ย้อน 5 คดี “ล่วงละเมิดทางเพศ” สมัย ร.5 เมื่อข้าราชการชายเบ่งอำนาจ กดขี่สตรี

สตรี ชาวสยาม ในอดีต ล่วงละเมิดทางเพศ
สตรีชาวสยามในอดีต (ภาพจาก the new york public library digital collections)

คดีความที่เป็นการ “ล่วงละเมิดทางเพศ” เกี่ยวข้องด้วยเรื่อง ข่มขืนกระทำชำเรา ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคดีที่บรรดา “ข้าราชการชาย” ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ กดขี่ข่มเหงสตรี ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมือง โดยเฉพาะหัวเมืองที่มีสตรีสามัญชนฟ้องร้องกล่าวโทษข้าราชการที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่จำนวนมาก

อําแดงหนับ

คดีนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2436 โดยอําแดงหนับรับโทษขังอยู่ แต่นายองสมุหบาญชี ข้าราชการชาย ได้กระทำชำเราเธอ อําแดงหนับให้การว่า

“นายองสมุบาญชีใช้ให้นายพร้อม นายกวด กับอำแดงขลิบเรียกข้าพระพุทธเจ้าให้ขึ้นไปที่ห้องนายองสมุบาญชีว่ามีธุระ…ถ้าไม่ขึ้นไปเดี๋ยวนี้จะทำโทษเฆี่ยนตีข้าพระพุทธเจ้าตามอาญาของนายองสมุบาญชี ข้าพระพุทธเจ้าเกรงกลัวนายองสมุบาญชีจะทำโทษเฆี่ยนตี…ข้าพระพุทธเจ้าก็เข้าไปในห้องนายองสมุบาญชี…นายองสมุบาญชีก็เข้าปล้ำฉุดลากจูบกอดทำข้าพระพุทธเจ้าต่าง ๆ จะทำชำเรา”

อำแดงยุกิม

เมื่อ พ.ศ. 2439 หม่อมกลัด ภรรยาของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ผู้เป็นป้าของอำแดงยุกิม ร้องเรียนว่าพระรักษาเทพกับกรมการผู้คุมเมืองชลบุรี ได้แกล้งจำตรวนอำแดงยุกิม แล้ว “ล่วงละเมิดทางเพศ” ข่มขืนกระทำชำเรา หม่อมกลัดซึ่งเป็นผู้ฟ้องแทนอำแดงยุกิมกล่าวว่า

“พระรักษาเทพก็เข้าข่มขืนกระทำข่มเหงโดยอำนาจหามีความเกรงผิดไม่ แล้วยุกิมก็ร้องขึ้นว่าพระรักษาเทพข้าหลวงเข้าข่มขืนกระทำคุมเหง ผู้มีชื่อก็หาช่วยไม่ เพราะ…อำนาจมาถึงข้าหลวง หามีผู้ใดที่จะอาจสามารถเข้าช่วย…ประมาณสองยามเศษพระรักษาเทพก็เข้าข่มขืนอีกครั้ง ยุกิมก็ร้องให้ผู้มีชื่อช่วย ผู้มีชื่อก็พากันทำนอนหลับเสียหาช่วยไม่…วันที่ 27 มิถุนายน ร.ศ. 115 ขุนพิทักษ์ผู้คุมกลับเข้าปล้ำข่มขืนอีก ยุกิมก็ร้องขึ้น ผู้มีชื่อก็เข้าไปดู รู้เห็นเป็นอันมาก”

อําแดงเจียม

ใน พ.ศ. 2445 ที่เมืองตราด หลวงรามฤทธิรงค์ถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจบังคับกดขี่อําแดงเจียมมาเป็นภรรยา โดยอําแดงเจียมและนายเกดผู้เป็นบิดาร้องเรียนว่า หลวงรามฤทธิรงค์ ตำแหน่งยกกระบัตรพนักงานรักษาอัยการไปที่บ้านของอําแดงเจียม ขอเธอมาเป็นภรรยา ทางบ้านของอําแดงเจียมก็ขอให้สู่ขอตามธรรมเนียมจึงจะยกให้ แต่หลวงรามฤทธิรงค์ไม่พอใจ จึงได้กดขี่ ล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืนกระทำชำเรา อำแดงเจียมมาเป็นภรรยาโดยไม่ชอบ ดังคำให้การของนายเกด ความว่า

“จำเลยพูดจาขออำแดงเจียมบุตรสาวข้าพเจ้าต่ออำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้า…อำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้าก็พูดตอบว่า…ถ้าแม้นจำเลยจะเอาอำแดงเจียมบุตรสาวข้าพเจ้าไปเป็นภรรยาจำเลยให้ได้โดยแท้แล้ว จำเลยให้เท่าแก่หรือแต่งให้คนหนึ่งคนใดมาสู่ขอตามประเพณีบ้านเมืองแล้วอำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้าจะยอมยกให้จำเลย ๆ ก็หาฟังคำอำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้าไม่

