Food in Art History มอง “ประวัติศาสตร์” ผ่าน “อาหาร” ในงานศิลป์

ศิลปะไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความสุนทรีย์เพียงอย่างเดียว ศิลปะยังเป็นสิ่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดหลากหลายเรื่องราวในแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะงานศิลป์ประเภทจิตรกรรม ซึ่งสามารถถ่ายทอดและทำหน้าที่บันทึกอารยธรรมของมนุษย์ได้อย่างดี เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นยอดไม่แพ้ศิลาจารึก ตำราหนังสือ หรือภาพถ่าย ฯลฯ

และสิ่งที่อยู่ในงานจิตรกรรมซึ่งสามารถสะท้อนอารยธรรมของมนุษย์ได้ดีที่สุดประการหนึ่งก็คือ “อาหาร”

Advertisement

ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ อาหารที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังในสุสานของฟาโรห์ Nebamun ที่เมืองธีบส์ (Thebes) อายุราว 1,350 ก่อนคริสตกาล นับว่ามีความน่าสนใจมาก โดยจิตรกรรมฝาผนังชิ้นนี้แสดงให้เห็นขนมปังรูปแบบต่าง ๆ องุ่น มะเดื่อ ห่าน และเนื้อสัตว์ รวมถึงขวดไวน์ที่ตกแต่งด้วยเถาองุ่น (ดูภาพ : https://artsandculture.google.com/asset/_/jwEDaxpbnFI9AQ)

จิตรกรรมนี้แสดงให้เห็นวัฒนธรรมอาหารของอียิปต์โบราณว่าชนชั้นสูงมีอาหารการกินอย่างอุดมสมบูรณ์ นิยมรับประทานเนื้อสัตว์และไวน์ ตรงข้ามกับชนชั้นล่างที่รับประทานเพียงพืชผัก ขนมปัง และเบียร์ โดยเบียร์ผลิตจากขนมปังที่อบไม่สุกดีนัก มีส่วนประกอบจากแป้งข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง และข้าวสาลี นำมาผสมกับน้ำ ทำให้เบียร์ยุคนั้นข้น ไม่มีฟอง และแอลกอฮอลล์ไม่แรงนัก อีกทั้งเบียร์มีรสชาติหวานที่ได้จากน้ำตาลของผลอินทผลัมหรือน้ำผึ้ง

สอดคล้องกับภาพแกะสลักนูนต่ำบนศิลาจารึกจากเมือง Tel el Amarna ที่แสดงให้เห็นครอบครัวชาวอียิปต์กำลังดื่มเบียร์จากไหผ่านท่อที่ทำจากต้นกก ก็สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านในสมัยนั้นนิยมดื่มเบียร์กันทุกเพศทุกวัยไม่เว้นแม้แต่เด็ก (ดูภาพ : https://www.researchgate.net/figure/Depiction-of-a-Canaanite-mercenary-on-a-limestone-stele-from-Tell-el-Amarna-with-kind_fig4_272718669)

ดังนั้น จิตรกรรมฝาผนังชิ้นนี้จึงทำให้เห็นเรื่องราวประวัติศาสตร์อียิปต์ว่าเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์เพียงใด และยังทำให้เห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมอาหารการกิน อีกทั้งจิตรกรรมในสมัยนี้ยังทำหน้าที่สำคัญคือ เป็นองค์ประกอบของสัญลักษณ์ความเชื่อทางศาสนาอีกด้วย

ในยุคโรมันเครื่องดื่มอย่างไวน์ก็มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ สะท้อนให้เห็นจากคติเทพเจ้าที่ยึดถือมาจากอารยธรรมกรีก นั่นคือ Dionysus หรือ Bacchus ของชาวโรมันนั่นเอง อีกทั้งเทพเจ้าองค์นี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของความสนุกสนานรื่นเริง ขณะที่ชาวโรมันเองก็ให้ความสำคัญและเพลิดเพลินกับการรับประทานอาหาร รวมทั้งการจัดงานเลี้ยงอย่างรื่นรมย์

ในยุคนี้เป็นยุคที่การทำไวน์ขยายตัวเป็นวงกว้าง ทำให้ไวน์ได้รับความนิยมโดยทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง ไวน์จึงมีความสำคัญบนโต๊ะอาหารอย่างมาก ดังเห็นได้จากจิตรกรรมที่ค้นพบภายในบ้าน Julia Felix ในเมืองปอมเปอี (Pompei) มีขวดไหใส่ไวน์พิงอยู่กับโถใส่ลูกพรุน และยังมีผลไม้นานาชนิด จิตรกรรมชิ้นนี้นำมาประดับห้องจัดเลี้ยงภายในบ้าน ทำหน้าที่แสดงความยินดีที่แขกได้มาเยี่ยมเยือน (ดูภาพ : https://www.wikidata.org/wiki/File:Pompejanischer_Maler_um_70_001.jpg)

