ซุนวู ผู้เขียนตำราพิชัยสงครามเล่มแรกของโลก ที่ต้องยอมถอยให้ไซซี

ตำราพิชัยสงครามของซุนวู ที่คัดลอกเมื่อราว ค.ศ. 1190-1193 (ภาพจาก Library of Congress)

ซุนวู เกิดในสมัยชุนชิว เขาเป็นนักการทหาร ผู้เขียน “ตำราพิชัยสงครามซุนวู” หนังสือยุทธศาสตร์ว่าด้วยการทำสงครามเล่มแรกของโลก ภายหลังมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศต่างๆ เช่น ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาญี่ปุ่น, ภาษาเยอรมัน, ภาษารัสเซีย ฯลฯ

นั่นทำให้ตำราพิชัยสงครามซุนวูเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยหนึ่งในยุทธวิธีที่ซุนวูเน้นย้ำก็คือ การทำศึกต้องรู้สถานการณ์ของตนเองและฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างดี ในสำนวนที่คุ้นหูว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”

แต่เสนาธิการมากความสามารถอย่างซุนวูก็ต้องพ่ายแพ้ “กลสาวงาม”

ซุนวู ซึ่งเป็นเพื่อนหวู่จื่อซี ซึ่งได้ชักชวนเขามารับราชการในแคว้นหวู เพื่อฝึกทหารให้แก่หวูอ๋องเหอหลี อ๋องแห่งแคว้นหวู ที่ต้องการพิชิตแคว้นเย่ว์ ซุนวูได้เสนอให้ใช้ “ตำราพิชัยสงครามซุนวู” ที่ตนเองเป็นผู้เขียนฝึกทหาร และรับรองว่าถ้าปฏิบัติตามจะได้รับชัยชนะแน่นอน แม้จะเอาผู้หญิงมาฝึกก็ชนะอีกฝ่ายได้

หวูอ๋องเหอหลีจึงให้ซุนวูทดลองฝึกเหล่านางสนมกำนัล แต่พวกนางเห็นเป็นเรื่องตลกขบขัน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ซุนวูจึงสั่งลงโทษตามระเบียบกองทัพ สั่งประหารหัวหน้านางกำนัล 2 คน ฐานละเลยไม่ควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาให้อยู่ในวินัยทหาร ซึ่งพวกนางคือ “คนโปรด” ของหวูอ๋องเหอหลี ซึ่งเมื่อท่านอ๋องทราบเรื่องก็กริ้วมาก แต่หวู่จื่อซีมาเตือนสติว่าสาวงามหาง่าย คนมีฝีมือหายาก ซุนวูคือคนที่จะทำให้ท่านได้ชัยชนะเหนือแคว้นฉู่

แล้วซุนวูก็นำทัพตีแคว้นฉู่ได้สำเร็จ แต่กลับยึดแคว้นฉู่ไม่ได้ เพราะหวูอ๋องเหอลี ไม่สนใจฟังคำแนะนำของซุนวูและหวู่จื่อซี กลับไปเชื่อคำพูดของขุนนางสอพลอ แคว้นฉู่ที่มีแคว้นเย่ว์มาช่วย จึงพลิกสถานการณ์ เจ้าแคว้นหนีรอดไปได้ สร้างรอยแค้นให้หวูอ๋องเหอหลีอย่างมาก

เมื่อเจ้าแคว้นเย่ว์เสียชีวิต โกวเจี้ยนบุตรชายขึ้นครองแคว้นแทน หวูอ๋องเหอหลีฉวยโอกาสที่มีการเปลี่ยนผู้นำยกทัพมาตี โดยไม่ฟังคำทัดทานของซุนวูและหวู่จื่อซี จึงตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนเสียชีวิต ฟูไชบุตรชายขึ้นครองแคว้นหวูแทน ขณะนั้นทั้ง 2 แคว้นต่างเปลี่ยนตัวผู้นำ ขาดความมั่นคง จึงต่างหันไปบำรุงขวัญกองทัพสะสมเสบียงเฝ้ารอโอกาส

2 ปีให้หลังฟูไชเจ้าแคว้นหวู ให้หวู่จื่อซีเป็นแม่ทัพ ซุนวูเป็นเสนาธิการ ยกไปตีแคว้นเย่ว์ ครั้งนั้นแคว้นเย่ว์เสียหายหนักจนกองทัพแทบไม่เหลือทหาร จนโกวเจี้ยนยอมไปเป็นเชลยศึกที่แคว้นหวูตามคำแนะนำของฟ่านหลี-ที่ปรึกษา ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถของซุนวู

แต่ซุนวูก็ต้องพ่ายให้กับ “กลสาวงาม”

เมื่อฟ่านหลีส่งสาวงามอย่าง “ไซซี” ที่ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 4 ยอดหญิงงามของจีน มาบรรณาการฟูไช ไซซีที่ไม่ได้มีดีแค่ความงาม แต่นางยังมีสมองร่วมมือกับขุนนางสอพลอ จนหวู่จื่อซี-อัครมหาเสนาบดีถูกสั่งปลด และเกิดโต้เถียงกับฟูไชอย่างดุเดือดก่อนจะจบลงด้วยการเชือดคอฆ่าตัวตาย

ส่วนซุนวู ที่ไหวตัวทัน เมื่อเห็นฟูไชลุ่มหลงสาวงาม ขาดคุณธรรมของผู้ปกครอง จึงตัดสินใจ “ถอนตัว” ลาออกจากราชสำนักแคว้นหวู กลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบในชนบท

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

วิทยาลัยภาษาปักกิ่ง, มหาวิทยาลัยครูหนานผิง, มหาวิทยาลันครูอันฮุย. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ตุลาคม 2550

ถาวร สิกขโกศล (แปล). แลหลังแดนมังกร, สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, ตุลาคม 2533

ถาวร สิกขโกศล. สี่ยอดหญิงงามในประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2564