ไฉนเรียกบิดาเจ้าจอมในร.1 ว่า “พระยาพัทลุงคางเหล็ก” คางเหล็ก-คางเหลือง คืออะไร?

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพวาดพระเจ้าตากทรงม้าสู้ศึก ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก (ถ่ายโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2560)

…หนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 15 หรือพงศาวดารเมืองพัทลุง เรียบเรียงโดย หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อสมัย ร.6 พ.ศ. 2462 …พงศาวดารออกนามพระยาพัทลุงคางเหล็ก…พระยาพัทลุงคนนี้ พงศาวดารฉบับสำนักพิมพ์ก้าวหน้า เล่ม 5 น. 343 ให้ข้อมูลว่านามเดิมคือ ขุน เป็นบุตรพระยาราชบังสัน (ตะตา) ซึ่งเป็นลูกชายของตาตุมะระหุ่ม…

พระยาราชบังสัน (ตะตา) เคยเข้าไปรับราชการในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์

พ.ศ. 2291 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์โปรดให้พระยาราชบังสัน(ตะตา) ออกมาเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง ทำนองประเทศราช ส่วนนายขุนผู้ลูก มีภรรยาชื่อท่านแป้น เป็นบุตรีของเศรษฐีเต็ม ท่านแป้นหรือคุณหญิงแป้นนี้เป็นน้องของท้าวทรงกันดาร (ทองมอญ)

ต่อมานายขุน ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ตั้งบ้านเมืองที่บ้านลำปำ ตำบลโคกลุง อำเภอเมืองพัทลุง

พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ขุนนางบางคนตั้งตัวเป็นเจ้า เช่นทางเมืองนครศรีธรรมราช พระปลัดตั้งตนเป็นเจ้านครฯ และตั้งหลานชายมาว่าราชการที่พัทลุง

พ.ศ. 2311 พระเจ้าตากปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

พ.ศ. 2312 พระเจ้าตากเสด็จมาตีเมืองนครศรีธรรมราชแล้วโปรดให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ อยู่ครองเมืองนครฯ และให้นายจันทร์มหาดเล็กมาว่าราชการเมืองพัทลุงซึ่งอยู่ติดนครฯ

นายจันทร์ว่าราชการอยู่ 3 ปี ก็ถูกถอดออกจากราชการด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ

พ.ศ. 2315 พระเจ้าตากทรงตั้งให้ “นายขุน” เป็นพระยาแก้วเการพพิชัย และเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง แสดงว่านายขุนต้องเป็นคนมีความสามารถ นายขุนกับภรรยาคือคุณหญิงแป้นมีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ กลิ่น

กลิ่น ภายหลังได้เป็นเจ้าจอม คือมเหสีคนหนึ่งของ ร.1 มีลูกคือพระองค์เจ้าชายสุทัศน์ หรือกรมหมื่นไกรสรวิชิต (พ.ศ. 2341-2390) เป็นต้นสกุล สุทัศน์…

หลังจากท่านคางเหล็กตายแล้ว ร.1 โปรดให้พระยาศรีไกรลาศออกมาเป็นผู้ว่าฯ พระยาศรีไกรลาศก็ย้ายเมืองไปตั้งที่ศาลาโต๊ะวัก โคกลุงเลยถูกทิ้งร้าง ไม่เหลือหลักฐานทางโบราณคดีใดๆ กลายเป็นไร่นาหมด ข้อนี้ ทว.พ. หรือ ทิพวัลย์ พิยะกูล เป็นผู้เขียน

ตัดกลับอีก มาว่าเรื่องท่านคางเหล็กต่อไปว่า ทำไมจึงได้สมญานามคางเหล็ก

นามคางเหล็ก

พงศาวดารพัทลุงว่า พระยาพัทลุง (ขุน) ได้สมญานามว่าพัทลุงคางเหล็ก จาก 2 นัยยะ

นัยยะที่ 1 กล่าวว่าเมื่อครั้งพระเจ้าตากเสียพระสติรับสั่งถามข้าราชการว่าใครจะตามเสด็จกูขึ้นสวรรค์ได้บ้าง ข้าราชการต่างคนต่างนิ่ง

พระยาพัทลุง (ขุน) ทูลอย่างฉลาดเฉลียวว่า เป็นเรื่องเหลือวิสัย…ผู้หาบุญไม่ได้ (คือคนไม่มีบุญ) จะตามเสด็จขึ้นสวรรค์ในเวลาที่ตัวเองยังมีชีวิตอยู่นั้นเป็นไปไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าจะคอยตามเสด็จเมื่อข้าพระพุทธเจ้าหาชีวิตไม่แล้ว…

