ทำไมประชาชน “บริจาคเงิน” หนุนกิจการการบินของชาติอย่างคึกคัก?

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ที่ 1 เครื่องบิน กิจการการบิน
“เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ที่ 1” เครื่องบินที่พระยาอภัยภูเบศร์ซื้อให้แก่กระทรวงกลาโหม (ภาพจาก เว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ)

ช่วงรัชกาลที่ 6 มีการ “บริจาค” จากประชาชนทั่วประเทศ เพื่ออุดหนุนกองทัพครั้งสำคัญด้วย 2 หน หนึ่ง คือ การซื้อ “เรือหลวงพระร่วง” หนึ่งคือ การซื้อ “เครื่องบินประจำการ” ชุดแรกของประเทศ

แต่ต่างกันที่การซื้อเรือหลวงพระร่วงต้องใช้เวลาถึง 6 ปี จึงรวบรวมเงินบริจาคพอซื้อเรือรบ ทว่าการสนับสนุนกิจการการบินกลับได้รับการตอบรับด้วยดี มีผู้บริจาคเงินซื้อเครื่องบินหลายลำ

เหตุปัจจัยของความต่างดังกล่าวนั้น เทพ บุญตานนท์ เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ “การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6” (สนพ. มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2559) เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้


 

การบริจาคเงินเพื่อกิจการการบินไทย

การบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่องบินให้แก่กระทรวงกลาโหมไว้ใช้งานนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มที่กระทรวงกลาโหมได้จัดซื้อเครื่องบินเพื่อจะเข้าประจำการในแผนการบินชุดแรกจำนวน 7 เครื่อง ในคราวนั้น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ อดีตผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองได้ซื้อเครื่องบินแบบเบร์เกต์ให้แก่กระทรวงกลาโหมเพิ่มอีก 1 ลำ กระทรวงกลาโหมได้ตั้งชื่อเครื่องบินลำนี้ว่า “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ที่ 1”

“เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ที่ 1” เครื่องบินที่พระยาอภัยภูเบศร์ซื้อให้แก่กระทรวงกลาโหม (ภาพจาก เว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ)

การบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่องบินจะกระทำกันด้วยการเรี่ยไรเงินจากข้าราชการและประชาชนในจังหวัด และมอบเงินที่ได้รับจากการเรี่ยไรให้แก่กระทรวงกลาโหมในนามของจังหวัดหรือมณฑลนั้น ๆ

เช่น เมื่อคราวที่ข้าราชการและพ่อค้าในมณฑลภูเก็ตร่วมกันบริจาคเงินน้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อนําเงินดังกล่าวไปจัดซื้อเครื่องบินสําหรับกองทัพบก เมื่อคราวที่พระองค์เสด็จประพาสมณฑลภูเก็ตใน พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้แก่กระทรวงกลาโหมสําหรับจัดซื้อเครื่องบินแบบเบร์เกต์จํานวน 1 ลํา โดยตั้งชื่อเครื่องบินลํานี้ว่า “มณฑลภูเก็ตที่ 1”

นอกจากบรรดาพ่อค้าข้าราชการในจังหวัดภูเก็ตที่ร่วมบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่องบินแล้ว ประชาชนในจังหวัดอื่น ๆ ต่างร่วมบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่องบินให้แก่กองทัพบก เช่น จังหวัดฉะเชิงเทราก็ได้มีการรวบรวมเงินเพื่อซื้อเครื่องบินใน พ.ศ. 2465 โดยกองทัพบกได้ตั้งชื่อเครื่องบินว่า “จังหวัดฉะเชิงเทรา”

ชาวจีนยังคงเป็นกลุ่มคนที่ให้ความร่วมมือกับนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ หรือแนวคิดชาตินิยม ชาวจีนจํานวนมากพยายามแสดงออกให้เห็นว่าพวกเขามีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศชาติ แต่ด้วยข้อจํากัดหลายประการทั้งเรื่องหน้าที่การงานซึ่งชาวจีนโดยมากแล้วมักประกอบอาชีพค้าขาย และภาษา ทําให้บรรดาชาวจีนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าร่วมในกิจกรรมที่รัฐบาลจัดขึ้นมาได้ อย่างการเข้าเป็นสมาชิกเสือป่า