จิตรกรรมที่ค้นพบภายในบ้าน Julia Felix ในเมืองปอมเปอี (Pompei)

เข้าสู่ยุคกลาง อิทธิพลจากศาสนาคริสต์มีผลต่อการสร้างสรรค์จิตรกรรมมากพอสมควร ภาพ “The Last Supper” ของจิตรกรหลายคนไม่เฉพาะแต่ของ Leonardo da Vinci ก็ได้ฉายให้เห็นความสำคัญของขนมปังและไวน์ ซึ่งหมายถึงเรือนร่างและเลือดของพระเยซู แม้ในยุคหลังที่ล่วงผ่านยุคกลางไปแล้ว คติขนมปังและไวน์ยังคงความสำคัญในจิตรกรรมลักษณะนี้อยู่

ภาพ “The Last Supper” ของ Leonardo da Vinci

จิตรกรรมที่โดดเด่นในยุคกลางอีกชิ้นคือ ภาพ “The Feast of Dives” (1510-1520) ถ่ายทอดเรื่องราวจากพระคัมภีร์ เป็นเรื่องของ Lazarus ผู้มาขอเศษอาหารกับเศรษฐีผู้ร่ำรวย แต่เศรษฐีปฏิเสธคำขอจนที่สุด Lazarus เสียชีวิตด้วยความหิวโหย แต่เทวทูตก็มารับวิญญาณไปสู่สวรรค์

เมื่อพิจารณารายละเอียดองค์ประกอบในภาพก็จะเห็นว่าภายในบ้านเศรษฐีมีข้าวของเครื่องใช้อย่างหรูหรา เศรษฐีผู้ร่ำรวยแต่งตัวด้วยขนสัตว์และอัญมณี กำลังรับประทานอาหาร คางสองชั้นและรูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีนิสัยตะกละตะกลาม สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นสูงได้เป็นอย่างดี (ดูภาพ : https://artsandculture.google.com/asset/the-feast-of-dives-master-of-james-iv-of-scotland/KgGzAli3aSCWzA)

กระทั่งเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ อิทธิพลจากคริสต์ศาสนาลดลงไปมาก งานศิลปะไม่ถูกศาสนาตีกรอบ ศิลปินหรือจิตรกรเกิดความคิดสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระมากขึ้น มีผลงานที่นับว่าแปลกตาเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือผลงานชุด “สี่ฤดู” ของ Giuseppe Arcimboldo เป็นภาพเหมือนบุคคลขนาดครึ่งตัว โดยนำผักและผลไม้มาผสานเป็นองค์ประกอบของบุคคลนั้น

ภาพ “Summer” หนึ่งในผลงานชุด “สี่ฤดู” ของ Giuseppe Arcimboldo

ยกตัวอย่างภาพ “Summer” จิตรกรเขียนด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนแผ่นไม้ เป็นภาพเหมือนบุคคลผู้หญิง บริเวณแก้มเป็นลูกพีชขนาดใหญ่, ควินซ์, กระเทียม, หอมหัวใหญ่ หัวบีทสีเหลือง และมะเขือสีขาว บริเวณริมฝีปากเป็นเชอร์รี่ ส่วนฝักถั่วลันเตาเห็นเมล็ดเรียงกันคล้ายฟัน จมูกคือผลแตงกวาป่า ส่วนหูแทนด้วยฝักข้าวโพด คางเป็นลูกแพร์ ดวงตาคือลูกเชอร์รี่วางขนาบด้วยลูกแพร์บนและล่าง และแต่งกายด้วยเสื้อคลุมที่ทอจากหญ้าฟาง ถักทอลวดลายให้เห็นเป็นชื่อจิตรกร และหมายเลข 1563 ซึ่งเป็นปีที่วาด

ส่วนอื่นของภาพจะประดับด้วยดอกอาร์ติโชก ส่วนหมวกทําประกอบจากเชอร์รี่ มะเขือม่วง องุ่น พลัม แตง ราสเบอร์รี่ และแบล็คเบอร์รี่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลไม้ที่กําลังสุกงอม แสดงให้เห็นถึงฤดูร้อนอันอุดมสมบูรณ์ (ดูภาพ : https://www.wikidata.org/wiki/File:Giuseppe_Arcimboldo_-_Summer_-_Google_Art_Project.jpg)

