ก่อนคาราวาน, คาราบาว เพลงเพื่อชีวิตที่มีมาตั้งแต่ก่อนปี 2500

ครูไพบูลย์ บุตรขัน ผู้แต่ง เพลงค่าน้ำนม เพลงเพื่อชีวิต
ครูไพบูลย์ บุตรขัน และคนในครอบครัว (ภาพจาก ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย ไพบูลย์ บุตรขัน)

ก่อนคาราวาน, คาราบาว เพลงเพื่อชีวิตที่มีมาตั้งแต่ก่อนปี 2500

สถานการณ์บ้านเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2490-2493 เกิดกบฏทางการเมืองถึง 4 ครั้ง คือ กบฏวังหลวง, กบฏเสนาธิการ, กบฏน้ำท่วม และกบฏแมนฮัตตัน ช่วงปลายปี 2500 ก็ตามมาด้วยรัฐบาลเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เข้ามาบริหารประเทศ ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่เกิด “เพลงเพื่อชีวิต” ในเมืองไทย

ในยุคก่อนปี 2500 เพลงลูกทุ่งจะเรียกว่า เพลงเพื่อชีวิต หรือเพลงชนบท ซึ่งมีแสงนภา บุญราศรี เป็นผู้นำ ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาก็มีนักเพลงหลายคนได้รับแรงบันดาลใจและสร้างงานตามมา เช่น ไพบูลย์ บุตรขัน, คำรณ สัมบุณณานนท์, เบญจมินทร์, สมยศ ทัศนพันธ์, ชาญ เย็นแข, พยงค์ มุกดา ฯลฯ

Advertisement
ยืนยง โอภากุล (ซ้าย) สมาชิกวงคาราบาว ซ้อมร่วมกับสตีเว่น ซีกัล นักแสดงดัง เมื่อสิงหาคม ค.ศ. 2002 ก่อนขึ้นแสดงจริง (ภาพจาก STEPHEN SHAVER / AFP)

แสงนภา บุญราศรี

แสงนภา บุญราศรี (พ.ศ. 2461-2496) นักร้องเพลงสลับฉากละครเวที และเป็นนักเพลงรุ่นเดียวกับ ล้วน ควันธรรม, สุนทราภรณ์ ผลงานของแสงนภาเป็นแบบฉบับของ “เพลงเพื่อชีวิต” ที่กล่าวถึงของทุกข์ยากของผู้คนในแต่ละอาชีพ แต่ละมุมไว้ในเพลงต่างๆ เช่น คนจรหมอนหมิ่น, คนลากรถขยะ, ลูกศิษย์วัด, ชีวิตนักมวย, แป๊ะเจี๊ยะ, ทหารกองหนุน ฯลฯ

บทเพลงของแสงนภาถือเป็นหน้าแรกของเพลงเพื่อชีวิตที่วิวัฒน์มาเป็นเพลงตลาด และคลี่คลายขยายตัวจนเป็นเพลงลูกทุ่งในที่สุด ผลงานของแสงนภายังถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญแก่ของ ไพบูลย์ บุตรขัน ครูเพลงรุ่นน้องอีกด้วย

ไพบูลย์ บุตรขัน

ไพบูลย์ บุตรขัน (พ.ศ. 2461-2515) เจ้าของผลงานเพลงอมตะ เช่น มนต์รักลุกทุ่ง, มนต์เมืองเหนือ, ค่าน้ำนม ฯลฯ มีผลงานเพลงที่ปฏิเสธการกดขี่เหยียดหยามทางชนชั้น ที่มีพลังความคิดเข้มข้น มีท่วงทำนองทั้งอ่อนหวาน และดุดัน เช่น เพลงกลิ่นโคลนสาปควาย, ลูกสาวตาสี, คนเหมือนกัน ฯลฯ รวมทั้งมีเนื้อหาเพลงที่ร่วมสมัย เช่น เพลง “ขวานทองของไทย” ที่เนื้อร้องบางส่วนว่า

“อันคนไทยที่อยู่ในภาคอีสาน ขออย่าล้อว่าเป็นปักหนาน หรือเหยียดหยามนำหน้า มันหมดสมัยแล้วเอ๋ยเพื่อนไทยฟังว่า เมื่อครั้งก่อนนั้นแบ่งชั้นต่ำช้าถือศักดินากันจนเกินไป ในวรรณคดีแต่งเป็นเรื่องอื้อฉาว มักจะย้ำเอ่ยคำว่าลาว หรือกาวต่ำต้อยเอาไว้ นี่แหละผู้ดีซึ่งมีทาสคอยรับใช้ เดี้ยวนี้สมัยทาสสิ้นหมดไปเพื่อนไทยเสมอหน้ากัน”