อย่างไรก็ตาม บรรดาชาวจีนเหล่านี้ก็มีวิธีการที่จะประนีประนอมกับทางรัฐบาลในการแสดงออกให้เห็นว่าตนมีความจงรักภักดี ชาวจีนซึ่งมีฐานะมั่งคั่งจึงเลือกวิธีการบริจาคเงินให้แก่รัฐบาล เฉพาะนโยบายที่เป็นพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเจ้าอยู่หัว ซึ่งการบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่องบินในคราวนี้ก็เช่นเดียวกัน

กิจการการบินเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทรงให้ความสนพระราชหฤทัย เห็นได้จากการที่พระองค์เสด็จพระราชดําเนินไปทอดพระเนตรการฝึกบิน และทรงมีพระราชดํารัสชื่นชมความก้าวหน้าในกิจการการบินในสยามที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนสามารถสร้างเครื่องบินไว้ใช้งานได้เอง ทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์บทความที่กล่าวถึงการใช้เครื่องบินในการทําสงคราม เช่น เรื่อง “เครื่องบินทเลเลข 9” ในวารสารสมุทสาร หรือในหนังสือสงครามป้อมค่ายประชิต ที่มีการกล่าวถึงการใช้เครื่องบินในการสอดแนมข้าศึก

ด้วยเหตุนี้ บรรดาพ่อค้าชาวจีนจึงได้รวมตัวกันเพื่อบริจาคเงินให้แก่กระทรวงกลาโหม เพื่อนําไปจัดซื้อเครื่องบิน อย่างกรณีของพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ ซึ่งนําโดยนายตันเล่งซื้อ นายหน้าของธนาคารสยามกัมมาจล ขุนพรหมประชาชิต (กิมใช้ ตัณสกุล) และนายศิลป์ เทศะแพทย์ ได้เป็นแกนนําชักชวนพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ จํานวน 163 รายร่วมกันบริจาคเงินจํานวนรวม 10,675 บาท ซึ่งทางกระทรวงกลาโหมได้ตั้งจารึกชื่อ “พ่อค้าจีนในพระนคร 1” ไว้บนเครื่องบินลําหนึ่งของกองทัพบก

นอกจากการบริจาคเงินให้กรมอากาศยานเพื่อนําไปซื้อเครื่องบิน สนามบินยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความจําเป็นอย่างมากต่อกิจการการบิน ด้วยเหตุนี้ประชาชนจํานวนมากในจังหวัดต่างๆ ได้บริจาคที่ดินของตนให้แก่รัฐบาลเพื่อสร้างเป็นสนามบิน เช่น ใน พ.ศ. 2464 นายสิบตํารวจเอก ปลิว โคพระอินทร์ และนายไปล่ได้บริจาคที่ดินของตนที่จังหวัดอุบลราชธานี และกาญจนบุรี ให้แก่รัฐบาล อีกทั้งประชาชนในจังหวัดต่างๆ ยังร่วมกันบริจาคเงินเพื่อใช้ในการสร้างสนามบินอีกด้วย

นอกเหนือจากการบริจาคที่ดินและเงินสําหรับซื้อเครื่องบิน อันเป็นปัจจัยสําคัญสําหรับกิจการการบิน ยังมีการบริจาคสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ประจําสํานักงาน นิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงการให้ยืมภาพยนตร์มาจัดฉายให้ทหารที่สังกัดกรมอากาศยาน ซึ่งตั้งอยู่ที่สนามบินดอนเมืองได้รับชม

การแสดงละคร ยังคงเป็นวิธีการสําคัญในรัชสมัยของพระองค์ การเรี่ยไรเงินเพื่อบํารุงกิจการของทางราชการ ทั้งการบํารุงการศึกษา การสาธารณสุข หรือแม้แต่การทหารในส่วนกรมอากาศยานก็เช่นเดียวกัน เงินบริจาคบางส่วนที่ได้รับมานั้นมาจากเงินที่พ่อค้า ประชาชน และข้าราชการร่วมกันจัดแสดงละครขึ้น เพื่อนําเงินค่าเข้าชมมอบให้กรมอากาศยาน สําหรับซื้อเครื่องบินเข้าประจําการในกองทัพ

