ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | พรศิริ บูรณเขตต์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี |
เผยแพร่ |
ในหมู่คนเก็บของป่าล่าสัตว์ เมื่อเข้าป่านานนับเดือนจะเลือกสัมภาระเฉพาะที่จำเป็นที่สุด สำหรับอาหารเตรียมอาหารที่พกง่าย ทำกินง่าย มักเตรียมข้าวเหนียวไปหุงกิน ใส่กระบอกใส่น้ำเผาไฟเหมือนข้าวหลาม ส่วนกับข้าวมักเป็นของที่กินได้นาน เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม อาหารนอกจากนี้ก็ไปหากินเฉพาะหน้า กล่าวกันว่าเนื้อสัตว์ที่เป็นอาหารสุดยอดของเนื้อสัตว์ขนาดเล็กทั้งมวลคือเนื้อเม่น
เม่นเป็นสัตว์เนื้อละเอียด เนื้อแดงสดคล้ายเนื้อควายหากจับนำมาทำกินที่ครัวเรือน มักนำมาใส่เกลือทอด แกงใส่มะเขือ แต่ถ้าอยู่ในป่ามักหลามในกระบอกไม้ไผ่ เพิ่มรสชาติ เพิ่มรสจัดจ้านเพื่อจะได้กินกับไม่เปลือง โดยสับพริกแทนเครื่องแกงคลุกเคล้ากินกันเนื้อเม่นสับ ใส่น้ำนิดหน่อยตั้งกระบอกเผาไฟ ขณะเดียวกันก็หลามข้าวเหนียวไปด้วย เป็นอาหารมื้อพิเศษสำหรับชาวบ้านป่า
ชาวบ้านจับเม่นบริเวณแหล่งอาหารของเม่น เม่นชอบกินหัวเผือก หัวมัน หน่อไม้ หญ้าอ่อน โดยเฉพาะข้าวโพดอ่อน เม่นกินน้ำตามลำธาร ลำห้วย
การจับเม่นตามแหล่งอาหารใช้เครื่องมือหลายชนิด แต่ชนิดที่ยังไม่มีการพูดถึงกันคือชนิดใช้งาแหลมดักเม่น เรียกว่างาดักเม่น เครื่องมือชนิดนี้ไม่ต้องดักตามแหล่งที่อยู่อาศัยของเม่นอย่างตามเชิงเขาตามซอกหินที่เม่นจะขุดรูเชื่อมโยงกันจนปรุไปหมด บางครั้งใช้เครื่องมือดักรอหน้ารูหนึ่งเม่นไปออกอีกรูหนึ่ง แม้การใช้งาดักเม่นจะใช้ง่ายๆ ไม่ต้องไปดักรอปากรูเม่น และดักคราวใดก็มีเม่นมาติด แต่มีข้อจำกัดบ้างคือเม่นหากินกลางคืน เมื่อติดงาค้างทั้งคืนมักตาย ต้องรีบทำกิน ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับชีวิตชาวป่าที่เน้นความสะดวก เรียบๆ ง่ายๆ อยู่แล้ว
งาดักเม่นใช้เทคนิควิธีของ “งา” เป็นกลไกทำงาน งาเป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดักสัตว์หลายชนิด มักเข้าใจว่าพบมากในเครื่องมือจับปลา ที่จริงแล้วชาวบ้านใช้งาเป็นส่วนประกอบเครื่องมือต่างๆ เป็นอันมาก การทำงานของงาเกิดจากรูปลักษณะของงา คือนำวัสดุมาสานคล้ายกรวย ปากทางเข้ากว้าง ด้านในแคบแทบติดกันมักมีความแหลมคม เมื่อสัตว์นำอวัยวะส่วนหนึ่งเข้าไปหรือพาตัวเข้าไป จะดึงอวัยวะหรือนำตัวออกมาไม่ได้ โดยรวมแล้วงามีหลักการใช้งานเหมือนกันแต่มีหลายรูปแบบ เช่น งาทรงกรวย ทรงกระบอก ทรงแหลมสอบ โดยงาดักเม่นเป็นรูปกรวยปลายแหลมสอบแคบ
วัสดุทำงาดักเม่นประกอบด้วย แผ่นไม้ ตะปูหรือเหล็กเส้นกลม ลวด
วิธีทำ เตรียมแผ่นไม้หนาประมาณ ๑ เซนติเมตร ความกว้างประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ที่กลางแผ่นไม้เจาะเป็นรูกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗-๘ เซนติเมตร แล้วตอกเหล็กเส้นกลมหรือตะปูที่มีความยาวประมาณ ๘ เซนติเมตรเป็นระยะรอบรูกลม โดยตอกให้เสียบทแยงคล้ายกรวย ส่วนนี้คืองา แล้วนำลวดมามัดหรือเคียนโคนงาส่วนที่อยู่ใต้แผ่นไม้ราว ๓ รอบ เพื่อยึดงาให้มีความแข็งแรง
วิธีใช้งาน เมื่อเลือกทำเลแหล่งอาหารเม่นแล้ว ขุดหลุมดินกว้างราว ๑ ฝ่ามือ ลึกราว ๑ คืบ หาผลไม้ที่มีกลิ่นหอมจัดๆ อย่างกล้วยน้ำว้า หรือเหยื่อผลไม้อื่นๆ ใส่ในหลุม นำแผ่นงาดักเม่นวางบนหลุม โดยให้ส่วนงาอยู่ในหลุมที่ขุดไว้ หากิ่งไม้แขนงไม้ หรือแต่งไม้เสี้ยมปลายแหลมทำเป็นหลักขอสัก ๔-๖ ชิ้น ปักยึดแผ่นงาดักเม่นกับพื้นดินให้แน่น เมื่อเม่นออกมาหากินกลางคืนได้เหยื่อ แต่เมื่อขยับตัวหรือถอยหลังกลับขึ้นมาจะได้ขยับไม่ได้ จะถูกงาแหลมแทงคอ หากยิ่งดิ้นรนยิ่งตายเร็วขึ้น
เมื่อถึงเช้าตรู่ ผู้ดักจึงมา “ยาม” คือการตรวจว่ามีสัตว์มาติดเครื่องมือหรือไม่ แล้วจึงจับเม่นไปทำกิน
วิธีใช้งาดักเม่น ที่เม่นมุดหัวกินเหยื่อแล้วเอาตัวไม่รอด คล้ายๆ กับการที่ชาวบ้านอธิบายถึงท่าทางของผู้ที่ไปติดเหยื่อ หลงเหยื่อ จนโงหัวไม่ขึ้น ว่าเหมือนเป็นการ “มุดหัว” คือไปติดอยู่กับแรงจูงใจที่สำคัญมาก
ชาวบ้านดักเม่นเพื่อเป็นอาหารโดยตรง จึงจำเป็นที่จะต้องย้ำทำความเข้าใจว่าเม่นคือเนื้อสัตว์ชนิดหนึ่งในสังคมบ้านป่า ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ไม่มีเผื่อเลือก ไม่มีอาหารเหลือกิน
เครื่องมือดักเม่นอย่างงาดักเม่น เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้วิธีหากินในอดีต ช่วยให้เห็นความแตกต่างของชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เข้าใจโลกกว้างเข้าใจชีวิตอื่นๆ นอกเหนือไปจากการอยู่ในวังวนชีวิตของตัวเอง
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2560