“สิงห์เทียมราชรถในงานพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา ‘แฟนซี’ หรือ ‘มีจริง’ ”

การค้นพบที่เรียกความตื่นตาตื่นใจให้กับแวดวงอยุธยาศึกษาเมื่อต้นปี 2559 คงหนีไม่พ้นจิตรกรรมภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. 2231-2246) ไปยังพระเมรุมาศ หรือในจดหมายของ Aernout Cleur เจ้าหน้าที่ของสหบริษัทอินเดียตะวันออกแห่งเนเธอแลนด์ (VOC) ถึงสำนักงานใหญ่ในเนเธอแลนด์เมื่อ พ.ศ. 2247 ออกพระนามว่า “พระทรงธรรม์” (Phra Trong Than) วาดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ. 2246-2252) หลังงานพระเมรุมาศที่มีขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2247 (Terwiel 2016, 79) ประกอบด้วยภาพลายเส้น ความยาว 3.7 เมตร และภาพสี ความยาว 2.15 เมตร (Terwiel 2016, 80, 81) ได้รับการเก็บรักษาที่เยอรมนีไว้ในสภาพดีเยี่ยมอย่างน่าอัศจรรย์มากว่า 300 ปี จนได้รับการค้นพบโดยศาสตราจารย์ด้านไทยศึกษา Barend J. Terwiel ในที่สุด

ภาพทั้งหมดช่วยเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไปของงานพระบรมศพในสมัยอยุธยา ที่ปรากฏเฉพาะในเอกสาร ทั้งภาพพระเมรุมาศเก้ายอด ราชรถน้อยทั้ง 3 คันเทียมด้วยสิงห์ และพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพเทียมด้วยสิงห์ นำด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ อันมีบุรุษแต่งกายอย่างเทวดาช่วยกันฉุดชักเคลื่อนไปยังพระเมรุมาศ รวมทั้งปรากฏบุรุษแต่งกายเป็นพระยมและพระเจตคุปต์ยืนรอรับอยู่ รูปแบบริ้วกระบวนนั้น ดูละม้ายคล้ายงานพระเมรุมาศในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ด้วยความที่ภาพทั้งหมดวาดขึ้นตามอุดมคติแบบจิตรกรรมไทยประเพณี ไม่ได้วาดเป็นแผนผังริ้วกระบวนทั้งหมดแบบในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หลายท่านจึงมีข้อสรุปในเบื้องต้นว่าช่างคงวาดพอให้เห็นความอลังการของริ้วกระบวน และปริมณฑลของพระเมรุมาศมากกว่าจะวาดเป็นเรื่องเป็นราวแบบ “สมจริง”

เช่นเดียวกับหลายท่าน อาจกังขาว่าภาพดังกล่าวอาจมีลักษณะ “เหนือจริง” ด้วยซ้ำไป จากภาพลายเส้นที่มีสิงห์เทียมพระมหาพิชัยราชรถ และราชรถน้อยทั้ง 3 คันแบบค้านสายตาผู้ชม ตรงข้ามกับภาพสีใช้ม้าเทียมซึ่งดูเป็นไปได้มากกว่า เพราะมีตัวอย่างภาพถ่ายโบราณงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เห็นเป็นหลักฐาน การวาดสิงห์เทียมราชรถจึงดูมีความ “แฟนซี” มากกว่าจะเป็นเรื่องที่ “มีจริง”

ผู้เขียนเคยสงสัยแบบนี้เหมือนกับทุกคนที่เห็นภาพตอนแรก จนกระทั่งพบหลักฐานที่แสดงว่ามันเป็นเรื่อง “แฟนซี” ที่ “มีจริง” ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง อันเป็นตำราพระราชพิธีที่เรียบเรียงในชั้นหลัง ที่อาจมาจากการสัมภาษณ์เจ้านาย และขุนนางในชั้นอยุธยาที่ยังรับราชการจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงกระบวนเชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และสมเด็จพระอัครมเหสีไว้ ดังนี้