จำเลยกลับพูดจาขู่เข็นแลอวดอ้างว่าจำเลยไม่เคยให้เท่าแก่มาสู่ขอให้ได้ความลำบาก จำเลยเป็นอิศรแก่ตัวจำเลยอยู่แล้ว จำเลยพูดขอเดี๋ยวนี้ เพราะไม่มีผู้ใดเป็นโตกว่าจำเลยแล้ว ทั้งน่าที่ยกรบัตรหรือปลัดกับเป็นผู้ว่าราชการแทนสำเร็จแก่ตัวจำเลยทั้งสิ้น แลจำเลยก็พูดจาขุดขู่อีก 2-3 คำว่าจำเลยจะนอนด้วยกับอำแดงเจียมสักคืนหนึ่ง อำแดงแดงจะยอมหรือไม่…จำเลยก็กระโดดไล่ติดตามอำแดงเจียมเข้าไปในห้องเรือนโดยทันที จำเลยก็ปิดประตูลั่นดานไว้ แล้วจำเลยก็กระทำข่มขืนกอดปล้ำกระทำชำเราอำแดงเจียมบุตรสาวข้าพเจ้าที่ในห้องเรือนข้าพเจ้าจนสำเร็จความประสงค์ของจำเลย…”

อําแดงมอญ

กรณีของอำแดงมอญเกิดขึ้นในเมืองพิไชยใน พ.ศ. 2447 ข้าราชการชาย อย่าง นายร้อยโทปลอด จะกระทำชำเราอําแดงมอญ ภรรยานายชุ่ม โดยอัยการเมืองพิไชยให้การว่า “อำแดงมอญผู้เดียวนั่งขายของอยู่ที่ล้านตลาดท่าวิร์ จำเลยไปที่ร้านของอำแดงมอญ จำเลยก็ดับไฟตะเกียงแล้วตรงเข้าเอาผ้าอุดปากแลปล้ำข่มขืนจะกระทำชำเรา…ครั้นอำแดงมอญจะร้องให้อำแดงหงิมช่วยก็ร้องไม่ออก เพราะอำแดงมอญวิ่งไปกำลังเหนื่อยแลอำแดงมอญมีครรภ์ด้วย”

สตรีสมัยต้นรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก “วิวัฒนาการการแต่งกาย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์” กรมศิลปากร)

อําแดงจัน

อีกกรณีหนึ่งคือ กรณีของอําแดงจันถูกหลวงกำแพงมหึมา กักขัง และ ข่มขืนกระทำชำเรา ขณะต้องหาว่าลักเล่นพนันที่เมืองกระบินทร์บุรี เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยตอนหนึ่งในคำให้การของอำแดงจันได้ระบุว่า

“ข้าพเจ้า อำแดงจัน อายุ 17 ปี เป็นโจทย์ฟ้องหาว่า…เจ้าพนักงานจับข้าพเจ้ากับพวกเล่นซิเหงาลัก…จำเลยซึ่งเป็นผู้รักษาราชการเมืองในเวลานี้ได้มีคำสั่งให้ขังพวกข้าพเจ้าไว้ในกองเรือนจำ แต่ตัวข้าพเจ้ากับอำแดงพึ่งนั้นให้เอาไปขังไว้ในเรือนที่พัก…ซึ่งเป็นเรือนหลวงซึ่งยกขึ้นใหม่ไม่มีคนอยู่นั่นหนึ่งคืน พอรุ่งขึ้นจำเลยก็เอาตัวพรรคพวกเหล่านั้นมาบังคับให้เสียเงิน…ข้าพเจ้าขอเสียเงินเหมือนอย่างผู้ที่เสียที่ท่านได้ปล่อยตัวไปนั้น จำเลยก็หายอมไม่…

ในเวลาคืนวันนั้นตอนหัวค่ำ…จำเลยก็ตรงเข้าฉุดคร่ากอดปล้ำข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ยอม จำเลยก็พูดว่าถ้าไม่ยอมจะเอาตัวใส่โซ่ตรวนขังตรางไว้ไม่ปล่อยให้กลับบ้าน แล้วจำเลยก็ปล้ำปลุกข้าพเจ้าด้วยกำลังของจำเลย ข้าพเจ้าสู้กำลังจำเลยไม่ไหวทั้งกลัวอำนาจของจำเลยด้วย จำเลยก็ข่มขืนชำเราข้าพเจ้าได้ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ร้องขึ้นยกใหญ่ อำแดงพึ่งก็เข้าไปยกมือไหว้แลวอนขอให้ปล่อยตัวข้าพเจ้า แล้วจำเลยจึงได้บอกให้ข้าพเจ้ากับอำแดงพึ่งกลับไปในวันรุ่งขึ้นโดยที่ไม่ต้องเสียเงินค่าปรับไหม”

สตรีชาวสยามในอดีต (ภาพจาก the new york public library digital collections)

ภาวิณี บุนนาค อธิบายว่า การ “ล่วงละเมิดทางเพศ” หรือ ข่มขืนกระทำชำเรา สตรีอย่างอุกอาจโดยบรรดาข้าราชการตามหัวเมืองต่าง ๆ นั้น เป็นผลมาจากโครงสร้างการจัดระเบียบทางสังคมและค่านิยมของสังคมไทย ซึ่งแบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นลดหลั่นกันมา ทำให้ผู้ที่อยู่ในชนชั้นสูงกว่าใช้อำนาจกดขี่ชนชั้นผู้น้อยให้ทำตามความต้องการของตน

ดังกรณีของ “หลวงรามฤทธิรงค์” ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจบังคับกดขี่ “อำแดงเจียม” ซึ่งได้อ้างตนว่าไม่เคยต้องให้เถ้าแก่มาสู่ขอสตรีนางใดมาเป็นภรรยาขอให้ลำบาก ตนเป็นอิสระแก่ตน เมื่อพูดเดี๋ยวนี้ก็จะเอาเดี๋ยวนี้ เพราะเหตุว่าตนเป็นคนใหญ่คนโต ไม่มีใครใหญ่เกินตนอีกแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการอ้างอำนาจเด็ดขาดแบบ Authority ซึ่งทำให้หลวงรามฤทธิรงค์เชื่อว่าตนมีสิทธิ์ที่จะกระทำการดังกล่าว

คดีความที่บรรดา “ข้าราชการชาย” ที่ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบกดขี่ข่มเหงสตรีในสมัยนี้นั้น อาจมีสาเหตุมาจากระบบราชการที่มีการปฏิรูปขึ้นใหม่ ดังที่ ภาวิณี กล่าวไว้ว่า ขณะเดียวกันการฟ้องร้องกล่าวโทษว่าข้าราชการกดขี่ทางเพศที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่หัวเมืองก็น่าจะสัมพันธ์อยู่กับการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแบบตะวันตกโดยอาศัยระบบเทศาภิบาล

โดยมีหลักการสำคัญอยู่ที่รัฐบาลกลางจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้าไปปกครองดูแลส่วนต่าง ๆ ในแง่หนึ่งการที่เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์กับผู้คนในท้องที่มาก่อนเหล่านี้ กลายมาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองท้องที่ก็ส่งผลให้เกิดการใช้อำนาจกดขี่ราษฎรในพื้นที่ที่ตนปกครองตามมา และเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องสำคัญ เนื่องจากข้าราชการเหล่านี้ถือเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์”

อย่างไรก็ตาม ส่วนกลางก็ถือเอาคดีความที่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องการข่มขืนกระทำชำเราเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ รัชกาลที่ 5 และเจ้านายที่เกี่ยวข้องหลายพระองค์ มักจะแสดงความคิดเห็นในเชิงไม่พอใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทรงเร่งรัดให้มีการติดตามลงโทษจำเลยอย่างจริงจัง

เช่นคดี “อำแดงยุกิม” รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกระแสว่า “ข้าราชการประพฤติหยาบคายเช่นนี้ไม่ควรจะให้อยู่ในตำแหน่ง จะต้องถอดเสียจากราชการด้วย ให้จดหมายอนุญาตไปที่กรมมหาดไทยให้เรียกกลับแลให้พระศิริไอยสวริยแทน”

ภาวิณี อธิบายว่า การที่คดีความเหล่านี้ได้รับความเอาใจใส่จากบรรดาเจ้านาย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากข้าราชการเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลระงับทุกข์ร้อนของราษฎร รวมถึงจัดราชการงานบ้านเมืองให้เรียบร้อย

การที่ข้าราชการเหล่านี้มิได้ตั้งใจรักษาความประพฤติให้ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ย่อมจะนำความเสียหายมาสู่พระเจ้าแผ่นดินและบ้านเมือง และเนื่องด้วยทางการให้ความสำคัญกับข้าราชการเช่นนี้ ในด้านหนึ่งก็อาจมีผลให้ราษฎรทำการฟ้องร้องมากขึ้นด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ภาวิณี บุนนาค. (2563). รักนวลสงวนสิทธิ์. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564