พระเจ้าตากได้ฟังก็โปรดว่าพูดถูก คนอื่นหรือจะมีบุญญาธิการเหมือนพระองค์…

เป็นคำที่กล้ากล่าวทูลเพื่อเตือนสติ จึงได้นามว่า “คางเหล็ก”

นัยยะที่ 2 กล่าวกันว่าเมื่อครั้งพระยาพัทลุง (ขุน) คุมทัพเรือโดยเสด็จ หรือตามเสด็จกรมพระราชวังบวร วังหน้าและน้องชายในรัชกาลที่ 1 (ไม่ระบุปี แต่เข้าใจว่าจะเป็นในสมัยพระเจ้าตาก) ไปตีเมืองแขกปัตตานี พวกกองทัพอดน้ำ

พระยาพัทลุงจึงเอาเท้าแช่ลงในทะเลก็บันดาลน้ำเค็มให้จืด (ฟังเหมือนเรื่องหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลให้จืด)

พวกพลทหารได้ตวงตักน้ำจืดไว้ดื่มก็รอดพ้นความกันดารไปได้ ภายหลังพระยานครฯ ฟ้องว่าพระยาพัทลุงทำน้ำเค็มให้จืดได้จะเป็นขบถจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระกระทู้ถาม

พระยาพัทลุงแก้ว่าพวกพลอดน้ำได้ความลำบาก จึงเสี่ยงเอาพระบารมีพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่พึ่งน้ำในทะเลจึงบันดาลจืดได้ พวกทหารได้ดื่มเป็นกำลังรับราชการต่อไปหาใช่ด้วยอำนาจวาสนาของท่านเองไม่…
นับเป็นการแก้ตัวที่ฉลาด จึงกลับได้รับความชอบ

นัยยะที่ 2 พงศาวดารไม่ได้พูดสักคำว่าเกี่ยวกับคางเหล็กตรงไหน คงให้หมายความว่าปากกล้า กล้าพูด ไม่กลัวตาย แต่ทุกอย่างก็ยังไม่กระจ่างอยู่ดี

คำว่าคางเหล็ก ไม่เคยได้ยินใครอธิบาย

ในหูผมเองได้ยินเสียงแว่วๆ แต่ “หยาบกระด้างคางแข็ง” เพราะเมื่อริเขียนเรื่องสั้นยุค 2510 จำได้แม่นว่าเคยใช้คำๆ นี้ ไม่รู้คิดเองหรือไปเอามาจากไหน

ลองหาพจนานุกรมหลายๆ เล่มทั้งเก่าและใหม่มาเปิดดู ไม่พบอธิบายคำว่าคางเหล็ก

ของมติชนว่า คางเป็นชื่ออวัยวะล่างสุดของขากรรไกร และเป็นชื่อต้นไม้ คางโคเป็นชื่อเครื่องมือบริหารสะโพกให้ผายของผู้หญิง

คางทูมเป็นโรคเกิดจากต่อมน้ำลาย ทำให้คางบวม คางโทนเป็นชื่อต้นไม้ คางเบือนเป็นชื่อปลา คางแพะคือเคราใต้คางอย่างเคราแพะ คางหมูคือสี่เหลี่ยมสอบๆ และคางเหลืองคือเจ็บมากจนเกือบตาย…

ภาพประกอบเนื้อหา – ภาพวาด “คาง” ผู้ชาย ไม่ปรากฏเจ้าของภาพ (เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2562)

สำนวน “คางเหลือง”

หันไปสนใจคำว่าคางเหลืองเสียอีกแล้ว เจ็บอย่างไรจึงทำให้คางเหลือง?

นึกถึงหนังสือชื่อสำนวนไทย ของ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ซึ่งเป็นคนเกิดสมัยรัชกาลที่ 5 น่าจะไขความกระจ่างอะไรได้บ้าง

โชคดีท่านอธิบายว่า ในการวิวาทต่อยตีนั้นจุดสำคัญที่ถูกเข้าแล้วอาจถึงตายมี 8 แห่งได้แก่ กำด้น (ท้ายทอย) -ต้นคอ-จมูก-แสกหน้า-เพรียงหู-ขากรรไกร-ชายโครง และปลายคาง…

ปลายคางหรือคางเป็นส่วนที่ยื่นออกมามาก ถูกอะไรได้ง่ายกว่าส่วนอื่น คางเป็นส่วนที่ล่อแหลมมาก เมื่อจะพูดอะไรเกี่ยวกับที่สำคัญจึงยกเอาคางมาพูด

สํานวนคางเหลืองคงจะมาจากการวิวาทต่อยตีกันหรือชกมวย เมื่อถูกคางเข้าแล้วถ้าไม่ตายก็ต้องมารักษาซึ่งสมัยโบราณใช้ไพลเอามาฝนทาแก้ฟกช้ำ

ไพลมีสีเหลือง…ทาเข้าที่คางคาง คางก็เหลือง จึงมักได้ยินพูดกันว่า “ถ้าไม่ตายก็คางเหลือง” คำว่าคางเหลืองจึงกลายเป็นสำนวน หมายถึงแย่ คือลำบากเกือบตาย…

ตัวอย่างคำกลอนที่พูดถึงสำนวนคางเหลือง เช่น

“ครั้งนี้ไม่รอดเห็นวอดวาย ถ้าแม้นมิตายก็คางเหลือง”คาวี พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2
“ฝ่ายพวกเรือเหลือแตกต้องแยกย้าย ที่ไม่ตายรอดบ้างก็คางเหลือง”พระอภัยมณีของสุนทรภู่
“มาพ้นน้ำซ้ำพบประสบทราย ถึงไม่ตายก็คางเหลืองเหมือนเรื่องราว”นิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย สมัย ร.4

นับว่าน่าสนใจ…แต่ถึงอย่างไร หนังสือสํานวนไทยก็ไม่ได้พูดถึงคำว่าคางเหล็กอยู่ดี ทีนี้ก็ต้องเดาเอาละ

ว่าจากการที่คางเป็นจุดเป็นจุดตาย เมื่อพูดว่าคางเหล็กจึงน่าจะหมายถึงอยู่ยง ทนทานเหมือนเหล็ก
แม้เจอปัญหาใหญ่กระแทกก็ยังรอดมาได้ราวกับคางเสริมเหล็ก…

เดาอย่างนี้พอรับได้ไหม…ปัญญาผมมีแค่นี้?

จบเรื่องคางเหล็ก กลับมาที่ประวัติพระยาพัทลุง (ขุน คางเหล็ก) อีกที

พระยาพัทลุง (ขุน คางเหล็ก) ในช่วงปลาย

พงศาวดารพัทลุงว่า พ.ศ. 2423 ร.1 ปราบดาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุง (คางเหล็ก) คงเป็นพระยาพัทลุงต่อไป

พ.ศ. 2328 พม่ายกทัพมาตีชุมพร ไชยา และนครฯ ร.1 ให้วังหน้ายกทัพหลวงลงไปตีทัพพม่าแตกหมดทุกกอง แล้วเลยเสด็จไปประทับที่สงขลาเพื่อปราบแขกเมืองปัตตานีต่อไป

ฝ่ายพระยาพัทลุงคางเหล็กกับพระมหาช่วยวัดป่าแขวงเมืองพัทลุงผู้มีความรู้ทางไสยศาสตร์ลงเลขยันต์ตะกรุดผ้าประเจียดให้พวกพลแต่งทัพออกรับพม่าที่ตำบลคลองท่าเสม็ด พม่าได้มาตั้งค่ายประชิดคนละฟากคลองแต่หาได้รบกันไม่ พม่าเลิกทัพกลับไปเสีย

บริเวณที่พม่าตั้งค่ายเรียกว่าทุ่งค่ายอยู่ในแขวงเมืองนครฯ

พระยาพัทลุงคางเหล็กเลิกทัพแล้วกลับไปเฝ้าวังหน้าที่สงขลา กราบทูลความชอบพระมหาช่วยจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาช่วยลาอุปสมบท

แล้วให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง

ครั้งนั้นพระยาจะนะ (เณร หรืออินท์) น้องชายของพระยาพัทลุงคางเหล็กคิดมิชอบ ลอบมีหนังสือถึงพม่าข้าศึก วังหน้าโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุงผู้พี่เป็นตุลาการ ชำระเป็นสัตย์แล้วรับสั่งถามว่าจะควรประการใด

พระยาพัทลุงคางเหล็กกราบทูลว่า ควรประหารชีวิตตามบทพระอัยการ จึงได้ประหารชีวิตพระยาจะนะ ตามคำตัดสินของพี่ชาย แล้วโปรดให้พระยาพัทลุงคางเหล็กเป็นแม่กอง คุมทัพเมืองพัทลุงและไพร่พลเมืองจะนะเป็นทัพเรือโดยเสด็จไปตีเมืองแขกปัตตานี