แต่อีกวิธีหนึ่งที่นับว่าประสบผลสําเร็จเป็นอย่างมากในการเรี่ยไรเงินเพื่อบํารุงกิจการของกรมอากาศยานก็คือ การจัดแสดงการบิน ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากในทุกครั้งที่มีการแสดงในกรุงเทพฯ

ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่มีการก่อสร้างสนามบินตามจังหวัดต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว บรรดาสมุหเทศาภิบาลในมณฑลต่างๆ ได้ทําเรื่องขอให้กรมอากาศยานนําเครื่องบินมาจัดแสดงการบิน เพื่อให้ประชาชนได้เห็นประโยชน์ของกิจการการบิน และเป็นการปลุกจิตสํานึกในความรักชาติบ้านเกิด ประชาชนเหล่านี้จะได้ร่วมกันบริจาคเงินบํารุงกรมอากาศยานต่อไป

การจัดแสดงการบินนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากประชาชน เห็นได้จากค่าเข้าชมที่ได้รับ อย่างการจัดแสดงการบินที่มณฑลอุบลราชธานีใน พ.ศ. 2464 ได้รับเงินค่าเข้าชมหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วเป็นจํานวนเงินถึง 102,305 บาท 50 สตางค์ ส่วนการจัดแสดงการบินที่มณฑลร้อยเอ็ดในปีต่อมา สามารถเก็บเงินค่าเข้าชมได้ 220,453 บาท 2 สตางค์ และที่มณฑลอุดรได้เงินทั้งสิ้น 127,790 บาท 8 สตางค์

จะเห็นได้ว่าการจัดการแสดงการบินได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชน การจัดแสดงแต่ละครั้งสามารถเก็บเงินบริจาค เพื่อนํามาบํารุงกรมอากาศยานได้เป็นจํานวนมาก เพียงแค่การจัดแสดงในระยะเวลา 1 ปีเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็สามารถเก็บค่าชมการแสดงการบินได้กว่า 450,548 บาท 60 สตางค์ และหากเมื่อนํามาเปรียบเทียบกับการเรี่ยไรเงินเพื่อซื้อเรือหลวงพระร่วงที่ต้องใช้เวลากว่า 6 ปี ในการรวบรวมเงินจํานวน 2,591,946 บาท 65 สตางค์…

ในกรณีของการบริจาคเงินให้แก่กรมอากาศยาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กลับได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากข้าราชการ ประชาชนให้ความร่วมมือในการบริจาคเงิน ที่ดิน สิ่งของเครื่องใช้ และสื่อบันเทิงต่างๆ แก่กรมอากาศยาน

อีกทั้งยังไม่ปรากฎข้อวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักหนังสือพิมพ์ต่อการขยายกิจการการบินภายในประเทศ เหตุผลสําคัญที่ทุกคนต่างให้ความสนใจต่อกรมอากาศยาน ก็ด้วยเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ และเรื่องการบินก็เป็นเรื่องใหม่สําหรับประชาชน ในสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ประโยชน์ที่ได้รับจากการพัฒนากิจการการบินภายในประเทศก็มิได้มีแต่เรื่องการทหารเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในการพัฒนาทั้งประเทศ ทั้งเรื่องกิจการไปรษณีย์โทรเลข การสาธารณสุข และการขนส่ง ทางกรมอากาศยานก็พยายามหาแรงสนับสนุนจากประชาชน ด้วยการจัดแสดงการบินตามจังหวัดต่าง ๆ

กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เครื่องบิน ลำแรก บินลง แผ่นดินสยามกิจการการบิน
กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถทรงฉายกับเครื่องบินลำแรกที่บินมาลงในแผ่นดินสยาม

การจัดแสดงการบินเหล่านี้มีลักษณะที่เป็นรูปธรรม ประชาชนสามารถสัมผัสได้ถึงความเจริญก้าวหน้าและประโยชน์ของกิจการการบินอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงการบอกเล่าผ่านตัวอักษรเหมือนกับการเรี่ยไรเงินในกรณีอื่น ด้วยเหตุนี้ กิจการการบินของกรมอากาศยานจึงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากประชาชน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2564