แล้วจึงเชิญพระมหาพิชัยราชรถทั้งสองเข้ามาเทียบแล้ว จึ่งเชิญพระโกฏิทองทั้งสองนั้น ขึ้นสู่พระราชรถทั้งสอง แล้วจึ่งเทียมด้วยม้า 4 คู่ ม้านั้นผูกประกอบรูปราชสีห์กรวมตัวม้าลงให้งาม แล้วจึ่งมีนายสารถีขับรถ แต่งตัวอย่างเทวดาข้างละ 4 คน” (คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม 2555, 92)

ฉะนั้น สิงห์ที่มีอยู่ในภาพ จึงเป็น “ม้า” แท้ๆ ที่เอามาแต่งแฟนซีให้กลายเป็น “สิงห์”

ภาพม้าแต่งแฟนซีเป็นสิงห์ไม่ได้ปรากฏเฉพาะในจิตรกรรมดังกล่าวเท่านั้น

หากยังพบในจิตรกรรมภาพกระบวนเชิญพระบรมอัฐิ และพระสรีรังคาร (ไม่ทราบว่าของพระองค์ใด) ในสมุดภาพที่คัดลอกจากผนังอุโบสถวัดยม จ.พระนครศรีอยุธยา จากช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 23 คัดลอกราวรัชกาลที่ 5 ก็ปรากฏว่ามีการใช้สิงห์ ซึ่งในที่นี้คือ ม้าแต่งแฟนซีเทียมพระที่นั่งราเชนทรยานเชิญพระบรมอัฐิ และพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยเชิญพระสรีรังคาร เช่นกัน เป็นหลักฐานที่สนับสนุนภาพลายเส้นงานพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชาว่าวาดขึ้นจากพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่จริงแม้จะวาดขึ้นในลักษณะของจิตรกรรมอุดมคติแบบไทยประเพณีก็ตาม เช่นเดียวกับองค์ประกอบอื่นๆ อย่างภาพสังเค็ดยอดปราสาทในซ่าง ที่ดูคล้ายกับของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก หรือการใช้เครื่องเรือนแบบยุโรปที่ปรากฏในภาพก็น่าจะวาดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

แล้วทำไมจะต้องให้ม้าสมมติตัวว่าเป็นสิงห์ ให้มันยุ่งยากทั้งม้าและคน ?

เป็นไปได้ว่าสิงห์ดังกล่าวอาจสื่อความหมายให้สัมพันธ์กับสิงห์อันเป็นพาหนะของ “พระยม” เทพเจ้าแห่งความตายผู้เป็นใหญ่แห่งยมโลก ตามคติอินเดียและกัมพูชาพระยมจะทรงกระบือเป็นพาหนะ แต่คติไทยพระยมกลับทรงสิงห์เป็นพาหนะ เป็นต้นว่าตราประจำตำแหน่งพระยายมราช (กรมเมือง) สิงห์เทียมราชรถจึงเปรียบได้กับพาหนะของพระยมที่ทำหน้าที่เชิญดวงวิญญาณไปเฝ้าพระยมยังยมโลก สอดคล้องกับจิตรกรรมภาพลายเส้นงานพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งมีภาพบุรุษแต่งกายสวมลอมพอกที่รับบทเป็นพระยมและพระเจตคุปต์ (พระจิตรคุปตะ หรือที่ไทยเรียกเจ้าพ่อเจตคุปต์) (Terwiel 2016, 80) ยืนรอรับพระบรมศพอยู่นอกรั้วราชวัติพระเมรุมาศสู่โลกแห่งความตายของพระองค์ ก่อนจะส่งเสด็จไปยังสรวงสวรรค์ที่มีพระเมรุมาศอันเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นสัญลักษณ์
————————————————
บรรณานุกรม
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. 2555. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

Terwiel, Barend J. 2016. “Two Scrolls Depicting Phra Petrachs’s Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation.” Journal of the Siam Society (Vol.14): 79 – 94.

ขอบพระคุณ เพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

และติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts