คำสาปของสายน้ำ “น้ำของ-น้ำโขง” และ “น้ำคง-น้ำสาละวิน” เคยเป็นเพื่อนรักกัน?

แม่น้ำโขง
แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านเมืองเชียงแสน

มีเรื่องที่เล่ากันมานานในหมู่คนแห่งลุ่มน้ำโขงและสาละวินว่า แม่น้ำโขง และ แม่น้ำสาละวิน ไม่ถูกกัน หากเดินทางในแม่น้ำโขงห้ามพูดถึงแม่น้ำสาละวิน หากเดินทางในแม่น้ำสาละวินห้ามพูดถึงแม่น้ำโขง คนท้องถิ่นมักเรียกแม่น้ำโขงว่า “ของ” และเรียกแม่น้ำสาละวินว่า “คง”

ชาวไทยใหญ่เล่ากันว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อแผ่นดินยังไม่มีสายน้ำ น้ำของและน้ำคงเป็นเพื่อนรักกัน ทั้งสองอาศัยอยู่บนแผ่นดินที่ราบสูงทิเบต วันหนึ่งทั้งสองแข่งขันกันว่าใครจะเดินทางไปถึงทะเลก่อนกัน แต่มีข้อแม้ว่าการเดินทางจะต้องผ่านหุบเขาและที่ราบ ห้ามเดินทางลัดภูเขา

การเดินทางไปสู่ทะเลเริ่มต้นขึ้น เส้นทางของทั้งสองแทบขนานกันแต่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

น้ำของเดินทางไปเรื่อยๆ มุ่งใต้ผ่านหุบเขาแห่งที่ราบสูงฉานฝั่งตะวันออก และยึดมั่นในข้อตกลง ไม่ไหลตัดผ่านภูเขา น้ำของเดินทางผ่านหุบเขา ที่ราบสูง และที่ราบลุ่มมากมาย จนกระทั่งถึงทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม

เส้นทางที่ไหลผ่านได้กลายมาเป็น “แม่น้ำโขง” สายน้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากสายน้ำโขงไหลผ่านหุบเขาและที่ราบ สีของแม่น้ำโขงจึงเป็นสีขุ่น สีปูน หรือสีน้ำซาวข้าว

ขณะที่น้ำคงที่มุ่งลงใต้เช่นกัน แต่กลับเดินทางตัดผ่านภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ก่อนที่จะผ่านที่ราบเพียงเล็กน้อยและไหลลงทะเลอันดามันที่อ่าวเมาะตะมะ

เส้นทางที่น้ำคงไหลผ่านนั้น ได้กลายมาเป็น “แม่น้ำคง” ที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกกันหรือ “แม่น้ำสาละวิน” ที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ตาลวิน” ในภาษาพม่า แม่น้ำสาละวินเป็นสายน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากแม่น้ำโขง

เนื่องจากคงไหลตัดผ่านภูเขา น้ำสาละวินจึงมีสีเขียวมรกตไม่ค่อยขุ่นข้น

น้ำของแพ้น้ำคงเพราะใช้เวลาและระยะทางในการเดินทางไปถึงทะเลมากกว่า เมื่อน้ำของรู้ว่าเพื่อนไม่ซื่อสัตย์ จึงโกรธแค้นและสาปแช่งว่า “วันใดที่เจอกับคง แผ่นดินจะลุกไหม้ด้วยไฟประลัยกัลป์”

ความโกรธแค้นนี้ ทำให้มีเรื่องเล่ากันว่า หากนำน้ำจากแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาละวินมาใส่รวมกัน น้ำจะกลายเป็นสีเลือด

นิทานเรื่องนี้ถูกเล่าขานกันมานานและคนริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองต่างก็เชื่อในเรื่องเล่านี้

แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีคนกำลังผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนและผันน้ำทั้งจากแม่น้ำโขงและสาละวินมาลงที่ลุ่มเจ้าพระยา

แนวคิดการผันน้ำโขงและสาละวินลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520 แบ่งออกเป็นโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำโขง 7 โครงการ และลุ่มน้ำสาละวิน 7 โครงการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2560