กิจการสังคมสงเคราะห์ของ “กาชาด” ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทย

งานวันกาชาด สภากาชาด ที่ สถานเสาวภา พ.ศ. 2471
กิจกรรมงานวันกาชาด ที่สถานเสาวภา พ.ศ. 2471 (ภาพจากสมุดภาพสภากาชาดไทย ภาค 1: คณะกรรมการและงานกาชาดยุคแรก, สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, พิมพ์ครั้งที่ 1, 2557)

ย้อนดูกิจการสังคมสงเคราะห์ของ “สภากาชาด” ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทย

“สภากาชาด” กิจการสังคมสงเคราะห์สำคัญหนึ่งที่ก่อตั้งมายาวนาน ในเมืองไทยนั้นสตรีชนชั้นนำเริ่มสภากาชาดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2436 โดยใช้ชื่อว่า “สภากาชาดสยาม” ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็น “สภากาชาดไทย” เช่นทุกวันนี้ในภายหลัง องค์กรที่มีตั้งมา 100 กว่าปีเช่นนี้ ผ่านเรื่องราวของผู้คนและบ้านเมืองอะไรมาบ้าง

เรื่องราวของกาชาด เป็นเนื้อหาตอนหนึ่งใน “หลังบ้านคณะราษฎร” (สนพ.มติชน, เมษายน 2564) ที่ ชานันท์ ยอดหงษ์ ค้นคว้าและเรียบเรียง ซึ่งได้คัดย่อมาเพียงบางส่วนดังนี้

เมื่อเกิดการปฏิวัติ สภากาชาดไม่ได้บทบาทโดดเด่นสำคัญ จะมีสาธารณประโยชน์บ้างตามโอกาส เช่น ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากกบฏบวรเดชบริเวณบางเขน เพื่อความอยู่รอดขององค์กร จึงมีการจัดระเบียบองค์กรให้เคร่งครัดซับซ้อนมากขึ้น มีการจัดตั้ง “สาขากาชาดประจำจังหวัด” ใน พ.ศ. 2480 (ภายหลังเปลี่ยนเป็น “เหล่ากาชาดจังหวัด”)

สภากาชาดได้รับการพัฒนาจนมีความสำคัญโดย “คณะราษฎร” ในช่วงปลายทศวรรษ 2470 รัฐบาลและกระทรวงกลาโหมเริ่มเล็งเห็นภาวะสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะสภากาชาดเป็นสถาบันสากลที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ และสัมพันธ์กับภาวะสงคราม

หลังจาก ประยูร ภมรมนตรี ไปดูงานวิชาทหารที่เยอรมนี และหลังจากกระทรวงกลาโหมได้ก่อตั้ง “ยุวนารี” ใน พ.ศ. 2479 (ที่รับนิสิตหญิงจากคณะแพทยศาสตร์และเภสัชศาสตร์ และนักเรียนพยาบาลของกองบรรเทาทุกข์ สภากาชาดทำหน้าที่เป็นกำลังช่วยเหลือทหาร สนับสนุนการพยาบาล และลำเลียง เช่นเดียวกับที่ก่อตั้งยุวชนทหารบก รับนักเรียนนิสิตนักศึกษาชายเข้าฝึกทหารใน พ.ศ. 2478)

รัฐบาลก็เข้ามาจัดระเบียบกาชาด มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติกาชาด พ.ศ. 2481” กำหนดให้สภากาชาดอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหม แต่ธุรกิจทั่วไปยังดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศกับสันนิบาตกาชาด

ใน พ.ศ. 2482 มังกร พรหมโยธี คณะราษฎรสายทหารบก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย แทนคนเก่าที่ลาออก ถึง พ.ศ. 2485 สภากาชาดก็ย้ายมาสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2486 ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะราษฎรสายทหารบก จึงดำรงตำแหน่งแทนมังกร

พ.ศ. 2483 สถานการณ์ความไม่สงบในยุโรปรุนแรงขึ้น โครงการยุวนารีได้ขยายเป็น “กองอาสากาชาด” เปิดรับข้าราชการหญิง ภรรยาข้าราชการ และแม่บ้าน ให้เข้ามาเป็นอาสาสมัครด้านรักษาพยาบาล ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเป็นจำนวนมาก จากที่เปิดรับสมัครเดือนสิงหาคมจนสิ้น พ.ศ. 2483 มีสมาชิกถึง 1,287 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 2,091 คน ในปีเดียวกันนี้ ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกของคณะราษฎร ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรรมการสภากาชาดไทย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการกองอาสากาชาด

กองอาสากาชาดที่ทำงานสนองทั้งกองทัพและสภากาชาดก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น และเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำหญิงระบอบเก่ากับคณะราษฎร

ถวัลย์ในฐานะผู้อำนวยการกองอาสากาชาด และมารยาตรกัญญา ดิศกุล เลขานุการสภากาชาดและกองอาสากาชาด กล่าวกันว่า ทั้งสอง [ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และมารยาตรกัญญา ดิศกุล] ไม่เพียงสามารถร่วมงานกันได้อย่างกลมเกลียว เมื่อถวัลย์ลาออกจากหน้าที่กองอาสากาชาดใน พ.ศ. 2494  (โดยละเอียด พิบูลสงคราม จึงเข้ามาเป็นผู้อำนวยการแทน) มารยาตรกัญญาก็ลาออกมาทำหน้าที่เลขานุการสภาอย่างเดียวตามเดิม

