หลังศึกผาแดง กวนอูปล่อยโจโฉด้วยคุณธรรมจริงหรือเปล่า?

ในวรรณกรรม “สามก๊ก” กวนอู คือตัวละครที่ได้รับการยกย่องสูงสุด เรื่องความซื่อสัตย์ โดยมีเหตุการณ์หลายตอนในเรื่องเป็นเครื่องพิสูจน์คุณธรรมอันมั่นคงของกวนอู หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “การปล่อยโจโฉด้วยคุณธรรม” เพื่อทดแทนคุณที่ครั้งหนึ่งกวนอูและพี่สะใภ้ (ภรรยาเล่าปี่) ต้องไปอาศัยอยู่กับโจโฉ

ตอนหนึ่งในนิยายสามก๊กหลัง ฝ่ายของโจโฉพ่ายแพ้ในศึกที่เซ็กเพ็ก หรือศึกผาแดงแล้ว โจโฉหนีไปทางตำบลฮัวหยง กลับเจอฝน เส้นทางเป็นหล่มเลน เดินไม่สะดวก ต้องบุกฝ่าไปอย่างแสนวิบากจึงผ่านไปได้ โจโฉดีใจที่ไม่มีทัพศัตรูมาสกัด แต่ยังไม่ทันไร กองทัพโจโฉก็ต้องพบกับกองทหาร 500 นาย ที่มีอาวุธครบมือออกมาสกัด แต่ที่น่ากลัวคือ ผู้นำทัพถือง้าวมังกรเขียว ขี่ม้าเซ็กเทา ที่ชื่อกวนอู ตั้งสกัดขวางอยู่

กองทัพโจโฉเห็นแล้วก็ขวัญกระเจิง โจโฉก็ใจดีสู้เสือลงจากหลังม้าเข้าไปทักทายกวนอู และขอร้องให้เปิดทางให้แก่ตน

ฉากนี้กวนอูแมนมากสมเป็นกวนอู เมื่อโจโฉขอให้เปิดทาง กวนอูหวนคิดถึงบุญคุณของโจโฉในอดีต กับเรื่องที่ตนรบฝ่าด่านเพื่อมาพบเล่าปี่ ครั้งนั้นฆ่านายด่านฝ่ายโจโฉไป 5 คน แล้วก็เกิดความละอาย จึงปล่อยโจโฉและทหารทั้งหมดให้หนีไป

การที่กวนอู “ปล่อยโจโฉด้วยคุณธรรม” กลายเป็นตัวอย่างอันเป็นแบบฉบับเรื่องคุณธรรมความซื่อสัตย์ของกวนอู ที่กวนอูได้รับยกย่องในประวัติศาสตร์จนกลายเป็นเทพเจ้า ทั้งได้รับการเทิดทูนเป็นเทพประจำอาชีพต่างๆ สารพัดในหมู่ประชาชน ก็เพราะ “คุณธรรม”

แต่เดี๋ยวก่อนนั่นคือในนิยาย แล้วเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ล่ะเป็นอย่างไร

ในพงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติกวนอู ไม่มีเรื่อง “กวนอูปล่อยโจโฉด้วยคุณธรรม” ส่วนในภาควุยก๊ก บทประวัติโจโฉ กลับบันทึกเรื่องโจโฉพ่ายหนีเอาตัวรอด เผยซงจือทำอรรถาธิบายเสริมโดยอ้างอิงข้อความจากหนังสือ “ซานหยางกงไล่จี้-บันทึกเรื่องของซานหยางกง” ว่า

“เรือโจโฉถูกเล่าปี่เผา จึงพาทหารหนีไปทางฮัวหยง เจอหล่มเลน ผ่านไปไม่ได้ อีกทั้งเกิดลมแรง จึงให้ทหารที่อ่อนล้าขนหญ้าถม ม้าจึงเดินผ่านไปได้ ทหารเหล่านั้นถูกม้าเหยียบจมโคลนตายเป็นอันมาก เมื่อหนีผ่านไปได้โจโฉดีใจมาก เหล่านายทหารถามสาเหตุ โจโฉตอบว่า ‘เล่าปี่มีปัญญาระดับเดียวกับเรา แต่คิดการช้ากว่า หากจุดไฟดักไว้ พวกเราจะไม่มีทางรอดเลย’ เล่าปี่ก็จุดไฟเผาจริงๆ แต่ไม่ทันการณ์”

สรุปคือ “เรื่องจริงไม่อิงนิยาย” ฉากกวนอูปล่อยโจโฉด้วยคุณธรรม ก็เหมือนกับฉาก 3 พี่น้อง เล่าปี่, กวนอู และเตียวหุย สาบานในสวนดอกท้อ ฯลฯ ที่เป็นสีสันที่ผู้เขียนเพิ่มเติมให้เราอินไปกับเรื่องเท่านั้นเอง

 


ข้อมูลจาก :

หลี่ฉวนจวินและคณะ-เขียน, ถาวร สิกขโกศล-แปล. 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน กรกฎาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2564