากี” (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, 2545 : 74)

ภาษาอังกฤษใช้ว่า khaki ซึ่งมีความหมายว่า “สีน้ำตาลปนเหลือง, สีสนิมเหล็ก” ก็น่าจะมาจากรากศัพท์ภาษาเปอร์เซียนี่เอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2560