กองอาสากาชาด ยังเป็นสถาบันความรู้สำหรับผู้หญิง ได้แก่ ธุรการ, การประดิษฐ์, อนามัยสงเคราะห์, บำรุงคนไข้ ฯลฯ โดยต้องอบรมครบ 24 ชั่วโมง จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นอาสากาชาดประจำการ บรรดาสมาชิกอาสาสากาชาดต่างกระจายตามโรงพยาบาลต่างๆ ช่วยประกอบอาหารเลี้ยง, พยาบาลดูแล, ตัดพับผ้าพันแผล และเย็บเสื้อกางเกงหมอนมุ้ง

อาสากาชาด จึงกลายเป็นสถาบันรองรับหญิงสมัยใหม่ในการเข้ามามีส่วนร่วมกับการสร้างชาติ

กองอาสากาชาดโดยคณะราษฎร จึงไม่เพียงทำให้สภากาชาดที่เป็นมรดกหญิงชนชั้นนำก่อนปฏิวัติ กลับมามีตัวตนอีกครั้งในระบอบประชาธิปไตย แต่ยังทำให้เหล่ากาชาดจังหวัดที่ซบเซา ได้รับการกระตุ้นให้ก่อตั้ง “สาขากาชาดจังหวัด” ขึ้นใน พ.ศ. 2494 ตามจังหวัดใหญ่และชายแดน แม้สงครามยุติลง กองอาสากาชาดก็ยังคงดำเนินกิจการเรื่อยมา โดยคอยอำนวยความสะดวกผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

พ.ศ. 2496 ละเอียด พิบูลสงคราม ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงานวันกาชาด ได้บรรยายทางวิทยุเชิญชวนประชาชนร่วมงาน พร้อมกับกล่าวสรรเสริญสภากาชาด และเชิญชวนขอความช่วยเหลือให้ประชาชนร่วมบริจาคโลหิตกับสภากาชาด

เนื่องจาก สภากาชาด เป็นสถาบันสาธารณกุศลของเครือข่ายชนชั้นนำ ตั้งแต่ระบอบการปกครองเก่า อ้างอิงสถาบันสากล มุ่งหาสมาชิกจ่ายเงินบำรุงและการบริจาค เพื่อดำเนินการบริการสาธารณสุขและการแพทย์ ขณะที่หญิงชนชั้นนำสามัญชน ก็ยังโครงการวัฒนธรรมฝ่ายหญิงที่เพิ่งเกิดขึ้น เป็นสถาบันของภรรยาข้าราชการนักการเมือง มีตำแหน่งหัวหน้าผูกขาดอยู่ที่ภรรยาของนายกรัฐมนตรี ป. พิบูลสงคราม และยังเป็นสถาบันสตรีที่มีวาระในตัวของมันเอง คือเร่งฟื้นฟูศักยภาพแม่บ้านแม่เรือนทั้งในด้านสุขอนามัย วัฒนธรรม และสังคมสงเคราะห์ อาสากาชาดและสภากาชาดจึงเข้มแข็งเรื่อยมาในช่วงที่สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง และสโมสรวัฒนธรรมฝ่ายหญิงซบเซา หลังนายกรัฐมนตรี ป. พิบูลสงครามลาออกพ.ศ. 2487 และหลังรัฐประหาร 2500

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เครือข่ายสมาชิกและชนชั้นนำจากระบอบการปกครองเก่าแข็งแรงมากขึ้น กิจการกาชาดก็เติบโตขึ้น และกลับมาอยู่ในการควบคุมดูแลของกลุ่มชนชั้นเจ้าอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2491 มีการเปลี่ยนอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย จาก ชวง เชวงศักดิ์สงคราม สมาชิกคณะราษฎร มาเป็นกรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต

พ.ศ. 2497 มีการถวายตำแหน่ง “บรมราชูปถัมภิกาแห่งกองบรรเทาทุกข์และอนามัยสภากาชาดไทย” แด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และตำแหน่ง “บรมราชูปถัมภิกาแห่งกองอนุกาชาดไทย” แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ก่อนจะแต่งตั้งเป็น “สภานายิกาสภากาชาดไทย” ใน พ.ศ. 2499

พ.ศ. 2496 ในงานกาชาดครบรอบ 60 ปี ที่กรีฑาสถานแห่งชาติ แม้ละเอียด พิบูลสงครามจะได้รับเชิญเป็นประธานกรรมการจัดงาน แต่บรรดาเจ้านายต่างมีบทบาทโดดเด่นกว่า ด้วยการสร้างและไปเป็นประธานเปิดอาคารตึกต่างๆ ที่มีชื่อตามพระนามของเจ้านายหรือราชตระกูลนั้นๆ

พ.ศ. 2500 การจัดงานกาชาดย้ายจากสถานเสาวภามาจัดบริเวณสวนอัมพร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีเสด็จไปทรงเป็นประธานเปิดงานใน พ.ศ. 2504-2506

หลังการรัฐประหาร 2500 สมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญถูกขจัด งานกาชาดก็กลับมามีความโดดเด่นแทนงานในโครงการวัฒนธรรมฝ่ายหญิงของรัฐบาล พ.ศ. 2503 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “เหล่ากาชาดจังหวัด” อีกครั้ง เพื่อให้เป็นองค์กรผู้หญิงระดับภูมิภาค

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564