ครั้นตีเมืองปัตตานีได้ราบคาบแล้ววังหน้าก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ

พระยาพัทลุงคางเหล็กว่าราชการอยู่ 17 ปี จนถึง พ.ศ. 2332 ต้นสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ถึงแก่อนิจกรรม จากนั้น ร.1 ก็โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไกรลาศ คนที่ไปจากเมืองกรุง (ครั้งพระเจ้าตากให้อยู่ช่วยราชการพระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ที่เมืองนครฯ แต่ก่อน) มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่บ้านลำปำ ตำบลศาลาโต๊ะวัด 2 ปี

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร

ทายาทพระยาทพัทลุงคางเหล็ก

พระยาพัทลุงคางเหล็กไม่ได้มีแต่ลูกสาว หากมีลูกชายด้วย เช่น นายทองขาวต่อมาได้เป็นหลวงนายศักดิ์
และต่อมาได้เป็นพระยาแก้วโกรพพิชัย ผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง

นายทองขาวเป็นผู้สร้างวัดวังอันงดงามมาก สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2359

อีกคนคือนายกล่อม ได้เป็นพระทิพกำแหงสงคราม

นอกนั้นพงศาวดารไม่ได้เขียนถึง ต้องดูจากหนังสือชื่อพงศาวดารและลำดับวงศ์สกุลเมืองพัทลุง ซึ่งเขียนโดย พระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง -ลูกของพระยาพัทลุง-ทองขาว) บอกว่าพระยาพัทลุงคางเหล็กมีลูกทั้งหมด 9 คน คือ ทองขาว, ชื่อนาง -เป็นผู้หญิง, เจ้าจอมมารดากลิ่น ใน ร.1, นายกล่อม, เจ้าจอมมารดาฉิม ใน ร.1, นายด่อน, นายชู, บุญศรี (หญิง) และบุญไทย (หญิง)

ปิดท้ายประวัติพระยาพัทลุงขุนที่ ช.พ. หรือ ชัยวุฒิ พิยะกูล เขียนในสารานุกรมเล่ม 6 น. 2448 มีพิสดารออกไปว่า

นายขุนเกิดสมัยอยุธยาตอนปลายไม่ทราบปี หนังสือประชุมพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ของ พระยาอนุชิต (อนุชิตอะไรไม่บอก-มีคนบอกว่าเป็นนามแฝงยุค 2490) กล่าวว่านายขุนมีเพื่อนสนิท 2 คน คือนายสินหรือพระเจ้าตากสินกับนายทองด้วงหรือ ร.1 ทั้ง 3 คนรักใคร่กันมาก ครั้งหนึ่งนายขุนตีไก่กับนายสินเกิดวิวาทชกต่อยกัน

นายขุนพูดชมเชยแกมประชดว่า ไอ้ไก่เจ๊กนี้ก็ดีจริงเหมือนกันนะ รอดหม้อแกงไปได้

นายสินตอบด้วยความโมโหว่า ไม่ดีก็ไม่เอามาวะใกล้เสมอกันคนยังไม่เสมอกันกูอยากจะลองฝีมือกับไอ้ชาติแขกสุหนี่สักหน่อย

นายขุนบันดาลโทสะร้องว่า กูก็อยากจะลองฝีมือกับไอ้เจ๊กไหหลำบ้างเหมือนกัน

ขาดคำทั้งคู่ก็กระโจนเข้าชกปากกัน ขุนศรีคงยศ (มั่ง) ผู้เป็นนายบ่อนไก่จะห้ามปรามสักเท่าใดก็ไม่ฟัง ต้องใช้คนไปตามนายทองด้วงมาห้าม จึงได้เลิกยกแล้วดีกันในวันนั้นเอง

ประวัติอันนี้ฟังดูทะแม่งๆ ไม่รู้พระยาอนุชิตไปเอาหลักฐานมาจากไหน ดูในพงศาวดารกระซิบก็ยังไม่พบ เอามาลงไว้เพื่อให้รู้ว่ามีคนเคยเขียนอะไรพิสดารไว้อย่างนี้

ข้อความนอกนั้นก็เป็นอย่างที่มีในพงศาวดารเมืองพัทลุง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาและเรียบเรียงจากบทความ “คางเหล็ก + คางเหลือง” เขียนโดย เอนก นาวิกมูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2564