ครูไพบูลย์ บุตรขัน ผู้แต่ง เพลงค่าน้ำนม เพลงเพื่อชีวิต
ครูไพบูลย์ บุตรขัน และคนในครอบครัว (ภาพจาก ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย ไพบูลย์ บุตรขัน)

เสน่ห์ โกมารชุน

เสน่ห์ โกมารชุน (พ.ศ. 2466-2514) นักเพลงร่วมสมัยกับไพบูลย์ บุตรขัน ช่วง พ.ศ. 2493-2495 เสน่ห์แต่งเพลง “ผู้แทนควาย” และ “สามล้อแค้น” และร้องเอง เวลานั้นนับเป็นเพลงประท้วงที่ได้รับความนิยมมาก เช่น เพลง “สามล้อแค้น” เสน่ห์แต่งขึ้นเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีแนวคิดจะยกเลิกการใช้รถสามล้อถีบในกรุงเทพฯ และธนบุรี เพราะเห็นว่าล่าช้า ทั้งกีดขวางการจราจร เพลงนี้ดังจนรัฐบาลไม่กล้ายกเลิกสามล้อถีบ โดยเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า

“สามล้อนี่หนอ เป็นคนชั้นต่ำ แต่เรามีศีลธรรม ไม่ลืมวาจา ไม่เคยโกงกิน ทรัพย์สินราษฎร ไม่เคยสร้างความเดือดร้อน เหมือนพวกกะล่อนเทวดา หน้ากากผู้ดีมันมีอยู่มากมาย หน้าจริงแหละคือยักษ์ร้าย ที่กลายเกิดมา พวกโกงกาลี มันดีแต่หน้า แท้จริงมันนี้ขี้ข้า กว่าสามล้อมากมาย

หรือครูเพลงรุ่นอาวุโสอย่าง พรานบูรพ์ หรือจวงจันทร์ จันทร์คณา (พ.ศ. 2444-2519) เจ้าของผลงานอมตะอย่าง “ขวัญเรียม” เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า” ก็เคยแต่เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพเอาไว้เช่นกัน ในเพลง “คนเห็นคน” ที่มีเนื้อร้องว่า

“คนเห็นคนเป็นคนนั่นแหละคน คนเห็นคนใช่คนใช่คนไม่ กำเนิดคนต้องเป็นคนทุกคนไป จนหรือมีผู้ดีไพร่ไม่พ้นคน เกิดหนหนึ่งตายหนหนึ่งพึงนึกไว้ ใช่เกิดใหม่ตายใหม่ได้หลายหน อย่าเหยียดหยามอย่างจะดีวิเศษล้น ก็แค่คนคนหนึ่งเท่านั้นเอง”

ชาญ เย็นแข

ส่วนนักร้องอย่าง ชาญ เย็นแข (พ.ศ. 2469-2531) ที่ร้องเพลงดังอย่าง ค่าน้ำนม, สามหัวใจ, แม่ศรีเรือน ฯลฯ รวมถึงเพลงเพื่อชีวิตอย่างกลิ่นโคลนสาบควาย พ.ศ. 2500 ชาญ ร่วมเดินทางกับคณะศิลปินไทยเกือบ 50 คน ที่นำโดยสุวัฒน์  วรดิลก เพื่อไปทำการแสดงที่ประเทศจีน เมื่อกลับถึงเมืองไทยพวกเขาทั้งคณะถูกจุบกุมทันที

เพลงกลิ่นโคลนสาบควายที่ไพบูลย์แต่ง และชาญเป็นผู้ร้อง แสลงใจจอมพลสฤษดิ์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้เป็นเพลงเปิดสถานีวิทยุของพรรค ชาญถึงกลับเก็บไมค์เป็นการชั่วคราว หนไปหากินด้วยการพ์ภาพยนตร์ในต่างจังหวัด ก่อนจะเปลี่ยนมาเล่นละครวิทยุ จนจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตจึงมีโอกาสกลับมาจับไมค์ร้องเพลงอีกครั้ง

ซึ่งนี่คือบางส่วนของประวัติศาสตร์เพลงไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วัฒน์ วรรลยางกูร. คีตกวีลูกท่ง ไพบูลย์ บุตรขัน, สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2564