ผู้เขียน | เมฆา วิรุฬหก |
---|---|
เผยแพร่ |
ในพงศาวดารจีนยุคสามก๊กมีชื่อของผู้หญิงให้เห็นไม่มากนัก เช่นเดียวกับ “เตียวเสี้ยน” ซึ่งแทบไม่ปรากฏร่องรอยในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่ที่เธอมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาได้ก็ด้วยนิยายสามก๊กซึ่งแต่งขึ้นในยุคหลัง โดยผู้แต่งสร้างสรรค์ให้เธอมีบทบาทเพียงสั้นๆ แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการอธิบายปมขัดแย้งในเรื่อง
ตามนิยายสามก๊ก เตียวเสี้ยนเป็น “คีติกา” หรือนักร้องสาวในบ้านอ้องอุ้น ขุนนางชั้นสูงในรัชกาลพระเจ้าเหี้ยนเต้ เมื่อตั๋งโต๊ะกุมอำนาจจนอาจเป็นภัยคุกคามราชสำนัก อ้องอุ้นจึงคิดใช้ “กลหญิงงาม” เล่นงานตั๋งโต๊ะ เตียวเสี้ยนจึงขออาสารับภาระนี้ และสามารถสร้างความขัดแย้งระหว่างตั๋งโต๊ะกับลิโป้ขุนพลคนสำคัญของตั๋งโต๊ะ จนสุดท้ายลิโป้ลงมือฆ่าตั๋งโต๊ะไปตามแผน
อย่างไรก็ดี เรื่องเล่าดังกล่าวเป็นเพียงนิยายที่ไม่อาจยึดถือเป็นข้อเท็จจริงได้ แต่หากจะมองหาหญิงที่น่าจะเป็นเตียวเสี้ยนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ก็พอจะเห็นเบาะแสอยู่หลายคน หนึ่งในนั้นปรากฏอยู่ในพงศาวดารราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง (โฮ่วฮั่นซู) ซึ่งเล่าว่าตั๋งโต๊ะกับลิโป้ สาบานเป็นพ่อลูกกัน ด้วยความรักใคร่เชื่อถือต่อกันมาก ต่อมาลิโป้ทำงานผิดพลาดขัดใจตั๋งโต๊ะจึงถูกตั๋งโต๊ะขว้างทวนเข้าใส่ ทำให้ลิโป้ผูกใจเจ็บ เมื่อตั๋งโต๊ะให้ลิโป้ดูแลหอกลางในคฤหาสถ์ของตน ลิโป้ยังไปลอบเล่นชู้กับสาวใช้ของตั๋งโต๊ะอีก หากเตียวเสี้ยนจะมีตัวตนอยู่จริง ก็น่าจะหมายถึงสาวใช้คนใดคนหนึ่งของตั๋งโต๊ะตามสำนวนนี้
หญิงอีกรายที่อาจจะเป็นเตียวเสี้ยนปรากฏในพงศาวดารสามก๊ก บทประวัติกวนอู ซึ่งเผยซงจือได้อ้างความจากบันทึกจ๊กก๊กมาเสริม เล่าถึงตอนที่โจโฉกับเล่าปี่ร่วมกันล้อมลิโป้อยู่ที่เมืองแห้ฝือ (เซี่ยผี) ว่า กวนอูได้มาขอกับโจโฉว่า หากตัวเองตีเมืองแตกได้จะขอเอาภรรยาของฉินอี๋ลู่ซึ่งเป็นลูกน้องของลิโป้มาเป็นของตัวเอง โจโฉรับปาก เมื่อเมืองใกล้แตกกวนอูก็ยิ่งมาตอกย้ำกับโจโฉอยู่อีกหลายครั้ง ภายหลังเมื่อได้ตัวภรรยาฉินอี๋ลู่มาอยู่ในมือ โจโฉจึงขอดูตัว แล้วเก็บนางเอาไว้เอง สร้างความไม่พอใจให้กับกวนอู ด้วยความที่เป็นคนโทสะกล้ากวนอูจึงฆ่าหญิงนางนี้เสีย ซึ่งภายหลังเรื่องเล่าตอนนี้ได้กลายมาเป็นเค้าโครงของงิ้วจ๋าจี้ว์สมัยราชวงศ์หยวนชื่อตอน “กวนอูประหารเตียวเสี้ยนกลางแสงจันทร์” เตียวเสี้ยนในสำนวนหลังนี้จึงเป็นภรรยาของลูกน้องลิโป้ ไม่ใช่ภรรยาลิโป้เอง และความงามของเธอก็ไม่ได้ทำให้ตั๋งโต๊ะกับลิโป้แตกคอเหมือนในนิยาย กลับเป็นโจโฉกับกวนอูแทน
แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นว่าพงศาวดารจีนโบราณมักจะไม่ระบุชื่อของผู้หญิง คนยุคหลังจึงได้แต่สันนิษฐานว่าเธอน่าจะหมายถึงคนนี้คนนั้นไปตามพื้นฐานความรู้ของแต่ละคน การบอกว่า เตียวเสี้ยนเป็นหญิงที่ทำให้กวนอูหลงใหลก็เป็นข้อสันนิษฐานหนึ่ง (เช่นเดียวกับข้อสันนิษฐานที่บอกว่าเธอเป็นภรรยาของลิโป้) เพราะไม่รู้ว่าหญิงที่ถูกกล่าวถึงในพงศาวดารสำนวนดังกล่าวชื่ออะไรแน่ และก็ไม่รู้ว่าพงศาวดารดังกล่าวมีการแต่งเติมเกินจริงหรือไม่เพียงใด นักประวัติศาสตร์จึงต้องเสาะหาหลักฐานเพิ่มเติมกันต่อไป
อ้างอิง:
หลี่ฉวนจวินและคณะ. 101 คำถามสามก๊ก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2560