จิตรกรรมในยุคนี้สะท้อนให้เห็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์คือ ช่วงเวลานั้นกษัตริย์ในยุโรปเริ่มมีการอุปถัมภ์ศิลปินและงานศิลปะ โดย Giuseppe Arcimboldo เป็นชาวอิตาเลียนที่ไปเป็นจิตรกรประจำพระราชสำนักของ Maximilian II จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ผลงานชุด “สี่ฤดู” ของ เขาก็เขียนขึ้นตามพระราชโองการขององค์จักรพรรดิ

ถึงช่วงศตวรรษที่ 16-17 ช่วงเวลาแห่งลัทธิจักวรรดินิยมกำลังขยายตัว หลายประเทศในยุโรปเข้าครอบครองอาณานิคมทั่วทุกมุมโลก ทำให้ความมั่งคั่งไหลทะลักเข้าสู่ยุโรป จิตรกรรมในยุคนี้จึงปรากฏว่ามีอาหารที่ทั้งหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ รวมถึงมีสิ่งของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจัดวางเป็นองค์ประกอบในภาพ ซึ่งภาพลักษณะนี้ได้รับความนิยมจากชนชั้นสูงในสมัยนั้น โดยนำไปประดับตกแต่งห้องอาหาร แสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวยของเจ้าของบ้านในยามจัดงานเลี้ยง

ดังเห็นได้จากจิตรกรรมของดัตช์ (เนเธอแลนด์) ซึ่งกำลังเข้าสู่ยุคทอง เช่น ภาพ “Still Life with Parrots” ผลงานของ Jan Davidsz. de Heem โดยจะเห็นความหลากหลายของอาหารและองค์ประกอบในภาพ สิ่งของหรือรวมไปถึงอาหารนั้นไม่ใช่ของพื้นเมืองของดัตช์ แต่เป็นของที่นําเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น

เช่น นกแก้วมาร์คอร์สีแดงจากทวีปอเมริกา, ผลไม้ที่แปลกประหลาดจากดินแดนทางใต้ และเปลือกหอยหายากจากทางตะวันออกและตะวันตกของหมู่เกาะอินเดีย อีกทั้งสิ่งของที่ผลิตจากฝีมือมนุษย์ เช่น แก้วแชมเปญทรงสูงที่วิจิตรงดงาม คนโทที่ทําจากแร่เงินและถ้วยชุบโลหะอันหรูหรา (ดูภาพ : https://emuseum.ringling.org/emuseum/objects/26827/still-life-with-parrots?ctx=febcc074-43c4-4e9c-8ead-68c46d888af5&idx=0)

ทั้งนี้ จิตรกรได้แฝงสัญลักษณ์ไว้คือ นกแก้วแทนสัญลักษณ์ของชีวิต ภาชนะเครื่องเงินและเปลือกหอยแทนสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งฟุ่มเฟือย หอยนางรมแทนสัญลักษณ์ของการเกิดและกิเลสตัณหา และกุ้งมังกรสีแดงแทนสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งในโลก

และในจิตรกรรมอีกชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า “Still Life with Cheese” ผลงานของ Floris Claesz. van Dijck ที่มีภาชนะเครื่องกระเบื้อง ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศจีน ก็สะท้อนภาพวัฒนธรรมอาหารของชาวยุโรปในช่วงเวลานั้น ซึ่งกำลังนิยมข้าวของเครื่องใช้จากดินแดนตะวันออกไกล นอกจากนี้ จิตรกรยังได้แฝงสัญลักษณ์ไว้คือ ขนมปังและเหล้าองุ่นแทนร่างกายและโลหิตของพระเยซู มะกอกแทนสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ซึ่งมาจากเรื่องโนอาห์กับเรืออาร์ค (ดูภาพ : https://www.rijksmuseum.nl/en/collection/SK-A-4821)

ภาพ “Still Life with Cheese” ผลงานของ Floris Claesz. van Dijck

จิตรกรรมทั้งสองชิ้นนี้แสดงให้เห็นความโอ่อ่าหรูหราของประเทศเจ้าอาณานิคมยุโรป โดยเฉพาะชนชั้นสูงตั้งแต่กษัตริย์ถึงพ่อค้า ซึ่งได้กลายเป็นชนชั้นที่ร่ำรวยอันเป็นผลมาจากการเข้าครอบครองอาณานิคม และทำการค้าสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ ทำให้ความมั่งคั่งต่างหลั่งไหลสู่ทวีปยุโรปอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีจิตรกรรมอีกหลายชิ้นที่มุ่งเน้นความเรียบง่าย ผ่านอาหารธรรมดาอย่างนมและขนมปัง ซึ่งอาจสะท้อนถึงวิถีชีวิตของสามัญชนคนธรรมดา ดังภาพ “The Milkmaid” ผลงานของ Johannes Vermee (ดูภาพ : https://www.rijksmuseum.nl/en/collection/SK-A-2344)

กระทั่งเข้าสู่สมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมราวศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตครั้งใหญ่ ผู้คนโดยเฉพาะชาวไร่ชาวนาหลั่งไหลจากชนบทสู่เมืองใหญ่อพยพเข้ามาเป็นกรรมกร ต้องเผชิญความยากลำบาก ถูกเอารัดเอาเปรียบ และมีคุณภาพชีวิตตกต่ำจากการเจริญเติบโตของเมืองที่ไร้ระเบียบและสกปรก

จิตรกรรมในสมัยนี้จึงสะท้อนชีวิตของผู้คนผ่านอาหารที่ถ่ายทอดความยากลำบากของชนชั้นล่างที่รับประทานอาหารอย่างเรียบง่าย ดังภาพ “The Potato Eaters” (ภาพขวาล่าง) ผลงานของ Vincent van Gogh โดยจิตรกรเลือกใช้สีโทนน้ำตาลแสดงให้เห็นถึงความหม่นหมอง และใช้แสงเงาบริเวณตะเกียงให้เกิดความแตกต่างกันอย่างชัดเจน (ดูภาพ : https://www.vangoghmuseum.nl/en/collection/s0005V1962)

ภาพ “The Potato Eaters” ผลงานของ Vincent van Gogh

Vincent van Gogh วาดภาพชาวไร่ที่มีใบหน้าสูบผอมและหยาบกร้านนั่งล้อมโต๊ะรับประทานอาหารอย่างง่าย ๆ ที่ทำมาจากมันฝรั่ง ทั้งนี้ มันฝรั่งนั้นเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงและมีราคาถูก (มันฝรั่งเป็นพืชหัวจากทวีปอเมริกาถูกนำเข้ามาในยุโรปราวศตวรรษที่ 15-16 ก่อนจะกลายเป็นอาหารหลักของชาวยุโรป) ซึ่งพวกเขาพอจะสามารถซื้อหามารับประทานเพื่อยังชีพได้ พร้อมกันนี้พวกเขายังดื่มกาแฟเพื่อให้เกิดการตื่นตัวในการทำงานระหว่างวัน 

จิตรกรรมชิ้นนี้จึงทําหน้าที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตของชั้นชนล่างที่มีฐานะยากจน สวนทางกับความเจริญรุ่งเรืองของระบบอุตสาหกรรม จิตรกรรมในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นจึงมักจะถูกสร้างสรรค์มาเพื่อใช้สะท้อนคุณภาพชีวิตของชนชั้นล่างว่ามีความเป็นอยู่รวมไปถึงสภาพสังคมอย่างอัตคัดเพียงใด 

นี่เป็นจิตรกรรมเพียงบางส่วนในบางยุคสมัยเท่านั้น วัฒนธรรมอาหารในจิตรกรรมเหล่านี้ไม่เป็นเพียงการสร้างสรรค์งานเพื่อความสุนทรีย์ แต่ยังเพื่อบันทึกเรื่องราว และสะท้อนภาพสังคมในแต่ละยุคสมัยได้อย่างดี โดยสรุปแล้ว อาหารและวัฒนธรรมอาหารถูกนํามาใช้เป็นสัญลักษณ์ทางความเชื่อศาสนา ถูกนำเสนอแทนความอุดมสมบูรณ์ของสังคม ถูกนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์แฝงความหมาย และถูกนำเสนอความหมายโดยนัยเพื่อสะท้อนหรือเสียดสีสังคม 

อาหารในงานจิตรกรรมจึงสามารถบอกเล่าเรื่องราวอารยธรรมของมนุษย์ได้มากกว่าที่เห็น

 


อ้างอิง :

สุชาตา โรจนาบุตร. (2562). ภาพอาหารในประวัติศาสตร์ศิลป์. วารสารศิลป์ พีระศรี. ปีที่ 7 : ฉบับที่ 1.

Maude Bass-Krueger. (2021). A Bitesize History of Food in Art. Access 5 April 2021, from https://artsandculture.google.com/story/a-bitesize-history-of-food-in-art/9QJyZ-tyLu9GJQ


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 เมษายน 2564